ธปท.เผยช่วงไตรมาส 4/63 ถึง พ.ค.64 คนไทยลงทุนต่างประเทศ 1.78 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หลังผ่อนเกณฑ์ลงทุนหลักทรัพย์ต่างประเทศ-ภาวะตลาดต่างประเทศเอื้อลงทุน เผยค่าเงินบาทอ่อนค่าทะลุ 32 บาท เป็นไปตามทิศทางของภูมิภาค แต่อ่อนค่ากว่าประเทศอื่นในภูมิภาค เหตุไทยพบผู้ติดเชื้อโควิดเพิ่มต่อเนื่อง
.......................
เมื่อวันที่ 29 มิ.ย. ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จัดงาน Media Briefing : FX Ecosystem ครั้งที่ 3 โดยชี้แจงความคืบหน้าและแผนการผลักดัน FX ecosystem ใหม่ ซึ่งประกอบด้วย 4 มาตรการ ได้แก่ 1.การปรับเกณฑ์บัญชี FCD ให้สะดวกคล้ายบัญชีเงินบาท 2.การปรับเกณฑ์และกระบวนการลงทุนหลักทรัพย์ต่างประเทศให้ง่ายและสะดวกขึ้น 3.การลงทะเบียนแสดงตัวตนเพื่อซื้อขายตราสารหนี้ (Bond Investor Registration : BIR) และ4.โครงการ Non-resident Qualified Company (NRQC)
@ยอดการทำธุรกรรมผ่านบัญชี FCD เพิ่มขึ้น 40%
น.ส.ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธปท. กล่าวว่า หลังจาก ธปท.ปรับเกณฑ์บัญชีเงินฝากเงินตราต่างประเทศ (FCD) เพื่อให้ทำธุรกรรมได้สะดวกคล้ายบัญชีเงินบาท เมื่อวันที่ 20 พ.ย.2563 ที่ผ่านมา โดย ธปท. ผ่อนคลายเกณฑ์ ได้แก่ 1.การยกเลิกการแยกประเภทบัญชี 2.คนไทยสามารถซื้อเงินตราต่างประเทศฝากเข้าบัญชีได้เสรีโดยไม่จำกัดจำนวน และ3.การโอนระหว่างบัญชี FCD ของคนไทยในประเทศทำได้เสรีโดยไม่ต้องแสดงเอกสาร นั้น
ส่งผลให้การใช้บัญชี FCD ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทั้งจำนวนบัญชีและผู้ใช้บริการ โดยปริมาณธุรกรรมเฉลี่ยต่อเดือนปรับเพิ่มขึ้น 40% จากประมาณ 101,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (เดือน ม.ค. 63 ถึงเดือน พ.ย. 63) เป็น 140,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (เดือน ธ.ค. 63 ถึงเดือน เม.ย. 64) ซึ่งเป็นผลจากหลักเกณฑ์ที่ผ่อนคลายและค่าธรรมเนียมที่ลดลง ขณะที่ธนาคารหลายแห่งได้ประกาศยกเว้นค่าธรรมเนียมการโอนสำหรับบัญชี FCD ภายในธนาคารเดียวกัน
นอกจากนี้ ยังพบว่าจำนวนผู้ใช้บัญชี FCD ที่เพิ่มขึ้นนั้น ส่วนใหญ่เป็นผู้ใช้บริการรายใหม่ และเกินครึ่งหรือ 60% เป็นผู้ใช้บริการรายย่อย (กลุ่มบุคคลธรรมดา) ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการทำธุรกรรมซื้อขายทองคำเป็นสกุลดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่กลุ่มนิติบุคคลมีธุรกรรมการโอนระหว่างกันเพิ่มขึ้นในหลายกลุ่มอุตสาหกรรม อาทิ ปิโตรเคมี ธุรกิจค้าส่งค้าปลีก และยานยนต์ โดยสกุลเงินที่นิยมใช้สูงสุด ได้แก่ เงินดอลลาร์สหรัฐ เงินหยวน เงินยูโร เงินปอนด์ และเงินเยน
“ในระยะต่อไป เนื่องจากเราไม่ต้องให้รายงานการทำธุรกรรมเป็นเอกสารแล้ว ถ้ามีคนใช้เยอะขึ้น สะดวกขึ้น ธนาคารพาณิชย์อาจจะเห็นความคุ้มค่าในการต่อยอดการให้บริการ FCD ให้กับลูกค้า จึงอาจมีการทำธุรกรรมออนไลน์ได้ในระยะต่อไป ซึ่งจะทำให้ต้นทุนของผู้ใช้บริการลดลงไปได้อีก” น.ส.ชญาวดีกล่าว
@ติดตามพฤติกรรมนักลงทุนต่างชาติผ่าน BIR
ส่วนการติดตามพฤติกรรมการไหลของเงินทุนต่างประเทศ ผ่านการลงทะเบียนแสดงตัวตนเพื่อซื้อขายตราสารหนี้ (Bond Investor Registration : BIR) นั้น ธปท. ได้เปิดให้นักลงทุนต่างชาติเริ่มลงทะเบียนแล้ว เมื่อเดือน เม.ย.2564 เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการซื้อขายตราสารหนี้ไทย โดยตั้งแต่วันที่ 4 ม.ค.2565 นักลงทุนต่างชาติต้องผ่านการลงทะเบียนก่อนจึงจะสามารถซื้อขายตราสารหนี้ไทยได้ ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวจะช่วยให้ภาครัฐมีข้อมูลที่ดีขึ้นในการติดตามพฤติกรรมนักลงทุนได้ทันการณ์ รวมถึงการดำเนินนโยบายได้ตรงจุด และการพัฒนาตลาดตราสารหนี้ให้ตรงกับความต้องการของนักลงทุน
ขณะที่การดำเนินการให้บริษัทต่างชาติมาลงทะเบียนเพื่อทำธุรกรรมในประเทศได้ง่ายขึ้น (Non-resident Qualified Company : NRQC) ซึ่งช่วยผ่อนคลายให้นิติบุคคลต่างประเทศ (NR corporate) ที่มีภาระรับหรือจ่ายเงินบาทจากการค้าและการลงทุนโดยตรงในไทย เข้ามาทำธุรกรรมเงินบาทกับสถาบันการเงินในประเทศได้สะดวกคล่องตัวขึ้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มขนาดและความลึกของตลาดอัตราแลกเปลี่ยนในไทย (onshore market) นั้น
พบว่าตั้งแต่เดือน ม.ค.2564 ถึงเดือน มิ.ย.2564 มีนิติบุคคลต่างประเทศสมัครเข้าร่วมโครงการ NRQC จำนวน 27 ราย จากหลายอุตสาหกรรม อาทิ ปิโตรเคมี ยานยนต์ และเทคโนโลยี ส่งผลให้มีธุรกรรมของ NRQC กับสถาบันการเงินไทยแล้วประมาณ 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และหวังว่าจะบริษัทเข้ามาร่วมมากขึ้น
@คนไทยลงทุนหลักทรัพย์ตปท.สูงกว่าค่าเฉลี่ย 10 ปี
น.ส.ภาวิณี จิตต์มงคลเสมอ ผู้อำนวยการ ฝ่ายตลาดการเงิน ธปท. กล่าวว่า ในส่วนการปรับเกณฑ์และกระบวนการลงทุนหลักทรัพย์ต่างประเทศให้ง่ายและสะดวกขึ้น โดย 1.เพิ่มวงเงินลงทุนรายย่อยเป็น 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ต่อปี 2.ยกเลิกการจัดสรรวงเงินลงทุนของผู้ลงทุนสถาบันภายใต้ ก.ล.ต. และยกเลิกการจำกัดวงเงินของการลงทุนผ่านตัวแทน และ3.ขยายขอบเขตสินทรัพย์ FX ที่สามารถซื้อขายในประเทศ ให้รวมถึงตราสารทางการเงินทุกประเภท และการซื้อขายทองคำด้วยสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ นั้น
พบว่าผลจากการผ่อนคลายหลักเกณฑ์ดังกล่าว ประกอบกับภาวะตลาดที่เอื้อต่อการลงทุนในต่างประเทศ ทำให้ในช่วงไตรมาสสุดท้ายปี 2563 ถึงเดือน พ.ค.2564 มีคนไทยออกไปลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศ โดยมี Net Portfolio Outflowsกว่า 17,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ เมื่อเทียบกับในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ.2553-2562) ซึ่งค่าเฉลี่ยการออกไปลงทุนต่างประเทศอยู่ที่เพียง 3,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี
อีกทั้งยังส่งผลให้ความ “ติดถิ่น” ในการลงทุนของคนไทยปรับลดลง โดยดัชนี Home-Bias ไทย ในปี 2564 ลดลงมาอยู่ที่ 0.93 จากระดับ 0.95 ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ย 5 ปีย้อนหลัง สะท้อนว่าคนไทยมีแนวโน้มการกระจายการลงทุนไปต่างประเทศดีขึ้น
น.ส.ภาวิณี กล่าวต่อว่า เมื่อพิจารณาจากจำนวนเงินที่ไปลงทุนต่างประเทศ 17,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐนั้น พบว่าเป็นการลงทุนของบุคคลทั่วไปถึง 14,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งการลงทุนส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในหุ้น ส่วนในมิติผู้ลงทุนพบว่า นักลงทุนรายย่อยที่บริหารการลงทุนเองปรับเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่า จาก 15,660 ราย เป็น 34,897 ราย ซึ่งการเพิ่มขึ้นดังกล่าวมาจากการลงทุนผ่านแพลตฟอร์มหรือตัวกลางออนไลน์ รวมถึงมีการนำสินทรัพย์ที่เป็นสกุลเงินต่างประเทศเข้ามาขายในประเทศไทย เช่น ทองคำที่ซ่อขายเป็นสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ และการซื้อขายตราสารแสดงสิทธิ (Depositary Receipt : DR) อ้างอิงกับหุ้นต่างประเทศ
น.ส.ภาวิณี ยังระบุว่า ธปท.อยู่ระหว่างการผลักดัน FX ecosystem ในระยะถัดไป โดยการปรับหลักเกณฑ์การแลกเปลี่ยนเงิน (FX Regulatory Framework) เช่น ลดข้อจำกัดและข้อห้ามในการใช้ FX ทั้งในและต่างประเทศ การขยายหลักเกณฑ์ในการป้องกันความเสี่ยง FX และการไม่ต้องแสดงเอกสาร หากเป็นธุรกรรมปกติ ทั้งนี้ เพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการบริหารความเสี่ยงค่าเงินได้มากขึ้น โดยคาดว่าจะมีผลบัคับภายในสิ้นปีนี้
“สิ่งที่เราทำมาแล้ว เรายังพยายามทำต่อเนื่อง ทั้งการสร้างสมดุลเงินทุนเคลื่อนย้าย การเพิ่มศักยภาพในการวิเคราะห์ติดตามต่างๆ รวมถึงมีโครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินการ คือ การปรับหลักเกณฑ์การแลกเปลี่ยนเงิน” น.ส.ภาวิณีกล่าว
@ธปท.ยอมรับ ‘บาท’ อ่อนค่ากว่าปท.อื่น หลังมีผู้ติดเชื้อเพิ่ม
น.ส.ภาวิณี กล่าวถึงกรณีที่เงินบาทของไทยอ่อนค่าทะลุ 32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐในวันนี้ (29 มิ.ย.) ว่า สถานการณ์ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าทะลุ 32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐนั้น ปัจจัยหลักมาจากต่างประเทศ ซึ่งไม่ใช่เพียงเงินบาทสกุลเดียวเท่านั้นที่อ่อนค่า แต่ค่าเงินของหลายประเทศในภูมิภาคก็อ่อนค่าลงเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าค่าเงินบาทของไทยอ่อนค่าลงมากกว่าหลายประเทศในภูมิภาค เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในไทย ซึ่งพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น
“ต้องยอมรับว่าประเทศเรา อาจจะอ่อนกว่าคนอื่น ด้วยสถานการณ์ในประเทศ อย่างที่ทราบ ประเทศเราพึ่งพาการท่องเที่ยว แต่ว่าเรายังไม่สามารถเปิดประเทศได้เต็มที่ รวมถึงสถานการณ์การระบาดของโควิดในประเทศ ที่พบผู้ติดเชื้อสูงขึ้นต่อเนื่อง” น.ส.ภาวิณีกล่าว
ขณะที่ น.ส.ชญาวดี กล่าวเพิ่มเติมกรณีเงินทุนไหลออก (Out Flow) ว่า นับตั้งแต่ต้นปีเป็นต้นมา ไทยมีเงินทุนไหลออกสุทธิจากตลาดหุ้น แต่ในส่วนของตลาดตราสารหนี้นั้น พบว่ายังมีเงินทุนไหลเข้าสุทธิอยู่ โดย ธปท.ได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และขณะนี้ยังเห็นสัญญาณที่น่ากังวล
อ่านประกอบ :
ยันดูแลเมื่อจำเป็น! 'ธปท.'ชี้ไทยติดบัญชีกลุ่มเฝ้าติดตาม 'ปั่นค่าเงิน' ไม่กระทบธุรกิจ
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage