ป.ป.ช.กางไทม์ไลน์ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ของคณะรัฐมนตรี และ ส.ส. ที่เข้ารับตำแหน่งและพ้นจากตำแหน่ง ภายในกำหนด 60 วัน นับถัดจากวันที่เข้ารับตำแหน่งหรือพ้นจากตำแหน่ง
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 25 ส.ค. 2566 นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. เปิดเผยว่า ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 102 ได้กำหนดให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของตน คู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ โดยคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีประกาศหลักเกณฑ์และวิธีการยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของเจ้าพนักงานของรัฐต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. พ.ศ. 2561 กำหนดให้ นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. กรณีเข้ารับตำแหน่งและพ้นจากตำแหน่ง ภายใน 60 วัน นับถัดจากวันเข้ารับตำแหน่งหรือวันพ้นจากตำแหน่ง โดยสำหรับนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรี การยื่นบัญชีฯ กรณีเข้ารับตำแหน่งให้ถือวันถวายสัตย์ฯ เป็นวันเข้ารับตำแหน่ง และการยื่นบัญชีฯ กรณีพ้นจากตำแหน่ง ให้ถือวันที่คณะรัฐมนตรีคณะใหม่ถวายสัตย์ฯ เป็นวันพ้นจากตำแหน่ง
ในส่วนของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) การยื่นบัญชีฯ กรณีเข้ารับตำแหน่งให้ถือวันปฏิญาณตนในที่ประชุมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นวันเข้ารับตำแหน่ง และการยื่นบัญชีฯ กรณีพ้นจากตำแหน่งให้ถือวันถึงคราวออกตามอายุของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือวันยุบสภาเป็นวันพ้นจากตำแหน่ง โดย ส.ส. ซึ่งปฏิญาณตนฯ เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2566 จะมีกำหนดยื่นบัญชีฯ วันที่ 5 กรกฎาคม – 2 กันยายน 2566 และหากปฏิญาณตนฯ เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2566 จะมีกำหนดยื่นบัญชีฯ วันที่ 13 กรกฎาคม – 10 กันยายน 2566
โดยคณะรัฐมนตรี และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. กรณีเข้ารับตำแหน่งและพ้นจากตำแหน่ง ภายใน 60 วัน นับถัดจากวันเข้ารับตำแหน่งหรือวันพ้นจากตำแหน่ง หากไม่สามารถยื่นบัญชีฯ ภายในเวลาที่กำหนดต้องยื่นคำร้องขอขยายก่อนวันครบกำหนดพร้อมเหตุผลความจำเป็นต่อเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งสามารถขยายระยะเวลาได้อีกไม่เกิน 30 วัน และหากเกินกว่านั้นต้องชี้แจงต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.
ทั้งนี้ สำนักงาน ป.ป.ช. ยังเน้นย้ำว่าการยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินเป็นหน้าที่ที่ต้องดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนด เนื่องจากเป็นมาตรการหนึ่งของการป้องกันและปราบปรามการทุจริตด้วยกระบวนการตรวจสอบความถูกต้องความมีอยู่จริงของทรัพย์สิน ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงที่อาจผิดปกติของทรัพย์สินและหนี้สิน ซึ่งถือเป็นต้นทางในการดำเนินการไต่สวนกรณีร่ำรวยผิดปกติ อีกทั้งยังเป็นการคัดกรองบุคคลเมื่อเข้าสู่ตำแหน่งทางการเมือง ไม่ให้ผู้ที่ไม่สุจริตมีโอกาสใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่กระทำการทุจริต รวมทั้งสร้างความโปร่งใสให้ระบบการเมืองและราชการอีกด้วย ซึ่งเมื่อสำนักงาน ป.ป.ช. ได้รับบัญชีทรัพย์สินแล้ว ก็จะมีการประกาศเปิดเผยเพื่อให้สังคมได้ร่วมกันตรวจสอบอีกทางหนึ่งด้วย
นอกจากนี้ สำนักงาน ป.ป.ช. ยังขอเชิญชวนให้ผู้มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ยื่นบัญชีทรัพย์สินฯ ผ่านระบบออนไลน์ทางเว็บไซต์ www.nacc.go.th และ https://asset.nacc.go.th./ods-app เนื่องจากมีความสะดวกรวดเร็ว มีความปลอดภัยของข้อมูลผู้ใช้งานเพราะมีขั้นตอนยืนยันตัวตน โดยผู้ยื่นบัญชีทรัพย์สินสามารถจัดเก็บและเรียกดูข้อมูลรายการทรัพย์สินของตนเองบนระบบได้อีกด้วย