ก.ล.ต.มีมาตรการลงโทษทางแพ่ง ‘บิทคับฯ-สตางค์คอร์ปฯ-ผู้บริหารบริษัทฯ’ สั่งปรับรวม 87 ล้านบาท กรณีสร้างปริมาณเทียม ‘สินทรัพย์ดิจิทัล’
...............................
เมื่อวันที่ 29 ธ.ค. สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยการดำเนินคดีด้วยมาตรการลงโทษทางแพ่งกับผู้กระทำความผิด 3 ราย ได้แก่ (1) บริษัท บิทคับ ออนไลน์ จำกัด (บริษัทบิทคับ) (2) นายอนุรักษ์ เชื้อชัย (นายอนุรักษ์) และ (3) นายสกลกรย์ สระกวี (นายสกลกรย์) กรณีสร้างปริมาณเทียมสินทรัพย์ดิจิทัล จำนวน 18 เหรียญ ในศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล Bitkub (ศูนย์ซื้อขาย Bitkub) ของ บริษัทบิทคับโดยเรียกให้ชำระเงินรวม 75,011,241 บาท กำหนดระยะเวลาห้ามซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลหรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้าสินทรัพย์ดิจิทัล และกำหนดระยะเวลาห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหาร
ก.ล.ต. ตรวจสอบเหตุสงสัยว่าอาจมีการสร้างปริมาณเทียมในศูนย์ซื้อขาย Bitkub โดยพบการกระทำเข้าข่ายเป็นความผิดของบุคคล 3 ราย ได้แก่ (1) บริษัทบิทคับ (2) นายอนุรักษ์ ร่วมกันในการส่งคำสั่งซื้อหรือขายสินทรัพย์ดิจิทัล หรือซื้อหรือขายสินทรัพย์ดิจิทัล จำนวน 18 เหรียญ อันเป็นการทำให้บุคคลทั่วไปเข้าใจผิดเกี่ยวกับปริมาณการซื้อหรือขายสินทรัพย์ดิจิทัลในศูนย์ซื้อขาย Bitkub
และ (3) นายสกลกรย์ ขณะกระทำความผิดดำรงตำแหน่งเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้มีอำนาจจัดการของบริษัทบิทคับ สั่งการหรือกระทำการหรือไม่สั่งการหรือไม่กระทำการอันเป็นหน้าที่ที่ต้องกระทำ เป็นเหตุให้บริษัทบิทคับกระทำความผิดดังกล่าว
บริษัทบิทคับ โดยนายสกลกรย์ ได้ทำสัญญากับนายอนุรักษ์ให้นายอนุรักษ์ทำหน้าที่ดูแลสภาพคล่อง (Market Maker) ในศูนย์ซื้อขาย Bitkub และได้ให้นายอนุรักษ์ยืมเงินเพื่อใช้ในการทำหน้าที่ดังกล่าว ซึ่งจากการตรวจสอบของ ก.ล.ต. พบว่า ระหว่างวันที่ 4 มกราคม–5 กันยายน 2562 นายอนุรักษ์ได้ส่งคำสั่งจับคู่ซื้อขายเหรียญคริปโทเคอร์เรนซีเหรียญอื่นอีกจำนวน 18 เหรียญ ได้แก่ ABT ADA BSV CVC GNT IOST JFIN KNC LINK LTC MANA OMG SNT USDT WAN XLM ZIL และ ZRX
โดยเป็นการจับคู่ซื้อขายกันเองในบัญชีซื้อขายเหรียญคริปโทเคอร์เรนซีของตนเองในศูนย์ซื้อขาย Bitkub ซึ่งการจับคู่ซื้อขายเหรียญคริปโทเคอร์เรนซีกันเองในแต่ละเหรียญ มีสัดส่วนตั้งแต่ร้อยละ 74 – 99 ของปริมาณการซื้อขายรวมทั้งตลาด โดยบริษัทบิทคับและนายสกลกรย์รับทราบถึงการจับคู่ซื้อขายกันเองในบัญชีซื้อขายของนายอนุรักษ์ แต่ไม่ได้มีการทักท้วงการส่งคำสั่งซื้อขายเหรียญคริปโทเคอร์เรนซีของนายอนุรักษ์ดังกล่าว
การกระทำของบริษัทบิทคับและนายอนุรักษ์เป็นความผิดฐานส่งคำสั่งซื้อหรือขายสินทรัพย์ดิจิทัล หรือซื้อหรือขายสินทรัพย์ดิจิทัล อันเป็นการทำให้บุคคลทั่วไปเข้าใจผิดเกี่ยวกับปริมาณการซื้อหรือขายสินทรัพย์ดิจิทัลตามมาตรา 46(1) ประกอบมาตรา 48(2)(3) แห่งพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 (พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ) ประกอบมาตรา 83 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งมีบทกำหนดโทษตามมาตรา 70 แห่งพระราชกำหนดฉบับเดียวกัน เป็นความผิด 18 กระทง (นับตามจำนวนเหรียญ)
ส่วนการกระทำของนายสกลกรย์เป็นความผิดในฐานะเป็นบุคคลที่รับผิดชอบในการดำเนินงานของบริษัทบิทคับ สั่งการ หรือกระทำการ หรือไม่สั่งการ หรือไม่กระทำการอันเป็นหน้าที่ที่ต้องกระทำ เป็นเหตุให้บริษัทบิทคับกระทำความผิดในกรณีข้างต้น ซึ่งต้องรับโทษเดียวกันตามมาตรา 94 ประกอบมาตรา 46(1) ประกอบมาตรา 48(2)(3) แห่ง พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ ซึ่งต้องระวางโทษตามมาตรา 70 แห่งพระราชกำหนดฉบับเดียวกัน เป็นความผิด 18 กระทง (นับตามจำนวนเหรียญ)
คณะกรรมการพิจารณามาตรการลงโทษทางแพ่ง (ค.ม.พ.) พิจารณาการกระทำของผู้กระทำความผิดทั้ง 3 ราย ซึ่งเป็นความผิดอาญาที่มีพฤติการณ์การกระทำความผิดในลักษณะเดียวกันในช่วงเวลาเดียวกันหรือใกล้เคียงกันกับกรณีก่อนหน้าที่ ค.ม.พ. ได้มีมติให้ดำเนินมาตรการลงโทษทางแพ่งกับผู้กระทำความผิดทั้ง 3 ราย กรณีสร้างปริมาณเทียมสินทรัพย์ดิจิทัล จำนวน 4 เหรียญ ได้แก่ BTC BCH ETH และ XRP* ซึ่งรวมแล้วผู้กระทำความผิดได้สร้างปริมาณเทียมสินทรัพย์ดิจิทัล จำนวน 22 เหรียญ
ในกรณีนี้ ค.ม.พ. มีมติให้นำมาตรการลงโทษทางแพ่งมาใช้บังคับกับผู้กระทำความผิดทั้ง 3 ราย ตามควรแก่กรณี โดยกำหนดมาตรการลงโทษทางแพ่ง ได้แก่ ค่าปรับทางแพ่ง ชดใช้ค่าใช้จ่ายของ ก.ล.ต. เนื่องจากการตรวจสอบการกระทำความผิด มาตรการห้ามซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลหรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้าสินทรัพย์ดิจิทัล และมาตรการห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารของผู้เสนอขายโทเคนดิจิทัลหรือผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ดังนี้
(1) ให้บริษัทบิทคับ ชำระค่าปรับทางแพ่งและชดใช้ค่าใช้จ่ายของ ก.ล.ต. เนื่องจากการตรวจสอบการกระทำความผิด เป็นเงินรวมทั้งสิ้น 25,003,747 บาท
(2) ให้นายอนุรักษ์ ชำระค่าปรับทางแพ่งและชดใช้ค่าใช้จ่ายของ ก.ล.ต. เนื่องจากการตรวจสอบการกระทำความผิดเป็นเงินรวมทั้งสิ้น 25,003,747 บาท กำหนดมาตรการห้ามซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลหรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้าสินทรัพย์ดิจิทัล เป็นเวลา 4 เดือน และห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารเป็นเวลา 8 เดือน
(3) ให้นายสกลกรย์ ชำระค่าปรับทางแพ่งและชดใช้ค่าใช้จ่ายของ ก.ล.ต. เนื่องจากการตรวจสอบการกระทำความผิดเป็นเงินรวมทั้งสิ้น 25,003,747 บาท และให้นายสกลกรย์ร่วมรับผิดในมาตรการลงโทษทางแพ่งที่ดำเนินการกับบริษัทบิทคับอย่างลูกหนี้ร่วมตามมาตรา 99 แห่ง พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ ประกอบมาตรา 317/11 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ที่แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 5 พ.ศ. 2559 นอกจากนี้ ค.ม.พ. ได้กำหนดมาตรการห้ามซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลหรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้าสินทรัพย์ดิจิทัล เป็นเวลา 4 เดือน และห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารเป็นเวลา 8 เดือน
การกำหนดระยะเวลาห้ามซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลหรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้าสินทรัพย์ดิจิทัลและการกำหนดระยะเวลาห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารดังกล่าวข้างต้นจะมีผลนับต่อจากวันสุดท้ายของระยะเวลาห้ามซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลหรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้าสินทรัพย์ดิจิทัลและห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารที่ ค.ม.พ. กำหนดในกรณีก่อนหน้าดังกล่าว
หากผู้กระทำความผิดไม่ยินยอมปฏิบัติตามมาตรการลงโทษทางแพ่งที่ ค.ม.พ. กำหนด ก.ล.ต. จะมีหนังสือขอให้พนักงานอัยการดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลแพ่งเพื่อกำหนดมาตรการลงโทษทางแพ่งในอัตราสูงสุดที่กฎหมายบัญญัติโดยไม่ต่ำกว่าอัตราที่ ค.ม.พ. กำหนด ทั้งนี้ เงินค่าปรับทางแพ่งที่ได้รับจากการกระทำความผิดเป็นรายได้แผ่นดินที่นำส่งกระทรวงการคลัง
วันเดียวกัน ก.ล.ต. ยังเปิดเผยการดำเนินคดีด้วยมาตรการลงโทษทางแพ่งกับผู้กระทำความผิด 4 ราย ได้แก่ (1) บริษัท สตางค์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (บริษัทสตางค์) (2) บริษัท LLC Fair Expo (3) นายปรมินทร์ อินโสม (นายปรมินทร์) และ (4) Mr. Mikalai Zahorski (Mr. Mikalai) กรณีสร้างปริมาณเทียมสินทรัพย์ดิจิทัล จำนวน 3 เหรียญ ในศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล Satang Pro (ศูนย์ซื้อขาย Satang Pro) ของ บริษัทสตางค์ โดยเรียกให้ชำระเงินรวม 12,011,240 บาท
ทั้งนี้ ก.ล.ต. ตรวจสอบเหตุสงสัยว่าอาจมีการสร้างปริมาณเทียมในศูนย์ซื้อขาย Satang Pro โดยพบการกระทำเข้าข่ายเป็นความผิดของบุคคล 4 ราย ได้แก่ (1) บริษัทสตางค์ (2) บริษัท LLC Fair Expo ร่วมกันในการส่งคำสั่งซื้อหรือขายสินทรัพย์ดิจิทัล หรือซื้อหรือขายสินทรัพย์ดิจิทัล จำนวน 3 เหรียญ อันเป็นการทำให้บุคคลทั่วไปเข้าใจผิดเกี่ยวกับปริมาณการซื้อหรือขายสินทรัพย์ดิจิทัลในศูนย์ซื้อขาย Satang Pro (3) นายปรมินทร์ ขณะกระทำความผิดดำรงตำแหน่งเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้มีอำนาจจัดการของบริษัทสตางค์
และ (4) Mr. Mikalai เจ้าของและกรรมการผู้จัดการ (Managing Director) ของบริษัท LLC Fair Expo เป็นบุคคลที่รับผิดชอบในการดำเนินงานของบริษัทสตางค์และบริษัท LLC Fair Expo (ตามลำดับ) สั่งการ หรือกระทำการ หรือไม่สั่งการ หรือไม่กระทำการอันเป็นหน้าที่ที่ต้องกระทำ เป็นเหตุให้บริษัทสตางค์และบริษัท LLC Fair Expo กระทำความผิดดังกล่าว
บริษัทสตางค์ โดยนายปรมินทร์ ได้ทำสัญญากับบริษัท LLC Fair Expo โดย Mr. Mikalai ให้บริษัท LLC Fair Expo ทำหน้าที่ดูแลสภาพคล่อง (Market Maker) ในศูนย์ซื้อขาย Satang Pro และได้ให้วงเงินซื้อขายเพื่อใช้ในการทำหน้าที่ดังกล่าว ซึ่งจากการตรวจสอบของ ก.ล.ต. พบว่าระหว่างวันที่ 4 มกราคม – 9 กันยายน 2562 บริษัท LLC Fair Expo ได้ส่งคำสั่งจับคู่ซื้อขายเหรียญคริปโทเคอร์เรนซีเหรียญอื่นอีก จำนวน 3 เหรียญ ได้แก่ USDT XLM และ XZC
โดยเป็นการจับคู่ซื้อขายกันเองในบัญชีซื้อขายเหรียญคริปโทเคอร์เรนซีของ Market Maker ในศูนย์ซื้อขาย Satang Pro ซึ่งการจับคู่ซื้อขายเหรียญคริปโทเคอร์เรนซีกันเองในแต่ละเหรียญ มีสัดส่วนตั้งแต่ร้อยละ 92 – 98 ของปริมาณการซื้อขายรวมทั้งตลาด ทั้งนี้ การทำหน้าที่ของ Market Maker ได้มีการนำส่งรายงานการซื้อขายในบัญชี Market Maker ให้บริษัทสตางค์รับทราบทุกเดือน
การกระทำของบริษัทสตางค์และบริษัท LLC Fair Expo เป็นความผิดฐานส่งคำสั่งซื้อหรือขายสินทรัพย์ดิจิทัล หรือซื้อหรือขายสินทรัพย์ดิจิทัล อันเป็นการทำให้บุคคลทั่วไปเข้าใจผิดเกี่ยวกับปริมาณการซื้อหรือขายสินทรัพย์ดิจิทัล ตามมาตรา 46(1) ประกอบมาตรา 48(2)(3) แห่งพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 (พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ) ประกอบมาตรา 83 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งมีบทกำหนดโทษตามมาตรา 70 แห่งพระราชกำหนดฉบับเดียวกัน เป็นความผิด 3 กระทง (นับตามจำนวนเหรียญ)
ส่วนการกระทำของนายปรมินทร์ และ Mr. Mikalai เป็นความผิดในฐานะเป็นบุคคลที่รับผิดชอบในการดำเนินงานของบริษัทสตางค์และบริษัท LLC Fair Expo (ตามลำดับ) สั่งการหรือกระทำการ หรือไม่สั่งการหรือไม่กระทำการอันเป็นหน้าที่ที่ต้องกระทำ เป็นเหตุให้บริษัทสตางค์และบริษัท LLC Fair Expo กระทำความผิดในกรณีข้างต้น ซึ่งต้องรับโทษเดียวกันตามมาตรา 94 ประกอบมาตรา 46(1) ประกอบมาตรา 48(2)(3) แห่ง พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ ซึ่งต้องระวางโทษตามมาตรา 70 แห่งพระราชกำหนดฉบับเดียวกัน เป็นความผิด 3 กระทง (นับตามจำนวนเหรียญ)
คณะกรรมการพิจารณามาตรการลงโทษทางแพ่ง (ค.ม.พ.) พิจารณาการกระทำของผู้กระทำความผิดทั้ง 4 ราย ซึ่งเป็นความผิดอาญาที่มีพฤติการณ์การกระทำความผิดในลักษณะเดียวกันในช่วงเวลาเดียวกันหรือใกล้เคียงกันกับกรณีก่อนหน้าที่ ค.ม.พ. ได้มีมติให้ดำเนินมาตรการลงโทษทางแพ่งกับผู้กระทำความผิดทั้ง 4 ราย กรณีสร้างปริมาณเทียมสินทรัพย์ดิจิทัล 3 เหรียญ ได้แก่ BTC ETH และ XRP ซึ่งรวมแล้วผู้กระทำความผิดได้สร้างปริมาณเทียมสินทรัพย์ดิจิทัลจำนวน 6 เหรียญ โดยมีมติให้นำมาตรการลงโทษทางแพ่งมาใช้บังคับกับผู้กระทำความผิดทั้ง 4 ราย ตามควรแก่กรณี โดยกำหนดมาตรการลงโทษทางแพ่ง ได้แก่ ค่าปรับทางแพ่ง ชดใช้ค่าใช้จ่ายของ ก.ล.ต. เนื่องจากการตรวจสอบการกระทำความผิด ดังนี้
(1) ให้บริษัทสตางค์ ชำระค่าปรับทางแพ่งและชดใช้ค่าใช้จ่ายของ ก.ล.ต. เนื่องจากการตรวจสอบการกระทำความผิด เป็นเงินรวมทั้งสิ้น 3,002,810 บาท
(2) ให้บริษัท LLC Fair Expo ชำระค่าปรับทางแพ่งและชดใช้ค่าใช้จ่ายของ ก.ล.ต. เนื่องจากการตรวจสอบการกระทำความผิดเป็นเงินรวมทั้งสิ้น 3,002,810 บาท
(3) ให้นายปรมินทร์ ชำระค่าปรับทางแพ่งและชดใช้ค่าใช้จ่ายของ ก.ล.ต. เนื่องจากการตรวจสอบการกระทำความผิดเป็นเงินรวมทั้งสิ้น 3,002,810 บาท และให้นายปรมินทร์ร่วมรับผิดในมาตรการลงโทษทางแพ่งที่ดำเนินการกับบริษัทสตางค์อย่างลูกหนี้ร่วมตามมาตรา 99 แห่งพระราชกำหนดสินทรัพย์ดิจิทัล ประกอบมาตรา 317/11 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 (พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ) ที่แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 5 พ.ศ. 2559
(4) ให้ Mr. Mikalai ชำระค่าปรับทางแพ่งและชดใช้ค่าใช้จ่ายของ ก.ล.ต. เนื่องจากการตรวจสอบการกระทำความผิดเป็นเงินรวมทั้งสิ้น 3,002,810 บาท และให้ Mr. Mikalai ร่วมรับผิดในมาตรการลงโทษทางแพ่งที่ดำเนินการกับบริษัท LLC Fair Expo อย่างลูกหนี้ร่วมตามมาตรา 99 แห่ง พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ ประกอบมาตรา 317/11 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ ที่แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 5
หากผู้กระทำความผิดไม่ยินยอมปฏิบัติตามมาตรการลงโทษทางแพ่งที่ ค.ม.พ. กำหนด ก.ล.ต. จะมีหนังสือขอให้พนักงานอัยการดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลแพ่งเพื่อกำหนดมาตรการลงโทษทางแพ่งในอัตราสูงสุดที่กฎหมายบัญญัติโดยไม่ต่ำกว่าอัตราที่ ค.ม.พ. กำหนด ทั้งนี้ เงินค่าปรับทางแพ่งที่ได้รับจากการกระทำความผิดเป็นรายได้แผ่นดินที่นำส่งกระทรวงการคลัง
อ่านประกอบ :
ก.ล.ต.กล่าวโทษ 7 ‘กรรมการ-อดีตกก.’ EARTH ต่อ DSI เหตุไม่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบ
‘ก.ล.ต.’ส่ง‘อัยการ’ฟ้อง‘หมอบุญ วนาสิน’เรียกค่าปรับ 2.3 ล. คดีแพร่ข้อมูลนำเข้าวัคซีนโควิด
‘ก.ล.ต.’สั่งปรับ‘อุไรวรรณ-ธีรพล’ 8.6 ล้าน ปั่นหุ้น MBAX-ห้ามเป็นผู้บริหาร-กรรมการ บจ.
มีความเสี่ยงหลายด้าน! ‘ก.ล.ต.’ เตือนประชาชนระมัดระวังลงทุน ‘เหมืองขุดคริปโทฯ’
ก.ล.ต.กล่าวโทษ‘Zipmex-เอกลาภ’ ขัดคำสั่งเจ้าพนักงาน ไม่ส่งข้อมูล‘กระเป๋าอิเล็กทรอนิกส์’
'ก.ล.ต.' สั่งปรับผู้บริหาร 'บิทคับ บล็อคเชน' 8.5 ล้าน ใช้ข้อมูลภายในซื้อเหรียญ 'KUB'
แพร่ข้อมูลทำนักลงทุนเข้าใจผิด! ก.ล.ต.ปรับ‘หมอบุญ’ 2.3 ล.-ห้ามนั่ง‘กก.-ผู้บริหาร’บจ.42 ด.
'ก.ล.ต.' สั่งปรับ ‘สิทธิลาภ ทรัพย์สาคร’ 12.5 ล้าน ใช้ข้อมูลภายในขายหุ้น TASCO