ธปท.เปิดลงทะเบียนโครงการ BIR ให้ 'นักลงทุนที่มีถิ่นฐานอยู่ในต่างประเทศ' ลงทะเบียนตั้งแต่วันที่ 12 เม.ย.64 ถึง 4 ม.ค.65 หวังติดตามพฤติกรรมนักลงทุนในตลาดตราสารหนี้ กำหนดนโยบายเพื่อดูแลเสถียรภาพอัตราแลกเปลี่ยนอย่างใกล้ชิด
.....................
เมื่อวันที่ 12 เม.ย. น.ส.วชิรา อารมย์ดี ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ในวันนี้ (12 เม.ย.) ธปท.ได้ออกประกาศโครงการลงทะเบียนแสดงตัวตนของผู้ลงทุนตราสารหนี้ในประเทศไทย (Bond Investor Registration: BIR) ระยะที่ 1 ในส่วนของผู้ลงทุนที่เป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในต่างประเทศ (non-resident) และเปิดให้ลงทะเบียนได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป
สำหรับสาระสำคัญของประกาศ คือ 1.ให้ธนาคารพาณิชย์ที่ประกอบธุรกิจการให้บริการดูแลและเก็บรักษาตราสารหนี้ (local custodian) ดำเนินการให้ลูกค้าซึ่งเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในต่างประเทศที่เป็นผู้ได้รับผลประโยชน์ที่แท้จริง (ultimate beneficiary owner: UBO) เปิดบัญชีฝากหลักทรัพย์แบบแยกราย UBO และลงทะเบียนแสดงตัวตนกับ ธปท. โดยทยอยดำเนินการให้แล้วเสร็จก่อนวันที่ 4 ม.ค.2565
และ2.ตั้งแต่วันที่ 4 ม.ค.2565 เป็นต้นไป การรับมอบหรือส่งมอบตราสารหนี้ของ non-resident ต้องทำผ่านบัญชีฝากหลักทรัพย์ดังกล่าวที่ได้ลงทะเบียนแสดงตัวตนกับ ธปท. แล้วเท่านั้น
อย่างไรก็ดี เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ local custodian และนักลงทุน non-resident ในการดำเนินการตามประกาศดังกล่าว ธปท. ได้จัดทำ BIR information note and FAQs (https://www.bot.or.th /Thai/FinancialMarkets/Documents/25640412_InfoNote_FAQ) และได้รวบรวมหลักเกณฑ์ คำถามคำตอบ และข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับโครงการ BIR ระยะที่ 1 ไว้ที่เว็บไซต์ของ ธปท. ภายใต้หัวข้อ ตลาดการเงิน >> โครงการลงทะเบียนแสดงตัวตนของผู้ลงทุนในตราสารหนี้ในประเทศไทย (BIR) หรือที่ https://www.bot.or.th/Thai/FinancialMarkets/Pages/BIR-Thai.aspx
ทั้งนี้ โครงการลงทะเบียนแสดงตัวตนของผู้ลงทุนตราสารหนี้ในประเทศไทย (Bond Investor Registration: BIR) นั้น เป็นโครงการที่ ธปท. กับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ร่วมกันดำเนินการในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการผลักดันให้เกิดระบบนิเวศตลาดอัตราแลกเปลี่ยนใหม่ (FX ecosystem) ด้านการยกระดับระบบติดตามและเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินนโยบายอัตราแลกเปลี่ยน (FX Surveillance and Management)
"โครงการ BIR จะทำให้ ธปท. มีข้อมูลสำหรับติดตามพฤติกรรมของนักลงทุนในตลาดตราสารหนี้ (market surveillance) ในเชิงลึกที่ถูกต้อง ครบถ้วน รวดเร็ว และสามารถนำมาใช้กำหนดนโยบายเพื่อดูแลเสถียรภาพอัตราแลกเปลี่ยนและระบบการเงินได้ตรงจุดและทันการณ์ต่อไป"น.ส.วชิราระบุ
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/