สัมมนา ‘ร่าง พ.ร.บ.สื่อ’ พบมีจุดอ่อนเพียบ นิยามกว้างเหมารวม-คนรู้เห็นน้อย กำหนด ‘เสรีภาพสื่อ’ อยู่ใต้ ‘หน้าที่ปวงชน’ กับ ‘ศีลธรรมอันดี’ / นักวิชาการเสนอดึงกลับไปทบทวน แต่ฝ่ายวุฒิสภาอ้าง ‘โหราศาสตร์’ อยากเร่งรัดให้รีบผ่าน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 20 พ.ค. 2565 คณะกรรมาธิการ (กมธ.) สิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค ของวุฒิสภา (ส.ว.) ที่มีสมชาย แสวงการ ส.ว. แต่งตั้ง เป็นประธาน จัดสัมมนาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน หรือ ‘ร่าง พ.ร.บ.สื่อ เมื่อวันที่ 19 พ.ค. 65 โดยปัจจุบันร่างกฎหมายดังกล่าว อยู่ระหว่างรอเสนอเข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภา เพื่อออกมาบังคับใช้เป็นกฎหมายต่อไป
งานสัมมนาครั้งนี้ เชิญวิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ทั้งนักวิชาชีพ นักวิชาการ และนักกฎหมาย รวม 5 คนมาร่วมแสดงความเห็น ส่วนใหญ่มองว่าร่างกฎหมายนี้ยังมีจุดอ่อนจำนวนมาก ทั้งในเชิงกระบวนการผลักดัน ที่ยังรับฟังความเห็นจากผู้เกี่ยวข้องไม่เพียงพอ และในเชิงเนื้อหา ที่อาจไปเหมารวมผู้ไม่เกี่ยวข้องจำนวนมาก, จะถูกใช้มาจำกัดการทำงานสื่อมากกว่าจะส่งเสริมจริยธรรมในการทำงาน, บางส่วนอาจไม่มีผลในทางปฏิบัติ โดยเฉพาะการพยายามโยงไปถึงแพล็ตฟอร์มโซเชียลมีเดียต่างๆ ฯลฯ
จำกัดความ สื่อมวลชน-แยกสื่อแท้สื่อเทียม
นายนิพนธ์ นาคสมภพ ส.ว.แต่งตั้ง ในฐานะโฆษก กมธ.สิทธิมนุษยชนฯ ของวุฒิสภา ระบุว่า ที่ต้องจัดงานสัมมนาครั้งนี้ขึ้น เพื่ออยากทราบว่าจะมีวิธ๊แยกสื่อแท้-สื่อเทียมออกจากกันได้หรือไม่ นิยามสื่อมวลชนควรจะหมายถึงบุคคลใดบ้าง จะออกแบบเรื่องใบอนุญาตสื่ออย่างไร คำว่าสื่อใหม่ หรือ new media ไม่ใช่เพิ่งเกิด แต่มีมาหมายสิบปีแล้ว หวังว่าร่าง พ.ร.บ.สื่อ จะนำไปสู่การสร้างบรรทัดฐานในการจำแนกว่าใครเป็นสื่อมวลชนหรือไม่ โดยไม่จำเป็นต้องมาถกเถียงกัน ทั้งนี้ เพื่อนำไปสู่การผลักดันให้สื่อมวลชนสามารถทำงานได้อย่างมีจริยธรรมต่อไป
ทั้งนี้ ฝ่ายผู้จัดงานอ้างว่า เหตุที่ต้องมีร่าง พ.ร.บ.สื่อ ก็เพื่อกำหนดนิยามให้ว่าใครควรจะเป็น “สื่อมวลชน” เพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2560 มาตรา 34-36 และ พ.ร.บ.ข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 มาตรา 4(3) ซึ่งจะเริ่มมีผลบังคับใช้ในเดือน มิ.ย. 2565 แล้ว
กสม.มองร่างกฎหมายเสริมกำกับดูแล
นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชน ซึ่งเคยทำงานในแวดวงสื่อมวลชนมาก่อน ระบุว่า ร่าง พ.ร.บ.สื่อไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะเคยมีการผลักดันก่อนที่ตนจะเข้าไปเป็นสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) หากร่างกฎหมายนี้ใช้บังคับจริง ส่วนตัวเชื่อว่าจะทำให้การกำกับดูแลเข้มแข็งขึ้น เพราะสมัยก่อนองค์กรวิชาชีพสื่อจะกำกับดูแลได้เฉพาะที่เป็นสมาชิกเท่านั้น ปัจจุบัน ยิ่งมีสื่อใหม่ๆ เพิ่มมากขึ้น การกำกับดูแลจึงยิ่งต้องมีสภาพบังคับ และรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 มาตรา 35 แม้จะรับรองเสรีภาพของสื่อมวลชนไว้ แต่ยังไม่มีกฎหมายลูก
นักวิชาการชี้สังคม-หน่วยงานที่มี ช่วยกำกับอยู่แล้ว
ดร.มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ระบุว่า ในปัจจุบัน โลกของสื่อเปลี่ยนไปมาก จริยธรรมต้องอยู่เหนือกว่ากฎหมาย และปัจจุบัน สังคมก็มีส่วนช่วยในการกำกับดูแลสื่ออยู่แล้ว หากจะมีร่างกฎหมายออกมาเพื่อส่งเสริมสนับสนุนสื่อมวลชน ตนเห็นด้วย แต่จะออกมาเพื่อกำกับดูแล ปัจจุบันก็มีหน่วยงานทำหน้าที่นี้อยู่แล้ว เช่น กสทช.
“คำถามต่อไปคือสังคมได้รับรู้ถึงร่าง พ.ร.บ.สื่อนี้มากน้อยแค่ไหน ไม่ต้องพูดถึงประชาชนทั่วไป ผมถามลูกศิษย์ที่เข้าไปทำงานในแวดวงสื่อมวลชน เขาบอกว่าไม่รู้เรื่อง ทำไปทำมาแม้กระทั่งสื่อมวลชนด้วยกันเองก็ยังไม่รู้เลย แต่กลับมีความพยายามผลักดันร่างกฎหมายนี้ออกมา ก็อาจทำให้สงสัยได้ว่า หรือรัฐจะเข้ามาควบคุมในรูปแบบหนึ่ง” ดร.มานะกล่าว
ดร.มานะยังกล่าวว่า ตอนแรก ได้ยินมาว่า ตอนแรกนายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยก็ถูกเชิญมาร่วมงานสัมมนานี้ด้วย แต่ปรากฎว่าสมาชิกในสมาคมนักข่าวฯ บางส่วนยังไม่เห็นพ้องต้องกันเรื่องร่าง พ.ร.บ.สื่อ จึงควรจะกลับไปทำความเข้าใจกับคนในวงการสื่อมวลชน ภาคประชาชน และภาคส่วนอื่นๆ ให้กว้างขวางและหลากหลายกว่านี้ เพราะถ้าเร่งรีบรวบรัดออกมา สุดท้ายจะนำไปสู่ความขัดแย้งใหม่ๆ
ผอ.เว็บ MGR ชี้ยังมีปัญหาหลายจุด
นายวริษฐ์ ลิ้มทองกุล ผู้อำนวยการเว็บไซต์ Manager Online กล่าวว่า เบื้องต้นกังวลคล้ายๆ ดร.มานะ เพราะไม่ได้รับทราบรายละเอียดของร่าง พ.ร.บ.สื่อมาตั้งแต่ต้น และเท่าที่ลองอ่านดู ก็พบว่าร่างกฎหมายนี้มีปัญหาหลายจุด ความพยายามในการแบ่งแยกนิยามระหว่างสื่อแท้-สื่อเทียม สุดท้ายก็อาจจะเกิดแรงต้านว่า จะออกกฎหมายมาควบคุมเขาหรือไม่ หรือเน้นกำกับดูแลมากกว่าจะไปสนับสนุนส่งเสริม ปัจจุบันสื่อมวลชนที่ประชาชนเป็นผู้ผลิตเอง หรือ UGC (User Generated Content) มีมากมาย ประเด็นก็คือว่า เทคโนโลยีมันเปลี่ยนเร็ว กฎหมายไม่สามารถไล่ทัน ไม่รวมถึงแพล็ตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ มีทั้ง local และ global แล้วตัวร่าง พ.ร.บ.สื่อจะไปเชื่อมกับแพล็ตฟอร์มต่างๆ ได้อย่างไร เพื่อไม่ให้เกิดช่องโหว่
นิยามกว้าง เหมารวมเกินไป
ขณะที่นายไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ นักวิชาการด้านกฎหมายเทคโนโลยี กล่าวว่า ไม่เคยมองจริยธรรมกับกฎหมายแยกจากกัน ร่าง พ.ร.บ.สื่อ เหมือนเอาจริยธรรมมาให้มีสภาพบังคับทางกฎหมาย บอกว่าอะไรทำได้-ทำไม่ได้ เป็น do and don’t
ในมุมของตน สื่อมวลชนควรจะเป็น ‘วิชาชีพ’ เพราะในปัจจุบัน ก็ได้รับการยกเว้นความผิดตามกฎหมาย 4 ฉบับหากเข้าเงื่อนไข คือประมวลกฎหมายอาญา (ป.อาญา) มาตรา 329, พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 36, พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 มาตรา 4(3) และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2560 มาตรา 14(1) ซึ่งในอดีต เวลาศาลจะยึดว่าอะไรเป็นสื่อจะมาจาก 3 ปัจจัย 1.มีการขึ้นทะเบียน 2.มีกองบรรณาธิการ และ 3.มีประมวลจริยธรรม
“ปัจจุบัน เรามีทั้งยูทูบเบอร์ อินฟลูเอ็นเซอร์ ฯลฯ จะนิยามความเป็นสื่อมวลชนเพื่อให้ได้รับการยกเว้นตามกฎหมายอย่างไร เพราะนิยามในร่าง พ.ร.บ.สื่อมันกว้างมาก และจะให้ขยายไปถึงแพล็ตฟอร์ม เช่น เฟซบุ๊กที่ตั้งบริษัทอยู่ในต่างประเทศ มันเป็นไปไม่ได้” ไพบูลย์กล่าว และว่า ส่วนตัวเห็นว่าการกำกับดูแลจริยธรรมสื่อมวลชนควรจะใช้วิธีกำกับดูแลร่วม (co-regulation)
ทั้งนี้ ตามร่าง พ.ร.บ.สื่อ มาตรา 3 ให้นิยามของคำว่า “สื่อมวลชน” ไว้ว่าหมายถึง คนหรือช่องทางที่นำเสนอข้อมูลข่าวสาร โดยยกเว้นเฉพาะผู้ที่เสนอความเห็นโดยไม่ได้มุ่งแสวงหากำไร
ดร.มานะกล่าวเสริมเรื่องนิยามของสื่อในร่างกฎหมายนี้มันกว้างมาก ไม่ใช่แค่ตัว media ยังรวมถึง channel ถ้ายกเว้นกรณีไม่แสวงหากำไร จะรู้ได้ยังไง แล้วถ้าไปหารายได้ทางอื่นละ ถ้าเขียนไว้กว้าง “ใครๆ ก็จะไปอยู่ในนี้หมดเลย” แล้วที่บอกว่าจะสนับสนุนส่งเสริม คุณหมายถึงคนกลุ่มไหน
ด้านนายวสันต์กล่าวชี้แจงว่า ที่ต้องเขียนนิยามสื่อมวลชนในร่าง พ.ร.บ.สื่อไว้กว้าง ก็เพื่อให้ทันกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนเร็ว
สื่ออาวุโชี้ไม่ต้องรีบ–วุฒิสภายก “โหราศาสตร์” แย้ง
นายจักรกฤษ์ เพิ่มพูล กรรมการนโยบายขององค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ไทยพีบีเอส) ในสื่อมวลชนอาวุโส กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.สื่อปัจจุบัน มีพัฒนาการมาจากร่างกฎหมายก่อนหน้านี้ ที่เน้นการควบคุมบังคับ แต่ร่างล่าสุดจะไปเน้นการสนับสนุนส่งเสริมมากกว่า แต่แม้จะมีข้อดีหลายอย่าง เช่น จะเป็นหลักประกันของผู้รับสารให้ได้ข่าวที่ดี หรือเสริมความเข้มแข็งขององค์กรวิชาชีพในปัจจุบัน
“แต่ส่วนตัวยังไม่เห็นความจำเป็นเร่งด่วนในการมีกฎหมายนี้” นายจักรกฤษ์กล่าว
ร่าง พ.ร.บ.สื่อ ยังมีอีกประเด็นที่หลายฝ่ายเคยตั้งประเด็นไว้น่าเป็นห่วง คือมาตรา 5 ที่ระบุว่า “..ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนย่อมมีเสรีภาพในการเสนอข่าวสารหรือการแสดงความคิดเห็นตามจริยธรรมสื่อมวลชน แต่การใช้เสรีภาพนั้นต้องไม่ขัดต่อหน้าที่ของปวงชนชาวไทยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน โดยต้องเคารพและไม่ปิดกั้นความเห็นต่างของบุคคลอื่น..”
ซึ่งคำว่า เสรีภาพของสื่อมวลชนจะต้องไม่ขัดต่อหน้าที่ปวงชนและศีลธรรมอันดี ถูกผู้รับฟังการสัมมนาตั้งคำถามกับวิทยากร
นายวรินทร์ เทียมจรัส อนุ กมธ. สิทธิเสรีภาพด้านสื่อสารมวลชนและสื่อสาธารณะ ซึ่งอยู่ใน กมธ.สิทธิมนุษยชนฯ ของวุฒิสภา และเป็นผู้แสดงจุดยืนสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.สื่อ ระบุว่า คำว่าต้องไม่ละเมิดหน้าที่ปวงชนชาวไทยและศีลธรรมอันดี ก็อยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2560 อยู่แล้ว
อนึ่ง ในช่วงท้ายของการสัมมนา นายวรินทร์มีความเห็นว่าควรเร่งผ่านกฎหมายฉบับนี้ เพราะตนมีความรู้ในด้านโหราศาสตร์ ถ้าชักช้าไปไม่แน่ใจว่าจะมีโอกาสได้ผ่านกฎหมายนี้หรือไม่
ก่อนหน้านี้ สมาพันธ์สื่อไทยเพื่อประชาธิปไตย (DemAll) ซึ่งเป็นองค์กรที่เกิดจากการรวมตัวกันของคนทำงานสื่อสารหลากหลายสาขา ทั้งสื่อสายข่าว ไลฟ์สไตล์ วรรณกรรม ภาพยนตร์ ฯลฯ ได้ออกมาสร้างแคมเปญล่ารายชื่อ แสดงความกังวลต่อร่าง พ.ร.บ.สื่อ เนื่องจากปัญหาในหลายๆ ประเด็น ทั้งการจำกัดเสรีภาพสื่อ มีคนรู้เรื่องในวงแคบ ผลประโยชน์ทับซ้อน ฯลฯ
ดูคลิปเฟซบุ๊กไลฟ์งานสัมมนาเต็มๆ ได้ที่: https://www.facebook.com/SenateThailand/videos/414890423533343