สธ.อัปเดตสถานการณ์โควิดในไทย พบสายพันธุ์ HK.3 แล้ว 2 ราย ย้ำข้อมูลความรุนแรงเพิ่มขึ้นยังไม่ชัด เผยทั่วโลกผู้ติดเชื้อน้อย ส่วนสายพันธุ์ที่นักวิจัยต่างชาติระบุเจอในน้ำเสียกทม. อาจเป็นไวรัสที่มีสารพันธุกรรมคล้าย
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 30 ส.ค. 2566 นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวถึงสถานการณ์การสายพันธุ์โควิด 19 ในประเทศไทยและโอไมครอน HK.3 ว่า สถานการณ์โควิด ณ ปัจจุบัน คนใช้ชีวิตเกือบปกติแล้ว เพียงแต่ทางวิทยาศาสตร์ยังต้องติดตามข้อมูล โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) ยังจัดชั้นโอไมครอนเหมือนเดิม
สำหรับสายพันธุ์ที่องค์การอนามัยโลกติดตามใกล้ชิด ในปัจจุบัน ได้แก่
-
สายพันธุ์ที่เฝ้าระวัง หรือ Variants of Interest (VOI) 3 สายพันธุ์ ได้แก่ XBB.1.5* XBB.1.16* และ EG.5*
-
สายพันธุ์ที่ต้องจับตามอง หรือ Variants under monitoring (VUM) 7 สายพันธุ์ ได้แก่ BA.2.75* BA.2.86 CH.1.1* XBB* XBB.1.9.1* XBB.1.9.2* และ XBB.2.3*
“ในแต่ละสัปดาห์พบว่า XBB.1.15 ลดลงชัดเจน ส่วนที่ยังพบขึ้นๆลงๆ ก็มี XBB.1.16 BA.2.75 ฯลฯ แต่สายพันธุ์ที่ขึ้นชัดเจน คือ EG.5 ตัวนี้น่าจะเบียดตัวอื่นในอนาคตอันใกล้ อย่างไรก็ตาม 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา(ตรวจเป็นรอบเพื่อส่ง GISAID) โดยก่อนหน้าที่เราเจอ EG.5 เจอไป 15 ราย ขณะนี้เจอเพิ่มอีก 8 ราย รวมทั้งหมด 23 ราย จึงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในไทย แต่ ณ ปัจจุบันไทยยังเจอ XBB.1.16” นพ.ศุภกิจ กล่าว
สถานการณ์ภาพรวมทั่วโลกจากฐานข้อมูลกลาง GISAID รอบสัปดาห์ที่ 26 ถึง 30 (เดือนกรกฎาคม 2566) พบ XBB.1.16 และ EG.5 เป็นสายพันธุ์ในกลุ่ม VOI ที่พบมากที่สุด ทั้งสองสายพันธุ์มีสัดส่วน 21.1% โดยมีรายงานพบ XBB.1.16 จาก 101 ประเทศ และพบ EG.5 จาก 50 ประเทศ โดย EG.5 มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นถึงสองเท่าในรอบหนึ่งเดือน
ปัจจุบันยังไม่พบมีรายงานการเพิ่มความรุนแรงของโรค อย่างไรก็ตามจากความได้เปรียบในการเติบโต และคุณลักษณะหลบภูมิคุ้มกัน จึงมีความเป็นไปได้ว่า EG.5 จะเพิ่มมากขึ้น และกลายเป็นสายพันธุ์หลักในระดับประเทศหรือทั่วโลก ในขณะที่ XBB.1.5 พบรายงานจาก 121 ประเทศทั่วโลก ซึ่งมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง
สำหรับประเทศไทย สถานการณ์โดยรวมในปัจจุบันพบว่า XBB.1.16 เป็นสายพันธุ์หลักที่ระบาด โดยในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ระหว่างวันที่ 14 – 27 สิงหาคม 2566 ผลการถอดรหัสพันธุกรรมเชื้อก่อโรคโควิด 19 จำนวน 116 ราย พบส่วนใหญ่ 96.55% เป็นสายพันธุ์ลูกผสมกระจายทุกเขตสุขภาพ
สายพันธุ์ XBB.1.16* พบสัดส่วนมากที่สุด (38.79%) ถัดมาคือ XBB.1.9.1* (14.66%), XBB.2.3* (16.38%), XBB* (10.34%) และ EG.5.1* พบสัดส่วน 6.90% (ในประเทศไทยพบระหว่างเดือนเมษายน - กรกฎาคม 2566 จำนวน 8 ราย และในเดือนสิงหาคม 2566 พบเพิ่มจำนวน 7 ราย ปัจจุบันพบสายพันธุ์ EG.5.1* แล้วจำนวน 15 ราย) ในขณะที่ XBB.1.5* พบ 2.59% และพบสายพันธุ์ XBB.1.9.2* อื่นๆ นอกเหนือจาก EG.5.1* 6.90% ข้อมูลจากห้องปฏิบัติการแสดงให้เห็นว่าสัดส่วนของ EG.5.1* มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น สำหรับ XBB.1.5* พบในสัดส่วนลดลง
นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า สำหรับสายพันธุ์ HK.3 (XBB.1.9.2.5.1.1.3) มีต้นตระกูลมาจาก EG.5.1 มีการกลายพันธุ์บนส่วนหนามสองตำแหน่งติดกันคือ L455F และ F456L ในภาพรวมทั่วโลก มีรายงานพบ HK.3 จำนวน 127 ราย จาก 12 ประเทศ คือ ออสเตรเลีย แคนาดา จีน เดนมาร์ก เยอรมัน ญี่ปุ่น สิงคโปร์ เกาหลีใต้ สเปน สวีเดน สหรัฐอเมริกา และในประเทศไทย พบไวรัสที่มีการกลายพันธุ์ใน 2 ตำแหน่งดังกล่าวทั้งหมด 3 ราย แต่มีเพียง 2 รายที่จัดเป็น HK.3 โดยผู้ติดเชื้อทั้ง 2 ราย เป็นครอบครัวเดียวกัน ซึ่งกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้รายงานฐานข้อมูลกลาง GISAID เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2566
สำหรับข้อสงสัยเกี่ยวกับความได้เปรียบในการเติบโตของ HK.3 ที่มีความสามารถในการแพร่ได้เร็วกว่า XBB.1.16 ที่เป็นสายพันธุ์หลักที่ระบาดของประเทศไทยในปัจจุบันถึง 95% และหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันได้มากขึ้น
ขอขี้แจงว่า การคำนวณ % อาจมีความคลาดเคลื่อน เนื่องจากจำนวนข้อมูลมีจำกัด ประกอบกับทั่วโลกมีรายงานตรวจพบ HK.3 เพียง 127 ราย เท่านั้น จาก 12 ประเทศ รวมถึงประเทศไทย ซึ่งมีจำนวนน้อยมาก และยังไม่มีหลักฐานที่ส่งผลต่อความรุนแรงของโรคเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์และเครือข่ายห้องปฏิบัติการจะเฝ้าระวังและติดตามอย่างใกล้ชิด
อย่างไรก็ตาม จุดสำคัญของ HK.3 นั้น พบการกลายพันธุ์ตรงโปรตีนหนาม เปลี่ยนตำแหน่ง 455 จาก L ไปเป็น F และบางส่วนสลับจาก F ไปเป็น L โดยมีข้อสันนิษฐานว่า จะเพิ่มความสามารถในการเข้าสู่เซลล์ แพร่เชื้อเร็วขึ้น หรือหลบภูมิคุ้มกันได้มากขึ้นหรือไม่ ตรงนี้ยังไม่ชัดเจน ต้องติดตามข้อมูลต่อไป และขอย้ำว่า ประเทศไทยเจอ 2 ราย เป็นครอบครัวเดียวกัน สัญชาติไทย อยู่ในกทม. เป็นเพศชายอายุ 65 ปี และเพศหญิงอายุ 11 ปี ขณะนี้หายดีแล้ว ไม่ได้มีอาการหนักอย่างไร
"มีการพูดกันว่า ภาพรวมการติดเชื้อ HK.3 จะติดเชื้อเร็วกว่าเดิม 66% ส่วนประเทศไทยจะติดเชื้อเร็วกว่าสายพันธุ์ XBB.1.16 ถึง 95% ซึ่งขอย้ำว่า การคำนวณเปอร์เซ็นต์นั้น อาจมีความคลาดเคลื่อน เนื่องจากจำนวนข้อมูลมีจำกัด ขณะนี้ไทยพบเพียง 2 รายจะบอกว่าติดเชื้อเร็วกว่าถึง 95% ถือเป็นข้อสรุปเร็วไปหน่อย สิ่งสำคัญขอให้รอดูสถานการณ์อีก 2 สัปดาห์จึงจะบอกได้มากขึ้น" นพ.ศุภกิจ กล่าว
นพ.ศุภกิจ กล่าวด้วยว่า ส่วนสายพันธุ์ BA.2.86 เป็นสายพันธุ์ย่อยของโอไมครอน BA.2 และองค์การอนามัยโลกให้เป็นสายพันธุ์ที่ต้องจับตามอง (VUM) หากนำไปเปรียบเทียบกับ XBB.1.5 และ XBB.1.16 ที่เป็นสายพันธุ์หลักระบาดในปัจจุบัน จะพบความแตกต่างถึง 36 ตำแหน่ง โดยมีรายงานในฐานข้อมูล GISAID แล้ว 21 ราย พบใน 7 ประเทศคือ เดนมาร์ก สวีเดน โปรตุเกส อิสราเอล สหรัฐอเมริกา แอฟริกา และอังกฤษ ขณะนี้ยังไม่พบในประเทศไทย
ขณะที่ Dr.Leshan Wannigama และทีมนักวิจัย จุฬาฯ ได้ถอดรหัสพันธุกรรมตัวอย่างไวรัสจากน้ำเสียที่เก็บในกรุงเทพมหานคร ช่วงปลายเดือนกรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมา ในเฉพาะส่วน S-Gene (ไม่ใช่ทั้งตัวไวรัส) แล้วนำไปเทียบกับ BA.2.86 ทั้ง 9 ตัวอย่างที่รายงานใน GISAID พบว่าสอดคล้องกันทั้งนี้ ยังไม่พบข้อมูลที่บ่งชี้ว่ามีการเพิ่มความรุนแรง หลบภูมิคุ้มกันหรือแพร่เร็วขึ้นกว่าสายพันธุ์อื่นแต่อย่างใด
ผู้สื่อข่าวถามว่าสายพันธุ์ EG.5 แพร่เร็วและรุนแรงกว่าสายพันธุ์เดิมหรือไม่ นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า ความรุนแรงยังไม่เห็นมากขึ้น ไม่ได้แตกต่างกันมาก แต่ข้อมูลพวกนี้จำเป็นต้องรอจำนวนมากขึ้น ซึ่งหากให้สันนิษฐานก็เหมือนตัวอื่นๆก่อนหน้าที่แพร่เร็วขึ้น แต่ไม่รุนแรง ซึ่งทุกวันนี้ผู้ป่วยโควิดส่วนใหญ่ไม่ได้มีอาการรุนแรง
"เรื่องวัคซีนป้องกันโควิดนั้น แม้โควิดจะกลายพันธุ์ และวัคซีนมีผลลดลงบ้าง แต่ก็ยังช่วยลดความรุนแรง การป่วยหนักได้อยู่...แต่ยุคนี้คนส่วนใหญ่ได้วัคซีนแล้ว ปัญหาก็จะไม่มากเหมือนโควิดระบาดแรกๆ ส่วนการฉีดวัคซีนยังแนะนำให้ฉีดในกลุ่มเสี่ยงทุกปี" นพ.ศุภกิจ กล่าว