‘ผู้ว่าฯ กยท.’ แจงปมรื้อระเบียบจ่ายเงิน ‘กองทุนพัฒนายางพารา’ ฉบับใหม่ ระบุต้องให้ ‘ชาวสวนยาง-สถาบันเกษตร’ จ่ายสมทบ 3-20% เพื่อให้ใช้จ่ายอย่างคุ้มค่า ส่วนที่ต้องเว้นระยะเวลาขอรับเงินอุดหนุน เพราะงบมีจำกัด
......................................
จากกรณีที่มีเกษตรกรผู้ปลูกยางพาราร้องเรียนว่า ระเบียบการยางแห่งประเทศไทย ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการใช้จ่ายเงินกองทุนพัฒนายางพารา เพื่อการส่งเสริม สนับสนุน และให้ความช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยาง สถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง และผู้ประกอบกิจการยาง ตามมาตรา 49 (3) (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2565 มีการกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไข ซึ่งเป็นการกีดกันไม่ให้เกษตรกรผู้ปลูกยางพาราเข้าถึงเงินกองทุนพัฒนาพัฒนายางพารา นั้น
ล่าสุด นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เปิดเผยว่า ก่อนที่มีการประกาศใช้ระเบียบการยางแห่งประเทศไทย ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการใช้จ่ายเงินกองทุนพัฒนายางพาราฯ ฉบับปรับปรุงดังกล่าว เมื่อวันที่ 21 พ.ย.2565 ที่ผ่านมา นั้น กยท.ได้ดำเนินแก้ไขทบทวนความเหมาะสมมาแล้วหลายขั้นตอน แต่เนื่องจากยังพบว่ามีเกษตรกรและสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางบางรายอาจจะยังไม่เข้าใจ
ดังนั้น กยท.จึงได้มอบหมายให้ กยท.ทั้ง 7 เขต ได้แก่ เขตภาคใต้ตอนล่าง เขตภาคใต้ตอนกลาง เขตภาคใต้ตอนบน เขตภาคกลางและภาคตะวันออก เขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง เขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และเขตภาคเหนือ เร่งประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจผ่านนักวิชาการเกษตรของ กยท.ในพื้นที่แล้ว รวมทั้งเผยแพร่ข้อมูลประกาศผ่านเว็บไซต์ กยท. www.raot.co.th
ทั้งนี้ หากเกษตรกรชาวสวนยาง สถาบันเกษตรกรฯ และผู้ประกอบกิจการยางรายใด มีข้อสงสัย หรือต้องการข้อมูลเพิ่มเติม สามารถสอบถามข้อมูลจาก กยท.ได้ทุกช่องทาง
นายณกรณ์ ยังระบุด้วยว่า สำหรับการแก้ไขเพิ่มเติมระเบียบ กยท.ฉบับนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวข้อง สอดรับกับปัญหาที่เกิดขึ้นในสภาวะปัจจุบัน ทำให้เกิดความเหมาะสม ชัดเจน มีความเสมอภาค เป็นธรรม โปร่งใส และตรวจสอบได้ โดยประเด็นที่มีการแก้ไขเพิ่มเติม อาทิเช่น การกำหนดเอกสารจำเป็นและเกี่ยวข้อง เพื่อนำไปประกอบโครงการที่ขอรับเงินอุดหนุน หรือเงินกู้ ซึ่ง กยท. ได้จัดทำแบบสรุปให้ง่ายต่อการตรวจเช็คเอกสาร
การกำหนดให้เกษตรกรฯและสถาบันเกษตรกรฯ มีส่วนร่วมตามหลักเกณฑ์การลงทุน เพื่อให้ตระหนักถึงความคุ้มค่าในการเป็นเจ้าของกิจการ ด้วยการร่วมออกเงินสมทบ ตั้งแต่ 3-20% ของเงินทั้งโครงการ ซึ่งมีการกำหนดสัดส่วนการสมทบตามความเหมาะสม เป็นธรรม ตามขนาดของโครงการที่ขอรับการอุดหนุน อย่างไรก็ตาม หากไม่ต้องการดำเนินการตามเงื่อนไขนี้ สามารถเสนอผู้ว่าการ หรือคณะกรรมการใช้ดุลพินิจพิจารณาแล้วแต่กรณีได้
นายณกรณ์ กล่าวว่า ระเบียบฉบับดังกล่าว ยังได้กำหนดให้รายการพัสดุ ครุภัณฑ์ที่ใช้ภายในสำนักงาน เครื่องคอมพิวเตอร์พร้อมอุปกรณ์ สิ่งก่อสร้างที่เป็นอาคารสำนักงาน อาคารห้องประชุม รั้ว และห้องน้ำ เป็นต้น หรือรายการอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการตามแผนการ/โครงการ ไม่สามารถขอรับเงินอุดหนุนได้ เพื่อให้เป็นไปตามระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยการเบิกจ่ายค่าใช้จ่ายในการบริหารงานของส่วนราชการ พ.ศ.2553 เช่นกัน
นอกจากนี้ ภายใต้กรอบงบประมาณประจำปีที่มีจำกัด ทำให้ต้องให้มีการเว้นระยะเวลาขอรับเงินอุดหนุนของเกษตรกรฯ และสถาบันเกษตรกรฯ เพื่อให้มีการกระจายการช่วยเหลือได้อย่างทั่วถึง
อ่านประกอบ :
ร้องระเบียบ‘กยท.’ฉบับใหม่ กีดกัน‘ชาวสวนยาง’ ขอเงินอุดหนุน‘กองทุนพัฒนาพัฒนายางพารา’