‘สามารถ’ แนะ 'รฟท.' เปลี่ยนแนวคิด ‘ยกเลิก’ รถไฟทุกขบวนเข้า ‘สถานีหัวลำโพง’ หนุนใช้ ‘โมเดลญี่ปุ่น’ พัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ควบคู่ 'เดินรถ'
................................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 21 พ.ย. นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และอดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว ‘ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ - Dr.Samart Ratchapolsitte’ โดยแสดงความไม่เห็นด้วยกับการยกเลิกรถไฟทุกขบวนที่วิ่งเข้าสถานีหัวลำโพงตั้งแต่วันที่ 24 ธ.ค.นี้ เป็นต้นไป เนื่องจากจะส่งผลกระทบต่อผู้โดยสารที่เดินทางจากชานเมืองเข้ามาทำงานในพื้นที่ใจกลางเมืองกรุงเทพฯ
“ในส่วนของผู้โดยสารชานเมืองนั้น เดิมสามารถเข้ามาถึงใจกลางกรุงเทพฯ จะลงรถไฟที่สถานีสามเสน หรือสถานีหัวลำโพงก็ได้ ซึ่งมีแหล่งงานมากมาย ช่วยให้เขาเหล่านี้ประหยัดเวลาและค่าเดินทาง หากเขาต้องลงรถไฟที่สถานีกลางบางซื่อจะทำให้เขาเสียเวลาและค่าเดินทางเพิ่มขึ้น สร้างความเดือดร้อนให้เขาอย่างมาก” นายสามารถ ระบุ
นายสามารถ ระบุด้วยว่า การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) สามารถพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์บริเวณสถานีรถไฟ โดยไม่จำเป็นต้องปิดการให้บริการสถานีรถไฟหัวลำโพงได้ และหากการเดินทางเข้าออกหัวลำโพงสะดวกรวดเร็ว จะทำให้การพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ได้ผลตอบแทนมากขึ้น เนื่องจากจะมีผู้มาใช้บริการจำนวนมาก เช่นเดียวกับญี่ปุ่นที่ใช้รูปแบบการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ควบคู่กับการเดินรถไฟ หรือ Integrated Development of Area and Railway (IDAR)
สำหรับเนื้อหาที่ นายสามารถ โพสต์ข้อความมี ดังนี้
“อย่ารังแกหัวลำโพง !
กระทรวงคมนาคมอ้างว่าต้องการแก้ปัญหารถติดในกรุงเทพฯ ที่เกิดจากทางรถไฟตัดกับถนน เป็นเหตุให้รถยนต์บนท้องถนนต้องหยุดรอให้รถไฟวิ่งผ่านไปก่อน ด้วยเหตุนี้ จึงจะยกเลิกรถไฟทุกขบวนวิ่งเข้าสถานีหัวลำโพงตั้งแต่วันที่ 24 ธ.ค.นี้ เป็นต้นไป โดยให้จอดแค่สถานีกลางบางซื่อเท่านั้น ไม่น่าเชื่อว่าความคิดเช่นนี้จะเกิดขึ้นในยุคที่รัฐบาลต้องการขับเคลื่อนกรุงเทพฯ ด้วยระบบราง
1.การแก้จุดตัดระหว่างทางรถไฟกับถนนจำเป็นต้องยกเลิกรถไฟวิ่งเข้าหัวลำโพงด้วยหรือ ?
ตอบว่าไม่จำเป็น เพราะการรถไฟฯ มีโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง อยู่ระดับใต้ดินวิ่งในอุโมงค์เปิด ซึ่งรถไฟดีเซลก็สามารถวิ่งได้ด้วย ทำให้แก้ปัญหาจุดตัดระหว่างทางรถไฟกับถนนได้ จึงไม่จำเป็นต้องยกเลิกรถไฟวิ่งเข้าหัวลำโพง
หากรถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง ไม่เกิดขึ้น ปัญหาจุดตัดระหว่างทางรถไฟกับถนนก็สามารถแก้ได้โดยการสร้างอุโมงค์ลอดใต้ทางรถไฟหรือสะพานลอยข้ามทางรถไฟให้รถยนต์วิ่ง
2.หากยกเลิกรถไฟวิ่งเข้าหัวลำโพง ใครจะเดือดร้อน ?
หากไม่มีรถไฟวิ่งเข้าสถานีหัวลำโพงจะมีผู้เดือดร้อนมากมาย ประกอบด้วยผู้โดยสารที่เดินทางจากชานเมืองเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ และผู้โดยสารจากจังหวัดที่อยู่ห่างไกลที่เดินทางเข้ากรุงเทพฯ ด้วยวัตถุประสงค์ต่างๆ นานา
ในส่วนของผู้โดยสารชานเมืองนั้น เดิมสามารถเข้ามาถึงใจกลางกรุงเทพฯ จะลงรถไฟที่สถานีสามเสน หรือสถานีหัวลำโพงก็ได้ ซึ่งมีแหล่งงานมากมาย ช่วยให้เขาเหล่านี้ประหยัดเวลาและค่าเดินทาง หากเขาต้องลงรถไฟที่สถานีกลางบางซื่อจะทำให้เขาเสียเวลาและค่าเดินทางเพิ่มขึ้น สร้างความเดือดร้อนให้เขาอย่างมาก
เช่นเดียวกับ ผู้โดยสารจากจังหวัดที่อยู่ห่างไกล หากเขาต้องลงรถไฟที่สถานีกลางบางซื่อแล้วเปลี่ยนมาใช้รถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง (ขณะนี้ยังไม่มี) เขาจะต้องหอบสัมภาระมากมายอย่างทุลักทุเลเพื่อไปขึ้นรถไฟฟ้า ซึ่งในชั่วโมงเร่งด่วนเขาจะต้องเบียดเสียดกับผู้โดยสารรถไฟฟ้า กว่าจะได้ขึ้นรถไฟฟ้าคงต้องรอกันนาน อีกทั้ง จะต้องเสียค่าเดินทางเพิ่มขึ้นด้วย
3.ปิดหัวลำโพงเท่ากับปิดประตู่สู่ระบบราง
การยกเลิกรถไฟทุกขบวนวิ่งเข้าสถานีหัวลำโพงหรือปิดให้บริการสถานีหัวลำโพงถือเป็นการปิดประตู่สู่ระบบราง เนื่องจากทำเลที่ตั้งของสถานีหัวลำโพงอยู่ในย่านธุรกิจกลางเมือง มีรถไฟฟ้าหลายสาย เดินทางเข้าออกได้อย่างสะดวก หากหัวลำโพงถูกปิดลงจะทำให้การเดินทางด้วยระบบรางไม่ราบรื่น ขาดจุดเริ่มต้นและจุดปลายทางที่สำคัญอย่างยิ่ง
หลายเมืองทั่วโลกที่นิยมขนผู้โดยสารด้วยระบบรางจะรักษาสถานีรถไฟใจกลางเมืองไว้ ไม่ย้ายออกนอกเมือง เช่น กรุงโตเกียวที่ยังคงมีรถไฟหลากหลายประเภทวิ่งเข้าออกสถานีรถไฟโตเกียวอย่างคับคั่งหลายพันเที่ยวต่อวัน
4.ไม่ปิดหัวลำโพงก็พัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ได้
อีกเหตุผลหนึ่งที่ต้องการปิดหัวลำโพงก็คือต้องการพัฒนาเป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์ เช่น ห้างสรรพสินค้า โรงแรม อาคารสำนักงาน และคอนโดมีเนียม เป็นต้น เพื่อนำรายได้เข้าการรถไฟฯ
แต่กระทรวงคมนาคมจะต้องไม่ลืมว่าหากการเดินทางเข้าออกหัวลำโพงสะดวกรวดเร็ว จะทำให้การพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ได้ผลตอบแทนมากขึ้น เนื่องจากจะมีผู้มาใช้บริการจำนวนมาก เพราะการเดินทางเข้าออกหัวลำโพงสะดวกรวดเร็ว อันเป็นผลมาจาก “การพัฒนาพื้นที่กับทางรถไฟแบบบูรณาการ (Integrated Development of Area and Railway หรือ IDAR) ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในญี่ปุ่น ดังนั้น จะต้องเปิดให้บริการสถานีหัวลำโพงต่อไป
5.อย่าให้ “ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย”
ผมขอเสนอให้กระทรวงคมนาคมทบทวนการปิดสถานีหัวลำโพงให้รอบคอบ ให้ย้อนคิดไปถึงการปิดสนามบินดอนเมืองในปี 2549 ทันทีที่เปิดใช้สนามบินสุวรรณภูมิ ทำให้ผู้โดยสารที่อยู่ใกล้สนามบินดอนเมืองจำนวนมากเดือดร้อน ต้องเดินทางไกลไปขึ้นเครื่องที่สนามบินสุวรรณภูมิ ด้วยเหตุนี้ จึงต้องเปิดใช้สนามบินดอนเมืองอีกครั้งในปี 2550 แต่ในปี 2552 สนามบินดอนเมืองก็ถูกปิดลงอีก โดยอ้างว่าการใช้ 2 สนามบินที่อยู่ใกล้กัน อาจทำให้เครื่องบินชนกันได้ ซึ่งในขณะนั้นผมเป็น ส.ส. ได้ตั้งกระทู้สดถาม รมว. คมนาคม แต่ก็ไม่ได้ผล ไม่สามารถยับยั้งการปิดสนามบินดอนเมืองได้
อย่างไรก็ตาม การใช้สนามบินสุวรรณภูมิเพียงสนามบินเดียวทำให้มีจำนวนการขึ้นลงของเครื่องบินหนาแน่น เป็นผลให้ความจุของรันเวย์ใกล้ถึงจุดอิ่มตัว จะต้องเร่งสร้างรันเวย์เพิ่ม ดังนั้น ในปี 2555 จึงต้องเปิดใช้สนามบินดอนเมืองอีกครั้ง เพื่อชะลอการลงทุนในสนามบินสุวรรณภูมิ และอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้โดยสาร
บทเรียนจากการปิด-เปิดสนามบินดอนเมืองหลายครั้ง ถือเป็นบทเรียนที่กระทรวงคมนาคมจะต้องพิจารณาให้รอบคอบ เพื่อไม่ให้ “ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย” ที่จะต้องปิด-เปิดสถานีหัวลำโพงหลายครั้งเช่นเดียวกัน
อย่ารังแกหัวลำโพงที่ทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์และสถาปัตยกรรมมายาวนานถึง 105 ปี เลย !"
ขณะที่เมื่อวันที่ 18 พ.ย.ที่ผ่านมา สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.รฟท.) ออกแถลงการณ์ เรื่อง ขอคัดค้านนโยบายการหยุดให้บริการรถไฟเข้าสถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) และหยุดขบวนการทำลายประวัติศาสตร์ของการรถไฟฯ โดยคัดค้านการที่ รฟท.จะปิดให้บริการสถานีรถไฟหัวลำโพง เนื่องจากจะส่งผลกระทบต่อประชาชนที่ใช้บริการรถไฟในการเดินทางเข้ามาทำงานหรือมาเรียนในพื้นที่ใจกลางเมืองกรุงเทพ
สร.รฟท. ยังระบุว่า การปิดสถานีหัวลำโพงดังกล่าว ไม่สามารถแก้ปัญหาจราจรติดขัดในกรุงเทพฯเช่นที่นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม กล่าวอ้าง พร้อมทั้งเสนอให้กระทรวงคมนาคม และ รฟท. แก้ปัญหาการจราจรบริเวณจุดที่ถนนตัดผ่านทางรถไฟ
@รฟท.ยันไม่ทุบทิ้ง 'สถานีหัวลำโพง'
ก่อนหน้านี้ รฟท.ชี้แจงกรณีที่มีการเผยแพร่ข้อมูลประเด็นเรื่อง ทุบสถานีหัวลำโพง เพื่อสร้างเป็นตึกสูง ว่า จากกรณีที่มีการเผยแพร่ข้อความในสื่อโซเชียลต่างๆ ระบุว่า การรถไฟฯ จะทำการทุบสถานีหัวลำโพงแล้วสร้างเป็นตึกสูงแทนนั้น
รฟท.ได้ตรวจสอบข้อมูลดังกล่าว และชี้แจงว่า ไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด โดยกระทรวงคมนาคมได้มีนโยบายให้รถไฟทุกขบวน โดยเฉพาะรถไฟทางไกล ปรับสถานีปลายทางจากสถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) เป็นสถานีกลางบางซื่อ ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาการจราจรติดขัดบนถนน กระทรวงคมนาคม
โดย รฟท.ได้ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาพื้นที่สถานีกรุงเทพ และสถานีกลางบางซื่อ เพื่อยกระดับสู่การเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจ และศูนย์กลางระบบขนส่งแห่งใหม่ของประเทศไทย โดยมุ่งการใช้ประโยชน์พื้นที่ให้เต็มศักยภาพ สามารถตอบโจทย์วิถีชีวิตของคนในยุคใหม่ในทุกมิติ ทั้งด้านการเดินทางขนส่ง การพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจแห่งใหม่ การส่งเสริมการท่องเที่ยวเพื่อดึงดูดชาวต่างชาติ ตลอดจนช่วยบรรเทาปัญหาจราจรติดภายในพื้นที่กรุงเทพฯ
โดยกำหนดกรอบเวลาการดำเนินงานให้ชัดเจน และหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อร่วมกันจัดทำแผนรองรับประชาชนที่ได้รับผลกระทบ รวมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับรู้ก่อนล่วงหน้า
ส่วนแนวทางการพัฒนาพื้นที่สถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) บริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกของการรถไฟแห่งประเทศไทย ระบุว่า หลังจาก รฟท. ย้ายการเดินรถไฟไปที่สถานีกลางบางซื่อทั้งหมดแล้ว จะเริ่มพัฒนาพื้นที่บริเวณสถานีหัวลำโพง ซึ่งจะเน้นการเป็นพื้นที่สาธารณะให้กับคนเมือง และเพิ่มศักยภาพเชิงพาณิชย์ โดยการพัฒนายังคงความเป็นอัตลักษณ์เดิมให้สอดคล้องกับความสมัยใหม่และปรับเข้ากับรูปแบบการดำเนินชีวิตในปัจจุบัน ดังนั้น จะยังคงอนุรักษ์อาคารหัวลำโพงและจุดสำคัญทางประวัติศาสตร์ในบริเวณนี้อย่างครบถ้วน
สำหรับแนวทางการพัฒนา จะให้เป็นศูนย์คมนาคมกลางเมือง ทั้งรถไฟฟ้าสายสีแดงส่วนต่อขยายจากสถานีกลางบางซื่อมาสถานีกรุงเทพ รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน รถท่องเที่ยวรอบเมือง และเรือท่องเที่ยว พื้นที่บางส่วนซึ่งปัจจุบันคือโรงซ่อมรถไฟ และพวงราง จะพัฒนาเชิงพาณิชย์ให้ทันสมัย เพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่เชิงวัฒนธรรมร่วมสมัย แหล่งศูนย์รวมร้านค้าและอาหารที่มีชื่อรอบเกาะรัตนโกสินทร์ตั้งแต่อดีต ผสมผสานกับร้านค้าสินค้า แบรนด์เนมระดับโลก ที่ถูกจัดสรรให้อยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืน
นอกจากนี้ ยังจัดสรรพื้นที่กิจกรรมสำหรับทุกเพศทุกวัย และเพิ่มพื้นที่สีเขียวโดยรอบ รวมถึงศูนย์ประชุมนานาชาติ และที่สำคัญคือ ยังคงอนุรักษ์พื้นที่ทางประวัติศาสตร์ให้ได้แก่ อาคารสถานีหัวลำโพง ชานชาลา อนุสรณ์ปฐมฤกษ์รถไฟหลวง ปรับปรุงเป็นพิพิธภัณฑ์ที่จะเชื่อมประวัติศาตร์ให้เข้ากับรูปแบบการดำเนินชีวิตจากอดีตสู่สังคมในอนาคต เพื่อเสริมสร้างประโยชน์ร่วมกันระหว่างการอนุรักษ์มรดกอันมีค่าทางประวัติศาสตร์ กับการสร้างรายได้เพิ่มให้กับการรถไฟฯ และประเทศ
ทั้งนี้ การเปิดให้บริการรถไฟชานเมืองสายสีแดง บางซื่อ - รังสิต และบางซื่อ - ตลิ่งชัน เชิงพาณิชย์ จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 29 พ.ย. 2564 เริ่มให้บริการตั้งแต่เวลา 05.30 - 24.00 น. ทุกวัน อัตราค่าโดยสารเริ่มต้น 12 บาท สูงสุดไม่เกิน 42 บาท หลังจากที่ได้เปิดให้บริการแบบทดลองเสมือนจริง มาตั้งแต่วันที่ 2 สิงหาคม 2564
โดยปัจจุบันมียอดผู้โดยสารเฉลี่ยวันละ 6,105 คน ซึ่งมีอัตราการเติบโตที่สูงถึง 13% สอดคล้องกับการผ่อนคลายมาตรการควบคุมต่างๆ ของรัฐบาล ซึ่งได้มีการเชื่อมต่อการเดินทางกับรถโดยสารประจำทาง โดยกรมการขนส่งทางบก และองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ได้ปรับปรุงเส้นทางเพื่อรองรับการเชื่อมต่อโครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงทุกสถานี เพื่อให้ผู้ใช้บริกรเดินทางได้อย่างสะดวก และลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลตามนโยบายรัฐบาล
สำหรับประชาชนที่ต้องการเดินทาง สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์บริการลูกค้าสัมพันธ์ หมายเลขโทรศัพท์ 1690 ตลอด 24 ชั่วโมง หรือเฟซบุ๊กแฟนเพจทีมพีอาร์การรถไฟแห่งประเทศไทย หรือสามารถจองตั๋วออนไลน์ได้ทาง เว็บไซต์ www.thairailwayticket.com
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage