กสม. แนะ สพฐ. แก้ไขระเบียบที่สุ่มเสี่ยงต่อการลิดรอนสิทธิในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยครอบครัวและศูนย์การเรียน ย้ำเด็กเรียนนอกระบบต้องเข้าถึงโอกาสทางการศึกษาอย่างเท่าเทียม
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 9 มิ.ย. 2566 นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า ปลายปี 2565 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับสิทธิเด็ก อันเกี่ยวเนื่องกับสิทธิในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยศูนย์การเรียนและครอบครัว ซึ่งเป็นการจัดการศึกษานอกระบบโรงเรียนปกติ อันมีประเด็นปัญหาจากการที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการออกกฎและระเบียบหลายประการที่เป็นการจำกัดสิทธิในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานนอกระบบ ทั้งการกำหนดคุณสมบัติของผู้เรียนในศูนย์การเรียนว่า ต้องเป็นผู้ซึ่งขาดโอกาสในการเข้ารับการศึกษาในระบบโรงเรียนปกติ และต้องเป็นผู้ที่มีอายุย่างเข้าปีที่ 7 จนถึงอายุ 18 ปีบริบูรณ์ การแก้ไขคู่มือการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานตามมาตรา 12 แห่ง พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ในส่วนคุณสมบัติของผู้เรียนในศูนย์การเรียนว่า “ต้องเป็นผู้ขาดโอกาสในการเข้าศึกษาในระบบโรงเรียนปกติ” ส่งผลให้ศูนย์การเรียนที่ได้รับอนุมัติให้จัดตั้งมาก่อนตามคู่มือฉบับเดิม ไม่สามารถรับเด็กทั่วไปเข้าเรียนได้
และยังมีกรณีที่ศูนย์การเรียนที่จัดตั้งขึ้นโดยบุคคล องค์กรชุมชนและองค์กรเอกชน จำนวน 60 แห่ง ไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ด้านเงินอุดหนุนจากรัฐ และสิทธิประโยชน์ทางด้านการศึกษา ตามมาตรา 14 แห่ง พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 รวมทั้งไม่มีฐานข้อมูลของเด็กนักเรียนในศูนย์การเรียนอยู่ในระบบจัดเก็บข้อมูลนักเรียนรายบุคคล (Data Management Center: DMC) จึงไม่สามารถเชื่อมโยงข้อมูลกับระบบการศึกษา และหน่วยงานอื่น ๆ ของรัฐทุกประเภทได้
นอกจากนี้ ยังมีกรณีร้องเรียนเกี่ยวกับการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยครอบครัว ซึ่งประสบปัญหา เช่น แผนการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยครอบครัวรูปแบบกลุ่มประสบการณ์ไม่ได้รับการยอมรับ การวัดและประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียนขาดการมีส่วนร่วมของผู้ปกครอง (ครู) หรือผู้จัดการศึกษา โดยที่กลไกของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาขาดความพร้อมในการพิจารณาอนุญาตและส่งเสริมให้การจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยครอบครัวเป็นระบบและมีคุณภาพ รวมทั้งขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดการศึกษาทางเลือกของภาคประชาสังคม
กสม. พิจารณาแล้วเห็นว่า ประเด็นปัญหาตามคำร้องทั้งสาม มีประเด็นที่ต้องพิจารณา 2 ประเด็น ดังต่อไปนี้
ประเด็นที่หนึ่ง กรณี สพฐ. เปลี่ยนแปลงแก้ไขคู่มือการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานตาม พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ในส่วนคุณสมบัติของผู้เรียนในศูนย์การเรียน เห็นว่า สพฐ. เปลี่ยนแปลงแก้ไขคู่มือการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานในส่วนของคุณสมบัติของผู้เรียนในศูนย์การเรียนจาก “ผู้เรียนในศูนย์การเรียนต้องเป็นผู้ซึ่งขาดโอกาสในการเข้าศึกษาในระบบโรงเรียนปกติ หรือผู้ที่ต้องการเข้าเรียนที่ศูนย์การเรียน” เป็น “ผู้เรียนในศูนย์การเรียนต้องเป็นผู้ขาดโอกาสในการเข้าศึกษาในระบบโรงเรียนปกติ” เท่านั้น เนื่องจากคู่มือฉบับเดิมกำหนดคุณสมบัติของผู้เรียนเกินกว่าที่กฎกระทรวงกำหนด ดังนั้น การที่ สพฐ. เปลี่ยนแปลงแก้ไขคุณสมบัติของผู้เรียนเป็นการแก้ไขคู่มือที่ไม่เป็นไปตามกฎหมายให้ถูกต้องตามกฎหมาย จึงยังไม่อาจรับฟังได้ว่ามีการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน
ส่วนการที่ สพฐ. ออกประกาศเกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้เรียนในศูนย์การเรียนที่จัดการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยบุคคลและโดยองค์กรเอกชนเป็นนิติบุคคลซึ่งไม่ได้จดทะเบียนในประเทศไทย ที่กำหนดคุณสมบัติผู้เรียนว่าต้องเป็นผู้ที่มีอายุย่างเข้าปีที่ 7 จนถึงอายุ 18 ปีบริบูรณ์ และเป็นเด็กซึ่งขาดโอกาสในการเข้าศึกษาในระบบโรงเรียนปกติ และมีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดใน 12 กลุ่มได้แก่ (1) เด็กยากจน (2) เด็กที่มีปัญหาเกี่ยวกับยาเสพติด (3) เด็กที่ถูกทอดทิ้ง (4) เด็กที่ถูกทำร้ายทารุณ (5) เด็กที่ได้รับผลกระทบจากโรคเอดส์ หรือโรคติดต่อร้ายแรงที่สังคมรังเกียจ (6) เด็กในชนกลุ่มน้อย (7) เด็กเร่ร่อน (8) เด็กถูกบังคับให้ขายแรงงานหรือแรงงานเด็ก (9) เด็กที่อยู่ในธุรกิจทางเพศหรือโสเภณีเด็ก (10) เด็กในสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน (11) เด็กพิการ และ (12) เด็กซึ่งขาดโอกาสในการเข้าศึกษาในระบบโรงเรียนปกติกรณีอื่น ๆ นั้น อาจนำไปสู่การตีตราและการเลือกปฏิบัติต่อเด็ก ซึ่งสุ่มเสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชน
ประเด็นที่สอง กรณี สพฐ. ไม่จัดสรรสิทธิประโยชน์ด้านเงินอุดหนุนให้แก่ศูนย์การเรียนที่จัดการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยบุคคล องค์กรชุมชนและองค์กรเอกชน และองค์กรวิชาชีพ เป็นการกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่ กสม. เห็นว่า ตามกฎกระทรวงเกี่ยวกับการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานในศูนย์การเรียน กำหนดว่า “ศูนย์การเรียนอาจได้รับสิทธิประโยชน์ด้านเงินอุดหนุนจากรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือองค์กรเอกชนสำหรับการจัดการศึกษาได้” ทำให้เกิดปัญหาการตีความว่ารัฐอาจจะให้หรือไม่ให้เงินอุดหนุนก็ได้ซึ่งไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 มาตรา 14 ที่บัญญัติให้บุคคล ครอบครัว องค์กรชุมชน องค์กรเอกชน องค์กรวิชาชีพ สถาบันศาสนา สถานประกอบการ และสถาบันสังคมอื่น ซึ่งสนับสนุนหรือจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน มีสิทธิในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน
อย่างไรก็ตาม เนื่องจาก กสม. เคยตรวจสอบและมีข้อเสนอแนะในประเด็นการไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ด้านเงินอุดหนุนลักษณะดังกล่าวแล้ว เมื่อเดือนมกราคม 2562 โดยเสนอให้เร่งแก้ไขกฎกระทรวง คำว่า “อาจได้รับ” เป็น “มีสิทธิได้รับ” ซึ่งต่อมา สพฐ. ได้แก้ไขกฎกระทรวงการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ตามมาตรา 12 แห่ง พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เป็น “ศูนย์การเรียนมีสิทธิได้รับสิทธิประโยชน์ด้านเงินอุดหนุนจากรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือองค์กรเอกชนสำหรับการจัดการศึกษาได้” และได้ส่งร่างกฎกระทรวงฉบับแก้ไขให้สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป ในประเด็นนี้จึงเห็นควรเร่งรัดการติดตามผลดำเนินการตามรายงานผลการตรวจสอบฉบับดังกล่าว
ส่วนประเด็นการไม่มีฐานข้อมูลในระบบจัดเก็บข้อมูลนักเรียนรายบุคคล (DMC) ของศูนย์การเรียน นั้น พบว่า ปัจจุบันกระทรวงศึกษาธิการอยู่ระหว่างดำเนินการจัดทำระบบดังกล่าว จึงเป็นการดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจเพื่อแก้ไขปัญหาในประเด็นนี้แล้ว
จากเหตุผลดังกล่าว กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2566 จึงเห็นควรมีข้อเสนอแนะในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ตลอดจนข้อเสนอแนะในการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายไปยัง สพฐ. กระทรวงศึกษาธิการ และสภาการศึกษา สรุปได้ดังนี้
ให้ สพฐ. กระทรวงศึกษาธิการ และสภาการศึกษา ร่วมกันทบทวนปรับปรุงแก้ไขกฎกระทรวง ประกาศ หรือคำสั่งที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดคุณสมบัติของผู้เรียนในศูนย์การเรียนให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก รวมทั้งเพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2548 โดยต้องไม่กำหนดลักษณะของเด็กซึ่งขาดโอกาสในการเข้าศึกษาในระบบโรงเรียนปกติที่อาจเป็นการตีตราหรือเลือกปฏิบัติต่อเด็ก เพื่อให้เด็กสามารถเข้าถึงการศึกษาขั้นพื้นฐานอย่างเท่าเทียมและทั่วถึง และร่วมกันพิจารณาทบทวนกลไกการกำกับดูแลการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยครอบครัวและศูนย์การเรียน เนื่องจากปรัชญาแนวคิดของการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยครอบครัวและศูนย์การเรียนแตกต่างจากการจัดการศึกษาในระบบ
ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์สูงสุดของเด็ก เห็นควรจัดให้มีหน่วยงานเฉพาะเพื่อเป็นกลไกในการแก้ไขปัญหา ให้คำปรึกษาแนะนำ หรือรับเรื่องร้องเรียน ตลอดจนส่งเสริมสนับสนุนด้านวิชาการ ในด้านการบริหารจัดการ กรณีเกิดปัญหา อุปสรรค หรือข้อขัดข้องในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยครอบครัวหรือศูนย์การเรียน
นอกจากนี้ ให้พิจารณาแก้ไขปรับปรุงกฎกระทรวงว่าด้วยสิทธิของบุคคลในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานในศูนย์การเรียน พ.ศ. 2554 ข้อ 12 กฎกระทรวงว่าด้วยสิทธิขององค์กรชุมชนและองค์กรเอกชนในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานในศูนย์การเรียน พ.ศ. 2555 ข้อ 13 และ กฎกระทรวงว่าด้วยสิทธิขององค์กรวิชาชีพในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานในศูนย์การเรียน พ.ศ. 2554 ข้อ 9 จากคำว่า “อาจได้รับสิทธิประโยชน์ด้านเงินอุดหนุน” เป็น “มีสิทธิได้รับสิทธิประโยชน์ด้านเงินอุดหนุน” เพื่อให้การจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานของศูนย์การเรียนที่ได้รับสิทธิประโยชน์ด้านเงินอุดหนุนจากรัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นไปอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม ทั้งนี้ในระหว่างที่ยังปรับปรุงแก้ไขกฎกระทรวงไม่แล้วเสร็จ ให้พิจารณาให้ศูนย์การเรียนที่จัดตั้งขึ้นอย่างถูกต้องตามกฎหมายได้รับสิทธิประโยชน์ด้านเงินอุดหนุนด้วย