ครม.รับทราบ 5 แนวทาง ส่งเสริมการใช้ ‘เอทานอล’ ใน ‘อุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ’ หลังพบมีกำลังการผลิต 'ส่วนเกิน' สูงถึง 1.3 พันล้านลิตร/ปี
........................................
เมื่อวันที่ 13 มิ.ย. นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบแนวทางการดำเนินการเพื่อส่งเสริมการนำเอทานอลไปใช้ในอุตสาหกรรมอื่นนอกเหนือ จากการเป็นเชื้อเพลิงชีวภาพและการผลิตสุรา โดยมุ่งเน้นอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ ตามมติที่ประชุมคณะกรรมการบริหารการพัฒนา BCG Model ครั้งที่ 2/2565 โดยมีแนวทางการดำเนินการ ดังนี้
1.การจัดทำมาตรฐานการผลิตเอทานอล เพื่อให้การอนุญาตนำเอทานอลแปลงสภาพหรือบริสุทธิ์ไปใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมอื่น โดยให้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นหน่วยงานหลักในการจัดทำมาตรฐานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญภายในประเทศ ผู้ผลิตเอทานอล และผู้ใช้เอทานอล รวมถึงสนับสนุนการพัฒนามาตรฐานทางเทคนิคและการพัฒนาบุคลากรให้สามารถ เป็นผู้ตรวจประเมินตามมาตรฐาน และให้มีการจัดตั้งหน่วยรับรองเพื่อกำหนดมาตรฐานความยั่งยืนของการผลิตเอทานอลด้วย
2.การจัดทำ MoU ร่วมกันระหว่างผู้ผลิตเอทานอลและผู้ใช้เอทานอล โดยกำหนด รายละเอียดปริมาณเอทานอลที่ต้องส่งมอบและระยะเวลาอย่างชัดเจน เพื่อเป็นกลไกการจัดซื้อและจัดหาเอทานอลล่วงหน้า ให้เพียงพอต่อความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ
3.การแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อกำหนดปริมาณการซื้อขายเอทานอลจากผู้ผลิตในประเทศล่วงหน้า และกำหนดปริมาณการนำเข้าเอทานอลที่จะได้รับสิทธิอากรขาเข้าอัตราพิเศษจากการนำเข้าเอทานอล เพื่อนำมาใช้ในการผลิตเอทิลีนชีวภาพสำหรับสินค้าพลาสติกชีวภาพ ในกรณีที่ผู้ผลิตภายในประเทศไม่สามารถผลิตเอทานอลได้ตรงตามมาตรฐานที่ยอมรับร่วมกันระหว่างผู้ผลิตเอทานอลและผู้ใช้เอทานอลและไม่สามารถผลิตได้เพียงพอต่อความต้องการของผู้ใช้เอทานอล
4.การสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพเกษตรกรและผู้ผลิตเอทานอลในประเทศ ให้สามารถผลิตเอทานอลที่มีคุณภาพและมาตรฐาน
5.การออกกฎหมายและแก้ไขกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง เช่น การอนุญาตให้ผู้รับใบอนุญาต ผลิตสุรากลั่นชนิดเอทานอลสามารถนำเอทานอลไปจำหน่ายให้กับอุตสาหกรรมอื่น การเพิ่มพิกัดอัตราภาษีสำหรับสินค้าเอทิลีนชีวภาพ ซึ่งจะเป็นการกำกับดูแลและควบคุมการใช้เอทานอลในการผลิตสินค้าในอุตสาหกรรมอื่นและกำหนดให้มีอัตราภาษีศูนย์
นายอนุชา ระบุว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีกำลังการผลิตเอทานอลอยู่ที่ 3,123 ล้านลิตร/ปี ขณะที่ความต้องการใช้เอทานอลอยู่ที่ 1,583 ล้านลิตร แบ่งเป็นความต้องการใช้ในประเทศ 1,579 ล้านลิตร และการส่งออก 4 ล้านลิตร ส่งผลให้การผลิตในปัจจุบันยังไม่เต็มกำลัง โดยมีกำลังการผลิตส่วนเกินของเอทานอลประมาณ 1,337 ล้านลิตร ประกอบกับรัฐบาลมีนโยบายขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจ BCG Model เพื่อส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาธุรกิจและอุตสาหกรรมใหม่
ดังนั้น แนวทางดังกล่าวจะเป็นการส่งเสริมการปรับตัวและพัฒนาอุตสาหกรรมเอทานอลให้เกิดความยั่งยืน เช่น การใช้เทคโนโลยีเพื่อนำเอทานอล เป็นวัตถุดิบในการผลิตเม็ดพลาสติกในอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้มีการใช้เอทานอลอย่างต่อเนื่องและยังสามารถช่วยลดก๊าซเรือนกระจกได้ในปริมาณมากด้วย