"...การเรียนออนไลน์ยิ่งเด็กเล็ก ยิ่งไม่โอเค พอโตขึ้นก็พออนุโลมได้ แต่ต้องจำกัดเรื่องของเนื้อหาด้วย ผู้ปกครองต้องควบคุมเนื้อหา หาแอปฯหรือวิดีโอที่ใช้ Active Learning เพราะธรรมชาติของเด็กปฐมวัยเป็นการเรียนรู้ผ่านร่างกาย ใช้ ตา หู จมูก ปาก เมื่อถูกจำกัดการเรียนรู้ผ่านร่างกายจากสถานการณ์โควิด จะส่งผลต่อเด็กแน่นอน เด็กจะขาดโอกาสในการเข้าใจโลกรอบตัว นอกจากนั้นยังขาดโอกาสในการปฎิสัมพันธ์ต่อคนอื่นด้วย..."
...........................................
จากสถานการณ์แพร่ระบาดโควิดระลอกล่าสุด ทำให้กระทรวงศึกษาธิการประกาศเลื่อนเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 เนื่องจากสถานการณ์ที่ยังมียอดผู้ติดเชื้อสูงขึ้นและมีผู้เสียชีวิตอย่างต่อเนื่อง จึงมีแนวโน้มว่าจะมีการกลับมาปรับการเรียนการสอนเป็นรูปแบบออนไลน์อีกครั้ง
การปรับรูปแบบการเรียนการสอนเป็นแบบออนไลน์นั้นเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด แต่การเรียนออนไลน์ ไม่ได้เหมาะสมกับเด็กทุกวัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กปฐมวัย ตั้งแต่วัยอนุบาลจนถึงประถมต้น
เมื่อวันที่ 15 เม.ย. 2563 ประกาศราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศ เกี่ยวกับการใช้สื่อออนไลน์ในเด็กและวัยรุ่น ภายใต้สถานการณ์โควิด ระบุว่า ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์ (รวกท.) สมาคมกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย (สกท.) มีข้อเสนอแนะในการใช้สื่อออนไลน์ของเด็กและวัยรุ่น ดังนี้
1. ไม่สนันสนุนการแจกแท็บเล็ตให้แก่เด็กทุกคนเพื่อในการเรียนการสอนโดยที่ระบบสนับสนุนยังไม่พร้อม
2. การเรียนการสอนออนไลน์สำหรับเด็กนักเรียนทั้งหมด ไม่สามารถทดแทนการสอนตามปกติ แต่สามารถนำมาใช้ในสถานการณ์พิเศษชั่วคราวได้ โดยต้องคำนึงถึงความพร้อมของเด็กแต่ละช่วงวัย พ่อแม่ ความสามารถของครู และบริบทที่แตกต่างกันไป
3. ไม่แนะนำการสอนโดยสื่อออนไลน์ในเด็กอนุบาล โดยขาดปฎิสัมพันธ์กับผู้สอน
4. การปล่อยให้เด็กและวัยรุ่นอยู่กับสื่ออนไลน์ นานกว่าที่ รวกท. กำหนดไว้ คือ เด็กเล็ก 1 ชั่วโมง และเด็กโต 2 ชั่วโมง อาจจะทำให้เกิดผลเสียทั้งสุขภาพกาย จิตใจและส่งผลต่อการเรียนรู้ในระยะยาว
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบการเรียนออนไลน์ในเด็กปฐมวัย จากแพทย์ นักวิชาการ ตลอดจนครูผู้สอน มีข้อมูลที่น่าสนใจ ดังนี้
@ เวลาอยู่หน้าจอส่งผลต่อเปลือกสมองของเด็ก
ผศ.ดร.ศศิลักษณ์ ขยันกิจ ประธานสาขาวิชาการศึกษาปฐมวัย คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จากการวิจัย เด็กที่อายุต่ำกว่า 2 ขวบ ไม่ควรอยู่ที่มีเวลาอยู่กับหน้าจอ (Screen time) เลย ดังนั้นเด็กที่อายุน้อยกว่า 2 ขวบควรจะตัดทิ้งจากการเรียนออนไลน์เลย เนื่องจากเด็กจะได้เรียนรู้ผ่านจอหรือวิดีโอต่างๆน้อยมาก เมื่อเทียบกับพัฒนาการและความสามารถในการมีปฎิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ หรือกับสิ่งแวดล้อมต่างๆรอบตัว
สำหรับเด็ก 2-5 ขวบ สามารถให้มีเวลาอยู่กับหน้าจอได้ แต่ไม่เกิน 1 ชั่วโมงต่อวันสำหรับการเรียนรู้ผ่านแอปพลิเคชั่น วิดีโอ หรือเกม แต่ถ้าเป็นการมีปฎิสัมพันธ์กับคนปลายสาย เช่น วิดีโอคอล สามารถยอมรับให้เกิน 1 ชั่วโมงได้ เพื่อสร้างความสัมพันธ์ สำหรับด็กประถมต้น จากงานวิจัยพบว่า สำหรับเด็กที่อยู่กับหน้าจอทีวีมาก จะมีผลคะแนนการอ่าน (Reading Test) ต่ำ และมีปัญหาเรื่องสมาธิและการจดจ่อ
ผศ.ดร.ศศิลักษณ์ กล่าวอีกว่า จากข้อมูลปัจจุบัน พบว่าเด็กอายุต่ำกว่า 8 ขวบ จนถึงระดับชั้นประถมศึกษาตอนต้น มีแท็บเล็ตเป็นของตัวเองและใช้เวลาอยู่กับหน้าจอเฉลี่ยวันละ 2-2.5 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งผลกระทบเมื่อใช้เวลาอยู่หน้าจอมากกว่า 2 ชั่วโมงต่อวัน จะส่งผลต่อคะแนนความสามารถทางด้านภาษาและความคิดน้อยกว่าเด็กที่ไม่ได้ดูจอ และถ้าใช้เวลาอยู่หน้าจอมากกว่า 7 ต่อวัน จะส่งผลต่อเปลือกสมอง (Cerebral cortex) ที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับความคิดและวิจารญานและความเป็นเหตุเป็นผล ฉะนั้นเด็กที่ใช้เวลาอยู่หน้าจอนาน จะทำให้เปลือกสมองบาง และส่งผลต่อความรู้ความเข้าใจ
@ เรียนออนไลน์เป็นเพียงเครื่องมือในการปฎิสัมพันธ์
ผศ.ดร.ศศิลักษณ์ กล่าวถึงการใช้สื่อออนไลน์ในการเป็นเครื่องมือการเรียนรู้ในเด็กปฐมวัย ว่า ควรใช้เป็นเครื่องมือเพื่อรักษาความสัมพันธ์ หรือสร้างปฎิสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนร่วมชั้นและครู โดยต้องจำกัดเวลาอย่างเหมาะสม อีกทั้งเนื้อหาในการจัดการเรียนการสอนควรเป็นแบบมีกิจกรรม เพราะเด็กปฐมวัยจำเป็นต้องเรียนรู้ผ่านร่างกาย แต่เมื่อไม่มีการใช้ร่างกาย ใช้พลังงานในระหว่างวัน อาจจะส่งผลต่อการนอนของเด็กและกระทบต่อเนื่องถึงการเติบโตที่ไม่ดีอีกด้วย
"การเรียนออนไลน์ยิ่งเด็กเล็ก ยิ่งไม่โอเค พอโตขึ้นก็พออนุโลมได้ แต่ต้อองจำกัดเรื่องของเนื้อหาด้วย ผู้ปกครองต้องควบคุมเนื้อหา หาแอปฯหรือวิดีโอที่ใช้ Active Learning เพราะธรรมชาติของเด็กปฐมวัยเป็นการเรียนรู้ผ่านร่างกาย ใช้ ตา หู จมูก ปาก เมื่อถูกจำกัดการเรียนรู้ผ่านร่างกายจากสถานการณ์โควิด จะส่งผลต่อเด็กแน่นอน เด็กจะขาดโอกาสในการเข้าใจโลกรอบตัว นอกจากนั้นยังขาดโอกาสในการปฎิสัมพันธ์ต่อคนอื่นด้วย" ผศ.ดร.ศศิลักษณ์กล่าว
ผศ.ดร.ศศิลักษณ์ ขยันกิจ
ภาพประกอบจาก: สสส.
@ เด็กปฐมวัยเรียนรู้ผ่านกิจกรรม 6 อย่าง
น.ส.น้ำฝน เอี่ยมสุนทร ครูผู้สอนระดับชั้นอนุบาล โรงเรียนวัดท่าเสา อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร กล่าวว่า การเรียนรู้ของเด็กปฐมวัยในโรงเรียน จะเป็นการเรียนรู้ผ่านกิจกรรม 6 กิจกรรม ตามตารางเวลาที่จัดไว้อย่างเหมาะสม ดังนี้
1. กิจกรรมเคลื่อนไหวและจังหวะ เป็นกิจกรรมที่จัดให้ได้เคลื่อนไหวส่วนต่าง ๆ ของร่างกายอย่างอิสระตามจังหวะ โดยดนตรีที่ใช้ประกอบ
2. กิจกรรมสร้างสรรค์ เป็นกิจกรรมเกี่ยวกับงานศิลปศึกษาต่างๆ ที่มุ่งพัฒนากระบวนการคิดสร้างสรรค์ การรับรู้เกี่ยวกับความงามและส่งเสริมกระตุ้นให้แสดงออกตามความรู้สึกและความสามารถ
3. กิจกรรมเสรี เป็นกิจกรรมที่จัดให้ได้เล่นกับสื่อและเครื่องเล่นอย่างอิสระในมุมการ เล่นกิจกรรมการเล่นแต่ละประเภทสนองตอบความต้องการตามธรรมชาติ
4. กิจกรรมเสริมประสบการณ์ เป็นกิจกรรมที่จัดให้ได้ฟัง พูด สังเกต คิด และปฏิบัติการทดลอง ให้เกิดความคิดรวบยอดและเพิ่มพูนทักษะต่าง ๆ ด้วยวิธีการหลากหลาย เช่น ทัศนศึกษา ปฏิบัติการทดลองตามกระบวนการเรียนรู้
5. กิจกรรมกลางแจ้ง เป็นกิจกรรมที่จัดให้ได้ออกนอกห้องเรียนไปสู่สนามเด็กเล่นทั้งที่บริเวณ กลางแจ้งและในร่มเพื่อเปิดโอกาสให้เด็กได้แสดงออกอย่างอิสระ โดยยึดเอาความสนใจ และความสามารถของแต่ละคนเป็นหลัก
6. กิจกรรมเกมการศึกษา เป็นกิจกรรมการเล่นที่มีกระบวนการในการเล่นตามชนิดของเกมประเภทต่าง ๆ เพื่อให้เกิดการเรียนรู้และความคิดรวบยอดเกี่ยวกับสิ่งที่เรียน
แต่ในแบบการสอนออนไลน์ จะปรับเปลี่ยนเป็นครูจะส่งคลิปวีดีโอ หรือการสอนแบบ DLTV ให้นักเรียนและผู้ปกครองได้ดู โดยมีผู้ปกครองเป็นคนผู้ดูแลทำการสอนแทนครู และถ่ายวิดีโอ หรือแบบฝึกหัดเพื่อรายงานผลให้กับครูแทน
@ พ่อ-แม่ไม่มีเวลา ลูกพัฒนาการไม่ครบ 4 ด้าน
น.ส.น้ำฝน เล่าถึงปัญหาการปรับการเรียนเป็นรูปแบบออนไลน์ว่า นักเรียนไม่ได้พัฒนาการครบทั้ง 4 ด้าน คือ ด้านอารมณ์ ด้านสังคม ด้านร่างกาย และด้านสติปัญญา อีกทั้งผู้ปกครองไม่มีเวลาเพราะต้องออกไปทำงาน
"ครูต้องปรับตัวเรื่องการจัดกิจกรรม ใบงาน แต่ต้องทำใจเพราะที่ทำคือในสถานการณ์ไม่ปกติ มี 1 ครอบครัว มีแค่โทรทัศน์ที่รับได้เพียงช่อง3 ได้อย่างเดียว อยู่กับชวด เด็กไม่มีโอกาสได้เรียนออนไลน์เลย" น.ส.น้ำฝน กล่าว
@ ไม่มีปฎิสัมพันธ์ ต้องเรียนรู้ด้วยตัวเอง
นางประติชญา ชูเฉลิม ครูผู้สอนระดับชั้นประถมศึกษาตอนต้น โรงเรียนเทศบาลวัดเจษฎาราม (เชยวิทยาทาน) จ.สมุทรสาคร กล่าวว่า การเรียนในห้องเรียนก่อนจะมีสถานการณ์โควิดเป็นการเรียนรู้ที่นักเรียนทุกคนสามารถเรียนรู้ได้พร้อมกัน และหากมีข้อสงสัยสามารถซักถามได้ทันที อีกทั้งนักเรียนและครูมีการมีปฏิสัมพันธ์ (interact) ต่อกัน ซึ่งแตกต่างจากการเรียนออนไลน์ โดยการเรียนออนไลน์ที่ผ่านมา ได้ปรับจากการเรียนการสอนรูปแบบเดิมเป็นการเตรียมสื่อ เช่น คลิปวิดีโอต่างๆ
นางประติชญา กล่าวถึงบทเรียนจากการสอนออนไลน์ ว่า นักเรียนบางคนไม่มีความพร้อมในการเรียนการเรียนออนไลน์ เช่น ไม่มีความพร้อมด้านอุปกรณ์ บางคนต้องรอพ่อแม่เลิกงานซึ่งเป็นเวลาดึก ทำให้เรียนออนไลน์ไม่ทัน จึงมีการปรับการเรียนการสอนเป็นรูปแบบ on hand ซึ่งนักเรียนต้องเรียนรู้ด้วยตนเองจากใบงานและใบความรู้ หรือมีผู้ปกครองหรือผู้ใหญ่กำกับดูแล
@ เรียนออนไลน์ได้หลากหลาย แต่ผู้ปกครองมีค่าใช้จ่ายเพิ่ม
ส่วนข้อดีในการเรียนออนไลน์นั้น นางประติชญา กล่าวว่า นักเรียนสามารถเรียนรู้จากสื่อที่หลากหลาย และปรับเวลาการเรียนรู้ได้ตามที่ตนสะดวก แต่บางครั้งอาจจะติดปัญหาด้านความพร้อมเรื่องอุปกรณ์ และผู้ปกครองมีค่าใช้จ่ายเพิ่ม เช่น ค่าอินเตอร์เน็ต ทั้งนี้ ก่อนทำการเรียนออนไลน์ ครูจะต้องสำรวจความพร้อมของนักเรียน และจัดทำใบงานให้นักเรียนได้เรียนรู้ขณะเรียนออนไลน์ พร้อมทั้งจัดเตรียมการสอนให้เหมาะสมกับรูปแบบออนไลน์ด้วย ส่วนผู้ปกครองควรช่วยทบทวนความรู้ให้แก่นักเรียนอีกทางด้วย
"ถ้าเป็นภาพรวมในความรู้สึกจริงๆที่เคยสอนมา การสอนในห้องเรียน เราสามารถบูรณาการให้กับเด็กๆได้ทุกคน มีการซักถาม และให้ความรู้ในขณะนั้น ไปพร้อมๆกัน แต่พอมาสอนออนไลน์พี่จะต้องเตรียมใบงาน ใบความรู้ให้กับนักเรียนและส่งไปทางไลน์บ้างอัดเป็นคลิปวีดีโอบ้างเด็กบางคนก็พร้อมที่จะเข้ามาเรียน และรับฟังบางคนก็ต้องรอผู้ปกครองกลับมาตอน 1 ทุ่มหรือ 2 ทุ่ม โดยปัญหาที่พบเจอ ผู้ปกครองบางท่านไม่รู้หนังสือ ไม่สามารถสอนเด็กได้ สอนลูกหลานไม่เป็น เด็กต้องเรียนรู้ด้วยตัวเอง เด็กก็จะส่งงานบ้างไม่ส่งงานบ้าง ขึ้นอยู่กับผู้ปกครองด้วย ผู้ปกครองบางท่านไม่มีโทรศัพท์ไม่มีอินเทอร์เน็ต เพราะมีค่าใช้จ่าย ไม่มีเงินที่จะไปเติมเน็ต บางคนต้องไปซื้อโทรศัพท์ใหม่เพื่อจะให้ลูกเรียนออนไลน์ก็มี ภาพรวมแล้ว เรียนที่ห้องแบบเดิมดีที่สุด ทุกคนพร้อม ครูก็พร้อม" นางประติชญา กล่าว
@ ถ้าเลือกได้ เด็กเล็กไม่ผ่านจอ
ทางด้าน พญ.เบญจพร ตันตสูติ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น หรือ 'หมอมินบานเย็น' แอดมินเพจเฟซบุ๊กเข็นเด็กขึ้นภูเขา กล่าวถึงความเหมาะสมของการเรียนออนไลน์ของเด็กปฐมวัย ว่า ถ้าเลือกได้ ก็ไม่ควร เนื่องจาก เด็กปฐมวัยเป็นช่วงวัยที่ควรได้รับการกระตุ้นพัฒนาการหลากหลาย ได้แก่ กล้ามเนื้อ ภาษา การสื่อสาร อารมณ์ สังคม การอยู่กับคนอื่น การช่วยเหลือตัวเองตามวัย ตรงนี้เกิดการการที่เด็กได้มีกิจกรรมที่ไม่ใช่แค่การนั่งเรียนเฉยๆ เด็กปฐมวัยควรได้เล่นกับเพื่อนๆ ทำกิจกรรมกับครูด้วย มีคำแนะนำจากราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทยว่า ไม่แนะนำการเรียนการสอนโดยใช้สื่อออนไลน์ในเด็กอนุบาลโดยขาดปฏิสัมพันธ์กับผู้สอน เช่น ครู หรือผู้ปกครอง ดังนั้นถ้าจำเป็นต้องเรียนก็ควรต้องให้เด็กมีปฏิสัมพันธ์กับผู้ใหญ่ที่สอนด้วย
@ เรียนออนไลน์ แทนการเรียนปกติไม่ได้
พญ.เบญจพร กล่าวว่า ข้อดีของการเรียนออนไลน์ คือ อาจจะเป็นการทดแทนการเรียนตามปกติที่ทำไม่ได้ เนื่องจากสถานการณ์โรคระบาด แต่การเรียนการสอนออนไลน์ ไม่สามารถทดแทนการสอนตามปกติได้ แต่ใช้ชั่วคราวได้เท่านั้นอีกทั้ง บางครอบครัวอาจจะไม่มีพร้อมในการดูแล เพราะเด็กปฐมวัยถ้าปล่อยให้อยู่หน้าจอเป็นเวลานานจะส่งผลเสีย และเด็กวัยนี้มักจะไม่ค่อยมีสมาธิได้ต่อเนื่องเป็นเวลานานอยู่แล้ว ครูต้องมีเทคนิคที่ทำให้เด็กเรียนได้อย่างไม่น่าเบื่อ มีปฏิสัมพันธ์กับเด็กไปด้วย
"ความพร้อมพอสมควรของผู้ใหญ่เป็นสิ่งสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นครูหรือผู้ปกครอง บางครอบครัวอาจไม่ได้มีอุปกรณ์ที่พร้อม ไม่ว่าจะเป็นอินเทอร์เน็ตที่เสถียร หรืออุปกรณ์ที่ใช้ เด็กเล็กจำเป็นต้องมีผู้ปกครองนั่งเป็นเพื่อน นอกจากนั้นพบว่าพ่อแม่มีความเครียดมากขึ้น เพราะเป็นการเรียนจากที่บ้าน พ่อแม่ก็เครียด เหมือนต้องมาเป็นครูด้วยและเป็นพ่อแม่ด้วย บางทีก็ทำให้เกิดความขัดแย้งในครอบครัวมากขึ้น" พญ.เบญจพร กล่าว
@ เด็กติดจอ ส่งผลด้านพัฒนาการ
ส่วนประเด็นเรื่องผลกระทบต่อการพัฒนาการของเด็กกับการเรียนออนไลน์ พญ.เบญจพร กล่าวว่า การให้เด็กปฐมวัยเรียนออนไลน์แบบไม่เหมาะสมกับพัฒนาการ เช่น ให้เด็กอยู่กับหน้าจอนานๆ ไม่มีปฏิสัมพันธ์ไปด้วยกันระหว่างเรียน เด็กต้องอยู่กับที่ไม่ได้เคลื่อนไหวทำให้กล้ามเนื้อไม่แข็งแรง อาจเกิดภาวะอ้วนตามมาเพราะไม่ได้ขยับร่างกาย ส่งผลกระทบทางสายตา และการอยู่หน้าจอนานๆ อาจเกี่ยวข้องกับกับสมาธิที่ไม่ดี เด็กที่เรียนออนไลน์บางคนอาจมีความเครียด มีพฤติกรรมถดถอย อารมณ์หงุดหงิด เกิดความขัดแย้งกับผู้ใหญ่ที่ดูแลมากขึ้น
พญ.เบญจพร กล่าวเพิ่มเติมว่า ฉะนั้นผู้ใหญ่ควรให้เวลาเด็กได้พักสายตาจากหน้าจอ มีเวลาไปยืดเส้นยืดสาย ทำกิจกรรมอื่นๆ ที่ไม่ใช่การอยู่กับหน้าจอด้วย ถ้าหากเป็นไปได้ การเรียนออนไลน์ควรเป็นกิจกรรมที่ครูและเด็กๆ มีปฏิสัมพันธ์ร่วมกัน แต่หากเด็กหรือครอบครัวไหนไม่พร้อมในการเรียนออนไลน์ ครูอาจจะลองหาระบบการเรียนที่ทดแทนให้จนกว่าจะเปิดเทอมก็ได้ โดยเฉพาะในเด็กเล็กที่ไม่เหมาะกับการเรียนออนไลน์มากหนัก
@ ไม่มีสมาธิ เรียนติดขัดบ้าง เป็นเรื่องธรรมดา
พญ.เบญจพร กล่าวแนะนำถึงผู้ปกครองในการเตรียมตัวรับมือการเรียนออนไลน์ของเด็กปฐมวัย ว่า การจัดการดูแลเด็กจะราบรื่น ก่อนอื่นผู้ปกครองจะต้องเตรียมตัวเตรียมใจ และจัดการความเครียดก่อน โดยสิ่งที่ควรระมัดระวังคือ การติดสื่อออนไลน์หน้าจอต่างๆ
"ตามประสบการณ์ส่วนตัวของหมอ พบเด็กมีปัญหานี้มากขึ้นในช่วงที่เรียนออนไลน์และหยุดอยู่บ้านนานๆ และให้ปล่อยวางว่าถ้าเด็กเล็กๆ เรียนออนไลน์ไม่ค่อยมีสมาธิ เรียนได้ไม่นาน มีความติดขัดบ้าง ก็เป็นเรื่องธรรมดา บางครั้งก็อาจจะต้องมาสอนเองใหม่ อาจไม่ได้เรียนรู้ได้เต็มที่เหมือนการเรียนปกติ ก็ไม่เป็นไร" พญ.เบญจพร กล่าว
พญ.เบญจพร ตันตสูติ
ภาพประกอบจาก: สสส.
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage