กสม.ห่วงสถานการณ์ความไม่สงบบริเวณชายแดนไทย-เมียนมา แนะรัฐบาลเร่งให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ผู้หนีภัยชาวเมียนมา ไม่ผลักดันกลับสู่อันตราย และควรจัดให้มีการดูแลด้านปัจจัย 4-ความปลอดภัย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 27 ธ.ค. 2564 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและมาตรฐานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ครั้งที่ 54/2564 (29) ได้หารือถึงสถานการณ์ความไม่สงบจากการสู้รบในประเทศเมียนมาบริเวณชายแดนไทย-เมียนมาที่ยังคงเกิดเหตุรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นเหตุให้ชาวเมียนมาบางส่วนซึ่งมีทั้งเด็ก ผู้สูงอายุ ผู้หญิง รวมถึงผู้หญิงตั้งครรภ์หนีภัยข้ามแม่น้ำสาละวิน จังหวัดแม่ฮ่องสอน และแม่น้ำเมย จังหวัดตาก เข้ามายังพื้นที่พักพิงชั่วคราวบริเวณชายแดนประเทศไทย และต้องประสบความเป็นอยู่ที่ยากลำบาก ขาดอาหาร น้ำสะอาดและยารักษาโรคที่เพียงพอ ขณะที่ชุมชนชาวไทยบริเวณชายแดนมีความเสี่ยงต่อการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน รวมถึงเกิดความหวาดกลัวจากเสียงสู้รบและอากาศยานทางการทหารอยู่เป็นระยะ
กสม. ได้ติดตามสถานการณ์ดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่องด้วยความห่วงกังวลยิ่ง เนื่องจากเป็นสถานการณ์ที่ส่งผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนและความปลอดภัยของบุคคลและชุมชน โดยที่ผ่านมาได้หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แลกเปลี่ยนข้อมูลหรือข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสถานการณ์ปัญหาร่วมกับภาคส่วนต่าง ๆ รวมถึงลงพื้นที่ ณ หมู่บ้านชายแดนจังหวัดแม่ฮ่องสอนเมื่อกลางเดือน พ.ย. 2564 เพื่อประสานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม รับฟังข้อมูลจากภาคประชาชนในพื้นที่ พร้อมทั้งศึกษาแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนจากกรณีความไม่สงบที่เกิดขึ้น
ในเบื้องต้น กสม. มีความเห็นว่า ในการสร้างความมั่นคงและปลอดภัยบริเวณชายแดนไทย-เมียนมา รัฐบาลไทยควรเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นจากการสู้รบระหว่างกองทัพเมียนมากับกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ โดยเคารพต่อหลักสากลการห้ามผลักดันกลับสู่อันตราย (Non-Refoulement) อย่างเคร่งครัด และกำหนดนโยบายที่ชัดเจนในการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ชาวเมียนมา ซึ่งมีทั้งแรงงาน ผู้หนีภัยทางการเมือง และผู้หนีภัยจากการสู้รบ เช่น การให้ความช่วยเหลือด้านปัจจัย 4 รวมถึงการป้องกันและรักษาโรค โดยในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด ควรมีมาตรการในการดูแลเพื่อให้เข้าถึงการตรวจคัดกรอง การรักษา รวมทั้งการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิดด้วย
ทั้งนี้ ควรผลักดันให้เกิดกลไกท้องถิ่นที่ประกอบด้วยภาครัฐ ภาคธุรกิจเอกชน ภาคประชาสังคม ตลอดจนประชาชนจิตอาสา ฯลฯ ในการระดมสิ่งของความช่วยเหลือและดูแลผู้หนีภัยความไม่สงบ เนื่องจากชุมชนไทยบริเวณชายแดนซึ่งมีความสัมพันธ์เป็นเครือญาติกับผู้หนีภัยต้องการให้ความช่วยเหลือดูแลผู้หนีภัยเมื่อเกิดเหตุการณ์สู้รบในประเทศเมียนมาด้วย
สำหรับการป้องกันภัยอันตรายให้แก่ชุมชนไทยบริเวณชายแดนไทย-เมียนมา หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรจัดให้มีการดูแลด้านความปลอดภัย เช่น การทำบังเกอร์ป้องกันภัยแก่ชุมชน จัดทำแผนเผชิญเหตุเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์ และซักซ้อมความเข้าใจแก่ประชาชนในชุมชนที่อาจได้รับผลกระทบจากความไม่สงบด้วย
กสม.ยังคงติดตามผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นแก่ชาวเมียนมาผู้หนีภัยความไม่สงบเข้ามายังประเทศไทย และชุมชนชาวไทยบริเวณชายแดนไทย-เมียนมาอย่างต่อเนื่อง และเมื่อไม่นานมานี้ กสม. โดยนางปรีดา คงแป้น และนางสาวศยามล ไกยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มีกำหนดลงพื้นที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก เพื่อประสานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในเบื้องต้นกับทางจังหวัดตากและหน่วยงานความมั่นคงในพื้นที่ให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบด้วย ทั้งนี้ กสม. หวังว่าในสถานการณ์ที่ความไม่สงบส่งผลถึงความไม่ปลอดภัยในชีวิตอย่างรุนแรงต่อบุคคลและชุมชนเช่นนี้ การให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมจะเป็นเรื่องสำคัญลำดับแรกที่ทุกฝ่ายคำนึงถึง