สภาผู้บริโภคออกแถลงการณ์หนุนรัฐบาลเดินหน้านโยบายรถไฟฟ้า 20 บาททันที ชี้ค่าใช้จ่ายเดินรถต่อคนต่อเที่ยว มีต้นทุน 10.10 - 16.30 บาท
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 15 ก.ย. 2566 สภาผู้บริโภคออกแถลงการณ์สนับสนุนรัฐบาลเดินหน้านโยบายรถไฟฟ้า 20 บาททันที โดยในแถลงการณ์ของสภาผู้บริโภคได้อ้างถึงผลการศึกษาของนักวิชาการ สภาผู้บริโภค ที่ชี้ให้เห็นว่าค่าใช้จ่ายเดินรถต่อคนต่อเที่ยวของผู้บริโภคระหว่างปี พ.ศ. 2557 - 2562 มีต้นทุนเฉลี่ยต่อคนต่อเที่ยวโดยสารระหว่าง 10.10 - 16.30 บาท ขึ้นกับจำนวนผู้โดยสารและค่าใช้จ่ายในแต่ละปี สอดคล้องกับการศึกษาของกรุงเทพมหานครในปัจจุบันที่ยืนยัน ว่า ค่าบริการเดินรถประมาณ 11 - 13 บาทต่อคนต่อเที่ยว
จากข้อมูลดังกล่าว จะเห็นได้ว่าค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสายเพียงพอกับค่าจ้างเดินรถ รัฐบาลไม่ต้องสมทบและไม่ขาดทุน ส่วนกระทรวงคมนาคมที่ชี้แจงว่าต้องนำเงินจำนวน 5.4 พันล้านบาทต่อปี อาจเป็นปัญหาการดำเนินการที่ไม่โปร่งใส เอื้อประโยชน์หรือไม่ จนเกิดภาระกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องนับตั้งแต่มีการก่อสร้างรถไฟฟ้าและเป็นมรดกบาปจนถึงปัจจุบัน
สำหรับแหล่งรายได้ที่สำคัญในการจัดทำรถไฟฟ้าเพิ่มเติม ได้แก่ รายได้ที่เกิดขึ้นจากการโฆษณาบนรถไฟฟ้าซึ่งบางสายมีมูลค่าสูงถึง 6 พันล้านบาท หรือการพัฒนาสังหาริมทรัพย์ การให้เช่าร้านค้า การเชื่อมต่อกับอาคาร ห้างสรรพสินค้ากับรถไฟฟ้ามีมูลค่ามากมาย ซึ่งทั่วโลกต่างนำรายได้จากส่วนนี้ไปสนับสนุนการพัฒนาและการลงทุนรถไฟฟ้า หรือแม้แต่การเก็บภาษีจากโอกาสทางนโยบาย (Opportunity Policy Tax) จากมูลค่าที่ดินที่รถไฟฟ้าผ่านของเอกชน
ทั้งนี้ จากการสำรวจอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าจากหลายประเทศทั่วโลก พบว่ามีการกำหนดค่าบริการรถไฟฟ้าไม่เกินร้อยละ 10 ของค่าแรงขั้นต่ำ เช่น ในประเทศฝรั่งเศสค่ารถไฟฟ้าคิดเป็นร้อยละ 3 ของค่าแรงขั้นต่ำ ประเทศจีนร้อยละ 3.125 ประเทศสิงคโปร์ ฮ่องกง อังกฤษ และสหรัฐอเมริกาอยู่ที่ร้อยละ 5 ประเทศรัสเซียร้อยละ 6.48 และประเทศญี่ปุ่นร้อยละ 9 ของค่าแรงขั้นต่ำ 1 วัน ส่วนประเทศมาเลเซียมีการกำหนดกติกาว่าค่าบริการสูงสุดต้องไม่เกินร้อยละ 10 ของค่าแรงขั้นต่ำ
นอกจากนี้ เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคและภาคประชาสังคมได้รณรงค์ให้ 'ขนส่งมวลชน ทุกคนขึ้นได้ทุกวัน' โดยให้รัฐตั้งเป้าหมายสนับสนุนให้ประชาชนเดินออกจากบ้าน 500 เมตรเจอบริการขนส่งสาธารณะ เพื่อลดปัญหาอุบัติเหตุทางถนนในเทศกาลต่างๆ การจราจรที่ติดขัด และปัญหาสุขภาพจากฝุ่น PM 2.5 ปัญหาโลกร้อนที่ยังไม่สามารถจัดการได้ และคนใช้รถยนต์อาจจะต้องจ่ายเงินเพื่อรับผิดชอบต่อการปล่อยมลพิษเพิ่มขึ้น