‘กรมส่งเสริมสหกรณ์’ ชงร่างกฎกระทรวง 2 ฉบับให้ครม.พิจารณา ตีกรอบสหกรณ์ปล่อยกู้สมาชิก วางเกณฑ์ ‘กู้เงินสามัญ’ ให้ผ่อนได้ไม่เกิน 150 งวด ส่วน ‘กู้ฉุกเฉินฯ’ ให้ผ่อนได้ไม่เกิน 12 งวด พร้อมคุมการกู้ยืมเงินระหว่างสหกรณ์ด้วยกัน หลังพบมีสหกรณ์กู้ยืมเงินไขว้กัน 7.2 แสนล้านบาท
เมื่อวันที่ 8 ก.ค. นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมฯได้เสนอร่างกฎกระทรวง จำนวน 2 ฉบับ ได้แก่ ร่างกฎกระทรวงการให้กู้และการให้สินเชื่อของสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน พ.ศ.... และร่างกฎกระทรวงการกำกับการกระจุกตัวธุรกรรมทางการเงินของสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน พ.ศ...ไปให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา ซึ่งหากครม.ให้ความเห็นชอบจะช่วยป้องกันและลดความเสี่ยงของระบบสหกรณ์ฯได้
สำหรับสาระสำคัญของร่างกฎกระทรวงการให้กู้และการให้สินเชื่อของสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน พ.ศ....กำหนดให้สหกรณ์ให้เงินกู้กับสมาชิกได้ 3 ประเภท คือ 1.เงินกู้เพื่อเหตุฉุกเฉินหรือจำเป็นเร่งด่วน ให้มีงวดชำระหนี้ไม่เกิน 12 งวด 2.เงินกู้สามัญเพื่อใช้จ่ายที่จำเป็น ให้มีงวดชำระหนี้ไม่เกิน 150 งวด และ3.เงินกู้พิเศษเพื่อส่งเสริมการประกอบอาชีพหรือความมั่นคงและคุณภาพชีวิต ให้มีงวดชำระหนี้ไม่เกิน 360 งวด
ทั้งนี้ การกำหนดงวดการชำระหนี้แล้วเสร็จดังกล่าว ผู้กู้ต้องอายุไม่เกิน 75 ปี เว้นแต่การกู้ยืมเงินนั้นเมื่อรวมทุกสัญญาแล้ว มีจำนวนไม่เกินค่าหุ้นและเงินฝากที่ผู้กู้มีอยู่กับสหกรณ์ และในกรณีที่มีการทำสัญญาเงินกู้ใหม่ สำหรับเงินกู้ประเภทเดียวกัน หรือมีการรวมสัญญาจะต้องชำระหนี้ตามสัญญาเดิมมาแล้วนั้น ในกรณีเงินกู้สามัญจะต้องชำระหนี้มาแล้วไม่น้อยกว่า 6 งวด ส่วนกรณีเงินกู้พิเศษ ต้องชำระหนี้ไม่น้อยกว่า 12 งวด
นอกจากนี้ หากผู้กู้มีรายได้รายเดือน จะต้องมีเงินคงเหลือสุทธิแต่ละเดือนหลังจากหักชำระหนี้แล้วไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 ตลอดอายุสัญญา
“สหกรณ์ออมทรัพย์หลายแห่งมีการปล่อยเงินกู้ให้สมาชิกและกำหนดงวดชำระหนี้สูงถึง 400-600 งวด และบางแห่งให้วงเงินกู้สูงเกินความสามารถชำระหนี้ของสมาชิก ส่งผลต่อการหักชำระหนี้ของสมาชิกบางรายหักเหลือไม่ถึงร้อยละ 10 ของเงินเดือน ทำให้ไม่เหลือเงินใช้จ่ายในครอบครัว ซึ่งร่างกฎกระทรวงนี้จะช่วยแก้ไขปัญหาหนี้สินของสมาชิกสหกรณ์ โดยในร่างใหม่กำหนดให้เหลือร้อยละ 30 ของเงินเดือน” นายพิเชษฐ์ กล่าว
ส่วนเรื่องหลักประกัน เงินกู้สามัญ สามารถใช้สมาชิกสหกรณ์หรือหลักทรัพย์เป็นหลักประกันได้ แต่ห้ามนำเงินประกันชีวิตและเงินฌาปนกิจสงเคราะห์ หรือเงินอื่นที่มีลักษณะเดียวกันมาพิจารณาเป็นหลักประกัน ส่วนเงินกู้พิเศษให้ใช้อสังหาริมทรัพย์เป็นหลักประกัน โดยใช้ราคาประเมินจากผู้ประเมินทรัพย์สินที่ได้รับอนุญาตหรือราคาประเมินของรัฐ
ขณะที่เกณฑ์การพิจารณาให้เงินกู้แก่สมาชิกนั้น ผู้กู้ต้องเป็นสมาชิกมาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน และต้องดูพฤติกรรมและความสามารถในการชำระหนี้ รวมถึงหลักประกันตามเกณฑ์การให้เงินกู้สามัญและเงินกู้พิเศษด้วย และหากสหกรณ์ให้เงินกู้แก่สมาชิกตั้งแต่ 1 ล้านบาทขึ้นไป จะต้องนำข้อมูลเครดิตบูโรจาก บริษัทข้อมูลแห่งชาติ จำกัด มาประกอบการพิจารณาให้เงินกู้ด้วยด้วย
ส่วนกรณีการให้เงินกู้แก่สหกรณ์อื่น จะต้องพิจารณาคุณสมบัติของสหกรณ์ผู้กู้ในด้านความมั่นคงทางการเงิน สามารถในการชำระหนี้ มีการบริหารจัดการที่ดี และปฏิบัติตามข้อบังคับของกฎหมาย ระเบียบต่างๆของสหกรณ์อย่างเคร่งครัดสม่ำเสมอ พร้อมทั้งให้กำหนดระยะเวลาชำระคืนเงินกู้ไม่เกิน 60 งวด ส่วนหลักประกันเงินกู้ที่เป็นอสังหาริมทรัพย์ให้ใช้ราคาประเมินจากผู้ประเมินมูลค่าทรัพย์สินรับอนุญาตหรือราคาประเมินของราชการในขณะทำสัญญากู้
นอกจากนั้น ในกฎกระทรวงยังกำหนดให้ต้องมีการสอบทานธุรกรรมด้านการให้กู้อีกด้วย โดย 1.สหกรณ์ขนาดใหญ่ต้องสอบทานกระบวนการปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกรรมด้านสินเชื่อตั้งแต่เริ่มต้นจนสิ้นกระบวนการโดยผู้สอบทานที่เป็นอิสระ 2.อัตราการสอบทานลูกหนี้ที่เป็นสหกรณ์หรือชุมนุมสหกรณ์ กำหนดให้สอบทานอย่างน้อย 1 ครั้งในรอบ 1 ปีบัญชี ลูกหนี้ที่เป็นสมาชิกต้องไม่ต่ำกว่าร้อยละ 10 ของจำนวนยอดคงค้างของลูกหนี้ แต่ไม่เกิน 200 ราย
ทั้งนี้ การสอบทานดังกล่าวต้องครอบคลุมลูกหนี้รายใหญ่ 100 รายแรกและครอบคลุมเงินกู้ทุกประเภท และให้ส่งแผนสอบทานประจำปีเสนอต่อคณะกรรมการฯให้ความเห็นชอบภายใน 90 วัน นับจากวันสิ้นบัญชี ทั้งนี้ ในบทเฉพาะกาลกำหนดให้ นิติกรรมใดที่มีก่อนกฎกระทรวงนี้ให้ดำเนินการต่อไปจนสิ้นอายุนิติกรรม เว้นแต่การกู้เพื่อรวมสัญญาให้เป็นตามกฎกระทรวงใหม่ กรณีสหกรณ์ขนาดใหญ่การสอบทานให้ดำเนินการ ตามกฎกระทรวงใหม่ภายใน 2 ปี
นายพิเชษฐ์ ระบุว่า ในส่วนของร่างกฎกระทรวงการกำกับการกระจุกตัวธุรกรรมทางการเงินของสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิต ยูเนี่ยน พ.ศ... นั้น กำหนดให้ในฐานะเจ้าหนี้ สหกรณ์และชุมนุมสหกรณ์จะฝากเงินหรือให้กู้เงินแก่สหกรณ์ทุกประเภทหรือชุมนุมสหกรณ์ ได้ไม่เกินร้อยละ 10 ของทุนเรือนหุ้นรวมกันทุนสำรองของสหกรณ์และชุมนุมสหกรณ์ผู้ฝากเงิน หรือให้กู้เงิน แต่ไม่นับรวมการฝากเงินในชุมนุมสหกรณ์ที่สหกรณ์นั้นเป็นสมาชิก
ส่วนในฐานะลูกหนี้ จะก่อหนี้และภาระผูกพัน หรือกู้เงินหรือรับฝากเงินจากสหกรณ์หรือชุมนุมสหกรณ์ทุกประเภทรวมกันแล้วแต่ละแห่งได้ไม่เกินร้อยละ 25 ของทุนเรือนหุ้นรวมกับทุนสำรองของสหกรณ์และชุมนุมสหกรณ์ผู้ก่อหนี้และภาระผูกพัน ยกเว้นสหกรณ์ก่อหนี้และภาระผูกพันกับชุมนุมสหกรณ์ที่สหกรณ์นั้นเป็นสมาชิกรวมกันแล้ว ให้ทำได้ไม่เกินร้อยละ 50 ของทุนเรือนหุ้นร่วมกับทุนสำรองของสหกรณ์ ผู้ก่อหนี้และภาระผูกพัน
ทั้งนี้ การก่อหนี้และภาระผูกพัน การให้กู้ และการฝากเงินของสหกรณืหรือชุมนุมสหกรณ์ที่ทำนิติกรรมก่อนกฎกระทรวงนี้ใช้บังคับให้ดำเนินการไปตามสัญญาเดิมจนสิ้นอายุสัญญา
“ร่างกฎกระทรวงทั้ง 2 ฉบับ จะช่วยป้องกันและลดความเสี่ยงของระบบสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน ที่มีการให้สินเชื่อกับสมาชิกและการกู้ยืมเงินและฝากเงินระหว่างสหกรณ์ด้วยกัน ซึ่งพบว่าที่ผ่านมามีการให้กู้ยืมและรับฝากเงินไขว้กันไปมา คิดเป็นมูลค่า 721,427 ล้านบาท และยังพบว่าบางสหกรณ์ได้มีการนำเงินไปฝากหรือให้กู้กระจุกตัวในบางสหกรณ์ที่มีชื่อเสียงและให้ผลตอบแทนจูงใจ ส่งผลต่อความเสี่ยงของสหกรณ์นั้นๆ” นายพิเชษฐ์กล่าว
อ่านประกอบ :
คุมสหกรณ์ปล่อยกู้สมาชิก! ชง ครม.ออกเกณฑ์ หลังหักหนี้ต้องเหลือเงินเดือนใช้ 30%
'แบงก์ชาติ' เกาะติดหนี้สหกรณ์ รัฐดันร่างกฎกระทรวง 12 ฉบับ ล้อมคอกปล่อยกู้
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage