เปิดแผนกระจายวัคซีนโควิดไทย ปี 2564 จำนวน 100 ล้านโดส ยืนยันตลอดเดือน มิ.ย. ประเทศไทยจะได้รับวัคซีนกระจายทั่วประเทศ 5-6 ล้านโดส
..............................................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 2 มิ.ย.2564 ในการแถลงข่าวบรรยาย เรื่องการกระจายวัคซีนในประเทศไทย นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวว่า ที่ผ่านมาสถาบันวัคซีนฯ กรมควบคุมโรค และ องค์การเภสัชกรรม (อภ.) ได้ร่วมกันจัดหาวัคซีนซิโนแวค โดยเริ่มกระจายไปตั้งแต่เดือน มี.ค.2564 เป็นต้นมา และมีการเจรจาสั่งซื้อเพิ่มเติมต่อไปอีกตั้งแต่เดือน มิ.ย.2564
นพ.นคร กล่าวอีกว่า สำหรับการจัดหาวัคซีนชนิดอื่นๆ ตามนโยบายของ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ที่หารือร่วมกับคณะกรรมการวิชาการ สธ.เพื่อจัดหาวัคซีนในเป้าหมายปี 2564 รวม 100 ล้านโดส มีรายละเอียดดังนี้
- บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า จำกัด ทำสัญญาเรียบร้อยแล้ว 61 ล้านโดส และจะทยอยส่งมอบตั้งแต่เดือน มิ.ย.2564 ในวันนี้ บริษัท สยามไบโอไซเอนด์ จำกัด ได้ส่งมอบเรียบร้อยแล้ว ซึ่งจะกระจายออกไปยังจังหวัดต่างๆ ตามแผน
- บริษัท ซิโนแวค จำกัด ทำสัญญาเรียบร้อยแล้ว 10-15 ล้านโดส และได้รับบริจาคอีก 1 ล้านโดส ตอนนี้ส่งมอบแล้ว 6 ล้านโดส และจะทยอยส่งตั้งแต่เดือน มิ.ย. เดือนละ 3 ล้านโดส
- บริษัท ไฟเซอร์ จำกัด อยู่ระหว่างการต่อรองเงื่อนไขสัญญา 20 ล้านโดส ซึ่งคาดว่าประเทศไทยจะได้รับในไตรมาส 3 ของปี 2564
- บริษัท จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน จำกัด อยู่ระหว่างต่อรองเงื่อนไขสัญญา 5 ล้านโดส ซึ่งคาดว่าประเทศไทยจะได้รับในไตรมาส 3 หรือ 4 ของปี 2564
"ขณะนี้รวมที่เรามีวัคซีนแล้ว คือ วัคซีนแอสตร้าฯ 61 ล้านโดส วัคซีนซิโนแวคอีก 6 ล้านโดสที่ส่งมอบแล้ว และที่จัดหาจากผู้ผลิตอื่น คือ วัคซีนซิโนแวค 15 ล้านโดส วัคซีนไฟเซอร์ 20 ล้านโดส วัคซีนจอห์นสันฯ อีก 5 ล้านโดส ดังนั้นปี 2564 ก็จะมีวัคซีนราวๆ 100 ล้านโดส" นพ.นคร กล่าว
ขณะที่วัคซีนส่วนเสริมอื่นๆ นั้น อย่าง บริษัท โมเดอร์นา ยังอยู่ระหว่างการดำเนินงาน อย่างไรก็ตามอาจมีวัคซีนยี่ห้ออื่น ที่จะให้ประชาชนไทยได้ใช้อีกภายในสิ้นปี
@ เปิดแผน มิ.ย.64 ส่งวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า-ซิโนแวค 5-6 ล้านโดส
ด้าน นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวเพิ่มเติมว่า นโยบายของรัฐบาลไทย คือ ให้คนไทย คนชาติต่างๆ ในประเทศเข้าถึงวัคซีนได้ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาตั้งแต่ 28 ก.พ.2564 เราได้ฉีดวัคซีนกันมาเรื่อยๆ เพียงแต่ในวันที่ 7 มิ.ย.2564 จะมีการปูพรมฉีดวัคซีนโควิดให้กับประชากรจำนวนมาก โดยจะเริ่มฉีดให้กับประชากรกลุ่มที่ 2 ของประเทศ คือ ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป และกลุ่มผู้ป่วย 7 กลุ่มโรค เรื้อรัง ที่จองคิวเข้ามาในระบบหมอพร้อมและแพลตฟอร์มอื่นๆ
นพ.โสภณ กล่าวอีกว่า จำนวนวัคซีนที่จะฉีดให้กับประชาชนนั้นมีเพียงพอ โดยในเดือน มิ.ย.2564 จำนวนวัคซีนที่ประเทศไทยจะได้รับจากบริษัทผู้ผลิต จะแบ่งออกเป็น 4 งวด โดยงวดแรกจะกระจายวัคซีน 240,000 โดสในวันที่ 2-3 มิ.ย.2564 และจะทยอยเข้ามาอีก 1 ล้านโดส ในวันที่ 5-6 มิ.ย.2564 ขณะเดียวกันจะได้รับซิโนแวคอีก 7 แสนโดส และจะมีวัคซีนทยอยเข้ามาอีก ดังนั้นแล้ว ตลอดเดือน มิ.ย.2564 ประเทศไทยจะได้รับวัคซีนจัดสรรเพิ่ม 5-6 ล้านโดส
นพ.โสภณ กล่าวด้วยว่า ส่วนแผนการฉีดวัคซีนสำหรับชาวต่างชาติ ได้เริ่มดำเนินการในกลุ่มคณะทูต และครอบครัว เจ้าหน้าที่องค์การระหว่างประเทศ (ยูเอ็น) ที่ได้ลงทะเบียนล่วงหน้า และฉีดใน รพ.ที่กำหนด เบื้องต้นมี 3 แห่ง และจะเพิ่มเติมมากขึ้นในสัปดาห์หน้า สำหรับชาวต่างชาติทั่วไป ก็จะเริ่มลงทะเบียนเพื่อฉีดได้เช่นเดียวกับคนไทย โดยจะเริ่มใน 2 กลุ่มคือ ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยโรคเรื้อรัง สามารถลงทะเบียนล่วงหน้า ได้ในเว็บไซต์ www.thailandIntervac.com
@ สปสช.ดูแลค่าใช้จ่ายอาการไม่พึงประสงค์หลังฉีดทุกคน
ขณะที่ นพ.จเด็จ ธรรมทัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า สปสช. มีบทบาทในการจัดสรรงบประมาณ ดูแลอาการไม่พึงประสงค์หลังรับวัคซีน ผู้ที่สงสัยว่าตนเองเกิดอาการไม่พึงประสงค์หลังฉีด สามารถแจ้งกับสถานบริการที่ฉีดได้ โดยไม่มีข้อกำหนด โดย สปสช.จะมีอนุกรรมการพิจารณา ชดเชยอาการไม่พึงประสงค์หลังรับวัคซีน ทำให้ประชาชนไม่ต้องรอนาน และย้ำว่า วัคซีนที่ฉีดทั่วโลกในปัจจุบัน เป็นการฉีดในสถานการณ์ฉุกเฉิน จึงขอประชาชนอย่ารีรอที่จะพบแพทย์หากเกินอาการไม่พึงประสงค์
"การจ่ายค่าชดเชยนั้น สปสช. ไม่ได้ผูกกับประกันของบริษัทเอกชน ดังนั้น สำหรับคนไทย เราไม่ได้คำนึงว่า ผู้ที่มีประกันจากเอกชนแล้วเราจะละเลย ทุกคนสามารถยื่นเรื่องได้เหมือนกันหมด” นพ.จเด็จ กล่าว
@ WHO ยืนยันวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า-ซิโนแวค ลดความรุนแรงโควิดได้ดี
ทั้งนี้ นพ.แดเนียล เคอร์เทสซ์ ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกไทย กล่าวทิ้งท้ายว่า สำหรับการควบคุมสถานการณ์การระบาด ประเทศไทยสามารถทำได้ดี แต่บทเรียนสำคัญจากโควิดนี้สะท้อนให้เห็นว่าวัคซีนมีความสำคัญ วัคซีนทุกชนิดสามารถช่วยป้องกันและลดความรุนแรงของโรคได้ ไม่ว่าจะเป็นวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า หรือซิโนแวค ต่างสามารถทำได้ดี ขอยืนยันให้ประชาชนชาวไทยเชื่อมั่น และอยากให้สื่อมวลชนช่วยส่งเสริมกระตุ้นการรับวัคซีน เนื่องจากเราไม่อยากเห็นกลุ่มใดต้องเสียชีวิตจากโควิดนี้อีก
"วัคซีนไม่ได้ใช้ป้องกันชีวิตอย่างเดียว การให้ข้อมูลที่ถูกต้องจากสื่อมวลชน เป็นการป้องกันชีวิตได้ด้วย ในการกระตุ้นประชาชนให้รับวัคซีน อย่างไรก็ตามแม้จะมีวัคซีนที่ไทยจะเริ่มปูพรมครั้งใหญ่ในวันที่ 7 มิ.ย.นี้แล้ว ขอให้อย่าเพิ่งการ์ดตก ให้รักษาสุขอนามัยส่วนบุคคลต่อไป" นพ.แดเนียล กล่าว
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage