‘บอร์ด ซิโน-ไทย’ แจ้งยกเลิกการเข้าซื้อกิจการ STIT แล้ว หลัง ‘ที่ปรึกษาฯ’ ประเมิน ‘โควิด’ ทำให้ผลตอบแทนการลงทุนไม่คุ้มค่า เตรียมรายงานที่ประชุมผู้ถือหุ้นต่อไป
...............................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 10 ก.ย. บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STEC แจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่า บริษัทฯ ขอแจ้งให้ทราบว่าคณะกรรมการบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ครั้งที่ 4/2564 เมื่อวันที่ 9 ก.ย.2564 มีมติอนุมัติไม่เข้าทำรายการซื้อกิจการ บจก.เอส ที ไอ ที (STIT) จาก บมจ.เอสทีพี แอนด์ ไอ (STPI)
บริษัทฯ ระบุว่า จากการที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ ครั้งที่ 5/2563 เมื่อวันที่ 24 ก.ย.2563 มีมติเข้าซื้อกิจการ บจก.เอส ที ไอ ที เนื่องด้วย เล็งเห็นว่ากิจการ บจก.เอส ที ไอ ที จะช่วยสานประโยชน์และส่งเสริมการทำธุรกิจของบริษัทฯ โดยจะช่วยสร้างความมั่นคงในการจัดหาเครื่องจักรและอุปกรณ์ เพื่อรองรับการดำเนินงาน และการบริหารเวลาได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงกิจการดังกล่าวให้ผลตอบแทนการลงทุน (Equity IRR) ที่ร้อยละ 16.53 ซึ่งเป็นผลตอบแทนการลงทุนที่อยู่ในระดับที่ดี
อย่างไรก็ตาม ด้วยสถานการณ์โรคระบาด Covid-19 ที่เกิดการระบาดอย่างรุนแรงระลอกใหม่ตั้งแต่เดือนม.ค.2564 และยังรุนแรงมากยิ่งขึ้นหลังเดือนเม.ย.2564 จนถึงปัจจุบันยังคงระบาดอย่างรุนแรงต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อประเทศโดยรวม ทั้งในด้านเศรษฐกิจ และสังคม การเปิดประมูลงานโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐล่าช้าออกไป รวมทั้งงานก่อสร้างของภาคเอกชนก็ชะลอออกไปเช่นเดียวกัน ซึ่งคาดว่ายังไม่พื้นตัวในระยะเวลานใกล้ อันจะส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อการลงทุนในกิจการของ บจก.เอส ที ไอ ที
ดังนั้น เพื่อความมั่นใจ บริษัทฯ จึงได้ว่าจ้างที่ปรึกษาทางการเงิน บริษัท ซี.เจ. มอร์แกน จำกัด (ที่ปรึกษาทางการเงิน) ในการร่วมกันจัดทำประมาณทางการเงินใหม่ ภายใต้สมมติฐานที่เปลี่ยนไปอย่างมีนัยสำคัญจากผลกระทบของโรคระบาด Covid-19 ผลปรากฏว่า เมื่อพิจารณาจากเงินลงทุน การเข้าทำรายการจะทำให้ผลตอบแทนของผู้ถือหุ้น (Equity IRR) ลดลงเหลือร้อยละ 0.16 จากเดิมที่ประเมินไว้ร้อยละ 16.53 ซึ่งเป็นผลตอบแทนที่ไม่คุ้มค่าต่อการลงทุนในห้วงเวลานี้ รวมถึงเปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญจากที่ได้เสนอไว้ต่อที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2563 เมื่อวันที่ 27 พ.ย.2563
ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้เจรจาสอบถามราคาซื้อขายกิจการ บจก.เอส ที ไอ ที กับ บมจ.เอสทีพี แอนด์ ไอ แล้ว และได้รับคำตอบยืนยันราคาเดิม ทั้งสองฝ่ายจึงไม่บรรลุข้อตกลงร่วมกัน
ดังนั้น ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ ซึ่งพิจารณาด้วยหลักความระมัดระวัง รวมถึงเพื่อเป็นการรักษาผลประโยชน์ของ บริษัทฯ และผู้ถือหุ้น เห็นว่าการลงทุนซื้อกิจการของ บจก.เอส ที ไอ ที ในราคาและเงื่อนไขการชำระเงินเดิมไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ไม่เข้าทำรายการซื้อกิจการ บจก. เอส ที ไอ ที่ จาก บมจ.เอสทีพี แอนด์ ไอผลกระทบของการไม่เข้าทำรายการ
นอกจากนี้ คณะกรรมการบริษัทฯ ได้ประเมินผลกระทบจากการยกเลิกการลงทุน โดยมีรายละเอียดดังนี้
1.ผลกระทบทางด้านกฎหมาย (Legal Risk)
เนื่องจาก บริษัทฯ ยังไม่ได้เข้าทำนิติสัมพันธ์ ธุรกรรมการซื้อขายแต่อย่างใด ความเสียหายต่อบริษัทฯ หรือต่อผู้ถือหุ้นจึงยังไม่เกิดขึ้นจริง
2.ผลกระทบทางด้านการเงิน (Financial Risk)
-เนื่องจากเป็นการยกเลิกการลงทุนในบริษัทอื่น จึงทำให้บริษัทฯ กลับมามีกระแสเงินสดและสภาพคล่องสำหรับการดำเนินธุรกิจหลักที่ดียิ่งขึ้น
-บริษัทฯ ยังไม่ได้มีการทำสัญญาซื้อขายหุ้น ดังนั้น จึงไม่มีประเด็นในเรื่องค่าปรับ รวมถึงค่าเสียโอกาสและค่าเสียหายต่างๆ
3.ผลกระทบการดำเนินงาน (Operational Risk)
บริษัทฯ ได้สั่งการให้หน่วยงานศูนย์เครื่องจักรกล (Construction Equipment Center) ศูนย์บริหารพัสดุและอุปกรณ์ก่อสร้าง (Construction Asset and Inventory Center ที่มีอยู่เดิมให้มีการปรับปรุงประสิทธิภาพเครื่องมือ อุปกรณ์ การซ่อมบำรุง ตลอดจนบุคลากรให้สามารถรองรับการดำเนินงานในปัจจุบันได้อย่างเพียงพอและมีประสิทธิภาพในระดับหนึ่ง
นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ มอบหมายให้กรรมการผู้จัดการ มีหนังสือแจ้งการไม่สามารถเข้าทำรายการซื้อกิจการ บจก.เอส ที ไอ ที กับ บมจ.เอสทีพี แอนด์ ไอ ต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และ บมจ. เอสทีพี แอนด์ ไอ และผู้ประสงค์จะขายต่อไป ให้รับทราบต่อไป และ นำเสนอรายงานฯ ให้ผู้ถือหุ้นในรอบการประชุมผู้ถือหุ้นทราบในการประชุมคราวถัดไป
สำนักข่าวอิศรารายงานว่า เมื่อวันที่ 8 ก.ย.ที่ผ่านมา นางน้ำทิพย์ วิชชุเกรียงไกร ในฐานะตัวแทนกลุ่มผู้ถือหุ้นรายย่อยของ บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (STEC) และนายภานุพงศ์ คุโณปการพันธ์ ในฐานะตัวแทนกลุ่มผู้ถือหุ้นรายย่อยของ บมจ.เอส ที พี แอนด์ ไอ (STPI) เข้ายื่นหนังสือถึงเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (สำนักงาน ก.ล.ต.)
โดยขอให้เลขาธิการ ก.ล.ต.ดำเนินการสอบสวน คณะกรรมการบมจ.ซิโน-ไทย เนื่องจากกระทำการโดยทุจริตและฝ่าฝืนมติที่ประชุมผู้ถือหุ้น รวมทั้งเปิดเผยข้อมูลที่เป็นเท็จต่อผู้ถือหุ้นและประชาชนทั่วไป ซึ่งเป็นการกระทำผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 และพ.ร.บ.บริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. 2535
เนื่องจากในการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2563 เมื่อวันที่ 27 พ.ย.2563 คณะกรรมการ บมจ.ซิโน-ไทย ได้ขอให้ที่ประชุมผู้ถือหุ้นพิจารณาอนุมัติการเข้าซื้อกิจการบริษัท เอส ที ไอ จำกัด (STIT) จากบริษัท เอส ที พี แอนด์ ไอ จำกัด (มหาชน) (STPI) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของซิโน-ไทย โดยคณะกรรมการ บมจ.ซิโน-ไทย ได้ชี้แจงถึงข้อดีและประโยชน์ที่ ซิโน-ไทย จะได้รับจากการซื้อ STIT แต่ปรากฎว่าผ่านมาเกือบ 1 ปีแล้ว แต่ ซิโน-ไทย ยังไม่ได้เข้าซื้อกิจการ STIT และคณะกรรมการบมจ.ซิโน-ไทย อาจมีวาระให้ยกเลิกการซื้อกิจการดังกล่าวในเร็วๆนี้
โดยพฤติกรรมของคณะกรรมการบริษัท ซิโน-ไทย ดังกล่าว มีความไม่โปร่งใส และมีเจตนาจงใจฝ่าฝืนมติที่ประชุมผู้ถือหุ้นของ ซิโน-ไทย และทำให้ผู้ถือหุ้นรายย่อย ซิโน-ไทย ซึ่งมีจำนวนมากกว่า 22,700 คน และผู้ถือหุ้นรายย่อยของ STPI ซึ่งมีจำนวน 11,400 คน ได้รับความเสียหาย จึงขอให้เลขาธิการ ก.ล.ต. ดำเนินการสอบสวน และเอาผิดขั้นสูงสุด ทั้งจำคุกและปรับ ต่อคณะกรรมการบริษัท ซิโน-ไทย ที่กระทำการโดยทุจริต จงใจฝ่าฝืนมติที่ประชุมผู้ถือหุ้นดังกล่าว
อ่านประกอบ :
ร้อง‘ก.ล.ต.’สอบ ‘บอร์ดซิโน-ไทย’ ฝ่าฝืนมติที่ประชุมผู้ถือหุ้น ไม่เข้าซื้อกิจการ STIT
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่https://www.facebook.com/isranewsfanpage