กสม.ร่วมกับ สสส.ถกแนวทางแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างช่วยผู้เสียหายถูกละเมิดทางเพศให้เข้าถึงกระบวนการยุติธรรมที่เป็นมิตร พบการสอบปากคำ-สืบพยานของไทย ละเมิดซ้ำผู้เสียหาย จนเกิดความอับอาย เกรงใจ ไม่กล้าให้ข้อมูล
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 25 พ.ค.2565 สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเสวนาวิชาการเรื่อง ‘ปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศ: ปกป้อง คุ้มครองสิทธิผู้ตกเป็นเหยื่ออย่างไร?’ น.ส.พรประไพ กาญจนรินทร์ ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวเปิดงานเสวนาสรุปว่า อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบของสหประชาชาติ (CEDAW) ระบุให้การคุกคามและการล่วงละเมิดทางเพศเป็นรูปแบบหนึ่งของการใช้ความรุนแรงต่อผู้หญิง อันเป็นการเลือกปฏิบัติที่ทำให้ผู้หญิงไม่ได้รับสิทธิที่เท่าเทียมกับชาย ทั้งความเท่าเทียมในสิทธิที่จะมีความปลอดภัยในร่างกาย สิทธิที่จะได้รับความคุ้มครองภายใต้กฎหมาย และการอยู่อาศัยหรือทำงานในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย
จากการเฝ้าระวังสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของ กสม. พบรายงานสถิติสตรีที่ถูกกระทำรุนแรงและถูกล่วงละเมิดทางเพศเพิ่มสูงขึ้นในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยผู้ตกเป็นเหยื่อมีทั้งผู้หญิงและเด็กผู้หญิง คนพิการ และบุคคลหลากหลายทางเพศ และยังพบสถานการณ์ปัญหาการคุกคามและล่วงละเมิดทางเพศเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งที่ปรากฏเป็นข่าวและไม่ปรากฏเป็นข่าว เนื่องจากผู้ตกเป็นเหยื่อมักไม่กล้าเปิดเผยเรื่องราวที่เกิดขึ้น รวมทั้งพบอุปสรรคในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมและการได้รับการดูแลฟื้นฟูเยียวยาทางด้านร่างกายและจิตใจ เพื่อให้สามารถกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติ
น.ส.กฤตยา อาชวนิจกุล สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวบรรยายในหัวข้อ ‘การคุกคามทางเพศ และการล่วงละเมิดทางเพศ: สถานการณ์ แนวคิด และ ข้อเสนอสำหรับสังคมไทย’ โดยชี้ให้เห็นว่า ความรุนแรงทางเพศ (sexual violence) เป็นปัญหาอันดับหนึ่งของผู้หญิงในสังคมไทย ผู้กระทำความรุนแรงแทบทั้งหมดเป็นผู้ชายที่อยู่ในทุกอาชีพ ทุกระดับการศึกษา และส่วนใหญ่ไม่ถูกลงโทษ ซึ่งสะท้อนให้เห็นความไม่ปกติของระบบคุณค่าวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่ที่นำไปสู่อคติในการตีตราผู้เสียหาย (victim blaming) ที่มักกล่าวโทษว่าผู้ตกเป็นเหยื่อเป็นสาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหา รวมทั้งวัฒนธรรมเงียบ (silent culture) ที่ทำให้ผู้หญิงและผู้ตกเป็นเหยื่อยอมจำนนและไม่กล้าเปิดเผยเรื่องราวเมื่อถูกกระทำ
โดยเฉพาะกรณีที่ผู้กระทำผิดเป็นผู้มีพระคุณหรือมีอำนาจสูงกว่า เป็นเหตุให้เกิดการกระทำความรุนแรงทางเพศซ้ำ ดังนั้น สังคมจึงต้องร่วมกันสร้างความตระหนักรู้ในเรื่องเพศสัมพันธ์ที่จะต้องอยู่บนพื้นฐานของความยินยอมพร้อมใจ (sexual consent)
ขณะที่การอภิปรายหัวข้อ ‘แนวทางในการดูแลช่วยเหลือ กลไกคุ้มครองสิทธิของผู้เสียหายให้เข้าถึงกระบวนการยุติธรรรมและการเยียวยาที่เหมาะสม และข้อเสนอแนะต่อรัฐบาล’ ที่มีวิทยากร ประกอบด้วย น.ส.เสาวลักษณ์ ทองก๊วย นายกสมาคมส่งเสริมศักยภาพสตรีพิการ และกรรมการว่าด้วยสิทธิคนพิการแห่งสหประชาชาติ , นายจะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล , พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และ นายน้ำแท้ มีบุญสล้าง ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาการสอบสวนและการดำเนินคดี สำนักงานอัยการสูงสุด และนางหรรษา บุญรัตน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ร่วมแลกเปลี่ยนสถานการณ์ปัญหา
โดยมีประเด็นที่น่าสนใจ เช่น ประเด็นการล่วงละเมิดกลุ่มเปราะบาง เช่น คนพิการที่ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงและเด็กผู้หญิง มีบางส่วนเป็นเด็กผู้ชาย ซึ่งเหตุล่วงละเมิดทางเพศต่อคนพิการมักเกิดขึ้นในบ้านโดยผู้กระทำที่เป็นคนใกล้ชิด เช่นเดียวกับการล่วงละเมิดเด็กและเยาวชนซึ่งมีความน่ากังวล เนื่องจากปัจจุบันมีกรณีที่เด็กถูกล่วงละเมิดในครอบครัวและสถานศึกษาอันควรเป็นสถานที่ปลอดภัยที่สุดสำหรับเด็กมากขึ้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีกลไกป้องกันดูแลเด็ก และเยาวชนในระดับพื้นที่รวมไปถึงในสื่อสังคมออนไลน์
นอกจากนี้ ในการอภิปรายยังมีการสะท้อนสภาพปัญหาในกระบวนการยุติธรรมซึ่งเป็นการละเมิดซ้ำผู้เสียหาย โดยเฉพาะการสอบปากคำหรือสืบพยานผู้เสียหายหลายครั้ง ทำให้ผู้เสียหายเกิดความอับอาย เกรงกลัว ไม่ยอมให้ข้อมูลหรือต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรมจนแล้วเสร็จ นอกจากนี้การพิจารณาคดีที่ใช้เวลายาวนาน ยังเป็นผลให้ผู้เสียหายบางรายที่ต้องการเริ่มต้นชีวิตใหม่ไม่อยากรื้อฟื้นปัญหาที่นำความเสื่อมเสียมาสู่ตนและครอบครัว เป็นเหตุให้ขาดพยานหลักฐานและทำให้ผู้กระทำผิดยังลอยนวล
อย่างไรก็ดี มีข้อเสนอแนะจากผู้แทนสำนักงานอัยการสูงสุดให้ร่วมกันแก้ไขกฎหมาย เพื่อให้การสอบสวนและการดำเนินคดีในความผิดเกี่ยวกับเพศสามารถคุ้มครองสิทธิของเหยื่อผู้เสียหายได้อย่างเป็นมิตร เช่น ให้มีการบันทึกถ้อยคำเหยื่อผู้เสียหายผ่านกล้องวงจรปิดโดยสามารถนำเทปมาใช้ในการพิจารณาของศาลได้ เพื่อแก้ไขปัญหาการซักถามซ้ำที่สร้างความเสียหายทางจิตใจแก่เหยื่อ ให้มีการสืบพยานผ่านจอภาพโดยมีนักจิตวิทยาร่วมเพื่อสร้างความรู้สึกสะดวกใจในการให้ข้อมูลของเหยื่อ ให้อำนาจพนักงานอัยการเข้าตรวจสอบพื้นที่เกิดเหตุทันทีก่อนมีการสั่งฟ้องเพื่อประโยชน์ในการพิจารณาสั่งคดีอย่างถูกต้องในขณะที่พยานหลักฐานยังไม่เสื่อมสลาย รวมทั้งให้มีพนักงานอัยการหญิงร่วมในการสอบสวนคดีความผิดเกี่ยวกับเพศด้วย
ด้านผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ระบุว่า ปัจจุบัน สตช. ให้ความสำคัญกับการอบรม พนักงานสอบสวนและเจ้าหน้าที่ของรัฐในกระบวนการยุติธรรมในระดับพื้นที่รายจังหวัดเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในกระบวนการสืบสวนสอบสวนคดีค้ามนุษย์และการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็ก
อย่างเคารพสิทธิมนุษยชน สำหรับประเด็นการเปิดรับพนักงานสอบสวนหญิงซึ่ง สตช. เคยดำเนินการมาแล้ว แต่ปัจจุบันไม่ได้เปิดรับต่อเนื่องนั้น จะเสนอผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติพิจารณาเปิดรับพนักงานสอบสวนหญิงเพื่อประโยชน์ในการสืบสวนคดีความผิดเกี่ยวกับเพศต่อไป นอกจากนี้ สตช. ยังเน้นการทำงานเชิงรุกและการปรามปรามอย่างจริงจัง เช่น มีการนำกฎหมายต่อต้านการฟอกเงินมาใช้ดำเนินการกับผู้กระทำผิดเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ด้วย
นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวปิดงานเสวนา สรุปว่า กสม. จะนำข้อมูล และข้อคิดเห็น ที่ได้จากการเสวนาครั้งนี้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นข้อเสนอให้เกิดการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างทางกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม รวบรวมและวิเคราะห์เพื่อจัดทำเป็นข้อเสนอแนะต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้มีการป้องกันแก้ไขปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศเชิงระบบ ทั้งนี้ เพื่อสร้างสังคม
ที่ทุกคนสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างปลอดภัยยิ่งขึ้น