EIC มอง 'กนง.' คงดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.5% ตลอดทั้งปี 65 เหตุ ‘เศรษฐกิจยังเปราะบาง-อุปสงค์อ่อนแอ-หนี้ครัวเรือนสูง’ พร้อมคาด ‘เฟด’ ลดขนาด 'งบดุล’ 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ในการประชุมเดือน พ.ค.นี้
.................................
เมื่อวันที่ 31 มี.ค. ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ EIC เผยแพร่บทวิเคราะห์กรณีที่เมื่อวันที่ 30 มี.ค.ที่ผ่านมา คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเอกฉันท์ให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.5% ต่อปี โดย EIC คาดว่า กนง. จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.5% ตลอดปี 2022 เนื่องจาก 3 ปัจจัย ได้แก่
1.กนง. มีแนวโน้มจะให้ความสำคัญกับภาวะเศรษฐกิจในประเทศ ซึ่งยังคงเปราะบางและอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าช่วงก่อน COVID-19 โดย EIC ได้ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในปี 2022 ลงเหลือ 2.7% จากกำลังซื้อของครัวเรือนที่มีแนวโน้มลดลงตามอัตราเงินเฟ้อที่จะเร่งตัวสูงขึ้น ขณะที่ราคาพลังงานและวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลให้ต้นทุนของภาคธุรกิจเพิ่มขึ้น ผลกำไร (profit margin) ลดลง และอาจชะลอการลงทุนจากเดิม
นอกจากนี้ จำนวนนักท่องเที่ยวมีแนวโน้มฟื้นตัวช้ากว่าประมาณการเดิม จากผลของสงครามรัสเซีย-ยูเครน โดยนักท่องเที่ยวบางส่วนอาจชะลอการเดินทางจากภาวะเงินเฟ้อและการบริโภคที่จะได้รับผลกระทบ ทั้งนี้ EIC ปรับประมาณการนักท่องเที่ยวต่างชาติปี 2022 ลงจาก 5.9 ล้านคน เป็น 5.7 ล้านคน
2.อัตราเงินเฟ้อของไทยที่เร่งตัวขึ้นนั้น ส่วนใหญ่มาจากปัจจัยอุปทาน ขณะที่ปัจจัยด้านอุปสงค์ยังอ่อนแอ อีกทั้งเงินเฟ้อที่สูงขึ้นคาดว่าจะเป็นเพียงระยะเวลาหนึ่ง และจะปรับลดลงเข้าสู่กรอบเป้าหมายที่ 1-3% ได้ในปีหน้า ขณะที่อัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ในระยะปานกลางก็ยังยึดเหนี่ยวอยู่ในกรอบเป้าหมาย ดังนั้น อัตราเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้นในปัจจุบันจะไม่เป็นปัจจัยที่ทำให้ กนง. ต้องรีบปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปีนี้
3.ภาระหนี้ที่สูงขึ้น โดยเฉพาะหนี้ครัวเรือนไทย ทำให้การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มกระทบต่อการบริโภคและการลงทุนมากกว่าในอดีต ทั้งนี้ EIC คาดว่าหนี้ครัวเรือนของไทยในปี 2022 ยังมีแนวโน้มขยายตัว 3-5% ตามความต้องการสภาพคล่องของภาคครัวเรือนในช่วงที่รายได้ฟื้นตัวช้า และคาดว่าสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ณ สิ้นปี 2022 จะปรับลดลงเล็กน้อยตามการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของไทย โดยอาจอยู่ในช่วง 88-90% ต่อ GDP
EIC ยังมองว่า การดำเนินนโยบายการเงินที่ตึงตัวอย่างรวดเร็วของธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) อาจเป็นความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจโลก (Recession risk) ซึ่งจะกระทบต่ออุปสงค์และการส่งออกไทยในระยะต่อไปได้
โดย EIC คาดว่า Fed มีแนวโน้มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในทุกรอบการประชุมที่เหลือของปีนี้ (รวม 7 ครั้งในปี 2022) และมีโอกาสสูงที่ Fed จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 50 bps ในการประชุมเดือน พ.ค.และมิ.ย. เนื่องจากคาดว่าอัตราเงินเฟ้อในสหรัฐฯ จะยังคงอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง ส่วนในปี 2023 EIC คาดว่า Fed อาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยไตรมาสละ 1 ครั้ง ตั้งแต่ไตรมาส 1 ถึงไตรมาส 3 ส่งผลให้ Terminal rate อาจขึ้นไปสูงสุดที่ระดับ 3-3.25%
นอกจากนี้ EIC คาดว่า Fed อาจเริ่มลดขนาดงบดุล (Quantitative Tightening: QT) ในการประชุมเดือน พ.ค. ด้วยความเร็วและปริมาณที่มากกว่ารอบก่อน เนื่องจากปัจจุบัน Fed ถือครองสินทรัพย์มากกว่าในอดีตมาก โดย EIC คาดว่าอัตราการลดขนาดงบดุลอาจมีปริมาณราว 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน แบ่งเป็นพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ (UST) 6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน และ Mortgaged-backed securities (MBS) อีก 4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน
ทั้งนี้ การเร่งขึ้นดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อของ Fed อาจส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) จากต้นทุนการกู้ยืมและภาระดอกเบี้ยของทั้งธุรกิจและผู้บริโภคที่จะปรับสูงขึ้น ซึ่งจะกระทบต่อการบริโภค การลงทุน และการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจผ่านช่องทางต่างๆ ได้แก่
1.ต้นทุนการกู้ยืมของทั้งภาคธุรกิจและผู้บริโภคสูงขึ้น โดยอัตราดอกเบี้ยและ corporate spread ที่สูงขึ้น จะส่งผลให้การลงทุนและการบริโภคปรับลดลงในระยะต่อไป
2.ภาระหนี้ที่อยู่ในระดับสูงมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งจะกระทบต่อรายได้และการบริโภคของครัวเรือนที่มีหนี้สูง
3.ฐานะการเงินและความสามารถในการทำกำไรของภาคธุรกิจมีแนวโน้มปรับแย่ลง โดยหนี้ภาคธุรกิจที่สูงขึ้นจากภาระดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับกำไรที่มีแนวโน้มปรับลดลง ทำให้ความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้สูงขึ้น
4.ราคาสินทรัพย์ เช่น อสังหาริมทรัพย์ รวมถึงผลตอบแทนจากตลาดหลักทรัพย์มีแนวโน้มลดลง ซึ่งจะทำให้ความมั่งคั่งของครัวเรือนปรับลดลง (wealth effect) ส่งผลต่อการบริโภคและลงทุน
EIC ยังประเมินว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่เร็วเกินไปได้ ส่งผลให้ส่วนต่างระหว่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี และ 2 ปี (2-10 spread) ปรับลดลง จนมีโอกาสที่จะเกิดภาวะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวอยู่ต่ำกว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้น (Inverted yield curve) ซึ่งมักจะตามมาด้วยภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) โดยจากสถิติในอดีต พบว่าภาวะเศรษฐกิจถดถอยมักจะเกิดหลังจากการติดลบของ 2-10 spread ประมาณ 1-2 ปี
ทั้งนี้ สำหรับในกรณีฐานคาดว่าภาวะเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐฯ จะยังไม่เกิดขึ้นในปีหน้า แต่ก็ต้องจับตาดูการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ Fed อย่างต่อเนื่อง
อ่านประกอบ :
EIC หั่นจีดีพีปี 65 เหลือโต 2.7%-ชี้ ‘ตรึงดีเซล’ ครัวเรือนรายได้สูงได้ประโยชน์มากสุด