"...ในขณะนี้ ความเห็นของ ทย.ก็คงจะมีการกราบเรียนไปยังพล.อ.ประยุทธ์ และนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีก่อนว่าที่มีการสั่งการให้โอนสนามบินของ ทย.ไปให้กับทาง ทอท.นั้น ทาง ทย.ได้ข้อสรุปว่าจะให้มีการให้เช่าบริหาร แล้วหลังจากนำเรียนแล้วจึงจะมีการศึกษาแนวทางการให้เช่าบริหารกันต่อไป..."
กำลังเป็นอีกหนึ่งประเด็นร้อน ที่อยู่ในความสนใจของสาธารณชน!
สำหรับกรณี กรมท่าอากาศยาน (ทย.) จะเปิดให้ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เช่าสนามบินของทย. 4 แห่ง ได้แก่ สนามบินกระบี่ สนามบินบุรีรัมย์ สนามบินอุดรธานี และสนามบินแม่สอด จ.ตาก
โดยก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 18 พ.ค.2563 ที่ผ่านมา นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ในฐานะกำกับดูแล ทอท. และนายถาวร เสนเนียม รมช.คมนาคม ในฐานะกำกับดูแล กย. ได้มีการหารือร่วมกันในรายละเอียดเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินการเรื่องนี้มาแล้วครั้งหนึ่ง
เบื้องต้นที่ประชุมมีมติให้ ทอท.บริหารจัดการสนามบินของทย.ดังกล่าว และมีมติมอบหมายให้นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดคมนาคม ไปศึกษาพิจารณาข้อดีและข้อเสียกรณีที่ ทย.จะนำสนามบิน 4 แห่ง ไปให้ ทอท.เช่าดำเนินการ โดยวิธีเฉพาะเจาะจง โดยแนวทางนี้กรมธนารักษ์จะต้องมอบอำนาจการเช่าที่ราชพัสดุให้ ทย. ก่อนที่ ทย.จะนำสนามบินไปให้ ทอท.เช่าบริหารต่อไป ซึ่งเมื่อศึกษาแล้วเสร็จให้เสนอที่ประชุมพิจารณาอีกครั้ง
(อ่านประกอบ : เปิดทางทอท.เช่า 4 สนามบิน ทย.! 'ปลัดคมนาคม' รับลูก 'ศักดิ์สยาม' ศึกษาข้อดีข้อเสีย)
ล่าสุด เมื่อวันที่ 25 พ.ค.2563 มีความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับเรื่องนี้อีกครั้ง เมื่อ นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ได้เชิญผู้บริหาร ทย. มาหารือถึงหลักเกณฑ์การบริหารและการให้เช่าท่าอากาศยานภายใต้การรับผิดชอบ ทย. ดังกล่าว
โดยภายหลังการประชุมดังกล่าว นายถาวร ได้อธิบายที่มาที่ไปของเรื่องนี้ว่า ต้องย้อนกลับไปที่มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตั้งแต่ปี 2561 ซึ่งขณะนั้นมีข้อสั่งการ กว้างๆ มาจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีว่าให้กระทรวงคมนาคมพิจารณา นำเอาสนามบิน 4 จังหวัดได้แก่ อุดรธานี สกลนคร ตาก และชุมพร เข้าไปการบริหารของทอท. และให้ ทย.มีแผนการดูแลท่าอากาศยานที่เหลือ
จากนั้น ในช่วงวันที่ 21 ส.ค. 2562 ทาง ทอท. ได้มีมติว่า จะเข้าไปบริหารสนามบินอีก 4 จังหวัดที่อยู่ในการจัดการของ ทย.ได้แก่ จังหวัดบุรีรัมย์ อุดรธานี กระบี่ และตาก
จนกระทั่งเมื่อวันที่ 18 พ.ค. 2563 นายทวี เกศิสำอาง อธิบดี ทย. ได้นำประเด็นนี้ ซึ่งเป็นข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีในปี 2561 รวมไปถึงมติของ ทอท.เมื่อ 2562 ขึ้นมาศึกษาพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง จนได้ 3 แนวทางในการโอนท่าอากาศยานของ ทย.ไปให้กับ ทอท. คือ
1.การโอนท่าอากาศยานซึ่งอยู่ในกำกับดูแลของ ทย.ไปให้กับ ทอท.ซึ่งมีลักษณะเป็นเอกชนไปแล้วนั้นทำไม่ได้ เป็นการผิดกฎหมาย เพราะเป็นการเอาของราชการไปให้เอกชน
2. เรื่องการจ้าง ทอท.บริหารท่าอากาศยานของ ทย. หลังจากศึกษาก็พบว่าไม่เหมาะสม เพราะว่าพอจ้างมาแล้วก็ยังคงต้องใช้ทรัพยากร และบุคลากรในของ ทย.ในการดำเนินการอยู่
จนกระทั่งมาถึงแนวทางที่ 3. ก็คือการให้ ทอท.เช่าบริหารท่าอากาศยานของ ทย. ซึ่งพอศึกษาแนวทางนี้ก็พบว่า ทรัพย์สินยังคงเป็นของ ทย. และบุคลากรของผู้เช่าที่มีอยู่ก็ยังคงเอาไปเสริมในสนามบินที่ ทย.ขาดแคลนได้ พร้อมกับเก็บเงินค่าเช่าจากผู้มาบริหารเพื่อมาพัฒนาสนามบินได้อีกต่อหนึ่ง โดยเฉพาะในสนามบินที่มีการดำเนินการที่ไม่ตอบโจทย์ต่อประชาชนที่มาใช้บริการ
" นี่เลยเป็นเหตุทำให้ทางด้านของนายศักดิ์สยาม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมได้ยกร่างคำสั่งคณะทำงานขึ้นมา โดยในคำสั่งนั้นจะมีปลัดกระทรวงเป็นประธานคณะ มีส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเข้ามาทำหน้าที่ กรรมการในคณะได้แก่ตัวแทนจาก ทย. จาก ทอท. คณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงบประมาณ และตัวแทนจากหน่วยงานอื่นๆ รวมไปถึงจากกองนิติการในกรมและในกระทรวงคมนาคมเข้ามารับผิดชอบ ซึ่งสัปดาห์นี้คงได้มีการประชุมหารือของคณะกรรมการชุดนี้"
นายถาวร ยังระบุด้วยว่า หลังจากรับฟังความเห็นของประชาชนและข้าราชการก็ยังพบว่ามีความคิดที่แตกต่าง ในการประชุมจึงได้มีการหารือไปยัง 29 สนามบินผ่านทางวิดิโอทางไกล จนได้ข้อสรุปก็คือ
1. ให้คณะกรรมการมุ่งเน้นนโยบายการพัฒนาและยึดหลักกฎหมายเกี่ยวกับการป้องกันการทุจริตและความผิดด้านการเสนอราคาเป็นสำคัญ
2.การพิจารณาแต่ละเรื่องขอให้ศึกษาจากองค์กรที่เป็นกลาง เพื่อดูถึงผลกระทบต่อการบริหารสนามบินเช่นจากมหาวิทยาลัยต่างๆและจาก สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)
และ 3.ดำเนินการโอนท่าอากศยานให้ถูกต้องตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 21 ส.ค. 2561 ซึ่งขณะนี้การดำเนินการของ ทอท.ก็เป็นไปโดยถูกต้อง และส่วนตัวเชื่อว่าสนามบินในสังกัดของ ทย.นั้นถ้าให้ ทอท.ซึ่งมีลักษณะเป็นเอกชนมาบริหารน่าจะมีความคล่องตัวกว่าระบบราชการ
ขณะที่ นายทวี เกศิสำอาง อธิบดีกรมท่าอากาศยาน ให้คำตอบถึงความแตกต่างในเรื่องของการจ้างบริหารกับการให้เช่าบริหาร ว่า "ในการจ้างบริหารนั้นคือการจ้างผู้เชี่ยวชาญของเขามา แล้วเอาทรัพย์สินของ ทย.มาบริหาร ซึ่งตามหลักการนั้นการลงทุนจะไม่เกิดขึ้นแต่อย่างใด ขณะที่การพัฒนาสนามบินให้เกิดขึ้นนั้นจะต้องเป็นหน้าที่ของ ทย. เอง ซึ่ง ทย.ก็สามารถบริหารสนามบินเองได้ด้วยต้นทุนที่ไม่แตกต่างจากทาง ทอท. ดังนั้น การจ้าง ทอท.มาก็ไม่ตรงกับนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการจะลดภาระการลงทุนของภาครัฐให้ลดลง"
"ดังนั้นจึงเป็นที่มาของการคิดว่าให้ใช้ระบบเช่าบริหาร ซึ่งการเช่าบริหารนั้นก็เหมือนกับการเช่าช่วง เมื่อหมดสัญญาเช่า ทรัพย์สินก็จะยังคงเป็นของ ทย.เหมือนเดิม ซึ่งก็ขึ้นกับสัญญาอีกว่าจะมีการเช่ากันกี่ปี จะเป็นแบบระยะยาวก็ต้องมีการลงทุนในการดำเนินงาน อาทิ การขยายท่าอากาศยานและการพัฒนาต่างๆ ซึ่งที่ผ่านมานั้นการลงทุนพัฒนา ถ้า ทย.ลงไปทำเอง ก็จะมีข้อติดขัดต่างๆทางกฎหมายระบบราชการ ยกตัวอย่างเช่น ทย.นำเอาพื้นที่ของท่าอากาศยานไปทำเป็นโรงแรมเพื่อหารายได้ไม่ได้ แต่ถ้าหากว่ารัฐวิสาหกิจที่มาเช่าพื้นที่นั้นเขาสามารถทำตรงนี้ได้คล่องตัวกว่า ซึ่งทางด้านของ ทย.ก็คงจะกำหนดลักษณะตัวชี้วัดในการให้ผู้มาเช่าบริหารต่อไป"
นายทวี ยังย้ำด้วยว่า ในขณะนี้ ความเห็นของ ทย.ก็คงจะมีการกราบเรียนไปยังพล.อ.ประยุทธ์ และนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีก่อนว่าที่มีการสั่งการให้โอนสนามบินของ ทย.ไปให้กับทาง ทอท.นั้น ทาง ทย.ได้ข้อสรุปว่าจะให้มีการให้เช่าบริหาร แล้วหลังจากนำเรียนแล้วจึงจะมีการศึกษาแนวทางการให้เช่าบริหารกันต่อไป"
ส่วนประเด็นข้อสงสัยที่ว่า การเปิดให้ ทอท.นั้นเป็นผู้เช่าบริหารรายเดียวแล้วจะรู้ได้อย่างไรว่า ทอท.จะเป็นผู้ให้ผลตอบแทนกับ ทย.ดีที่สุด ถ้าหากยังไม่มีการเปิดให้มีการแข่งขันกัน
นายทวี ระบุว่า "เรื่องนี้ยังไม่ได้ข้อสรุป เป็นรายละเอียดที่จะต้องไปศึกษาว่าจะต้องมีการทำ PPP (การร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน)หรือไม่ และจะให้รัฐวิสาหกิจซึ่งก็คือ ทอท.เป็นผู้ดูแล เพราะเรื่องนี้เป็นทรัพยากรของประเทศตั้งแต่การสัญจรบนฟ้าจนถึงพื้นที่สนามบิน ดังนั้นการทำ PPP แล้วให้ต่างชาติมาเช่าแล้วได้ผลประโยชน์ก็ต้องมาพิจารณาอีกว่ามันจะคุ้มไหม หรือควรจะให้รัฐวิสาหกิจซึ่งดูแลโดยรัฐบาลเป็นผู้ดำเนินการเอง แบบไหนจะดีกว่ากัน"
“เขาให้ผลตอบแทนมาก็จริง แต่ต้องดูกันยาวๆ ทำประมูลโดยให้เอกชนมาแล้วมาแข่งกับ ทอท.ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ ในมุมเรื่องการให้ผลประโยชน์สูงสุดก็เป็นสิ่งที่ดี แต่ว่าด้วยทรัพยากรสนามบินที่มีพื้นที่จำกัด เราจะพิจารณาต้องดำเนินการอย่างไร ประชาชนถึงจะได้ประโยชน์สูงสุด” นายทวีระบุ
นายทวี เกศิสำอาง อธิบดีกรมท่าอากาศยาน
อย่างไรก็ดี ในการหารือครั้งนี้ มีการยืนยันข้อมูลว่า นายถาวร ได้เน้นย้ำกับข้าราชการอย่างชัดเจนว่า ที่ผ่านมานั้นนายกรัฐมนตรีกล่าวชัดเจนถึงการพิจารณาว่าจะให้โอนท่าอากาศยานที่อยุ่ในการบริหารของกรมท่าอากาศยานไปให้กับทาง ทอท. ซึ่งเป็นการสั่งการโดยเฉพาะเจาะจง
"ดังนั้นทาง ทย.และคณะกรรมการจะต้องพิจารณาว่ามันมีข้อยกเว้นอย่างไรให้ ทย.ให้ทาง ทอท.เป็นผู้เช่าบริหารได้ถูกต้องตามกฎหมาย พร้อมกับการเขียนรายละเอียดเรื่องของการให้ผลประโยชน์ให้ชัดเจน"
ส่วนรายละเอียดจากนี้จะเป็นอย่างไร คงต้องรอติดตามดูกันต่อไป
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage