ครม.มีมติเห็นชอบให้ ขสมก.กู้เงินเสริมสภาพคล่องปีงบ 2567 วงเงิน 8,268 ล้านบาท พร้อมเผยตัวเลขขาดทุนสะสม 136,602 ล้านบาท
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 24 ตุลาคม 2566 นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติให้องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) กู้เงินเพื่อเสริมสภาพคล่องทางการเงิน (กรณีรายได้ไม่พอสำหรับรายจ่าย) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 รวมจำนวน 8,268.469 ล้านบาท และให้กระทรวงการคลังเป็นผู้ค้ำประกันเงินกู้ กำหนดวิธีการกู้เงิน เงื่อนไข และรายละเอียดต่างๆ ในการกู้เงิน ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ
กระทรวงคมนาคมรายงานว่า ขสมก. ได้เสนอขออนุมัติการกู้เงินเพื่อเสริมสภาพคล่องทางการเงิน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ซึ่งคณะกรรมการบริหารกิจการ ขสมก. มีมติเห็นชอบแล้วในคราวประชุมครั้งที่ 18/2565 เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2565 สาระสำคัญดังนี้
ขสมก. ประสบปัญหาการขาดสภาพคล่องทางการเงิน เนื่องจากผลประกอบการที่ขาดทุนและไม่ได้รับเงินชดเชยผลการขาดทุนตามจำนวนที่เกิดขึ้นจริง ทำให้ ขสมก. ยังมีหนี้สินค้างชำระรวมทั้งสิ้น 136,602.529 ล้านบาท (ณ วันที่ 30 กันยายน 2565)
ขสมก. ได้จัดทำประมาณการเงินสดรับ-จ่าย ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 คาดว่าจะมีเงินสดคงเหลือปลายงวดขาดมือ จำนวน 23,635.409 ล้านบาท ซึ่งไม่เพียงพอที่จะนำมาเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน เพื่อให้เกิดสภาพคล่องทางการเงินและสามารถทำให้องค์กรบริหารจัดการต่อไปได้ ขสมก. จึงมีความจำเป็นต้องกู้เงินจำนวน 23,635.409 ล้านบาทดังกล่าว โดยส่วนหนึ่งจะนำไปชำระคืนหนี้เงินกู้เดิมที่ครบกำหนดชำระและไถ่ถอนพันธบัตรเงินกู้ จำนวน 15,366.940 ล้านบาท ซึ่ง ขสมก. ได้นำเสนอกระทรวงการคลังเพื่อบรรจุเข้าแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 แล้ว จึงคงเหลือเงินกู้เพื่อเสริมสภาพคล่องทางการเงิน และเป็นเงินสดหมุนเวียนในการดำเนินงานของ ขสมก. ในปีงบประมาณพ.ศ. 2567 (เดือน ต.ค. 2566- ก.ย. 2567) จำนวน 8,268.469 ล้านบาท
ขสมก. พิจารณาแล้วเห็นว่า หาก ขสมก. กู้เงินมาชำระหนี้ (แทนการผิดนัดชำระหนี้) จะจ่ายค่าดอกเบี้ยเงินกู้ประมาณร้อยละ 1.188 (อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2564- 30 ก.ย. 2565) หรือปีละ 51.273 ล้านบาท ซึ่งทำให้ ขสมก. สามารถประหยัดค่าดอกเบี้ยค้างชำระลงได้ปีละ 221.124 ล้านบาท หรือร้อยละ 81.177 ต่อปี