‘ธนาคารพาณิชย์-แบงก์รัฐ’ พร้อมปฏิบัติตาม ‘มาตรการจัดการภัยทุจริตทางการเงิน’ ของ ‘แบงก์ชาติ’ เดินหน้าลงทุนระบบป้องกัน ‘มิจฉาชีพ’ หลอกเงินผู้ใช้บริการทางการเงิน
.................................
จากกรณีที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประกาศ ‘มาตรการจัดการภัยทุจริตทางการเงิน’ โดยกำหนดแนวปฏิบัติขั้นต่ำให้สถาบันการเงินทุกแห่งต้องปฏิบัติตามให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยทุจริตทางการเงิน เช่น SMS หลอกลวง ,แก๊งคอลเซ็นเตอร์ ,แอปพลิเคชันหลอกกู้เงิน และแอปพลิเคชันดูดเงิน นั้น (อ่านประกอบ : ‘ธปท.’ออกมาตรการจัดการภัยการเงิน-โอนเงินผ่าน‘โมบายแบงก์กิ้ง’เกิน 5 หมื่น ต้องสแกนใบหน้า)
ล่าสุดเมื่อวันที่ 10 มี.ค. ธปท. พร้อมด้วยสมาคมธนาคารไทย และสมาคมสถาบันการเงินของรัฐ เปิดแถลงเรื่อง ‘การเตรียมความพร้อมภาคการธนาคาร ตามมาตรการจัดการภัยทุจริตทางการเงิน’ โดยนายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย ระบุว่า ที่ผ่านมาธนาคารสมาชิกของสมาคมธนาคารไทย ได้ประสานงานกับ ธปท. ในเรื่องดังกล่าวมาแล้ว และเชื่อมั่นว่าธนาคารทุกแห่งจะสามารถดำเนินการได้ตามกรอบระยะเวลาที่กำหนด
ส่วนเรื่องเงินทุนนั้น แน่นอนว่าภายใต้มาตรการจัดการภัยทุจริตทางการเงินของ ธปท. จะทำให้ธนาคารพาณิชย์ต้องมีการลงทุนเพิ่มขึ้น แต่ธนาคารฯเองก็พร้อมลงทุนในส่วนนี้ เพื่อสร้างความมั่นใจ ความไว้วางใจ และความปลอดภัยให้กับผู้ใช้บริการ ขณะเดียวกัน ธนาคารพาณิชย์และธนาคารของรัฐ ได้หารือร่วมกันถึงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานกลางที่จะใช้ร่วมกัน เพื่อไม่ให้มีการลงทุนที่ซ้ำซ้อน โดยขณะนี้บริษัท เนชั่นแนล ไอทีเอ็มเอ๊กซ์ (ITMX) อยู่ระหว่างทำเรื่องนี้
นอกจากนี้ สมาคมธนาคารไทยและสมาชิก พร้อมร่วมมือกับหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเช่น ผู้ให้บริการ e-wallet ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ รวมถึงหน่วยงานภาครัฐอื่นๆ เพื่อร่วมขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาทุจริตภัยการเงินอย่างมีประสิทธิภาพ และครอบคลุมทั้งระบบนิเวศแบบ end to end ที่มิจฉาชีพใช้หลอกลวงประชาชน
นายทวนทอง ตรีนุภาพ ผู้แทน สมาคมสถาบันการเงินของรัฐ กล่าวว่า สถาบันการเงินของรัฐและธนาคารสมาชิกพร้อมให้ความร่วมมือกับ ธปท. และสมาคมธนาคารไทย ในการดำเนินการตามมาตรการจัดการภัยทุจริตทางการเงิน โดยเฉพาะการเร่งพัฒนาระบบงานและเทคโนโลยีของธนาคารอย่างเต็มที่ เพื่อดูแลลูกค้าของธนาคารฯ ซึ่งเป็นลูกค้ากลุ่มเปราะบางที่อาจตกเป็นเหยื่อภัยทางการเงิน เช่น SMS หลอกลวง ,แก๊งคอลเซ็นเตอร์ และแอปฯดูดเงิน เป็นต้น
ทั้งนี้ ที่ผ่านมา สมาชิกของสมาคมสถาบันการเงินของรัฐ ได้มีการดำเนินการตามมาตรการจัดการภัยทุจริตทางการเงินแล้ว เช่น ยกเลิกการส่ง SMS ที่มีลิงก์ทุกประเภทโดยเด็ดขาด และการจัดตั้งศูนย์รับแจ้งเหตุภายทางการเงิน (hotline) รวมทั้งได้ร่วมประชุมกับ ธปท. และสมาคมธนาคารไทย อย่างต่อเนื่อง จึงมั่นใจว่าสมาชิกของสมาคมสถาบันการเงินของรัฐจะดำเนินการตามมาตรการของ ธปท.ได้เร็วและทันตามกรอบเวลาที่กำหนด
“แผนงานพวกนี้ช้าไม่ได้ เพราะมิจฉาชีพก็ไว เราก็ต้องตามให้ทันและสปีดให้เร็ว และสิ่งที่ commit ไว้แล้วว่าจะทำได้ตามนี้ ส่วนเรื่องการลงทุนนั้น ก็ไม่มีประเด็น เพราะเป็นการลงทุนที่เราจำเป็นต้องจ่ายเพื่อให้มีความปลอดภัย และมีความคุ้มค่ามากเทียบกับเสียหายที่มีพอสมควร เราจึงจำเป็นต้องจ่ายเพื่อให้แก้ปัญหาในเรื่องนี้ได้” นายทวนทอง กล่าว
นายทวนทอง ระบุว่า กรณีที่ ธปท. กำหนดให้การทำธุรกรรมทางการเงินผ่าน mobile banking ที่มีวงเงินเกิน 50,000 บาท ต้องมีการยืนยันตัวตน (biometrics) นั้น ปัจจุบันธนาคารของรัฐ เช่น ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ซึ่งมีการให้บริการทาง mobile banking มีความพร้อมในด้านเทคโนโลยีอยู่แล้ว แต่ต่อไปจะมีการนำระบบการยืนยันตัวตนมาใช้เพิ่มเติม เช่น การโอนเงินเกิน 50,000 บาท/ครั้ง
ด้าน น.ส.สิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับระบบการชำระเงินและคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ธปท. กล่าวว่า ธปท. ให้ความสำคัญและไม่นิ่งนอนใจกับปัญหาภัยทางการเงินที่ประชาชนถูกหลอกลวง จึงยกระดับให้เรื่องนี้เป็นความเสี่ยงสำคัญที่ทุกสถาบันการเงินต้องดูแลและบริหารจัดการอย่างจริงจัง โดย ธปท.ได้ออกชุดมาตรการจัดการภัยทุจริตทางการเงิน เพื่อช่วยให้ระบบการเงินมีความปลอดภัย สร้างความมั่นใจให้ผู้ใช้บริการทางการเงิน
อย่างไรก็ตาม เพื่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติโดยเร็ว ธปท. จึงได้เชิญผู้บริหารของสถาบันการเงินเข้าร่วมประชุมหารือและกำชับให้สถาบันการเงินทุกแห่งเร่งดำเนินการตามมาตรการดังกล่าว และเตรียมความพร้อมรองรับการดำเนินงานตาม พ.ร.ก. มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากสถาบันการเงินทุกแห่ง
อ่านประกอบ :
‘ธปท.’ออกมาตรการจัดการภัยการเงิน-โอนเงินผ่าน‘โมบายแบงก์กิ้ง’เกิน 5 หมื่น ต้องสแกนใบหน้า