‘กุลิศ’ ถกผู้บริหาร ‘ก.พลังงาน’ รับมือราคาน้ำมันในตลาดโลกที่พุ่งขึ้น ย้ำจำเป็นต้องตรึง ‘ดีเซล’ ลดผลกระทบกับประชาชน มอบ ‘กรมเชื้อเพลิงฯ-ปตท.-กฟผ.’ จัดหาเชื้อเพลิงที่มีต้นทุนเหมาะสมในการผลิตไฟฟ้า หวังดูแลค่า Ft ให้ต่ำที่สุด
................................
เมื่อวันที่ 7 ก.พ. นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยหลังประชุมร่วมกับผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงพลังงาน เพื่อเตรียมมาตรการลดผลกระทบให้กับประชาชนจากราคาพลังงานที่มีแนวโน้มสูงขึ้น ว่า ได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะด้านราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วนและเป็นรูปธรรม
“กระทรวงฯได้ตั้งคณะอนุกรรมการบริหารจัดการรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินด้านพลังงานภายใต้คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ติดตามและกำกับการดำเนินการ โดยยึดหลักการรักษาความมั่นคงในการจัดหาและคำนึงถึงผลกระทบค่าไฟฟ้าที่จะมีต่อประชาชนให้น้อยที่สุด คณะอนุกรรมการฯได้มอบหมายให้กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)
ให้เร่งจัดหาเชื้อเพลิงและบริหารจัดการตามแผนที่กำหนด โดยมีสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานเป็นผู้พิจารณาความเหมาะสมในการดำเนินการแต่ละมาตรการให้เป็นไปตาม Merit Order รวมถึงพิจารณาแผนการนำเข้า LNG และการจัดสรรตามความเหมาะสม เพื่อไม่ให้กระทบกับค่าไฟฟ้าและสร้างความมั่นใจให้กับผู้ประกอบการและประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าทั่วไปว่าจะไม่เกิดเหตุการณ์ไฟฟ้าดับอย่างแน่นอน” นายกุลิศ กล่าว
นายกุลิศ ระบุว่า จะมีการประชุมติดตามสถานการณ์ราคาพลังงานทุกสัปดาห์ เพื่อเตรียมมาตรการรองรับและบรรเทาผลกระทบ ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงพลังงานใช้กลไกเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงชดเชยราคาน้ำมันดีเซล เพื่อไม่ให้กระทบกับประชาชนทุกภาคส่วน ทั้งนี้ ราคาพลังงานที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นดังกล่าว ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะประเทศไทย แต่เกิดขึ้นทั่วโลก ขณะที่ไทยเป็นประเทศนำเข้าน้ำมัน และไม่ได้มีแหล่งน้ำมันมากมายตามที่มีการส่งต่อข้อมูลในสื่อโซเชียล
“ราคาน้ำมันดิบที่เพิ่มขึ้นทุก 1 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล จะส่งผลต่อราคาน้ำมันขายปลีก 20 สตางค์ต่อลิตร ขอให้ทุกภาคส่วนใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ” นายกุลิศ กล่าว
ส่วนประเด็นเรื่องการจัดหาก๊าซธรรมชาติและการนำเข้า LNG เพื่อนำมาทดแทนก๊าซธรรมชาติที่หายไปในช่วงเปลี่ยนผ่านผู้รับสัมปทานนั้น กระทรวงพลังงานได้ความสำคัญในการจัดลำดับ หรือ Merit order ในการเลือกใช้เชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า ไม่ว่าจะเป็นการนำเข้า LNG Spot การใช้น้ำมันทดแทน การรับซื้อไฟฟ้า หรือการเลื่อนแผนปลดโรงไฟฟ้าแม่เมาะ เพื่อให้เชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้ามีราคาที่ต่ำที่สุด เพื่อดูแลค่า Ft ให้ดีที่สุด
นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ระบุว่า สาเหตุที่ทำให้ราคาน้ำในในตลาดโลกปรับตัวเพิ่มขึ้นมาจากหลายปัจจัย เช่น การแพร่ระบาดของโควิดสายพันธุ์ Omicron ที่จะคลี่คลายในครึ่งปีแรกของปีนี้ และความต้องการน้ำมันเพิ่มขึ้น ในขณะที่ปริมาณการผลิตมีจำกัด โดยในปี 2565 มีการคาดการณ์ว่าความต้องการน้ำมันในตลาดโลกจะอยู่ที่ 100.79 ล้านบาร์เรล/วัน เทียบกับปี 2454 ที่ความต้องการอยู่ที่ 96.63 ล้านบาร์เรล/วัน
น.ส.นันธิกา ทังสุพานิช อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน กล่าวว่า กรณีที่ กบง. มีมติปรับลดสัดส่วนผสมไบโอดีเซลในน้ำมันดีเซลหมุนเร็วจาก บี 7 เป็น B5 นั้น เป็นมาตรการที่สอดคล้องกับสถานการณ์ด้านราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มสูงขึ้น และคำนึงถึงผลกระทบต่อทุกฝ่าย ทั้งผู้ใช้รถยนต์ดีเซลและเกษตรกรชาวสวนปาล์ม รวมทั้งได้หารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงพาณิชย์แล้ว
น.ส.นันธิกา กล่าวถึงนโยบายส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้าหรือ EV ซึ่งจะกระทบต่อการใช้น้ำมัน ว่า คณะอนุกรรมการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมัน ภายใต้คณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ ได้ส่งเสริมและพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ใช้น้ำมันปาล์มเป็นวัตถุดิบ เช่น ผลิตภัณฑ์หล่อลื่น น้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้าชีวภาพ ผงซักฟอก น้ำมันหล่อลื่น จาระบีชีวภาพ กรีนดีเซล และ BioJet เพื่อรองรับผลผลิตน้ำมันปาล์มในอนาคต
นายสราวุธ แก้วตาทิพย์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กล่าวถึงความคืบหน้าการดำเนินงานในช่วงเปลี่ยนผ่านการผลิตก๊าซธรรมชาติในแหล่งเอราวัณ (แปลง G1/61) ภายใต้ระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต ว่า ที่ผ่านมา กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติได้ประสานการเจรจาระหว่างบริษัทผู้รับสัมปทานรายเดิม คือ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด และผู้รับสัญญารายใหม่ คือ บริษัท ปตท.สผ. เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด
โดยทั้ง 2 บริษัท ลงนามในข้อตกลงความร่วมมือต่างๆ ในช่วงเปลี่ยนผ่านของแหล่งก๊าซธรรมชาติกลุ่มเอราวัณ ซึ่งจะทำให้การดำเนินการตามสัญญาแบ่งปันผลผลิตในแปลง G1/61 เดินหน้าต่อไปได้ ซึ่งหลังจากนี้ กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติจะเร่งรัดให้ บริษัท ปตท.สผ. เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด วางแผนบริหารจัดการ และเตรียมการผลิตก๊าซธรรมชาติจากแหล่งเอราวัณ เพื่อให้เกิดความต่อเนื่อง และได้ปริมาณตามเงื่อนไขในการประมูลโดยเร็วที่สุด
“มั่นใจได้ว่าการเปลี่ยนผ่านการดำเนินงานในช่วงเดือน เม.ย.นี้ กรมฯ จะสามารถบริหารจัดการเชื้อเพลิงด้วยการประสานกับผู้รับสัมปทานรายอื่นๆ ให้เตรียมความพร้อมให้ผลิตก๊าซธรรมชาติได้เต็มความสามารถตามสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติ และเพิ่มกำลังการผลิตก๊าซธรรมชาติจากแหล่งอื่นๆ มาทดแทน” นายสราวุธกล่าว
อ่านประกอบ :
‘น้ำมันแพง’ ซ้ำเติมเศรษฐกิจ จับตาราคาพุ่ง 100 ดอลล์ ฉุดจีดีพีไทยเสี่ยงโตต่ำ 3%