ครม.ไฟเขียวร่างกฎกระทรวงฯฉบับใหม่ ปรับเพิ่มวงเงินค่ารักษาพยาบาล ‘ลูกจ้าง’ เป็น 6.5 หมื่นบาท จากเดิม 5 หมื่นบาท พร้อมปรับเงื่อนไขลักษณะการบาดเจ็บรุนแรงของศีรษะ
..................................
เมื่อวันที่ 8 ส.ค. น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงค่ารักษาพยาบาลที่ให้นายจ้างจ่าย (ฉบับที่..) พ.ศ. .... ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงและช่วยให้ลูกจ้างเข้าถึงสิทธิประโยชน์การรักษาพยาบาลที่เพิ่มขึ้น ลดความเดือดร้อนและลดภาระค่าใช้จ่ายให้แก่ลูกจ้าง
สำหรับร่างกฎกระทรวงดังกล่าว กำหนดให้ปรับเพิ่มวงเงินค่ารักษาพยาบาลตามกฎกระทรวงค่ารักษาพยาบาลที่ให้นายจ้างจ่าย พ.ศ.2563 จากเดิม 50,000 บาท เป็น 65,000 บาท พร้อมทั้งปรับปรุงเงื่อนไขลักษณะการบาดเจ็บรุนแรงของศีรษะ จากเดิมที่ระบุว่าเป็น 'บาดเจ็บรุนแรงของศีรษะและต้องได้รับการผ่าตัดเปิดกะโหลกศีรษะ' เป็น 'บาดเจ็บอย่างรุนแรงของศีรษะ'
นอกจากนี้ ร่างกฎกระทรวงฉบับนี้ยังครอบคลุมผู้ป่วยที่มีการบาดเจ็บจนเกิด ภาวะไม่รู้สึกตัว หรืออัมพาตที่มีค่าใช้จ่ายสูงสามารถเข้าหลักเกณฑ์ตามกฎกระทรวงข้อนี้ได้ เช่น อาการบาดเจ็บที่มีลักษณะ หรือการรักษา ดังต่อไปนี้
1.การบาดเจ็บอย่างรุนแรงของศีรษะจนไม่สามารถประกอบกิจวัตรประจำวัน ตามปกติเกินกว่า 20 วัน
2.กรณีศีรษะบาดเจ็บรุนแรง แต่อาจไม่ต้องผ่าตัดหรือไม่อาจผ่าตัดได้ เช่น กะโหลกศีรษะ แตกจนมีเลือดออกในช่องสมอง บางรายอาจผ่าตัดไม่ได้ หรือไม่ต้องผ่าตัด
3.กรณีตกจากที่สูงมีเลือดคั่งในสมองแต่ไม่ต้องผ่าตัด นอนรักษาในห้องดูแล ผู้ป่วยหนัก (ICU) จำนวน 3 คืน มีเลือดออกในช่องท้องและไม่ต้องผ่าตัด ซี่โครงหักหลายซี่ มีเลือดในช่องอกเล็กน้อย หายใจขัดเล็กน้อย ไม่ผ่าตัด
น.ส.รัชดา ระบุว่า ปัจจุบันมีวิธีการรักษาการบาดเจ็บรุนแรงของศีรษะ ด้วยวิธีการอื่นที่ไม่ใช่การผ่าตัดเปิดกะโหลกศีรษะ เช่น การเจาะกะโหลกศีรษะเพื่อระบายเลือด และน้ำในสมองออก หรือการรักษาด้วยยาอาจมีค่าใช้จ่ายสูงได้ หากต้องมีการสังเกตอาการ ในห้องดูแลผู้ป่วยหนัก (Intensive Care Units หรือ ICU) เป็นระยะเวลานาน ซึ่งวงเงินเดิมที่ 50,000 บาท อาจจะไม่เพียงพอ
ดังนั้น การปรับเพิ่มวงเงินค่ารักษาพยาบาลดังกล่าว เป็นการเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้แก่ลูกจ้างในการได้รับค่ารักษาพยาบาลตามความเหมาะสมแก่อันตราย หรือความเจ็บป่วยเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนและลดภาระค่าใช้จ่ายของลูกจ้าง
“การดูแลค่ารักษาพยาบาลให้กับลูกจ้างเพิ่มเติมในครั้งนี้ ไม่ได้เป็นภาระกับนายจ้างแต่อย่างใด เพราะการจ่ายหรือการปรับวงเงินค่ารักษาพยาบาลดังกล่าว เป็นการใช้เงินจากกองทุนเงินทดแทนในส่วนของค่ารักษาพยาบาล โดยคาดว่ารายจ่ายค่ารักษาพยาบาลที่เพิ่มขึ้นในระหว่างปี 2566-2567 จะอยู่ที่ประมาณ 2,270 ล้านบาท” น.ส.รัชดา กล่าว