‘แบงก์ชาติ’ เตรียมเปิดทดสอบการใช้ ‘เงินดิจิทัลภาคประชาชน’ ในการรับแลก-จ่ายค่าสินค้า ไตรมาส 2 ปี 65 นำร่องทดสอบในวงจำกัด เริ่มที่ ‘ธปท.’ ก่อน พร้อมเปิดให้ ‘เอกชน-นักพัฒนา’ ร่วมทดสอบระบบด้วย
............................
เมื่อวันที่ 19 ส.ค. น.ส.วชิรา อารมย์ดี ผู้ทรงคุณวุฒิ (ผู้ช่วยผู้ว่าการ) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยในงาน Media Briefing เรื่อง สกุลเงินดิจิทัลสำหรับประชาชน (Retail CBDC) ที่ออกโดย ธปท. : ความเห็นจากประชาชน และผลต่อระบบการเงินไทย (TBC) ว่า ธปท.เตรียมทดสอบ (Foundation Track) การใช้งาน Retail CBDC ในการรับแลกหรือใช้ชำระค่าสินค้าหรือบริการในวงจำกัด โดยจะเริ่มทดสอบในช่วงไตรมาส 2 ปี 2565
ทั้งนี้ เพื่อประเมินผลลัพธ์และความเสี่ยงด้านต่างๆของการใช้ Retail CBDC และทำให้มั่นใจว่า Retail CBDC จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชน ภาคธุรกิจ ประเทศในภาพรวม และไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อเสถียรภาพระบบการเงินในอนาคต อย่างไรก็ตาม การเปิดใช้ Retail CBDC ทั่วประเทศยังคงต้องใช้เวลา เพราะแม้แต่จีนที่มีการทดสอบการใช้เงินดิจิทัลภาคประชาชนในบางมณฑลมาแล้ว 1-2 ปี แต่จนถึงขณะนี้จีนก็ยังไม่ได้ใช้ Retail CBDC ทั่วประเทศเลย
“เราจะทดลองเป็น pilot project เราจะทดลองกับของจริง ซึ่งจะต้องทำโครงสร้างพื้นฐานระดับหนึ่ง และอาจมีการปรับเปลี่ยนได้อีก เพราะนี่เป็นการลองทำใช้จริง โดยในช่วงไตรมาส 2 ปีหน้า เราอาจจะเริ่มใช้เป็นวงเล็กๆ เป็นวงจำกัด ซึ่งเราก็คุยกันว่า เราอาจเริ่มทดลองใน ธปท.ก่อน แล้วค่อยขยายออกไป และทุกๆไตรมาสเราจะมีการตั้งเป้าหมายและวัดผล รวมถึงต้องดูเสียงตอบรับด้วยว่า ที่เราทำไป ผลกระทบเป็นอย่างไร มีข้อดี ข้อเสีย อย่างไร” น.ส.วชิรา กล่าว
น.ส.วชิรา ยังระบุว่า สำหรับการทดสอบการใช้งาน Retail CBDC ในระยะนำร่อง จะมีผู้เล่น 4 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มแรก ประชาชนหรือผู้ซื้อสินค้า กลุ่มที่ 2 ร้านค้าทั้งรายใหญ่และรายย่อย กลุ่มที่ 3 ผู้ให้บริการทางการเงิน ทั้งธนาคารและ non-bank และกลุ่มที่ 4 ธปท. ซึ่งเป็นผู้กำกับดูแล นอกจากนี้ ธปท.จะเปิดให้ภาคเอกชนหรือนักพัฒนาเข้าร่วมทดสอบระดับนวัตกรรม (Innovation Track) ด้วย เพื่อศึกษาแนวทางการพัฒนาต่อยอดการใช้งาน Retail CBDC
น.ส.วชิรา กล่าวถึงการศึกษาถึงผลกระทบ Retail CBDC ต่อภาคการเงินไทย และผลสำรวจความเห็นจากสาธารณชนต่อแนวทางการพัฒนา Retail CBDC ผ่านรายงาน “The Way Forward for Retail Central Bank Digital Currency in Thailand” ว่า จากการศึกษาผลกระทบของ Retail CBDC ต่อภาคการเงินไทยนั้น ผลการศึกษาฯชี้ว่า การออกแบบและการพัฒนา Retail CBDC ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ต้องไม่สร้างผลกระทบรุนแรงต่อการส่งผ่านนโยบายการเงิน การทำงานของระบบสถาบันการเงิน และเสถียรภาพโดยรวมของภาคการเงินไทย
โดยจะมีลักษณะสำคัญ คือ 1.รูปแบบคล้ายเงินสดและไม่จ่ายดอกเบี้ย 2.อาศัยตัวกลาง เช่น สถาบันการเงิน ในการแลกเปลี่ยน Retail CBDC กับประชาชน และ 3.มีเงื่อนไขหรือระยะเวลาสำหรับการแลกเปลี่ยน Retail CBDC จำนวนมากๆ ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้เกิดการแข่งขันกับเงินฝากหรือเกิดการโยกย้ายเงินฝากปริมาณมากอย่างรวดเร็วจากสถาบันการเงิน ซึ่งจะกระทบต่อการทำหน้าที่ตัวกลางในการรับเงินฝากและให้กู้ยืม รวมถึงการบริหารสภาพคล่องของระบบสถาบันการเงิน
“ธปท.ประเมินว่าความต้องการใช้ Retail CBDC ของประชาชนจะเพิ่มขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป และ Retail CBDC จะเข้ามาเป็นอีกทางเลือกในการชำระเงินให้กับประชาชน โดยอาจถูกใช้ทดแทนเงินสดและ e-money ได้บางส่วนในระยะต่อไป” น.ส.วชิรา กล่าว
ส่วนผลสำรวจความเห็นจากสาธารณชน พบว่าส่วนใหญ่เห็นด้วยกับแนวทางการพัฒนา Retail CBDC ของ ธปท. และมองว่าจะเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญที่เอื้อต่อการพัฒนานวัตกรรมทางการเงินที่ปลอดภัย เปิดกว้างต่อการเข้าถึงและการแข่งขันในอนาคต นอกจากนี้ ยังเห็นด้วยกับแนวทางการออกแบบ Retail CBDC เพื่อจำกัดผลกระทบเชิงลบต่อภาคการเงินไทย
ทั้งนี้ ผลสำรวจบางส่วนเสนอเพิ่มเติมให้ ธปท. มุ่งเน้นการส่งเสริมความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับประโยชน์และการใช้งานของ Retail CBDC แก่ผู้บริโภค โดยเฉพาะความแตกต่างจากการชำระเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ในปัจจุบัน
อ่านประกอบ :
'ธปท.' ประกาศแผนนำร่องทดสอบใช้ ‘เงินดิจิทัลภาคประชาชน’ ไตรมาส 2 ปี 65
ธปท.เปิดฟังความเห็นแนวทางกำกับคริปโทฯ ‘Stablecoins’ ก่อนประกาศใช้ปีนี้
เพิ่มประสิทธิภาพได้ดี! ธปท.เผยผลทดสอบใช้ ‘เงินดิจิทัลฯ’ ชำระเงินในภาคธุรกิจ
‘แบงก์ชาติ’ เล็งทดลองโอนเงินดิจิทัล ‘บุคคลต่อบุคคล’ ไม่ผ่านตัวกลาง-ดับฝัน 'ลิบรา'
‘ธปท.- HKMA’ ขยายผล ‘Inthanon-LionRock’ โอนเงินข้ามประเทศ ไม่ผ่านตัวกลาง
ธปท. ตั้งคณะทำงานศึกษา Libra และพร้อมหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/