‘ธปท.’ เผยนักลงทุน ‘non-resident’ ลงทะเบียนแสดงตัวตนของผู้ลงทุนตราสารหนี้ในไทย แล้ว 2.6 พันราย ขณะที่ ‘ก.ล.ต.’ เตรียมออกประกาศหลักเกณฑ์ให้ ‘ผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์’ ต้องตรวจสอบ ‘ผู้รับผลประโยชน์ที่แท้จริง’ จากการลงทุนฯ
...............................
เมื่อวันที่ 2 ธ.ค. นางอลิศรา มหาสันทนะ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยความคืบหน้าโครงการลงทะเบียนแสดงตัวตนของผู้ลงทุนตราสารหนี้ในประเทศไทย (Bond Investor Registration : BIR) ว่า ตามที่ ธปท. และ ก.ล.ต. ได้ประกาศหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับโครงการ BRI ไปเมื่อวันที่ 12 เมษายน 2564 และวันที่ 2 ธันวาคม 2564 ตามลำดับ
ซึ่งมีผลให้ผู้ลงทุนที่เป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในต่างประเทศ (non-resident) ต้องเปิดบัญชีฝากหลักทรัพย์ สำหรับตราสารหนี้แบบแยกรายผู้ได้รับผลประโยชน์ที่แท้จริง (Ultimate beneficiary owner: UBO) และลงทะเบียนแสดงตัวตนกับ ธปท. นั้น ผลการดำเนินการโครงการ BIR ระยะที่ 1 ที่ดำเนินการกับผู้ลงทุน non-resident นั้น จากข้อมูลล่าสุดเดือนพฤศจิกายน 2564 มีผู้ลงทะเบียนแล้วประมาณ 2,600 ราย
ขณะเดียวกัน ตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม 2565 เป็นต้นไป การรับมอบหรือส่งมอบตราสารหนี้ของ non-resident ต้องทำผ่านบัญชีฝากหลักทรัพย์แบบแยกราย UBO ที่ได้ลงทะเบียนแสดงตัวตนกับ ธปท. ไว้แล้วเท่านั้น เว้นแต่ได้รับการผ่อนผันจาก ธปท. หรือได้ดำเนินการตามวิธีการที่บริษัท ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (ประเทศไทย) จำกัด (TSD) กำหนด
นอกจากนี้ ธปท. อยู่ระหว่างจัดทำระบบตรวจสอบข้อมูล เพื่ออำนวยความสะดวกให้ธนาคารพาณิชย์ และบริษัทหลักทรัพย์ที่เกี่ยวข้อง สามารถตรวจสอบสถานะการลงทะเบียนแสดงตัวตนกับ ธปท. ของลูกค้าได้ โดยใช้รหัส Legal Entity Identifier (LEI) และเลขที่บัญชีฝากหลักทรัพย์ของลูกค้า โดยจะเปิดให้ใช้ระบบในวันที่ 4 มกราคม 2565
สำหรับโครงการ BIR ระยะที่ 2 จะดำเนินการกับผู้ลงทุนที่เป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในประเทศ (resident) โดย ธปท. จะขอข้อมูลการถือครองและการส่งมอบตราสารหนี้จาก TSD โดยผู้ลงทุน resident ไม่ต้องดำเนินการใด ๆ เพิ่มเติม เนื่องจากผู้ลงทุน resident มีลักษณะการเปิดบัญชีฝากหลักทรัพย์ระดับ UBO ที่ TSD อยู่แล้ว ซึ่ง ธปท. อยู่ระหว่างจัดทำประกาศหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง และคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในปี 2565
ทั้งนี้ โครงการลงทะเบียนแสดงตัวตนของผู้ลงทุนตราสารหนี้ในประเทศไทย (Bond Investor Registration : BIR) เป็นโครงการ ที่ธปท. กับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ดำเนินการร่วมกัน โดยโครงการดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งของการผลักดันให้เกิดระบบนิเวศตลาดอัตราแลกเปลี่ยนใหม่ (FX ecosystem) ด้านการยกระดับระบบติดตามและเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินนโยบายอัตราแลกเปลี่ยน (FX surveillance and Management) เพื่อให้ ธปท. มีข้อมูลที่ถูกต้อง ครบถ้วน และรวดเร็ว เพื่อกำหนดนโยบายได้ตรงจุดและทันการณ์
ขณะที่มีรายงานข่าวจาก สำนักงาน ก.ล.ต. แจ้งว่า ตามที่สำนักงาน ก.ล.ต. ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นหลักการและร่างหลักเกณฑ์ให้ผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ที่ให้บริการซื้อขาย แลกเปลี่ยน หรือจัดจำหน่ายตราสารหนี้ ต้องตรวจสอบว่าลูกค้าและผู้รับผลประโยชน์ที่แท้จริง (ultimate beneficiary owner: UBO) ซึ่งเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในต่างประเทศได้มีการลงทะเบียนแสดงตัวตนกับ ธปท. แล้ว
และในการให้บริการดูแลและเก็บรักษาตราสารหนี้ (custodian service) ผู้ประกอบธุรกิจดังกล่าวต้องดำเนินการให้ลูกค้าและ UBO เปิดบัญชีหลักทรัพย์แบบแยกรายบัญชี และเปิดบัญชีฝากหลักทรัพย์แบบแยกรายบัญชีที่ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ ตลอดจนลงทะเบียนแสดงตัวตนกับ ธปท. หรือได้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดแล้ว
ขณะนี้ ก.ล.ต. ได้นำความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องหารือกับ ธปท. และปรับปรุงหลักเกณฑ์ให้เหมาะสม สอดคล้องและเป็นไปในแนวทางเดียวกับหลักเกณฑ์ของ ธปท. แล้ว นอกจากนี้ เกณฑ์การให้บริการดูแลและเก็บรักษาตราสารหนี้ที่ออกโดย ก.ล.ต. จะบังคับใช้กับบริษัทหลักทรัพย์เท่านั้น สำหรับธนาคารพาณิชย์ที่ให้บริการดังกล่าวจะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ของ ธปท. โดยประกาศฉบับนี้จะมีผลใช้บังคับพร้อมกับ ธปท. ตั้งแต่วันที่ 4 ม.ค. 2565 เป็นต้นไป
อ่านประกอบ :
โควิดทำบาทอ่อนทะลุ 32! ธปท.เผยคนไทยลงทุนนอก 1.78 หมื่นล.ดอลล์ หลังผ่อนเกณฑ์-ตลาดเอื้อ
ยันดูแลเมื่อจำเป็น! 'ธปท.'ชี้ไทยติดบัญชีกลุ่มเฝ้าติดตาม 'ปั่นค่าเงิน' ไม่กระทบธุรกิจ
ติดตามพฤติกรรมลงทุนตลาดบอนด์ !ธปท.เปิด 'นอน-เรสซิเดนซ์' ลงทะเบียนแสดงตัวตน