‘ศาลปกครองกลาง’ นัดอ่านคำพิพากษา ‘บ.ไชน่า เรลเวย์ฯ’ ฟ้อง ‘รฟท.-พวก’ กระทำไม่ชอบด้วยกฎหมาย กรณีประมูลงานโยธารถไฟความเร็วสูงกรุงเทพ-โคราช สัญญา 3-1 วงเงินกว่า 1.1 หมื่นล้าน 23 ก.ย.นี้
.............................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า ในวันที่ 23 ก.ย.นี้ ศาลปกครองกลางนัดอ่านคำพิพากษา ในคดีหมายเลขดำที่ 3/2564 ระหว่าง บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์เทน เอนจิเนียริ่ง กรุ๊ป จำกัด (ผู้ฟ้องคดี) กับ การรถไฟแห่งประเทศไทย ที่ 1 กับพวกรวม 3 คน (ผู้ถูกฟ้องคดี) คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐออกคำสั่งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
สำหรับคดีนี้ บริษัท ไชน่า เรลเวย์ฯ ฟ้องว่า การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กระทำการไม่ชอบด้วยกฎหมาย กรณีคณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ กรมบัญชีกลาง มีคำสั่ง ลว. 29 ส.ค. 2562อนุมัติยกเว้นการปฏิบัติตามหนังสือคณะกรรมการนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ ที่ กค (กนบ) 0405.2/ว 410 ลว. 24 ต.ค.2560 ให้แก่ บริษัท บีพีเอ็นพี จำกัด (BINA จากมาเลเซีย-บริษัท นภาก่อสร้าง จำกัด) เป็นการเฉพาะราย
นอกจากนี้ การที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และข้อร้องเรียน กรมบัญชีกลาง มีคำวินิจฉัยว่า อุทธรณ์ของบริษัท บีพีเอ็นพี จำกัด ในประเด็นเกี่ยวกับคุณสมบัติและหนังสือรับรองผลงาน ฟังขึ้น และสั่งให้ รฟท. กลับไปดำเนินการในขั้นตอนการพิจารณาผลการเสนอราคาของผู้ยื่นข้อเสนอให้ถูกต้องต่อไป ย่อมเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้ผู้ฟ้องคดี ซึ่งเป็นผู้ชนะการประกวดราคาจ้างโครงการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพมหานคร - หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา) งานสัญญาที่ 3-1 งานโยธาสำหรับช่วงแก่งคอย-กลางดง และช่วงปางอโศก-บันไดม้า ได้รับความเสียหาย
สำนักข่าวอิศรารายงานเพิ่มเติมว่า ก่อนหน้านี้ รฟท.เปิดประมูลงานโยธาโครงการรถไฟความเร็วสูง เส้นทางกรุงเทพ-นครราชสีมา สัญญาที่ 3-1 ช่วงแก่งคอย - กลางดง และช่วงปางอโศก – บันไดม้า ระยะทาง 30 กิโลเมตร ด้วยวิธีทางอิเล็กทรอนิกส์ ผลปรากฏว่า บริษัท ITD-CREC No.10JV ซึ่งประกอบด้วย บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนท์ ร่วมกับพันธมิตร CREC (China railway Engineering corporation) เสนอราคา 9,349 ล้านบาท จากราคากลาง 11,386 ล้านบาท และเป็นผู้ชนะการประมูล
อย่างไรก็ตาม ITD-CREC No.10JV ไม่ได้เป็นผู้เสนอราคาต่ำสุด แต่เป็น บริษัท บีพีเอ็นพี จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง BINA จากมาเลเซีย และบริษัท นภาก่อสร้าง จำกัด ที่เสนอราคาต่ำสุด โดยเสนอราคา 9,330 ล้านบาท ต่ำกว่า บริษัท ITD-CREC No.10JV เป็นเงิน 19 ล้านบาท ส่วนสาเหตุที่ บริษัท บีพีเอ็นพี จำกัด ไม่ได้เป็นผู้ชนะการประมูลนั้น เนื่องจากคณะกรรมการคัดเลือกตัดสิทธิ์ บริษัท บีพีเอ็นพี จำกัด ด้วยเหตุผลว่าไม่ผ่านเกณฑ์คุณสมบัติ เพราะเอกสารการจัดตั้งบริษัทร่วมทุนใหม่ไม่ถูกต้อง
ต่อมา บริษัท นภาก่อสร้าง ยื่นอุทธรณ์ผลการประมูล และ รฟท.ได้ส่งเรื่องนี้ให้กรมบัญชีกลางพิจารณาคำอุทธรณ์ฯตามขั้นตอนของพ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 ซึ่งกรมบัญชีกลาง มีคำวินิจฉัยว่า อุทธรณ์ของบริษัท บีพีเอ็นพี จำกัด ในประเด็นเกี่ยวกับคุณสมบัติและหนังสือรับรองผลงาน ฟังขึ้น และสั่งให้ รฟท. กลับไปดำเนินการในขั้นตอนการพิจารณาผลการเสนอราคาของผู้ยื่นข้อเสนอให้ถูกต้องต่อไป
อ่านประกอบ :
‘ศาลปค.สูงสุด’ สั่งชะลอประมูล ‘สัญญา 3-1’ รถไฟความเร็วสูงกรุงเทพ-โคราช
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage