‘สมาคมสถาบันการเงินของรัฐ’ ประกาศปรับอัตราดอกเบี้ย หลัง ‘กนง.’ มีมติเอกฉันท์ขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเป็น 1.50% ขณะที่ ‘ธอส.’ นำร่องปรับดอกเบี้ยยกแผง 0.25% ดันอัตราดอกเบี้ยลูกหนี้บ้าน 'รายย่อย' แตะ 6.40%
.......................................
เมื่อวันที่ 25 ม.ค.ที่ผ่านมา นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ในฐานะประธานกรรมการสมาคมสถาบันการเงินของรัฐ (GFA) เปิดเผยว่า จากกรณีที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในการประชุมวันนี้ (25 มกราคม 2566) มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี จาก 1.25% ต่อปี เป็น 1.50% ต่อปี เพื่อให้สอดคล้องกับแนวโน้มการฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจและเงินเฟ้อโดยให้มีผลทันที
โดยเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งที่ 4 ติดต่อกัน รวมปรับขึ้น 1% ต่อปี นับตั้งแต่การปรับขึ้นครั้งแรกในเดือนสิงหาคม 2565 สถาบันการเงินของรัฐยังคงตรึงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ไว้ที่ระดับเดิมตลอดปี 2565 เพื่อให้ลูกค้าประชาชนได้มีเวลาปรับตัวรับกับภาวะดอกเบี้ยขาขึ้นในอนาคตและช่วยบรรเทาค่าใช้จ่ายของลูกค้ากลุ่มที่ยังได้รับผลกระทบด้านรายได้จากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและการแพร่ระบาดของ COVID-19 นั้น
สถาบันการเงินของรัฐ มีความจำเป็นต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ โดยเริ่มมีผลตั้งแต่เดือนมกราคม 2566 เป็นต้นไป เพื่อให้สอดคล้องกับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในตลาดและจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากไปแล้วก่อนหน้านี้ รวมถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและสถานการณ์ COVID-19 ที่คลี่คลายลง
อย่างไรก็ตาม การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ดังกล่าวยังเป็นระดับที่ต่ำกว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และจะไม่ส่งผลกระทบให้เงินงวดของลูกค้าส่วนใหญ่ต้องปรับขึ้นแต่อย่างใด สมาคมสถาบันการเงินของรัฐ และสมาชิก ยังคงตระหนักถึงผลกระทบต่อลูกค้าและยังคงให้ความสำคัญในการดูแลลูกค้ากลุ่มเปราะบาง ที่รายได้ยังไม่กลับเข้าสู่ภาวะปกติ และได้รับผลกระทบจากค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น
จึงยังคงพร้อมให้ความช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบผ่านมาตรการความช่วยเหลือของแต่ละสถาบันการเงิน ที่มุ่งเน้นการให้ความช่วยเหลือที่เหมาะสม ตรงจุด และทันเหตุการณ์ ครอบคลุมทั้งการลดภาระทางการเงิน และการปรับปรุงโครงสร้างหนี้เดิม โดยคำนึงถึงศักยภาพและโอกาสในการปรับตัวของลูกค้าในอนาคต การเสริมสภาพคล่องและการปรับโครงสร้างหนี้ต่างๆ
ทั้งนี้ สถาบันการเงินของรัฐจะติดตามความคืบหน้าและประสิทธิผลของมาตรการต่าง ๆ อย่างใกล้ชิด และพร้อมพิจารณาดำเนินการเพิ่มเติมหากมีความจำเป็นในระยะต่อไป โดยสถาบันการเงินของรัฐ พร้อมปฏิบัติตามนโยบายและร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโตได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว
นายฉัตรชัย กล่าวด้วยว่า เมื่อวันที่ 25 ม.ค.ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารสินทรัพย์ หนี้สิน และการเงิน (ALCO) ของ ธอส. ได้มีมติให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ทุกประเภท 0.25% ต่อปี มีผลตั้งแต่วันที่ 26 ม.ค.2566 เป็นต้นไป เพื่อให้สอดคล้องกับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในตลาด โดยมีรายละเอียด ดังนี้
-อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) จาก 6.15% ต่อปี ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 6.40% ต่อปี
-อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทเงินกู้แบบมีระยะเวลา (MLR) จาก 5.75% ต่อปี ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 6.00% ต่อปี
-อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทเงินกู้เบิกเกินบัญชี (MOR) จาก 5.90% ต่อปี ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 6.15% ต่อปี
ทั้งนี้ ธอส. ยืนยันว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในครั้งนี้ จะไม่ส่งผลให้ลูกค้าส่วนใหญ่ของธนาคารต้องผ่อนชำระเงินงวดเพิ่มขึ้น เนื่องจากธนาคารได้จัดทำผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่มีการคำนวณเงินงวดให้มีจำนวนเผื่อกรณีมีการปรับอัตราดอกเบี้ยไว้ให้กับลูกค้าอยู่แล้ว และ ธอส. ยังคงตระหนักถึงการดูแลลูกค้ากลุ่มเปราะบางที่รายได้ยังไม่กลับเข้าสู่ภาวะปกติให้ได้รับความช่วยเหลือผ่านมาตรการต่างๆ ของธนาคารอย่างเหมาะสม
ด้านนายรักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เปิดเผยว่า จากกรณีที่เมื่อวันที่ 25 ม.ค.ที่ผ่านมา คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี จาก 1.25% เป็น 1.50% ต่อปี
ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินงานของ EXIM BANK สอดคล้องกับทิศทางของเศรษฐกิจและแนวโน้มเงินเฟ้อ และเพื่อสนับสนุนการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งจะช่วยให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยเป็นไปอย่างมีเสถียรภาพ EXIM BANK จึงประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย Prime Rate 0.25% ต่อปี จาก 5.75% ต่อปี เป็น 6.00% ต่อปี ซึ่งยังคงเป็นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อยชั้นดีที่ต่ำที่สุดในระบบ มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ.2566 เป็นต้นไป
อย่างไรก็ตาม EXIM BANK ยังคงมีมาตรการช่วยเหลือและโปรโมชันพิเศษอย่างต่อเนื่อง เพื่อบรรเทาผลกระทบด้านภาระดอกเบี้ยเงินกู้ของผู้ประกอบการ และเพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการโดยเฉพาะคนตัวเล็กในกลุ่มเศรษฐกิจฐานรากและ SMEs ให้สามารถปรับตัวกับภาวะอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นและเติบโตในตลาดการค้าโลกได้อย่างยั่งยืนท่ามกลางปัจจัยท้าทายของเศรษฐกิจโลกที่ยังคงมีความไม่แน่นอนสูง
อ่านประกอบ :
มติเอกฉันท์! กนง.ขึ้นดอกเบี้ย 0.25% สกัดเงินเฟ้อ-มองศก.ไทยฟื้นต่อเนื่อง แม้ส่งออกแผ่ว