‘ศาลปกครองกลาง’ พิพากษาเพิกถอนคำสั่ง ‘คกก.อุทธรณ์’ กรมบัญชีกลาง ที่ให้ ‘บ.บีพีเอ็นพี’ มีคุณสมบัติครบถ้วนในการเข้าประมูลรถไฟความเร็วสูง ‘กรุงเทพ-โคราช’ สัญญา 3-1 หลัง ‘ไชน่า เรลเวย์’ ยื่นฟ้อง
.........................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 23 ก.ย. ศาลปกครองกลางพิพากษาเพิกถอนคำสั่งคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และข้อร้องเรียน กรมบัญชีกลาง ตามหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ กค (กอร) 0405.5/52945 ลงวันที่ 21 ต.ค.2563 เรื่อง แจ้งผลการพิจารณาอุทธรณ์ของบริษัท บีพีเอ็นพี จำกัด (บริษัทร่วมทุนระหว่าง BINA จากมาเลเซีย และบริษัท นภาก่อสร้าง จำกัด) โดยให้มีผลย้อนหลังถึงวันที่มีคำสั่งดังกล่าว
สำหรับคดีนี้ บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์เทน เอนจิเนียริ่ง กรุ๊ป จำกัด (ผู้ฟ้องคดี) ฟ้องว่า การรถไฟแห่งประเทศไทย หรือ รฟท. (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) ได้มีประกาศประกวดราคาจ้างก่อสร้างโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย และรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพมหานคร-หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร-นครราชสีมา) งานสัญญาที่ 3-1 งานโยธาสำหรับช่วงแก่งคอย-กลางดง และช่วงปางอโศก - บันไดม้า ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) ลงวันที่ 28 มีนาคม 2562
โดยมีผู้ยื่นข้อเสนอในการประกวดราคาดังกล่าวทั้งสิ้น 6 ราย รวมทั้งบริษัท บีพีเอ็นพี จำกัด (ผู้ร้องสอด) และกิจการร่วมค้า ITD-CREC No.10 JV ซึ่งมีผู้ฟ้องคดีเป็นสมาชิกร่วมกับบริษัท อิตาเลียนไทย จำกัด
ทั้งนี้ ผู้ร้องสอด (บริษัท บีพีเอ็นพี จำกัด) เป็นผู้เสนอราคาต่ำสุด ส่วนผู้ฟ้องคดีเสนอราคาต่ำเป็นอันดับสอง แต่ผู้ร้องสอดมีคุณสมบัติและผลงานไม่ผ่านเกณฑ์ที่กำหนด เนื่องจากผู้ร้องสอดได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลใหม่ มีผู้ถือหุ้นจำนวน 3 ราย ได้แก่ บริษัท นภาก่อสร้าง จำกัด บริษัท บิน่า พูรี่ เอสดิเอ็น บีเอชดี จำกัด และนายชาตรี เขมาวชิรา แต่ผู้ร้องสอดกรอกข้อมูลในระบบการเสนอราคาในนามบริษัท ไม่ได้กรอกข้อมูลในนามกิจการร่วมค้า
พร้อมกับได้ยื่นข้อเสนอโดยใช้ผลงานก่อสร้างของบริษัท บิน่า พูรี่ เอสดิเอ็น บีเอชดี จำกัด ซึ่งเป็นหนังสือรับรองจากหน่วยงานเจ้าของโครงการ คือ PRASARANA MALAYSIA BERHAD รับรองว่า บริษัท บิน่า พูรี่ เอสดิเอ็น บีเอชดี จำกัด เป็นผู้รับจ้างช่วงของกิจการร่วมค้า BPHB–TIM SEKATA JV ผู้รับจ้างหลัก แต่ไม่มีการระบุมูลค่าผลงาน ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (รฟท.) จึงประกาศให้กิจการร่วมค้า ITD-CREC No.10 JV เป็นผู้ชนะการเสนอราคา
ผู้ร้องสอดได้ยื่นอุทธรณ์ผลการประกวดราคาดังกล่าว ซึ่งต่อมาคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และข้อร้องเรียน กรมบัญชีกลาง (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3) มีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ ตามหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ กค (กอร) 0405.5/52945 ลงวันที่ 21 ต.ค.2563 ว่า
คณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ กรมบัญชีกลาง (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2) เคยมีหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ กค (กวจ) 0405.4/037996 ลงวันที่ 29 สิงหาคม 2562 อนุมัติยกเว้นการปฏิบัติ ตามหนังสือของคณะกรรรมการนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ ด่วนที่สุด ที่ กค (กนบ) 0405.2/ว 410 ลงวันที่ 24ตุลาคม 2560 เรื่อง กำหนดแบบประกาศและเอกสารเชิญชวนในการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุฯ
และหนังสือของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ด่วนที่สุด ที่ กค (กวจ) 0405.2/ว 289 ลงวันที่ 25 มิถุนายน 2561 เรื่อง ซักซ้อมแนวทางปฏิบัติในการพิจารณาคุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอที่เป็นกิจการร่วมค้า ให้แก่ผู้ร้องสอดเป็นการเฉพาะราย
ผู้ร้องสอดจึงถือเป็นกิจการร่วมค้าที่ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลใหม่ และสามารถนำผลงานของผู้ร่วมค้าที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลมาใช้เป็นผลงานในการยื่นประกวดราคาได้ จึงให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 กลับไปดำเนินการในขั้นตอนการพิจารณาผลการเสนอราคาของผู้ยื่นข้อเสนอให้ถูกต้องต่อไป แต่ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงนำคดีมาฟ้องต่อศาล
ต่อมาศาลปกครองกลางมีคำสั่งให้ทุเลาการบังคับตามคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ตามหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ กค (กอร) 0405.5/52945 ลงวันที่ 21 ต.ค.2563 เรื่อง แจ้งผลการพิจารณาอุทธรณ์ของผู้ร้องสอด ไว้เป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น ต่อมาศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งที่ 164/2564 ลงวันที่ 14 พฤษภาคม 2564 ยืนตามคำสั่งของศาลปกครองกลาง
@คำสั่ง คกก.อุทธรณ์ฯ ‘กรมบัญชีกลาง’ ไม่ชอบด้วยกม.
คดีมีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยว่า คำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ตามหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ กค (กอร) 0405.5/52945 ลงวันที่ 21 ต.ค.2563 ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
เห็นว่า กรณีนี้ พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 มาตรา 29 วรรคหนึ่ง (4) บัญญัติให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (คณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ กรมบัญชีกลาง) มีอำนาจยกเว้นหรือผ่อนผัน เฉพาะการไม่ปฏิบัติตามกฎกระทรวงหรือระเบียบที่ออกตามความในพ.ร.บ.นี้ แต่มิได้บัญญัติให้อำนาจผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ยกเว้นหรือผ่อนผันให้ผู้ยื่นข้อเสนอรายใดเป็นการเฉพาะ
อีกทั้งหนังสือคณะกรรมการนโยบายฯ ด่วนที่สุด ที่ กค (กนบ) 0405.2/ว 410 ลงวันที่ 24ตุลาคม 2560 ออกโดยใช้อำนาจของคณะกรรมการนโยบายจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ ตามมาตรา 24 (6) แห่ง พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างฯ ในการกำหนดแบบเอกสารซื้อหรือจ้างพร้อมประกาศเชิญชวน เพื่อให้หน่วยงานของรัฐถือปฏิบัติในแนวทางเดียวกัน
ดังนี้ การยกเว้นหรือผ่อนผันการไม่ปฏิบัติตามหนังสือดังกล่าว จึงเป็นอำนาจของคณะกรรมการนโยบายฯ โดยเฉพาะ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 จึงไม่มีอำนาจในการยกเว้นหรือผ่อนผันการไม่ปฏิบัติตามหนังสือของคณะกรรมการนโยบายฯ ดังกล่าว
ส่วนการอนุมัติยกเว้นการปฏิบัติตามหนังสือของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ด่วนที่สุด ที่ กค (กวจ) 0405.2/ว 289 ลงวันที่ 25 มิถุนายน 2561 นั้น กรณีนี้คณะกรรมการนโยบายฯ ได้อาศัยอำนาจตามมาตรา 29 (7) แห่ง พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างฯ มอบหมายให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 มีอำนาจหน้าที่กำหนดแนวทาง วิธีปฏิบัติ แบบหรือตัวอย่างเกี่ยวกับการปฏิบัติตามระเบียบที่ออกตามความในพ.ร.บ.ดังกล่าว ในส่วนที่เกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 อันมีผลทำให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 มีอำนาจดุลพินิจที่จะทบทวน แก้ไข ผ่อนปรนหรือยกเว้นการใช้บังคับแนวทาง วิธีปฏิบัติ แบบหรือตัวอย่างที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 กำหนดขึ้นได้ตามที่เห็นว่าเหมาะสม
แต่การใช้บังคับข้อกำหนดดังกล่าวต้องเป็นไปอย่างเท่าเทียม มิใช่ยกเว้นหรือผ่อนผันการไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดดังกล่าวเป็นการเฉพาะรายผู้ร้องสอด มิเช่นนั้นแล้ว จะทำให้เกิดความไม่มั่นคงแน่นอนแห่งนิติสถานะ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 จึงไม่มีอำนาจในการยกเว้นหรือผ่อนผันการไม่ปฏิบัติตามหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ กค (กวจ) 0405.2/ว 289 ลงวันที่ 25 มิถุนายน 2561 ให้แก่ผู้ร้องสอดเป็นการเฉพาะรายผู้ร้องสอด
ประกอบกับการอนุมัติยกเว้นหรือผ่อนผันการไม่ปฏิบัติตามกฎกระทรวงหรือระเบียบที่ออกตามความในพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างฯ ต้องมีการประกาศในระบบเครือข่ายสารสนเทศของกรมบัญชีกลางตามวิธีการที่กรมบัญชีกลางกำหนด ตามมาตรา 21 วรรคสอง แห่งพ.ร.บ.ดังกล่าว
แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 มิได้นำหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ กค (กวจ) 0405.4/037996 ลงวันที่ 29 สิงหาคม 2562 เรื่อง ข้อหารือคุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอในนามกิจการร่วมค้าและผลงาน ประกาศในระบบเครือข่ายสารสนเทศของกรมบัญชีกลาง
การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ยกเว้นการปฏิบัติตามหนังสือของคณะกรรมการนโยบายฯ ด่วนที่สุด ที่ กค (กนบ) 0405.2/ว 410 ลงวันที่ 24 ตุลาคม 2560 และหนังสือของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ด่วนที่สุด ที่ กค (กวจ) 0405.2/ว 289 ลงวันที่ 25 มิถุนายน 2561 ให้แก่ผู้ร้องสอดเป็นการเฉพาะราย จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย
@ศาลฯชี้ ‘บีพีเอ็นพี’ ขาดคุณสมบัติในการยื่นเสนอราคา
คดีมีปัญหาที่จะต้องพิจารณาต่อไปว่า ผู้ร้องสอด (บริษัท บีพีเอ็นพี จำกัด) มีคุณสมบัติครบถ้วนตามประกาศและเอกสารประกวดราคาฯ หรือไม่
เห็นว่า กรณีนี้ ประกาศและเอกสารประกวดราคาฯ กำหนดให้ผู้ยื่นข้อเสนอต้องมีผลงานก่อสร้างประเภทเดียวกันกับงานที่ประกวดราคา แต่ในกรณีที่ผู้ยื่นข้อเสนอเป็นกิจการร่วมค้าที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลใหม่ กิจการร่วมค้าดังกล่าวสามารถนำผลงานก่อสร้างของผู้เข้าร่วมค้ามาใช้แสดงเป็นผลงานก่อสร้างของกิจการร่วมค้าได้
เมื่อผู้ร้องสอด (บริษัท บีพีเอ็นพี จำกัด) ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ผู้ร้องสอดจึงมีสถานะความเป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากผู้ถือหุ้นผู้ร้องสอดในนาม “บริษัท บีพีเอ็นพี จำกัด” จึงต้องมีผลงานก่อสร้างในนามบริษัทดังกล่าว โดยไม่สามารถนำผลงานก่อสร้างของผู้ถือหุ้นมาใช้แสดงเป็นผลงานก่อสร้างของผู้ร้องสอดได้
ดังนั้น เมื่อผู้ร้องสอดยื่นข้อเสนอราคาโดยใช้ผลงานก่อสร้างของบริษัท บิน่า พูรี่ เอสดิเอ็น บีเอชดี จำกัด โดยไม่ได้ยื่นผลงานก่อสร้างที่ทำในนามบริษัท บีพีเอ็นพี จำกัด ผู้ร้องสอดจึงไม่มีคุณสมบัติตามที่กำหนดไว้ในประกาศและเอกสารประกวดราคาฯ
อีกทั้งเมื่อประกาศและเอกสารประกวดราคาฯ กำหนดให้สมาชิกของกิจการร่วมค้าที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลใหม่ทุกรายต้องเป็นนิติบุคคล และต้องมีอาชีพรับจ้างตามที่ประกวดราคาจ้าง แต่ผู้ร้องสอดมีผู้ถือหุ้นรายหนึ่งเป็นบุคคลธรรมดา และไม่ได้มีอาชีพรับจ้างตามที่ประกวดราคาจ้าง ผู้ร้องสอดจึงไม่มีคุณสมบัติในการยื่นข้อเสนอราคาในนามกิจการร่วมค้าที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลใหม่
นอกจากนี้ ในส่วนหนังสือรับรองผลงานของผู้ร้องสอด ประกาศและเอกสารประกวดราคาฯ กำหนดให้หนังสือรับรองผลงานต้องออกโดยเจ้าของงานและระบุมูลค่าผลงาน เมื่อผู้ร้องสอดได้ยื่นหนังสือรับรองผลงานก่อสร้างของบริษัท บิน่า พูรี่ เอสดิเอ็น บีเอชดี จำกัด ที่ออกให้โดยบริษัท PRASARANA MALAYSIA BERHAD ผู้เป็นเจ้าของงาน และหนังสือรับรองผลงานที่ออกให้โดยกิจการร่วมค้า BPHB–TIM SEKATA JV ผู้รับจ้างหลัก
แต่หนังสือรับรองผลงานที่ออกโดยบริษัท PRASARANA MALAYSIA BERHAD นั้น แม้จะออกให้โดยเจ้าของงาน แต่หนังสือรับรองดังกล่าวรับรองเพียงว่าบริษัท บิน่า พูรี่ เอสดิเอ็น บีเอชดี จำกัด เป็นผู้รับจ้างช่วงงานก่อสร้างจากกิจการร่วมค้า BPHB–TIM SEKATA JV โดยไม่ได้ระบุมูลค่าของผลงานไว้ ส่วนหนังสือรับรองผลงานที่ออกโดยกิจการร่วมค้า BPHB – TIM SEKATA JV แม้จะได้ระบุมูลค่าผลงานไว้ แต่กิจการร่วมค้า BPHB – TIM SEKATA JV ไม่ใช่เจ้าของงานก่อสร้าง หนังสือรับรองผลงานของผู้ร้องสอด จึงไม่เป็นไปตามที่ประกาศและเอกสารประกวดราคาฯ กำหนด
@สั่งเพิกถอนคำสั่ง ‘กรมบัญชีกลาง’-เปิดยื่นอุทธรณ์ฯได้
ดังนั้น การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 (คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และข้อร้องเรียน กรมบัญชีกลาง) วินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้ร้องสอด โดยพิจารณาคุณสมบัติของผู้ร้องสอดตามหนังสือผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ด่วนที่สุด ที่ กค (กวจ) 0405.4/037996 ลงวันที่ 29 สิงหาคม 2562 ซึ่งอนุมัติยกเว้นให้ผู้ร้องสอดเป็นกิจการร่วมค้าที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลใหม่
และพิจารณาต่อไปว่า ผู้ร้องสอดสามารถนำผลงานของผู้ร่วมค้าที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลมาใช้แสดงเป็นผลงานในการยื่นประกวดราคา จึงให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 กลับไปดำเนินการในขั้นตอนการพิจารณาผลการเสนอราคาของผู้ยื่นข้อเสนอให้ถูกต้องต่อไป คำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ตามหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ กค (กอร) 0405.5/52945 ลงวันที่ 21 ต.ค.2563 จึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
พิพากษาเพิกถอนคำสั่งผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ตามหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ กค (กอร) 0405.5/52945 ลงวันที่ 21 ต.ค.2563 เรื่อง แจ้งผลการพิจารณาอุทธรณ์ของผู้ร้องสอด โดยให้มีผลย้อนหลังถึงวันที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 มีคำสั่งดังกล่าว คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
ทั้งนี้ ให้คำสั่งศาลที่มีคำสั่งให้ทุเลาการบังคับตามคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ตามหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ กค (กอร) 0405.5/52945 ลงวันที่ 21 ต.ค.2563 มีผลใช้บังคับต่อไปจนกว่าจะพ้นระยะเวลาการอุทธรณ์ ในกรณีที่ไม่มีการอุทธรณ์ หรือจนกว่าศาลมีคำสั่งถึงที่สุดไม่รับอุทธรณ์ ในกรณีที่มีการอุทธรณ์ หากศาลมีคำสั่งรับอุทธรณ์ ให้คำสั่งดังกล่าวมีผลใช้บังคับต่อไปจนกว่าศาลปกครองสูงสุดจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น
สำนักข่าวอิศรารายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง เส้นทางกรุงเทพ-นครราชสีมา สัญญาที่ 3-1 ช่วงแก่งคอย-กลางดง และช่วงปางอโศก–บันไดม้า ระยะทาง 30 กิโลเมตร บริษัท ITD-CREC No.10JV ซึ่งประกอบด้วย บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนท์ ร่วมกับพันธมิตร CREC (China railway Engineering corporation) เสนอราคา 9,349 ล้านบาท จากราคากลาง 11,386 ล้านบาท ส่วนบริษัท บีพีเอ็นพี จำกัด เสนอราคา 9,330 ล้านบาท
อ่านประกอบ :
ศาลปค.นัด 23 ก.ย.นี้ อ่านคำพิพากษา ‘บ.จีน’ ฟ้อง ‘รฟท.’ คดีประมูล 'ไฮสปีด' สัญญา 3-1
‘ศาลปค.สูงสุด’ สั่งชะลอประมูล ‘สัญญา 3-1’ รถไฟความเร็วสูงกรุงเทพ-โคราช
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage