“…ทุกโรงเรียนยินยอมที่จะทำตามนโยบายของกระทรวงฯ แม้แต่โรงเรียนนานาชาติ ก็ยอมลด แต่ค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง เช่น ค่าเทอม 4 แสนบาท ลด 20% หรือ 8 หมื่นบาท เหลือ 3.2 แสนบาท แต่ด้วยความที่เป็นโรงเรียนทางเลือก จึงเป็นข้อตกลงตั้งแต่สมัครเรียนกันอยู่แล้ว ผู้ปกครองก็ต้องเข้าใจด้วยว่าโรงเรียนก็มีค่าใช้จ่ายที่สูงเหมือนกัน…”
--------------------------
สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด ส่งผลกระทบกับทุกภาคส่วน และหลายครอบครัว รายได้ลดลง เนื่องจากไม่สามารถทำงาน หรือประกอบกิจการได้ตามปกติ ทำให้ขาดสภาพคล่องทางการเงิน ผู้ปกครองบางส่วนไม่สามารถรับภาระค่าเทอมโรงเรียนเอกชนของบุตรหลานได้ไหว ตัดสินใจจะให้นักเรียนย้ายที่เรียนกลางคัน ไปเรียนในโรงเรียนรัฐ เพื่อลดค่าใช้จ่าย
อีกทั้งจากสถานการณ์การระบาดที่มีแนวโน้มที่รุนแรงขึ้น ทำให้กระทรวงศึกษาธิการประกาศเลื่อนเปิดภาคเรียนมาแล้วหลายครั้ง อีกทั้งไม่อนุญาตให้สถานศึกษาในพื้นที่ที่มีการระบาดรุนแรง เช่น พื้นที่สีแดง สีส้ม เปิดทำการเรียนการสอนที่โรงเรียน ทำให้ต้องปรับการเรียนการสอนเป็นรูปแบบออนไลน์แทน
ทำให้ผู้ปกครองหลายส่วนเล็งเห็นว่าค่าเทอมที่จ่ายไปนั้น ไม่คุ้มค่ากับการเรียนของบุตรหลาน เพราะว่านักเรียนต้องเรียนออนไลน์ที่บ้าน ซึ่งมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม เช่น อุปกรณ์การเรียน คอมพิวเตอร์ แท็บแล็ต หรือค่าอินเทอร์เน็ต จึงได้มีการเรียกร้องให้โรงเรียนคืนค่าเทอมบางส่วน หรือลดอัตราค่าเทอมที่จะต้องจ่ายลง
เมื่อวันที่ 9 มิ.ย.2564 ที่ผ่านมา น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยว่า ได้มีการจัดการประชุมร่วมกับผู้แทนจากโรงเรียนเอกชนในระบบ โรงเรียนเอกชนนอกระบบ และโรงเรียนนานาชาติ รวมถึงผู้บริหารที่เกี่ยวข้อง ถึงการวางแนวทางพัฒนาการศึกษาของโรงเรียนเอกชน การจัดการศึกษาภายใต้สถานการณ์โควิด และแนวทางที่ทางกระทรวงฯ จะสามารถให้ช่วยเหลือกลุ่มโรงเรียนเอกชน จากการประชุมพบว่า โรงเรียนเอกชนเองก็มีภาระค่าใช้จ่ายประจำ เช่น เงินค่าจ้างครู ขณะเดียวกันทางโรงเรียนได้เข้าใจถึงภาระรายได้ของผู้ปกครองที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด และพร้อมจะช่วยเหลือในการคืนค่าธรรมเนียมที่ไม่ได้มีการจัดการเรียนการสอนให้แก่ผู้ปกครองด้วยเช่นกัน
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบจากสถานการณ์โควิดของโรงเรียนเอกชน และแนวทางช่วยเหลือของภาครัฐ ดังนี้
@ ประเภทของโรงเรียนเอกชน
'โรงเรียนเอกชน' หรือ สถานศึกษาที่บริหารงานโดยองค์กรเอกชน แบ่งเป็น 2 ประเภท ดังนี้
1. โรงเรียนที่ไม่รับเงินอุดหนุน เช่น โรงเรียนนานาชาติ หรือ โรงเรียนสามัญบางโรงเรียนที่ไม่รับเงินอุดหนุน สามารถที่จะกำหนดค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการของโรงเรียนเองได้ โดยไม่ได้มีการกำหนดเพดาน
2. โรงเรียนที่รับเงินอุดหนุนจากรัฐ โดยจะเอาค่าใช้จ่ายรายหัวภาครัฐตั้ง เมื่อหักเงินอุดหนุนที่ได้รับจากรัฐบาลออก จะนำส่วนต่างไปเก็บเงินจากผู้ปกครอง เรียกว่า 'ค่าธรรมเนียมการศึกษา' และมีการเรียกเก็บ 'ค่าธรรมเนียมอื่นๆ' สำหรับ ค่าใช้จ่ายบริการต่างๆ ที่โรงเรียนจัด เช่น ค่ารถรับ-ส่ง ค่าอาหารกลางวัน ค่าอาหารว่าง ค่าสอนเสริมพิเศษ ค่าห้องแอร์ เป็นต้น
@ กช.สั่งคืนค่าเทอมให้ผู้ปกครอง
จากการร้องเรียนให้คืนค่าธรรมเนียมการศึกษาและค่าธรรมเนียมอื่นๆ ของผู้ปกครองจำนวนมาก กรณีการปรับเปลี่ยนการเรียนเป็นรูปแบบออนไลน์ของนักเรียนระดับก่อนประถมศึกษาและระดับประถมศึกษา ซึ่งไม่เหมาะสมกับวัย และเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายให้กับครอบครัว
(อ่านประกอบ: หวั่นกระทบพัฒนาการ! เปิดผลกระทบเด็กปฐมวัย เมื่อต้องเรียนออนไลน์ช่วงโควิด)
เมื่อวันที่ 15 ม.ค. 2564 นายอรรถพล ตรึกตรอง เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (กช.) ออกประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง ซักซ้อมความเข้าใจการจัดการเรียนการสอนระหว่างปิดเรียนด้วยเหตุพิเศษและการคืนค่าธรรมเนียมการศึกษาให้แก่ผู้ปกครอง โดยใจความสำคัญ ระบุว่า
ตามประกาศ กระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง ให้สถานศึกษาในสังกัดและในกำกับปิดเรียนด้วยเหตุพิเศษ ประกาศวันที่ 2 ม.ค. 2564 ระบุว่า ไม่บังคับให้โรงเรียนต้องจัดการเรียนการสอนเฉพาะผ่านออนไลน์เท่านั้น หากแต่โรงเรียนยังสามารถบริหารจัดการเรียนการสอนได้ตามบริบทและความเหมาะสมโดยอาจใช้วิธีใดวิธีหนึ่ง หรืออาจใช้หลายวิธีร่วมกันก็ได้ และหากโรงเรียนใดมีข้อจํากัดที่ไม่สามารถจัด การเรียนการสอนด้วยวิธีใด ๆ ได้เลย ก็ให้โรงเรียนจัดการเรียนการสอนชดเชยเมื่อสามารถเปิดเรียนได้ตามปกติ
ดังนั้น เพื่อให้การจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนมีความเหมาะสม กับนักเรียนและสอดคล้องกับบริบทของแต่ละโรงเรียนรวมทั้งเป็นการบรรเทาภาระและความเดือดร้อนให้แก่ผู้ปกครอง ในกรณีผู้ปกครองร้องขอคืนเงินค่าธรรมเนียมการศึกษาและค่าธรรมเนียมอื่นให้โรงเรียนพิจารณา ดังนี้
1. ค่าธรรมเนียมการศึกษารายการใดที่โรงเรียนจัดเก็บจากผู้ปกครองและไม่มีความจําเป็นต้อง ใช้จ่ายเนื่องจากปิดเรียนด้วยเหตุพิเศษ ควรพิจารณาคืนตามสัดส่วนที่เป็นจริง เช่น ค่าอาหาร ค่ารถรับส่ง ค่าทัศนศึกษา
2. รายการค่าธรรมเนียมอื่นรายการใดที่โรงเรียนจัดเก็บจากผู้ปกครอง หากมิได้ดำเนินการใด ควรพิจารณาคืนตามความเหมาะสม เช่น ค่าเรียนคอมพิวเตอร์ ค่าเรียนเสริมภาษาต่างประเทศ ค่าเรียนว่ายน้ำ ค่าเรียนเสริมวิชาการ
@ ศธ.ประกาศลด-ผ่อนผันค่าเทอม
เมื่อวันที่ 27 พ.ค. 2564 น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ออกประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง แนวปฏิบัติการเก็บเงินบำรุงการศึกษา ค่าธรรมเนียมการศึกษา ค่าธรรมเนียมการเรียน และค่าธรรมเนียมอื่น ใจความสำคัญระบุว่า
สืบเนื่องจากการเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 เนื่องจากสถานการณ์โควิด จึงให้โรงเรียนจัดการเรียนการสอนเฉพาะรูปแบบการจัดการศึกษาทางไกล และได้กำหนดแนวปฏิบัติการเก็บเงินบำรุงการศึกษา ค่าธรรมเนียมการศึกษา ค่าธรรมเนียมการเรียน และค่าธรรมเนียมอื่น ดังต่อไปนี้
กรณีที่ได้มีการเรียกเก็บเงินบำรุงการศึกษา ค่าธรรมเนียมการศึกษา ค่าธรรมเนียม การเรียน และค่าธรรมเนียมอื่นไปแล้ว ให้คืนเงินบำรุงการศึกษาหรือค่าธรรมเนียมดังกล่าว ในส่วนที่ไม่ได้จัดกิจกรรมการเรียนการสอนนั้น
กรณีที่มีความจำเป็นต้องเรียกเก็บเงินบำรุงการศึกษา ค่าธรรมเนียมการศึกษา ค่าธรรมเนียมการเรียน และค่าธรรมเนียมอื่น เพื่อใช้จ่ายในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน อาจพิจารณาผ่อนผันหรือขยายระยะเวลาการเรียกเก็บเงินบำรุงการศึกษา หรือค่าธรรมเนียมดังกล่าว ตามความเหมาะสมเป็นกรณีไป
@ ยอดค้างค่าเทอมกว่า 3.7 พันล้าน
นายศุภเสฏฐ์ คณากูล นายกสมาคมคณะกรรมการประสานและส่งเสริมการศึกษาเอกชน เปิดเผยกับสำนักข่าวอิศรา ว่า เมื่อปี 2563 ที่ผ่านมา ยอดค้างชำระค่าเทอมของผู้ปกครองรวมทั้งประเทศอยู่ที่ประมาณ 3,700 กว่าล้านบาท แต่ทางโรงเรียนยังคงให้นักเรียนศึกษาต่อ ไม่มีการให้ออกแต่อย่างใด ทั้งนี้ โรงเรียนเอกชนได้ดำเนินการตามประกาศของกระทรวงศึกษาธิการ เรื่องการลดหย่อนค่าธรรมเนียมการศึกษา และการยกเว้นค่าธรรมเนียมอื่นที่ไม่ได้ใช้
"ทุกโรงเรียนยินยอมที่จะทำตามนโยบายของกระทรวงฯ แม้แต่โรงเรียนนานาชาติ ก็ยอมลด แต่ค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง เช่น ค่าเทอม 4 แสนบาท ลด 20% หรือ 8 หมื่นบาท เหลือ 3.2 แสนบาท แต่ด้วยความที่เป็นโรงเรียนทางเลือก จึงเป็นข้อตกลงตั้งแต่สมัครเรียนกันอยู่แล้ว ผู้ปกครองก็ต้องเข้าใจด้วยว่าโรงเรียนก็มีค่าใช้จ่ายที่สูงเหมือนกัน" นายศุภเสฏฐ์ กล่าว
@ คืนเงินแน่ แต่รอหักค่าใช้จ่ายจริงก่อน
นายศุภเสฏฐ์ กล่าวว่า ประเด็นสำคัญ คือ ขณะนี้ไม่ใช่ว่าโรงเรียนยังไม่ได้เปิดทุกแห่ง และยังไม่ได้เปิดเต็มที่ แต่จากประกาศของกระทรวงศึกษาธิการที่ยึดการเปิดภาคเรียนตามกำหนดการเดิมในวันที่ 14 มิ.ย.นี้ สร้างความไม่เข้าใจให้กับผู้ปกครอง เนื่องจากผู้ปกครองคิดว่า เมื่อเปิดเทอมแล้ว สามารถไปเอาค่าเทอมคืนได้ ภาครัฐจะชดเชยให้ โดยที่ผู้ปกครองไม่เข้าใจว่า ทางโรงเรียน ก็มีค่าใช้จ่ายหลายส่วนที่ต้องใช้เช่นกัน ถึงแม้ว่าจะปรับการเรียนเป็นรูปแบบออนไลน์ก็ตาม แต่ก็ยังต้องจ้างครู จ้างบุคลากรทางการศึกษาเท่าเดิม ยกเว้นในบางส่วนที่ไม่ได้ใช้ แต่ทั้งนี้ก็ต้องรอเปิดเรียนก่อนถึงจะทราบได้ว่ามีค่าใช้จ่ายส่วนไหนที่ไม่ได้ใช้บ้าง เนื่องจากสถานการณ์การระบาด ทำให้โรงเรียนในบางพื้นที่เลื่อนกำหนดการเปิดเทอม ไม่มีกำหนดที่แน่นอน เช่น ในจังหวัดสงขลา ฉะเชิงเทรา เป็นต้น ดังนั้น จึงยังไม่สามารถตอบได้ว่าจะคืนค่าเทอมในจำนวนเท่าไหร่หรือเมื่อไหร่ โดยคาดการณ์ว่าจะสรุปยอดคืนเงินได้ในเดือน ก.ค.ในปีนี้ เนื่องจากต้องรอยอดสรุปตอนเปิดเทอมก่อน
"ปีที่แล้ว 2563 ก็มีการคืนค่าเทอมให้ผู้ปกครองเกือบ 2 พันล้านบาท เช่น ค่าสระว่ายน้ำที่ไม่ได้เล่น ค่าเครื่องปรับอากาศ ค่าอาหาร ค่ารถรับส่ง โดยพวกนี้ ก็จะคืนกันตามอัตราส่วน แต่ค่าเทอมบางส่วนยังคืนไม่ได้เพราะต้องเอาไปแบกรับค่าใช้จ่ายส่วนอื่น เพราะรัฐให้การอุดหนุนไม่เพียงพอ ต้องเอาเงินค่าเทอมไปจ่ายเงินเดือนครู ไม่เช่นนั้นก็ต้องเลิกจ้างครูไป" นายศุภเสฏฐ์ กล่าว
นายศุภเสฏฐ์ คณากูล
นายกสมาคมคณะกรรมการประสานและส่งเสริมการศึกษาเอกชน
@ คืนค่าอาหาร ค่าเรียนว่ายน้ำ ค่าเรียนพิเศษแล้วกว่า 1.7 พันล้าน
นายศุภเสฏฐ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า โรงเรียนจะมีการคืนค่าเทอมให้กับผู้ปกครองแน่นอน แต่ขอเวลาเพื่อประชุมกรรมการที่มีตัวแทนผู้ปกครองรวมอยู่ด้วย เพื่อชี้แจงรายรับ-รายจ่าย ให้ผู้ปกครองได้เข้าใจ เพราะผู้ปกครองก็มีส่วนในการบริหารโรงเรียนด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ในปี 2563 ที่ผ่านมา ได้มีการจัดสรรเงินคืนในส่วนค่าเทอมให้ผู้ปกครองรวมแล้ว ประมาณ 1.7 พันล้านบาทเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
"เมื่อกระทรวงฯ ประกาศ ทุกโรงเรียนได้รับจดหมายจากผู้ปกครอง แต่เราก็ได้ทำความเข้าใจว่าให้รอเปิดเทอมก่อน ตอนนี้โรงเรียนยังไม่เปิดเทอม ยังไม่รู้ว่าอาหารจะได้กินกี่วัน เพราะโรงเรียนจะได้เก็บจากการใช้จ่ายจริง ต้องมีการคำนวนก่อน" นายศุภเสฏฐ์ กล่าว
@ ปิด 43 โรงเรียนเอกชน หลังสู้โควิดไม่ไหว
จากข้อมูลระบุว่า โรงเรียนเอกชนในระบบทั่วประเทศ จำนวน 3,936 แห่ง ได้แจ้งปิดกิจการกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) แล้ว 43 แห่ง โดยส่วนใหญ่เป็นโรงเรียนที่ไม่รับเงินอุดหนุนจากรัฐ
ส่วนภาพรวมการรับนักเรียนในปีการศึกษา 2564 ในสถานศึกษาสังกัด พบจำนวนนักเรียนที่สมัครเข้าเรียนไม่ลดลง แต่กลายเป็นจำนวนโรงเรียนลดลงแทน เพราะโรงเรียนเอกชนขนาดเล็กบางแห่งตัดสินใจไม่รับนักเรียน และไม่ดำเนินกิจการต่อ
นายศุภเสฏฐ์ กล่าวถึงสาเหตุที่โรงเรียนเอกชนเลิกกิจการจำนวนมาก ว่า เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิดในระลอกแรก ที่ภาครัฐไม่ช่วยเหลือ แม้จะให้โรงเรียนกู้เงินจากกองทุนส่งเสริมโรงเรียนในระบบ แต่ไม่ได้ช่วยโรงเรียนมากนัก และถ้าปล่อยให้เป็นเช่นนี้ต่อ โรงเรียนเอกชนอาจจะแจ้งเลิกกิจการเพิ่มมากขึ้น และเดิมรายได้ของโรงเรียนไม่ได้มาจากค่าเทอม และเงินอุดหนุนรายหัวเท่านั้น ยังได้มาจากการขายของ ขายอาหารในโรงเรียน เพื่อนำมาจ่ายเงินเดือนให้กับพนักงานทำความสะอาด และภารโรง เมื่อปรับเป็นเรียนออนไลน์ จะทำให้โรงเรียนขาดรายได้ส่วนนี้ไป
@ 'Soft loan' หนทางรอดของโรงเรียนเอกชน
นายศุภเสฏฐ์ กล่าวด้วยว่า จากสถานการณ์โควิด ส่งผลกระทบให้กับโรงเรียนเอกชนขาดสภาพคล่องทางการเงิน เนื่องจากรายจ่ายที่เพิ่มมากขึ้น แต่รายได้ต่างๆ ลดน้อยลง ทั้งนี้จึงได้มีการแจ้งปัญหาและทางแก้ปัญหาให้ทางกระทรวงศึกษารับทราบแล้ว ว่า ควรจะต้องหาแหล่งเงินกู้เพื่อมาแบ่งเบาภาระให้กับโรงเรียนเอกชน
"ปีที่แล้วค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม เช่น เจลแอลกอฮอล์ ก็เอามาจากค่าเทอมที่เก็บมาจากเด็ก มาจ่ายทั้งหมด ฉะนั้น Soft loan จะมาช่วยเพราะดอกเบี้ยต่ำ แต่โรงเรียนก็ต้องจ่ายดอกเบี้ยอยู่ดี แต่ก็ได้มาช่วยหมุนเพื่อให้ธุรกิจโรงเรียนรอดต่อไปได้" นายศุภเสฏฐ์ กล่าว
ล่าสุด เมื่อวันที่ 8 มิ.ย.2564 กระทรวงศึกษาธิการได้จัดการประชุมหารือร่วมกระทรวงการคลังเพื่อออกมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft loan) เสริมสภาพคล่องให้กับโรงเรียนเอกชนแล้ว
ทั้งหมดนี้ คือผลกระทบจากพิษโควิดในมุมของผู้ปกครองและโรงเรียนเอกชน จะต้องติดตามต่อไปว่าหากสถานการณ์ต่างๆ ดีขึ้น แนวทางเยียวยาฟื้นฟูจะเป็นอย่างไร
อ่านประกอบ :
ศธ.หารือคลังปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำ เสริมสภาพคล่องโรงเรียนเอกชน เยียวยาพิษโควิด
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage