กสม. หารือ รมว.ยุติธรรม ขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาสิทธิในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ย้ำหลักสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ และหลักการไม่เลือกปฏิบัติ
สำนักข่าวอิศรา รายงานว่า เมื่อวันที่ 27 ก.ย. 2566 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้ประชุมร่วมกับพันตำรวจเอกทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม (ยธ.) และคณะโดยมีประเด็นสำคัญเกี่ยวกับสิทธิในกระบวนการยุติธรรม เพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญและหลักสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าได้กระทำความผิด และหลักความเสมอภาค ที่จะต้องไม่มีการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล ทุกคนจะต้องได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน
กสม.ได้หารือเรื่องการแก้กฎกระทรวง กำหนดสถานที่อื่นที่ใช้ในการขัง จำคุก หรือควบคุมผู้ต้องหา จำเลย หรือผู้ซึ่งต้องจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุด พ.ศ. 2552 เพื่อให้ศาลออกคำสั่งควบคุมตัว
ในสถานที่อื่นซึ่งมิใช่เรือนจำ หรือการคุมขังที่บ้าน การจัดประเภทเรือนจำโดยการแยกคุมขังผู้ต้องขังระหว่างพิจารณาคดี ผู้ต้องขังเด็ดขาด และผู้ต้องขังคดีทางการเมือง เพื่อให้เป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชนและหลักทัณฑวิทยา การตรวจเยี่ยมและการพัฒนามาตรฐานการตรวจเยี่ยมสถานที่ควบคุมตัว/คุมขัง เพื่อรองรับการเป็นกลไกป้องกันการทรมานระดับชาติ (NPM) ซึ่ง กสม. พร้อมเป็นองค์กรหลักในการดำเนินการ
กสม. ยังได้หารือถึงการดำเนินงานร่วมกันกับทาง ยธ. เพื่อขับเคลื่อนในเรื่องอนาคตกระบวนการยุติธรรมทางอาญาของประเทศไทยเพื่อให้เป็นหลักประกันความยุติธรรมสำหรับทุกคน เช่น การผลักดันการออกกฎหมายลำดับรองตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมาน และการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 การเร่งรัดให้ไทยเข้าเป็นภาคีในอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคล ทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ (CED) ซึ่งทาง ยธ. แจ้งว่าอยู่ระหว่างการเสนอรัฐบาลพิจารณาเข้าเป็นภาคี การผลักดันร่างพระราชบัญญัติทะเบียนประวัติอาชญากรเพื่อเป็นกฎหมายกลางในการกำหนดรูปแบบศูนย์กลางข้อมูลทะเบียนประวัติอาชญากรซึ่งจะนำไปสู่การคุ้มครองสิทธิของผู้ถูกกล่าวหา รวมไปถึงผู้พ้นโทษ นอกจากนี้ กสม. ยังเสนอให้ ยธ. เร่งรัดผลักดันร่างกฎหมายอื่น ๆ เช่น ร่างพระราชบัญญัติขจัด การเลือกปฏิบัติต่อบุคคล และร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ราษฎรซึ่งได้รับความเสียหายหรือได้รับผลกระทบจากการดำเนินการตามนโยบายของรัฐด้วย
ที่ประชุมยังได้หารือถึงการพัฒนากระบวนการยุติธรรมและเสริมสร้างสันติภาพในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และกรณีการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังสูงอายุที่เจ็บป่วย ที่จะต้องไม่เลือกปฏิบัติต่อผู้ต้องขังที่มีสถานภาพทางสังคมแตกต่างกัน โดย กสม.ได้เน้นย้ำถึงการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังอย่างเสมอภาคและเท่าเทียมกัน