โฮปเวลล์ ดิ้นสู้ทุกทาง บุกสภายื่นกรรมาธิการขอความเป็นธรรม หลัง ‘คมนาคม-รถไฟ’ ส่อเบี้ยวจ่ายค่าชดเชยตามศาลปกครองสูงสุด 2.7 หมื่นล้าน ด้าน ‘บิ๊กตู่’ ปัดให้ความเห็น ชี้ ‘คมนาคม’ ตอบหมดแล้ว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 22 มิถุนายน 2565 จากกรณีที่บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จัดแถลงข่าวเมื่อวานนี้ (21 มิ.ย. 65) เพื่อทวงคืนความยุติธรรม และเรียกร้องให้กระทรวงคมนาคม และการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ชดใช้ค่าเสียหายตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุดเมื่อปี 2562 ที่ให้จ่ายรวมทั้งหมด 27,000 ล้านบาทนั้น
(อ่านเพิ่มเติม https://www.isranews.org/article/isranews-news/109787-HOPEWELL-demanding-justice-press-news.html)
ล่าสุด นายสุภัทร ติระชูศักดิ์ ฝ่ายกฎหมาย บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด เดินทางมายื่นหนังสือกับคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพาณิชย์และทรัพย์สินทางปัญญา มีนายอันวาร์ สาและ ส.ส.ปัตตานี พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะประธานกรรมาธิการเป็นผู้รับมอบ
นายสุภัทร เปิดเผยภายหลังยื่นหนังสือว่า สืบเนื่องจากบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศโทย) จำกัด ซึ่งเป็นผู้ชนะการประมูลโครงการทางรถไฟยกระดับในกรุงเทพมหานคร (Bangkok Elevated Road and Train System - BERTS) หรือต่อมารู้จักกันดีในชื่อ ‘โครงการโฮปเวลล์’ เพื่อมุ่งแก้ปัญหาการจราจรบริเวณจุดตัดระหว่างถนนกับทางรถไฟ ทั่วพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) และในสัญญาสัมปทานระหว่างกระทรวงคมนาคม และการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) กับบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศโทย) จำกัด เมื่อวันที่ 9 พ.ย. 2533
การดำเนินโครงการ ภายใต้สัญญาสัมปทาน บริษัท โฮปเวลล์ฯ เป็นผู้รับผิดชอบจัดหาเงินลงทุนดำเนินโครงการเองทั้งหมด อีกทั้งบริษัท โฮปเวลล์ฯ ยังมีภาระผูกพันต้องจ่ายค่าตอบแทนล่วงหน้าแก่ ร.ฟ.ท. ไม่ต่ำกว่า 10,050 ล้านบาท โดยเริ่มจ่ายทันที จำนวน 300 ล้านบาท ในวันลงนามสัญญาสัมปทาน และจ่ายเพิ่มขึ้นปีละ 50 ล้านบาท ทุก ๆ ปี บริษัท โฮปเวลล์ฯ ได้ทุ่มเทดำเนินโครงการฯ อย่างเต็มที่ เพื่อมุ่งหวังให้โครงการเป็นประโยชน์ต่อการแก้ไขปัญหาจราจรของกรุงเทพฯ และอำนวยความสะดวกแก่การเดินทางของประชาชนโดยทั่วไป
แต่น่าเสียดายที่การดำเนินโครงการต้องประสบกับปัญหาการส่งมอบพื้นที่ดำเนินโครงการล่าช้า อีกทั้งยังประสบกับปัญหาการตรวจพิจารณาอนุมัติแบบก่อสร้างที่เป็นไปอย่างล่าช้าล้วนเกิดจากหน่วยงานภาครัฐที่เป็นคู่สัญญา แต่บริษัท โฮปเวลล์ฯ กลับถูกกระทรวงคมนาคม และ ร.ฟ.ท. มีหนังสือบอกเลิกสัญญา ลงวันที่ 27 มกราคม 2541 โดยกล่าวหาว่าบริษัท โฮปเวลล์ฯ ก่อสร้างโครงการล่าช้า จนไม่อาจยอมรับได้
ต่อมา บริษัท โฮปเวลล์ฯ ได้ร้องขอความเป็นธรรมต่อคณะอนุญาโตตุลาการ และคณะอนุญาโตตุลาการ ได้มีคำวินิจฉัยชี้ขาด เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2551 ให้คู่สัญญาทั้ง 2 ฝ่าย คือกระทรวงคมนาคม และ ร.ฟ.ท. กับ บริษัท โฮปเวลล์ฯ กลับคืนสู่สถานะเดิม โดยให้กระทรวงคมนาคม และ ร.ฟ.ท. คืนเงิน จำนวน 11,888 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย อัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี แก่บริษัทโฮปเวลล์ฯ ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคม และ ร.ฟ.ท. ยังไม่ดำเนินการให้เป็นไปตามคำวินิจฉัยชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ ด้วยการยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครอง และศาลปกครองสูงสุด ได้มีคำพิพากษาเป็นที่สุด เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2562 ให้ กระทรวงคมนาคม และ ร.ฟ.ท. ปฏิบัติตามคำวินิจฉัยชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ
แต่กระทรวงคมนาคม และ ร.ฟ.ท. ได้ใช้กลไกมาตรการทางกฎหมายหลายประการ เพื่อมุ่งหวังลบล้างคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด และคำวินิจฉัยชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ บริษัท โฮปเวลล์ฯ เห็นว่าพฤติกรรมของกระทรวงคมนาคม และ ร.ฟ.ท.อาจเป็นการกระทำมิชอบ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์การค้า การลงทุน และการพัฒนาเศรษฐกิจ ตลอดจนระบบกฎหมาย รวมทั้งกระบวนการยุติธรรมของประเทศ จึงขอให้คณะ กมธ.คณะ ได้พิจารณาตรวจสอบการกระทำของกระทรวงคมนาคม และ รฟท. พร้อมกับเร่งรัดให้กระทรวงคมนาคม และ ร.ฟ.ท. ปฏิบัติตามคำวินิจฉัยชี้ขาด ของคณะอนุญาโตตุลาการ และคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด เพื่อความโปร่งใส เป็นธรรม และความน่าเชื่อถือของประเทศไทยในสายตาประชาคมโลก
ด้านนายอันวาร์ กล่าวว่า เรื่องร้องเรียนของบริษัท โฮปเวลล์ฯ นั้น บริษัทฯ ได้นำเงินมาลงทุนกับโครงการแต่ไม่ได้เบิกจ่ายเงินจากภาครัฐแต่อย่างใด อีกทั้งบริบัทฯ จ่ายเงินสัมปทานให้กับภาครัฐด้วย อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ ชนะคดี จึงได้ทวงถามเงินที่บริษัทฯ ได้นำเงินมาลงทุน ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการจะนำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมาธิการ เพื่อได้รับทราบข้อเท็จจริงว่าบริษัทฯ ไม่ได้รับความเป็นธรรมเพราะเหตุใด
ทั้งนี้ ขอตำหนิทาง บริษัท โฮปเวลล์ฯ ด้วยที่ไม่มาชี้แจงในประเด็น การประกอบกิจการในไทย ซึ่งกรณีนี้เป็นการเอาเงินเข้ามาลงทุนในประเทศ ไม่ได้มารับงานจากหน่วยงานรัฐในลักษณะรับเหมา ดังนั้น จึงต้องมีการสอบสวนและรวบรวมข้อมูลให้ชัดเจนมากกว่านี้ เพราะคนในประเทศไทยส่วนใหญ่เข้าใจว่า โฮปเวลล์เข้ามาก่อสร้างและจ้างเหมางาน แต่เป็นการนำเงินเข้ามาลงทุนและจ่ายสัมปทานให้รัฐ
ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ปฏิเสธที่จะตอบคำถามสื่อมวลชนเกี่ยวกับกรณีบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ทวงเงินค่าชดชเยตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุด 27,000 ล้านบาท และขอให้ภาครัฐงดการใช้กระบวนการยุติธรรมเหนี่ยวรั้งการชำระค่าชดเชย ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์ กล่าวเพียงสั้นๆ ว่า กระทรวงคมนาคมชี้แจงไปแล้ว