ศธ.ออกนโยบายป้องกันการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวม บุคลากร ข้าราชการทุกสังกัดห้ามรับสินบน ถือเป็นการทุจริต สั่งจัดทำรายงานสรุปการรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่น ๆ ที่มีมูลค่าเกิน 3,000 บาท
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 26 ก.ย. 2566 พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ลงนามในประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง การป้องกันการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวม
เนื่องจากการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวม และการให้ – รับสินบน เป็นประเด็นสำคัญที่ถูกกล่าวถึงอย่างกว้างขวางทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติ หากเกิดการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวม มักจะนำไปสู่การทุจริตในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งอยู่เสมอ
โดยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 หมวด 6 มาตรา 126 มาตรา 127 และ มาตรา 128 ได้กำหนดเกี่ยวกับการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวม ประกอบกับรัฐบาลมีนโยบายให้การป้องกันและปราบปรามการทุจริตเป็นวาระแห่งชาติ โดยได้กำหนดทิศทางไว้ในยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ. 2561 – 2580) แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ (21) ประเด็นการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566 – 2570) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติมีมติแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจเพื่อกำหนดแนวทางบริหารจัดการความเสี่ยงเกี่ยวกับการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวมของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)
ดังนั้น เพื่อแก้ไขปัญหาการทุจริตและประพฤติมิชอบกับเจ้าพนักงานของรัฐ ป้องกันมิให้เกิดปัญหาการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวม อันเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน และเป็นการป้องปรามมิให้บุคลากรภายในหน่วยงานกระทำการซึ่งอาจเป็นความผิดทางอาญา ทางวินัย หรือกฎหมายอื่น ศธ.จึงกำหนดให้การป้องกันการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวม เป็นนโยบายสำคัญและเร่งด่วน ซึ่งจำเป็นที่ทุกหน่วยงานในสังกัดจะต้องดำเนินการ เพื่อให้การดำเนินงานมีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ จึงเป็นที่มาของการลงนามประกาศดังกล่าว
ขณะเดียวกันยังออกแนวทางการปฏิบัติตามประกาศฯ เพื่อส่งเสริมให้บุคลากรสังกัด ศธ. ยึดถือและปฏิบัติตามหลักในการป้องกันเกี่ยวกับการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวม การกระทำที่เข้าข่ายเป็นการฝ่าฝืนการรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดหรือการให้ – รับสินบนอยู่เสมอ รวมถึงสร้างความโปร่งใสในการปฏิบัติงานและไม่เข้าไปมีส่วนได้เสียในกิจการที่ตนสังกัด กำหนดให้ปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการรักษาความลับของราชการโดยเคร่งครัด จัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ภายใน ศธ. เพื่อสร้างความเข้าใจและกระตุ้นเตือนกรณีที่อาจเกิดความสุ่มเสี่ยงในการรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดในโอกาสต่าง ๆ เช่น เทศกาลปีใหม่ เกษียณอายุราชการ เลื่อนตำแหน่ง/ระดับ เป็นต้น
นอกจากนี้ ต้องจัดให้มีการคุ้มครอง ช่วยเหลือผู้แจ้งข้อมูล เบาะแส หรือร้องทุกข์กล่าวโทษ หรือการยกย่อง ชมเชย การให้รางวัลแก่บุคลากรสังกัด ศธ.ในการส่งเสริมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ตลอดจนให้ทุกหน่วยงานในสังกัด ศธ. จัดทำรายงานสรุปการรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดที่มีมูลค่าเกิน 3,000 บาท และข้อร้องเรียนเรื่องการให้ – รับสินบนของบุคลากรในสังกัดต่อหัวหน้าส่วนราชการของแต่ละหน่วยงานทราบเป็นประจำทุก 6 เดือน พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ผลการดำเนินงานเพื่อให้การดำเนินงานมีความโปร่งใส ตรวจสอบได้