‘ชาวสาวยาง’ ร้องระเบียบ ‘กยท.’ ฉบับใหม่ กีดกัน-เป็นอุปสรรคต่อ ‘ชาวสวนยาว-สหกรณ์-ผู้ประกอบการ’ ในการเข้าถึงเงิน ‘กองทุนพัฒนายางพารา’
..................................
แหล่งข่าวจากเกษตรกรชาวสวนยางพารา เปิดเผยกับสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ว่า หลังจากระเบียบการยางแห่งประเทศไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการใช้จ่ายเงินกองทุนพัฒนาพัฒนายางพารา เพื่อส่งเสริม สนับสนุน และให้ความช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยาง สถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง และผู้ประกอบกิจการยาง ตามมาตรา 49 (3) (ฉบับที่ 3) มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 21 ก.ย.2565 ที่ผ่านมา
ผลปรากฏว่า ตั้งแต่เริ่มปีงบ 2566 หรือตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2565 เป็นต้นมา แทบจะไม่มีเกษตรกรชาวสวนยาง สถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง และผู้ประกอบกิจการยางรายใด ได้รับเงินสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาพัฒนายางพาราเลย เนื่องจากระเบียบฯได้กำหนดเงื่อนไขที่เป็นอุปสรรค ส่งผลให้ชาวสวนยางไม่สามารถเข้าถึงแหล่งทุนจากกองทุนฯได้ แม้ว่ากองทุนฯนี้ จะมีรายได้จากเงิน CESS (ค่าธรรมเนียมการส่งออกยาง) ซึ่งเก็บจากพี่น้องชาวสวนยางในอัตรา 2 บาท/กก.
สำหรับเงื่อนไขของระเบียบฯที่เป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงเงินกองทุนพัฒนายางพาราของกลุ่มเกษตรกรชาวสวนยาง หรือสหกรณ์ชาวสวนยาง เช่น ระเบียบข้อ 26/4 เรื่องการยื่นคำรับเงินอุดหนุน ซึ่งให้ใช้แบบที่การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) 6 รายการ และเอกสารอื่นๆตามที่ผู้มีอำนาจอนุมัติกำหนด แต่ในข้อเท็จจริง คือ ผู้อำนวยการเขต กยท. กำหนดให้ผู้ยื่นขอรับเงินอุดหนุนฯ ต้องยื่นเอกสารเกือบ 40 รายการ รวมทั้งต้องยื่นแผนธุรกิจและจัดทำ SWOT Analysis ด้วย
ระเบียบข้อ 30 เรื่องการพิจารณาเงินอุดหนุน โดยมีการกำหนดกรอบการพิจารณาเงินอุดหนุน เช่น วิเคราะห์ว่าโครงการที่ได้รับเงินอุดหนุนต้องมีความคุ้มค่าทางการเงิน เศรษฐกิจ และสังคม ,กำหนดห้ามไม่นำรายการค่าสิ่งก่อสร้างที่เป็นอาคารสำนักงาน อาคารห้องประชุม รั้ว ห้องน้ำ ค่าแรง ค่าดูแลรักษา ค่าซ่อมแซม ค่าเช่า ค่าครุภัณฑ์ในสำนักงาน และเครื่องอุปกรณ์คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ มารวมอยู่ในรายการการขอเงินอุดหนุน
อีกทั้งมีการกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ขอรับเงินอุดหนุนต้องออกเงินสมทบตั้งแต่ 3-20% ของวงเงินที่ได้รับการอุดหนุน เช่น หากขอรับการอุดหนุนไม่เกิน 1 ล้านบาท ต้องออกเงินสมทบไม่น้อยกว่า 3% แต่หากเป็นการขอรับการอุดหนุนในวงเงิน 30 ล้านบาท ต้องออกเงินสมทบไม่น้อยกว่า 20% เป็นต้น
นอกจากนี้ หลังจากระเบียบฯฉบับนี้ บังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 21 ก.ย.2565 กยท.ไม่เคยแจ้งหรือประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับระเบียบฉบับใหม่ให้เกษตรกรหรือผู้นำกลุ่มเกษตรกรทราบเลย จึงแทบไม่มีผู้ยื่นขอรับเงินอุดหนุน หรือหากยื่นไปก็ไม่ได้รับอนุมัติ เพราะไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขได้ และก่อนที่ระเบียบฯจะมีผลบังคับใช้ กยท.ได้อนุมัติเงินอุดหนุนให้เครือข่ายเกษตรกรบางกลุ่มแห่งละ 20-30 ล้านบาท ซึ่งอาจเป็นการหลีกเลี่ยงการปฏิบัติตามระเบียบฉบับใหม่หรือไม่
รายงานข่าวแจ้งว่า ข้อมูลจากรายงานประจำปีของ กยท. ปี 2564 พบว่า มีการจัดสรรงบให้กับกองทุนพัฒนาพัฒนายางพารา ทั้งสิ้น 11,027 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นเงินกองทุนพัฒนาพัฒนายางพาราตามมาตรา 49 (3) วงเงิน 3,000 ล้านบาท