"...จําเลยที่ 1 ได้ดําเนินการรับเป็นพนักงานขับรถปฏิบัติงานอยู่หนึ่งปีเศษหมดอายุสัญญาจ้าง ฝ่ายผู้เสียหายซึ่งคาดหวังว่าจะได้รับการต่อสัญญาหลังจากการจ้างสิ้นสุดลงเมื่อไม่ได้รับการต่อสัญญาจึงแจ้งความร้องทุกข์ดําเนินคดีกับจําเลยทั้งสองเหตุดังกล่าวมักเกิดขึ้นในสภาวะการของสังคมไทยที่เปิดช่องทางให้ผู้บริหารมีอํานาจกระทําได้ จึงเป็นธรรมดาของการแย่งชิงการได้มาเพื่อให้ได้มีงานทํา..."
...........................................
นายพิชิต ลาตวงษ์ อดีตนายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) หนองแคน อำเภอปทุมรัตน์ จังหวัดร้อยเอ็ด และนางสุจิตรา ลาตวงษ์ ภริยา ได้ร่วมกันเรียก รับ เงินจํานวน 70,000 บาท จากนาง ส. เพื่อแลกเปลี่ยนกับการให้ นายพิชิต ลาตวงษ์ ดําเนินการว่าจ้าง นาย บ. สามีของนาง ส. ให้เป็นพนักงานขับรถยนต์ของอบต.หนองแคน
คือ พฤติการณ์การกระทำความผิดของ นายพิชิต ลาตวงษ์ และ นางสุจิตรา ลาตวงษ์ ตามคำพิพากษาของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 4 เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2564 ที่ตัดสินลงโทษ นายพิชิต ลาตวงษ์ จำเลยที่ 1 กับ นางสุจิตรา ลาตวงษ์ จำเลยที่ 2 กรณีเรียกรับเงินเพื่อช่วยเหลือให้เข้าทำงานที่ อบต.หนองแคน ซึ่งถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช. ลงมติชี้มูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 149 ,157 และ พ.ร.บ.ป.ป.ช.พ.ศ.2542 มาตรา 103 ประกอบมาตรา 122 ประกอบ พ.ร.บ.ป.ป.ช.พ.ศ.2561 มาตรา 192 ประกอบมาตรา 86
ที่สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) นำมาเสนอให้สาธารณชนได้รับทราบไปแล้ว
โดยคดีนี้ศาลฯ เห็นว่า จําเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 จําเลยที่ 2 ประกอบมาตรา 86 ลงโทษจําเลยที่ 1 จําคุก 5 ปี และปรับ 30,000 บาท จําเลยที่ 2 จําคุก 2 ปี 4 เดือน และปรับ 20,000 บาท
จําเลยทั้งสองให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงลงโทษจําเลยที่ 1 จําคุก 2 ปี 5 เดือน และปรับ 15,000 บาท จําเลยที่ 2 จําคุก 1 ปี 4 เดือน และปรับ 60,000 บาท
แต่โทษจำคุกจำเลยทั้งสอง ศาลฯ เห็นสมควรให้รอการลงโทษไว้คนละ 2 ปี
(อ่านประกอบ : จ่ายสด2หมื่น ที่เหลือโอนบัญชีเมีย! พฤติการณ์อดีตนายก อบต.หนองแคน คดีเรียกเงินจ้าง พขร., รอลงอาญา คุก 2 ปี 6 ด.! อดีตนายก อบต.หนองแคน ร้อยเอ็ด เรียกเงินช่วยเข้าทำงาน)
ข้อมูลที่ยังไม่เปิดเผยเป็นทางการต่อสาธารณะ คือ ทำไมศาลฯ ถึงเห็นสมควรให้รอการลงโทษจำเลยทั้งสองไว้คนละ 2 ปี ทั้งที่กระทำความผิดและให้การรับสารภาพไปแล้ว
ในคำพิพากษาศาลฯ ระบุเหตุผลไว้ดังนี้
พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีประกอบรายงานการสืบเสาะและพินิจจําเลยทั้งสองแล้ว เห็นว่า การเรียกรับในครั้งนี้เป็นการได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย
กล่าวคือ จําเลยที่ 1 ได้อนุมัติให้มีการจ้างเหมาบริการพนักงานขับรถยนต์ขององค์การบริหารส่วนตําบลหนองแคน ผู้เสียหายมีความประสงค์ให้สามีเข้าทํางานจึงขอให้จําเลยที่ 1 ช่วยรับเข้าเป็นพนักงานขับรถยนต์
และจําเลยที่ 1 ได้ดําเนินการรับเป็นพนักงานขับรถปฏิบัติงานอยู่หนึ่งปีเศษหมดอายุสัญญาจ้าง
ฝ่ายผู้เสียหายซึ่งคาดหวังว่าจะได้รับการต่อสัญญาหลังจากการจ้างสิ้นสุดลง
เมื่อไม่ได้รับการต่อสัญญาจึงแจ้งความร้องทุกข์ดําเนินคดีกับจําเลยทั้งสอง
เหตุดังกล่าวมักเกิดขึ้นในสภาวะการของสังคมไทยที่เปิดช่องทางให้ผู้บริหารมีอํานาจกระทําได้ จึงเป็นธรรมดาของการแย่งชิงการได้มาเพื่อให้ได้มีงานทํา
และในส่วนการกระทําของจําเลยที่ 2 ซึ่งเป็นภริยา อยู่ด้วยในขณะส่งมอบเงินสด และทําการโอนเงินผ่านบัญชีของจําเลยที่ 2 ผู้เสียหายขอเลขบัญชีไป ทั้งสองฝ่ายเป็นเพื่อนบ้าน มีความสนิทสนมคุ้นเคยกันดีช่วยเหลือเกื้อกูลต่อกัน
จําเลยที่ 2 จึงถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้สนับสนุน
จากพฤติการณ์ดังกล่าวถือว่าไม่ร้ายแรงนักหากจะต้องลงโทษจําคุกจําเลยทั้งสองจากพฤติกรรมข้างต้นจะมีผลกระทบต่อสังคมและครอบครัวของจําเลยทั้งสองเป็นอย่างมาก ทั้งไม่เหมาะสมกับการกระทําของจําเลยทั้งสอง และการลงโทษจําคุกในการกระทําเช่นนี้ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อจําเลยทั้งสองและสังคมมากไปกว่าการให้โอกาสกลับใจแก้ไขและการให้โอกาสดังกล่าวไม่สร้างปัญหาให้กับครอบครัวที่จําเลยทั้งสองซึ่งเป็นสามีภริยามีภาระต้องเลี้ยงดูบุตรทั้งสามคนที่อยู่ในวัยศึกษาเล่าเรียนเป็นอนาคตของชาติทรัพยากรของประเทศและมารดาที่อายุมากพึ่งพาตนเองไม่ได้ ซึ่งจําเลยที่ 1 เป็นหลักประกอบอาชีพสุจริตดูแลทุกคนในครอบครัว
เมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าจําเลยทั้งสองเคยต้องโทษจําคุกมาก่อน คํานึงถึงอายุ อาชีพในปัจจุบัน ความประพฤติที่ไม่มีข้อเสียหายเป็นอย่างอื่น สติปัญญา การศึกษาอบรม พิจารณาสภาพความผิดและความสํานึกผิดโดยการคืนเงินให้ผู้เสียหายครบถ้วนแล้ว
อีกทั้งเห็นว่าจําเลยทั้งสองอยู่ในวิสัยที่จะแก้ไขปรับปรุงร่วมพัฒนาสังคมและบุตรทั้งสามที่เป็นทรัพยากรที่ดีของประเทศได้ และได้มีโอกาสแสดงความกตัญญูต่อบุพการี
โทษจําคุกจําเลยทั้งสองเห็นสมควรให้รอการลงโทษไว้คนละ 2 ปี ให้คุมความประพฤติจําเลยทั้งสองโดยให้ไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 4 ครั้ง ภายในกําหนด 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56
หากจําเลยทั้งสองไม่ชําระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 29, 30
อย่างไรก็ดี เกี่ยวกับคดีนี้ เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2564 คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติไม่เห็นพ้องในการที่อัยการสูงสุด (อสส.) จะไม่อุทธรณ์คำพิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 4
ขณะที่คดียังไม่สิ้นสุด จำเลยทั้งสอง มีสิทธิต่อสู้คดีเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ในชั้นศาลที่สูงกว่านี้อีกได้
สุดท้ายแล้วผลคดีจะออกมาเป็นอย่างไร ต้องติดตามดูกันต่อไป
แต่คดีนี้ก็นับเป็นกรณีศึกษาตัวอย่างสำคัญต่อการบริหารงานของผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ เป็นอุทาหรณ์ไม่ให้เอาเป็นเยี่ยงอย่างกันต่อไป
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage