กสม.ชงข้อเสนอแนะถึงนายกรัฐมนตรี –สธ. แก้ไขร่างกฎกระทรวงกำหนดปริมาณยาเสพติดให้โทษที่มีไว้ในครอบครองเพื่อเสพ ให้เอื้อต่อการบำบัดฟื้นฟูผู้ติดยามากกว่ามุ่งลงโทษ
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 19 พฤษภาคม 2566 นายภาณุวัฒน์ ทองสุข ที่ปรึกษาสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนจากเครือข่ายภาคประชาสังคมด้านยาเสพติด เกี่ยวกับกฎหมายลำดับรองซึ่งออกตามความของมาตรา 107 แห่งประมวลกฎหมายยาเสพติด ระบุว่า เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2566 คณะกรรมการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้เสพยาเสพติด ได้มีมติรับร่างกฎกระทรวงกำหนดปริมาณยาเสพติดให้โทษและวัตถุออกฤทธิ์ที่ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่ามีไว้ในครอบครองเพื่อเสพ พ.ศ. .... ซึ่งเนื้อหาของร่างดังกล่าวกำหนดให้ การครอบครองแอมเฟตามีนที่มีปริมาณไม่เกิน 1 หน่วยการใช้หรือมีน้ำหนักสุทธิไม่เกิน 0.1 กรัม และเมทแอมเฟตามีนที่มีปริมาณไม่เกิน 1 หน่วยการใช้ หรือมีน้ำหนักสุทธิไม่เกิน 0.1 กรัม ในลักษณะที่เป็นเกล็ดมีน้ำหนักสุทธิไม่เกิน 375 มิลลิกรัม ให้สันนิษฐานว่ามีไว้ครอบครองเพื่อเสพ ซึ่งถือเป็นการลดปริมาณของสารเสพติดกลุ่มสารกระตุ้นที่ให้สันนิษฐานว่ามีไว้ครอบครองเพื่อเสพน้อยลงจากร่างกฎกระทรวงกำหนดปริมาณยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ประเภท 2 หรือประเภท 5 หรือวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 หรือประเภท 2 ที่ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่ามีไว้ในครอบครองเพื่อเสพ พ.ศ. .... ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติหลักการเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2565 โดยกำหนดให้ การครอบครองแอมเฟตามีนมีปริมาณไม่ถึง 15 หน่วยการใช้ตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่ามีไว้ในครอบครองเพื่อเสพ ซึ่งการกำหนดจำนวนสารเสพติดลดลงมากกว่า 15 เท่า จากร่างกฎกระทรวงเดิม และเป็นจำนวนที่น้อยเกินไปอาจละเมิดสิทธิมนุษยชน จึงขอให้ กสม. ตรวจสอบ
กสม. พิจารณาแล้วเห็นว่า ต้นตอของปัญหายาเสพติดเป็นปัญหาสุขภาพซึ่งสืบเนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจและความเหลื่อมล้ำของสังคมที่ซับซ้อน การแก้ไขปัญหาจึงควรเห็นอกเห็นใจและดูแลเอาใจใส่อย่างครอบคลุม ให้การสนับสนุนและการรักษาผู้เสพยาเสพติดมากกว่าการตำหนิหรือการลงโทษ และเข้าใจในหลักการสากลที่ว่า “ผู้เสพยาเสพติดคือผู้ป่วย” และมิใช่อาชญากรปกติ การฟื้นฟูสมรรถภาพของผู้ติดยาเสพติดจึงสมควรกระทำให้กว้างขวาง และโดยที่ผู้เสพยาเสพติดจำนวนหนึ่งถูกบังคับให้เป็นผู้จำหน่ายยาเสพติดเพื่อแลกกับการได้ยาเสพติดไปเสพด้วย การฟื้นฟูจึงควรขยายขอบเขตให้ครอบคลุมถึงผู้เสพและมีไว้ในครอบครอง (เพื่อเสพ) ผู้เสพและมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายด้วย
กสม. เห็นว่า นโยบายด้านยาเสพติดที่ให้ความสำคัญกับการลงโทษและการห้ามเสพด้วยการทำให้ผู้เสพเป็นอาชญากร ไม่ได้ทำให้ผู้เสพเลิกใช้ยาเสพติดหรือก่อให้เกิดผลในทางบวกแต่กลับส่งผลในทางลบ ทั้งการตีตรา การเลือกปฏิบัติ และการใช้ความรุนแรงต่อผู้เสพ ดังนั้น มาตรการการลดอันตราย (Harm Reduction) ที่ใช้วิธีการลดผลกระทบด้านลบของพฤติกรรมหรือกิจกรรมบางอย่างของบุคคลให้น้อยที่สุด จึงเป็นเครื่องมือหนึ่งที่นานาชาตินำมาใช้แก้ไขปัญหานี้ โดยรัฐควรกำหนดนโยบายและแนวปฏิบัติต่าง ๆ ที่มุ่งลดอันตรายที่เกี่ยวข้องกับการเสพยาเสพติดนั้นแทน เช่น ลดการเสพยาเกินขนาด ลดการติดเชื้อเอชไอวี หรือการติดเชื้อผ่านกระแสเลือดอื่น ๆ และลดการกีดกันทางสังคมต่อผู้เสพยาเสพติด เป็นต้น โดยเครื่องมือสำคัญหนึ่งที่จะทำให้มาตรการการลดอันตรายบรรลุผล คือ การลดทอนความเป็นอาชญากรรม (decriminalization) ของผู้เสพ ด้วยการตรากฎหมายกำหนดปริมาณยาเสพติดให้โทษอย่างสมเหตุสมผลเพื่อให้บุคคลไม่ต้องรับโทษทางอาญาและเพื่อให้ผู้นั้นสามารถเข้ารับการบำบัดได้ในฐานะผู้ป่วยและกลับมาใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างปกติสุข ทั้งนี้ เพื่อคุ้มครองสิทธิของประชาชนในการได้รับบริการสาธารณสุขของรัฐ และเพื่อบรรลุหน้าที่ของรัฐในการบริการสาธารณสุข ปกป้องสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน ในขณะเดียวกันก็เป็นการส่งเสริมความยุติธรรมทางสังคมและสิทธิมนุษยชน อันสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 47 ประกอบมาตรา 54
จากเหตุผลและหลักการข้างต้น กสม. จึงมีมติให้มีข้อเสนอแนะต่อร่างกฎกระทรวงกำหนดปริมาณยาเสพติดให้โทษและวัตถุออกฤทธิ์ที่ให้สันนิษฐานว่ามีไว้ในครอบครองเพื่อเสพ พ.ศ. .... ไปยังนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข สรุปได้ดังนี้
(1) กฎหมายลำดับรองควรกำหนดปริมาณยาเสพติดให้โทษไว้อย่างสมเหตุสมผลและสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของกฎหมายหลักคือประมวลกฎหมายยาเสพติด สำหรับสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบุคคลมีไว้ในครอบครองเพื่อเสพ เพื่อให้โอกาสแก่ผู้เสพที่ครอบครองยาเสพติดหรือวัตถุออกฤทธิ์ไว้เพื่อเสพมีโอกาสเข้ารับการบำบัดรักษาและการฟื้นฟูโดยไม่ถือเป็นโทษความผิดร้ายแรง
(2) จำนวนสารเสพติดกลุ่มสารกระตุ้นที่ให้สันนิษฐานว่ามีไว้ครอบครองเพื่อเสพในร่างกฎกระทรวงกำหนดปริมาณยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ประเภท 2 หรือประเภท 5 หรือวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 หรือประเภท 2 ที่ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่ามีไว้ในครอบครองเพื่อเสพ พ.ศ. .... ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้เคยอนุมัติหลักการเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2565 มีจำนวนที่เหมาะสมแล้วเพื่อให้ผู้เสพสามารถเข้ารับการบำบัดได้ แต่ร่างกฎกระทรวงกำหนดปริมาณยาเสพติดให้โทษฯ ตามที่คณะกรรมการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้เสพยาเสพติด มีมติรับร่าง ในคราวประชุมเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2566 นั้น กำหนดจำนวนการครอบครองแอมเฟตามีนและเมทแอมเฟตามีนไว้ในจำนวนน้อยเพียงไม่เกิน 1 หน่วยการใช้ ซึ่งเป็นจำนวนที่ไม่สมเหตุสมผลและขัดแย้งกับหลักการของประมวลกฎหมายยาเสพติด ทำให้ผู้เสพยาเสพติดถูกตีตราว่าเป็นอาชญากรและถูกลิดรอนสิทธิในการได้รับบริการสาธารณสุข และสิทธิที่จะได้รับการแก้ไขฟื้นฟูให้กลับเข้าสู่สังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ
(3) การพิสูจน์ว่าบุคคลมียาเสพติดไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและควรถูกลงโทษทางอาญานั้น ควรเป็นการนำสืบในชั้นศาลโดยรัฐ ไม่ใช่กำหนดข้อสันนิษฐานสำหรับผู้มียาเสพติดไว้ในครอบครองเพื่อเสพไว้ในจำนวนที่ต่ำเกินไปเพื่อประโยชน์ในการลงโทษ ซึ่งแม้จะสามารถพิสูจน์หักล้างในกระบวนการพิจารณาของศาลได้ แต่การกำหนดข้อสันนิษฐานไว้ต่ำเกินไปนั้น เป็นการผลักภาระให้คดียาเสพติดทุกคดีต้องเข้าสู่กระบวนการพิจารณาโดยศาล และระหว่างนั้นผู้เสพยาเสพติดที่เป็นผู้ป่วยจะต้องถูกคุมขังหรือจำคุกแทนที่จะได้รับการแก้ไขหรือบำบัด ซึ่งในปัจจุบันข้อเท็จจริงเป็นที่ประจักษ์ว่านักโทษคดียาเสพติดนั้นมีจำนวนมากถึงร้อยละ 80 ของนักโทษที่ถูกคุมขังในเรือนจำของประเทศไทยทั้งหมด
(4) ควรนำเนื้อหาและหลักการตามร่างกฎกระทรวงฯ ฉบับเดิม ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติหลักการเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2565 มากำหนดในร่างกฎกระทรวงฯ ออกตามความในมาตรา 107 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายยาเสพติด เพื่อให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของกฎหมาย