‘ภาคเอกชน-องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น’ 12 องค์กร จ.อุดรฯ ยื่นหนังสือร้อง ‘พล.อ.ประยุทธ์’ ขอให้สั่งชะลอการโอน ‘สนามบินอุดรฯ’ ให้ ‘ทอท.’ เพื่อให้ ‘ม.ราชภัฎอุดรธานี’ เข้าไปศึกษาผลกระทบก่อน ระบุต้องให้ ‘เจ้าของพื้นที่’ ร่วมตัดสินใจด้วย
.............................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 6 ม.ค. ภาคเอกชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใน จ.อุดรธานี ได้ยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม โดยขอให้ พล.อ.ประยุทธ์ สั่งการให้ชะลอการถ่ายโอนท่าอากาศยานอุดรธานี ไปให้บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ออกไปก่อน เพื่อให้มหาวิทยาลัยราชภัฎอุดรธานี เข้าไปศึกษาถึงผลกระทบต่างๆ รวมถึงแนวทางการบริหารและการพัฒนาท่าอากาศยานอุดรธานี และต้องให้ตัวแทนจากทุกภาคส่วนในฐานะเจ้าของพื้นที่และเป็นผู้มีส่วนได้เสียโดยตรง ได้เข้ามารับทราบข้อมูลและมีส่วนร่วมในการตัดสินใจดังกล่าวด้วย
ทั้งนี้ เมื่อปี 2563 นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม มีนโยบายโอนย้ายสนามบินภูมิภาคในสังกัด กรมท่าอากาศยาน (ทย.) จำนวน 4 แห่ง ให้มาอยู่ในความรับผิดชอบของ ทอท. ประกอบด้วย สนามบินอุดรธานี สนามบินกระบี่ สนามบินชุมพร และสนามบินบุรีรัมย์ ต่อมาในปี 2564 ได้ลดจำนวนสนามบินที่จะโอนให้ ทอท.เหลือ 3 แห่ง ได้แก่ สนามบินอุดรธานี สนามบินกระบี่ และสนามบินบุรีรัมย์ โดยจะเริ่มการโอนสนามบิน 2 แห่งก่อน คือ สนามบินอุดรธานี และสนามบินบุรีรัมย์ ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2565
สำหรับหนังสือดังกล่าว ระบุว่า สืบเนื่องมาจากภาคเอกชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประกอบด้วย เทศบาลนครอุดรธานี สภาอุตสาหกรรมจังหวัดอุดรธานี หอการค้าจังหวัดอุดรธานี ชมรมธนาคารจังหวัดอุดรธานี สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดอุดรธานี สมาคมอสังหาริมทรัพย์อุดรธานี สมาคมส่งเสริมพ่อค้าจีนอุดรธานี สมาคมนักธุรกิจไทย เวียดนามแห่งประเทศไทย สมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดอุดรธานี
นักอุตสาหกรรมรุ่นใหม่จังหวัดอุดรธานี Young FT! ประชารัฐจังหวัดอุดรธานี ตัวแทนภาคประชาชนจังหวัดอุดรธานี และตัวแทนผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดอุดรธานี ได้ทราบข้อมูลเกี่ยวกับการโอนย้ายการบริหารท่าอากาศยานอุดรธานี จาก กรมท่าอากาศยาน (ทย.) ไปให้กับ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด ( มหาชน ) นั้น
ทางภาคเอกชน และเทศบาลนครอุดรธานี จึงได้จัดการประชุมพิจารณา แลกเปลี่ยนข้อมูล ในเรื่องดังกล่าว เมื่อวันที่ 30 พ.ย. ณ ห้องประชุมเวสสุวัณ สำนักงานเทศบาลนครอุดรธานี และมีข้อสรุปจากที่ประชุมดังนี้
1.ท่าอากาศยานอุดรธานี ซึ่งมีการบริหารโดยกรมท่าอากาศยาน ได้มีการปรับปรุงพัฒนามาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็น อาคารสถานที่ อาคารที่พักผู้โดยสาร หอบังคับการบิน ลานจอดอากาศยาน ระบบช่วยเดินอากาศ อุปกรณ์ที่เกี่ยวกับการบริการเครื่องบินทั้งหมด เป็นไปตามมาตรฐานขององค์กรการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) และสามารถสร้างรายได้ที่ดีให้กับภาครัฐโดยตรง
พร้อมกับภาคธุรกิจเอกชนในจังหวัดอุดรธานี เห็นว่าท่าอากาศยานอุดรธานี มีโอกาสที่จะพัฒนาเชื่อมโยงในระดับภูมิภาค ระดับต่างประเทศได้อีกมาก เป็นองค์กรที่สามารถยกระดับสนามบินอุดรธานี ซึ่งเป็นสนามบินนานาชาติอยู่แล้ว สามารถสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันระดับภูมิภาค ดึงดูดนักท่องเที่ยวนักลงทุนมายังภูมิภาคอีสานตอนบน 1 ได้อย่างดี
ทางภาคธุรกิจเอกชน จึงอยากจะขอรับทราบนโยบาย และแผน ทิศทางในการบริหารท่าอากาศยานอุดรธานีในอนาคต จากกรมท่าอากาศยาน โดยตรง เพื่อที่จะได้เข้าใจในนโยบาย และการพัฒนาจังหวัดอุดรธานี ไปในทิศทางเดียวกัน เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความเข้มแข็งให้กับภูมิภาคอีสานตอนบน 1
2.ท่าอากาศยานอุดรธานี ถือว่าเป็นบริการสาธารณะ ที่รัฐพึงจัดให้เพื่อบริการประชาชน ซึ่งถือว่าประชาชนในจังหวัดอุดรธานี เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และได้รับผลกระทบโดยตรง จากนโยบาย ทิศทางการบริหารงานของท่าอากาศยานอุดรธานี จึงมีความเห็นว่า ในการบริหารงานในอนาคต ควรมีการจัดตั้งคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาท่าอากาศยาน ประกอบไปด้วย ผู้บริหารของท่าอากาศยาน ผู้แทนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้แทนจากภาคธุรกิจเอกชน ผู้แทนจากประชาชนและชุมชนที่ท่าอากาศยานตั้งอยู่ เป็นต้น
3.ตามที่มีข่าวเผยแพร่มาโดยตลอดว่า บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) จะขอเข้าดำเนินการบริหารจัดการ ท่าอากาศยานอุดรธานี นั้น ที่ประชุมมีความกังวล และมีความไม่ชัดเจนในเรื่องดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็น ทิศทางการพัฒนาท่าอากาศยานอุดรธานี การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ซึ่งต้องใช้งบประมาณที่สูง และมีความต่อเนื่องในการสร้างความสามารถในการแข่งขัน การบริการต่างๆที่พี่น้องประชาชนอุดรธานีจะได้รับ
ค่าใช้จ่ายต่างๆที่ผู้เข้าไปใช้บริการจะได้รับผลกระทบ รวมถึงโอกาสในการยกระดับสนามบินเพื่อรองรับโอกาสต่างๆ ที่จะมีขึ้นในอนาคต และผลกระทบต่อผู้ประกอบการท้องถิ่นที่อาจจะสูญเสียโอกาสในการประกอบธุรกิจในสนามบิน รวมถึงความไม่ชัดเจนในวิธีการคัดเลือก ทอท. ให้เข้ามาบริหารท่าอากาศยานอุดรธานี
“ดังนั้น ทางภาคเอกชน และเทศบาลนครอุดรธานี มีความประสงค์ขอความกรุณาจากท่านนายกรัฐมนตรี ได้มีข้อสั่งการให้ชะลอการดำเนินการโอนย้ายการบริหารทำอากาศยานอุดรธานี ไปสู่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) และขอให้มหาวิทยาลัยราชภัฎอุดรธานี เป็นตัวแทนทางราชการ ทบทวน ศึกษาผลกระทบต่างๆ ของแนวทางการบริหารและการพัฒนาท่าอากาศยานอุดรธานี โดยมีตัวแทนจากทุกภาคส่วนในฐานะเจ้าของพื้นที่และเป็นผู้มีส่วนได้เสียโดยตรง ได้เข้ามารับทราบข้อมูลและมีส่วนร่วมในการตัดสินใจดังกล่าว โดยยึดหลักปฏิบัติที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อภาครัฐ ภาคประชาชนสูงสุด” หนังสือระบุ
อ่านประกอบ :
จุดยืน 'ถาวร' - ความเห็น 'ทย.' วางหลักเกณฑ์ให้ ทอท. เช่าบริหารสนามบิน 4 แห่ง
เปิดทางทอท.เช่า 4 สนามบิน ทย.! 'ปลัดคมนาคม' รับลูก 'ศักดิ์สยาม' ศึกษาข้อดีข้อเสีย