ปรับลดวงเงินเหลือ 5 แสนล้าน! ราชกิจจานุเบกษาแพร่ พ.ร.ก.กู้เงินฯฉบับใหม่ แก้ไขปัญหาโควิด-19 ระบาดหนักหน่วง-กว้างขวาง เป็นวิกฤติสำคัญต้องแก้เร่งด่วน แบ่ง 3 แผนงาน สธ. ได้ 3 หมื่นล้าน ก.คลัง ได้ 4.7 แสนล้าน
....................................................
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 25 พ.ค. 2564 เวลาประมาณ 12.00 น. ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 วงเงินไม่เกิน 5 แสนล้านบาท จำนวน 5 หน้า ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
ระบุเหตุผลในการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉบับนี้ คือ โรคติดเชื้อโควิด-19 ยังระบาดอย่างต่อเนื่องและรุนแรงมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของประชาชนและต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศอย่างหนักหน่วงและกว้างขวาง เป็นวิกฤติสำคัญที่จำเป็นต้องดำเนินการแก้ไขโดยเร่งด่วนและต่อเนื่องกับการแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้ดำเนินการอยู่ จึงเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้ เพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ และป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ จึงจำเป็นต้องตรา พ.ร.ก.นี้
มีสาระสำคัญคือ มาตรา 3 เพื่อประโยชน์ในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคม จากการระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งยังไม่ยุติลง ให้กระทรวงการคลังโดยอนุมัติคณะรัฐมนตรี มีอำนาจกู้เงินบาทหรือเงินตราต่างประเทศ หรือออกตราสารหนี้ ในนามรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย มีมูลค่ารวมกันไม่เกิน 5 แสนล้านบาท โดยต้องลงนามในสัญญากู้เงิน หรือออกตราสารหนี้ ภายในวันที่ 30 ก.ย. 2564
วงเงินกู้ตามวรรคหนึ่ง ไม่กระทบต่ออำนาจการกู้เงินหรือออกตราสารหนี้ของกระทรวงการคลัง ตาม พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563
มาตรา 4 ให้การกู้เงินตาม พ.ร.ก.ฉบับนี้ เป็นการกู้เงินตามมาตรา 53 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561
มาตรา 5 เงินกู้ตาม พ.ร.ก.นี้ จะนำไปใช้เพื่อการอื่นนอกจากการดังต่อไปนี้มิได้ (1) เพื่อแก้ไขปัญหาการระบาดของโรคโควิด-19 (2) เพื่อช่วยเหลือเยียวยา และชดเชยให้แก่ประชาชนทุกสาขาอาชีพ ซึ่งได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 (3) เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการะบาดของโรคโควิด-19
โดยแผนงานหรือโครงการใช้จ่ายเงินกู้เพื่อการตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติตามบัญชีท้าย พ.ร.ก.นี้
มาตรา 6 การกู้เงินตาม พ.ร.ก.นี้ ให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติเท่าที่จำเป็น โดยคำนึงถึงขีดความสามารถของรัฐในการชำระหนี้สินคืน ประกอบด้วย ในกรณีจำเป็นคณะรัฐมนตรีจะมีมติปรับให้วงเงินกู้ที่กำหนดไว้ตามท้ายบัญชี พ.ร.ก.นี้ เพื่อการตามมาตรา 5 (1) (2) (3) ก็ได้ แต่เมื่อรวมวงเงินกู้ทั้งหมดต้องไม่เกิน 5 แสนล้านบาท
สำหรับแผนงานหรือโครงการตามบัญชีท้าย พ.ร.ก.กู้เงินดังกล่าว มีทั้งหมด 3 แผน ได้แก่ 1.แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขปัญหาการระบาดของโควิด-19 มีกระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานของรัฐตามที่คณะรัฐมนตรีมอบหมาย เป็นหน่วยงานรับผิดชอบ วงเงิน 30,000 ล้านบาท
2.แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชยให้แก่ประชาชนทุกสาขาอาชีพ ซึ่งได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 มีกระทรวงการคลังและหน่วยงานของรัฐที่คณะรัฐมนตรีมอบหมาย เป็นหน่วยงานรับผิดชอบ วงเงิน 300,000 ล้านบาท
3.แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 มีกระทรวงการคลัง และหน่วยงานของรัฐที่คณะรัฐมนตรีมอบหมาย เป็นหน่วยงานรับผิดชอบ วงเงิน 170,000 ล้านบาท
อ่านราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ พ.ร.ก.กู้เงินฯ 5 แสนล้านบาท ประกอบ : http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2564/A/034/T_0001.PDF?fbclid=IwAR2gmeinUM52B0vnNzI7yZPoQ5yNZlOlUH5dJ6PpAZlNZV-mFTmY7c6s52w
ช่วงเช้า วันเดียวกัน ที่ทำเนียบรัฐบาล มีรายงานว่า คณะรัฐมนตรีมอบหมายให้นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง เป็นผู้ชี้แจงรายละเอียดเกี่ยวกับร่าง พ.ร.ก.กู้เงินฯ ดังกล่าวแต่เพียงผู้เดียว โดยในช่วงเช้าที่ตึกสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี นายอาคม ปฏิเสธให้สัมภาษณ์ถึงความชัดเจนเกี่ยวกับร่าง พ.ร.ก.กู้เงินฯ ดังกล่าว โดยชี้นิ้วแสดงท่าทีรีบขึ้นไปประชุมคณะรัฐมนตรี ผ่านระบบวีดีโอคอนเฟอเรนซ์
ผู้สื่อข่าวถามย้ำว่า จะชี้แจงเรื่องนี้เมื่อใด นายอาคม ไม่ตอบคำถามแต่อย่างใด และรีบเดินขึ้นไปประชุมทันที
ต่อมาเมื่อเวลาประมาณ 08.45 น. นายวิษณุ เครืองาม ปฏิเสธที่จะชี้แจงรายละเอียดเกี่ยวกับร่าง พ.ร.ก.กู้เงินฯ ดังกล่าว โดยระบุว่า เมื่อ รมว.คลัง ไม่ชี้แจง ตนจะพูดได้อย่างไร
เมื่อถามว่า พ.ร.ก.กู้เงินฯฉบับนี้ จะเดินหน้าได้หรือไม่ เพราะถูกวิพากษ์วิจารณ์จากหลายฝ่าย นายวิษณุ กล่าวว่า ที่วิจารณ์เพราะยังไม่เห็นตัวร่าง พ.ร.ก.กู้เงินฯ ขอให้ดูตัวร่างเสียก่อนว่าเป็นอย่างที่คิดกันหรือไม่
เมื่อถามอีกว่า จะเปิดเผยได้เมื่อใด นายวิษณุ กล่าวว่า รอฟังคณะรัฐมนตรีวันนี้ตอนเที่ยงจะรู้แล้วว่าออกมาอย่างไร
ขณะที่นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีนี้ว่า ขอให้รอฟังแถลงการณ์
เมื่อถามว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวันนี้จะมีการหารือถึงมาตรการเยียวยาประชาชนอย่างไรบ้าง นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวว่า หลังการประชุมคณะรัฐมนตรีจะมีการแถลง ตนจะอยู่ในการแถลงด้วย
อนึ่ง ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 18 พ.ค. 2564 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ในการออกร่าง พ.ร.ก.กู้เงินฯ รวม 7 แสนล้านบาท เพื่อแก้ไขสถานการณ์โควิด-19 จนถูกหลายฝ่ายวิพากษ์วิจารณ์ และนายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีต รมว.คลัง สมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และแกนนำกลุ่มสามัคคีประชาชนเพื่อประเทศไทย ยื่นฟ้องศาลปกครองขอให้เพิกถอนมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว เนื่องจากเห็นว่าอาจเข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญ ไม่เป็นไปตามวินัยการเงินการคลัง และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อาจเข้าข่ายผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หากมีการทูลเกล้าฯนั้น (อ่านประกอบ : ส่อผิด ม.112 ด้วย! ‘ธีระชัย’ฟ้องศาล ปค.ถอนมติ ครม.ไฟเขียว พ.ร.ก.กู้เงินฯ 1.7 ล้านล.)
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage