‘อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์’ เผยเตรียมออกประกาศลดเพดาน ‘ดอกเบี้ยเงินฝาก’ เหลือ 3.5% หวังลดต้นทุนการรับฝากเงินของสหกรณ์ พร้อมแนะสหกรณ์ฯกำหนดเพดานดอกเบี้ยเงินกู้ เป็น ‘ต้นทุนเงิน’ บวกดอกเบี้ยได้อีกไม่เกิน 3%
.................................
เมื่อวันที่ 6 ม.ค. นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ในฐานะนายทะเบียนสหกรณ์ เปิดเผยถึงนโยบาย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในการแก้ไขปัญหาหนี้สินของข้าราชการที่เป็นสมาชิกสหกรณ์ฯ ว่า กรมฯพร้อมสนับสนุนการแก้ไขปัญหาหนี้สินตามนโยบายของนายกฯ ผ่านเกณฑ์การกำกับดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน ได้แก่
การกำหนดเพดานอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก ซึ่งปัจจุบันกรมฯกำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากไว้ที่ไม่เกิน 4% ต่อปี ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อ 1 ก.ค.2564 เพื่อไม่ให้กระทบต่อสมาชิกสหกรณ์ที่มีรายได้จากดอกเบี้ยเพื่อการยังชีพ จากในอดีตที่สหกรณ์จะกำหนดดอกเบี้ยเงินฝากสูงถึง 7% เพื่อระดมเงินฝาก และในเร็วๆนี้ กรมอาจจะออกประกาศฉบับใหม่กำหนดเพดานดอกเบี้ยเงินฝากให้ไม่เกิน 3.5% ต่อปี ขณะที่ปัจจุบันดอกเบี้ยเงินฝากของสหกรณ์โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 2% กว่าๆเท่านั้น
“ในเร็วๆ นี้ กรมอาจจะออกประกาศฉบับใหม่กำหนดเพดานดอกเบี้ยเงินฝากให้ไม่เกิน 3.5% ซึ่งเป็นการปรับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากแบบขั้นบันไดที่มีการปรับลงมาจากที่อัตรา 4.5% ลงมาที่ 4% และ 3.5% ตามลำดับ อันจะเป็นการลดต้นทุนของแต่ละสหกรณ์ที่มีภาระผูกพันจากการรับฝากเงินจากสหกรณ์อื่นๆด้วย” นายวิศิษฐ์ กล่าว
ส่วนการกำหนดเพดานอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน นั้น กรมฯได้แนะนำให้กำหนดเพดานไว้ว่า ต้นทุนเท่าไหร่บวกได้ไม่เกิน 3% เพื่อเป็นการลดภาระหนี้ของสมาชิก และเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและมีธรรมาภิบาลและสอดคล้องกับเจตนารมย์ของระบบสหกรณ์ที่มุ่งช่วยสมาชิก ไม่แสวงหากำไรที่เกินควร
“การกำหนดเพดานของดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝากนั้น ล้วนเป็นผลการพิจารณาเพื่อไม่ให้กระทบต่อภาระการครองชีพของทั้งสมาชิกและธุรกรรมของของสหกรณ์ ดังนั้น กรณีดอกเบี้ยเงินกู้ หากสหกรณ์ใดประสงค์จะช่วยเพื่อนสมาชิกบรรเทาความเดือดร้อน ก็สามารถที่จะมีมาตรการปรับลดหนี้ให้ลดลงมาอีกได้ หรือออกชุดพัฒนาอาชีพสร้างรายได้เพิ่ม ให้ครัวเรือนให้สมาชิก ตามที่กรรมการแต่ละแห่งเห็นสมควรเพราะเป็นนิติบุคคล” นายวิศิษฐ์กล่าว
สำหรับกรณีการกำหนดหลักเกณฑ์ให้รายได้ของสมาชิกหลังหักหนี้ต้องเหลือไม่น้อยกว่า 30% นั้น นายวิศิษฐ์กล่าวว่า เป็นประเด็นที่กรมได้หารือกับทุกภาคส่วนเห็นตรงกันว่าจำนวนดังกล่าวเพียงพอต่อการดำรงชีพ และไม่ควรหักลดน้อยลงไปต่ำกว่านี้ ซึ่งเรื่องดังกล่าวเป็นสาระสำคัญที่บรรจุอยู่ในร่างกฎกระทรวงที่รอให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เสนอร่างที่กฤษฎีกาตรวจสอบแล้วเสนอครม.เห็นชอบ เพื่อนำออกมาประกาศใช้
“ผมเสนอว่าเพื่อเป็นการช่วยเหลือเร่งด่วนระหว่างรอกฎกระทรวงฉบับนี้ รัฐบาลควรมีกฎหรือระเบียบ ให้กระทรวงการคลังสั่งให้กรมบัญชีกลางกำหนดให้ส่วนราชการหักเงินเดือนข้าราชการที่มีภาระหนี้ผูกพันไว้ ต้องให้เหลือเงินติดบัญชีไม่น้อยกว่า 30% เพื่อให้สามารถดำรงชีพได้อย่างเหมาะสม ซึ่งจะมีอานิสงส์ดูแลเรื่องรายได้ส่วนที่เหลือหลังจากหักค่าใช้จ่ายของข้าราชการทุกภาคส่วน” นายวิศิษฐ์กล่าว
นายวิศิษฐ์ ยังถึงร่างกฎกระทรวงเรื่องการบริหารจัดการและกำกับทางการเงินสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน พ.ศ... ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างรอให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) เสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอีกครั้ง ก่อนประกาศใช้ต่อไป ว่า ร่างกฎกระทรวงฉบับดังกล่าว จะเป็นประโยชน์ในการกำกับสหกรณ์ได้ดีขึ้น เพราะจะมีสาระสำคัญในเรื่องการกำกับการกู้ยืม การกู้ยืมซ้ำซ้อน และกำกับกิจกรรมทางการเงินที่เข้มงวดเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ ร่างกฎทรวงฉบับนี้ มีสาระสำคัญ เช่น การกำกับเรื่องการให้เงินกู้การให้สินเชื่อ โดยจะกำหนดว่าสหกรณ์จะให้กู้ในวัตถุประสงค์ใดได้บ้าง รวมถึงการอนุมัติเงินกู้ประเภทเดียวกันที่เป็นเงินกู้ก้อนใหม่ จะต้องไม่ส่งผลให้สมาชิกมีหนี้เพิ่มพูนขึ้นจนเกินศักยภาพการชำระหนี้
การห้ามมิให้นำเงินประกันชีวิต เงินฌาปนกิจสงเคราะห์ หรือเงินอื่นใดที่มีลักษณะเดียวกัน มาพิจารณาเป็นหลักประกัน ซึ่งกรณีนี้พบว่าสหกรณ์หลายแห่งนำเงินอนาคตก้อนนี้มาตีเป็นสินทรัพย์ด้วยเพื่อเพิ่มวงเงินกู้ นอกจากนั้น ยังระบุถึงคุณสมบัติผู้กู้ที่สหกรณ์ผู้ให้กู้ต้องพิจารณาในเรื่องอายุงานที่คาดว่าจะมีรายได้มาประกอบพิจารณาด้วย
นอกจากนี้ ร่างกฎกระทรวงฉบับนี้ ยังครอบคลุมถึงเรื่องการรับฝากเงิน การก่อหนี้ การสร้างภาระผูกพัน และการค้ำประกัน ซึ่งจะมีผลให้มีการกำหนดเพดานดอกเบี้ยเงินรับฝากทุกประเภทต้องไม่เกินเพดานดอกเบี้ยนโยบาย ที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) กำหนดบวก 3% รวมถึงมิให้สหกรณ์เสนอขายหลักทรัพย์ หรือประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ การกำหนดเรื่องการก่อหนี้สหกรณ์ที่ผูกพันได้ไม่เกินหนึ่งเท่าครึ่งของ ทุนเรือนหุ้นและทุนสำรองรวมกัน เป็นต้น
อ่านประกอบ :
บังคับไม่ได้!‘นายทะเบียน’ชี้ลดดอกเบี้ยเงินกู้‘ข้าราชการ’ไม่เกิน 5% เป็นอำนาจคกก.สหกรณ์
เปิด 8 แพ็กเกจ'แก้หนี้สินประชาชนรายย่อย'-'ครม.'สั่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการ
คุมสหกรณ์ออมทรัพย์ฯ! สั่งรายงานข้อมูล ‘สภาพคล่อง-ก่อหนี้-ลงทุนหุ้น’ ทุกเดือน เริ่ม 1 ม.ค.65
ครม.เคาะกฎกระทรวง 5 ฉบับ! คุมสหกรณ์ปล่อยกู้สมาชิก-ลดเสี่ยงลงทุนกระจุกตัว
ตีกรอบกู้เงินสหกรณ์!ผ่อนไม่เกิน 150 งวด-ขอสินเชื่อ 1 ล้าน ต้องโชว์ 'เครดิตบูโร'
คุมสหกรณ์ปล่อยกู้สมาชิก! ชง ครม.ออกเกณฑ์ หลังหักหนี้ต้องเหลือเงินเดือนใช้ 30%
'แบงก์ชาติ' เกาะติดหนี้สหกรณ์ รัฐดันร่างกฎกระทรวง 12 ฉบับ ล้อมคอกปล่อยกู้