"...ในการตรวจสอบของคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์จำนำคงเหลือ ยังพบว่า จำเลยได้ให้ราคาแก่ผู้จำนำซึ่งเป็นกลุ่มบุคคลบางกลุ่มในราคาสูงมากทุกรายการ เมื่อเทียบกับทรัพย์จำนำที่ไม่ได้คุณภาพ และยังมีราคาสูงกว่าราคาของผู้เชี่ยวชาญด้านการประเมิน ทั้งทรัพย์จำนำดังกล่าว ยังเป็นทรัพย์ ประเภทเพชรรูปพรรณและลักษณะเดียวกันทุกรายการ โดยผู้จำนำเป็นกลุ่มบุคคลที่รายชื่อซ้ำกัน เป็นผลให้ผู้จำนำเฉพาะกลุ่มเท่านั้นได้รับประโยชน์เป็นราคารับจำนำที่ไม่ควรได้ ..."
........................................
ขณะเกิดเหตุ นายชัยรัตน์ นฤชัย จำเลย เป็นพนักงานสำนักงานธนานุเคราะห์ สังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ตำแหน่ง ผู้ช่วยผู้จัดการสำนักงานธนานุเคราะห์ 27 มีหน้าที่ช่วยตรวจสอบคุณภาพและประเมินราคาสิ่งของที่รับจำนำให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่สำนักงานธนานุเคราะห์กำหนด
คือ ต้องประเมินราคาทรัพย์ที่รับจำนำไม่เกินอัตราร้อยละ 60 ของราคากลางที่สำนักงานธนานุเคราะห์กำหนด
ตามวันเวลาเกิดเหตุตามฟ้องช่วงเดือนมีนาคม 2549 -ตุลาคม 2549 จำเลยตรวจสอบและประเมินราคาทรัพย์ที่ผู้จำนำ นำมาจำนำต่อสถานธนานุเคราะห์ 27 รวม 131 ครั้ง แต่ละครั้ง จำเลยประเมินราคาทรัพย์ที่รับจำนำไว้เกินกว่าร้อยละ 60 ของราคากลางที่สำนักงานธนานุเคราะห์กำหนด ทำให้ ผู้จำนำ ขาดส่งดอกเบี้ย และปล่อยให้ทรัพย์หลุดจำนำ
เมื่อทรัพย์จำนำหลุดจำนำ ต่อมาสำนักงานธนานุเคราะห์นำทรัพย์หลุดจำนำออกประมูลขายทอดตลาด ไม่มีผู้ให้ราคา เนื่องจากราคาทรัพย์มีราคาขายสูงตามที่รับจำนำไว้ เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายต่อสำนักงานธนานุเคราะห์
คือ พฤติการณ์การกระทำความผิดของ นายชัยรัตน์ นฤชัย อดีตเจ้าหน้าที่สถานธนานุเคราะห์ 27 ของ กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ซึ่งถูกศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาคกลาง พิพากษาว่า มีความผิด จำคุกกระทงละ 5 ปี รับสารภาพลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่ง คงจำคุกกระทงละ 2 ปี 6 เดือน รวม 131 กระทง เป็นจำคุก 262 ปี 787 เดือน เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้วให้ จำคุก 50 ปี ตาม ป.อ มาตรา 91(3)
ที่สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) นำมาเสนอให้สาธารณชนได้รับทราบไปแล้ว
(อ่านประกอบ : ประเมินทรัพย์แพง 131 ครั้ง! พฤติการณ์ อดีต ผช.ผจก.โรงจำนำรัฐ โดนคุก 262 ปี 787 ด., คุก 262 ปี 787 ด. ติดจริง 50 ! จำเลยคนที่ 2 คดี อดีต ผจก.โรงรับจำนำรัฐ 27)
อย่างไรก็ดี ในคดีเจ้าหน้าที่สถานธนานุเคราะห์ 27 กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทำความผิดทางอาญาในการตรวจสอบคุณภาพและประเมินราคาทรัพย์จำนำเกินหลักเกณฑ์ตามระเบียบสำนักงานธนานุเคราะห์ ที่ถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มีความผิด และถูกศาลพิพากษาตัดสินลงโทษไปแล้ว นั้น
ยังมีกรณีของ นายพธรพล หรือชลอ พูลทรัพย์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้จัดการสถานธนานุเคราะห์ 27 กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ซึ่งเป็นหัวหน้าของ นายชัยรัตน์ นฤชัย อีกหนึ่งรายด้วย
โดยศาลฯ พิพากษาให้จำคุกกระทงละ 5 ปี รวม 986 กระทง เป็นจำคุก 4,930 ปี แต่เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้ว คงให้จำคุก 50 ปี ตาม ป.อ.มาตรา 91 (3)
(อ่านประกอบ : คุก 4,930 ปี ติดจริง 50! อดีต ผจก.โรงรับจำนำรัฐ 27 ประเมินราคาทรัพย์เกินระเบียบ)
รายละเอียดพฤติการณ์การกระทำความผิดของ นายพธรพล หรือชลอ พูลทรัพย์ มีดังต่อไปนี้
ในช่วงเดือน มิถุนายน 2548 - สิงหาคม 2549 นายพธรพล หรือชลอ พูลทรัพย์ เป็นพนักงานสำนักงานสถานธนานุเคราะห์ สังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นผู้ประเมินราคาทรัพย์จำนำ และรับทรัพย์จำนำ รวมจำนวน 973 ครั้ง และเพิ่มเงินต้นในการรับจำนำ 13 ครั้ง รวมเป็น 986 ครั้ง
ซึ่งราคารายการทรัพย์สินทั้งหมด เป็นราคาทรัพย์ที่สูงเกินกว่าอัตราร้อยละ 60 ของราคากลางที่สำนักงานธนานุเคราะห์กำหนด
ทำให้เกิดการขาดส่งดอกเบี้ยและปล่อยให้ทรัพย์นั้นหลุดจำนำ
ต่อมาเมื่อสำนักงานสถานธนานุเคราะห์ นำทรัพย์ออกประมูลขายทอดตลอด จึงไม่มีผู้ให้ราคา เนื่องจากราคาทรัพย์หลุดจำนำมีราคาสูงตามราคาที่ นายพธรพล หรือชลอ พูลทรัพย์ รับจำนำไว้
เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายต่อสำนักงานสถานธนานุเคราะห์ เป็นจำนวนเงินที่รับจำนำเกินหลักเกณฑ์ 28,227,243 บาท
ต่อมาสำนักงานสถานธนานุเคราะห์ มีคำสั่งที่ 65/2549 ลงวันที่ 22 กันยายน 2549 ตรวจสอบทรัพย์รับจำนำคงเหลือของสถานธนานุเคราห์ 27 จำนวน 3 ชุด พบว่า ทรัพย์จำนำคงเหลือมีการประเมินราคาเกินหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการประเมินราคา จำนวน 1,671 รายการ ราคารับจำนำเป็นเงิน 59,442,100 บาท ราคาประเมินทรัพย์จำนำตามหลักเกณฑ์ที่ระเบียบกำหนดเป็นเงิน 19,417,700 บาท คิดเป็นจำนวนเงินที่รับจำนำเกินหลักเกณฑ์ 40,024,400 บาท
ทั้งที่ จำเลยมีตำแหน่งเป็นผู้จัดการ ที่จะต้องผ่านประสบการณ์จากการเป็นเสมียน ผู้ช่วยผู้จัดการสาขา มีประสบการณ์ทำงานในองค์กรไม่ต่ำกว่า 10 ปี และผ่านการฝึกอบรม การประเมิน การตรวจสอบคุณภาพทรัพย์มาก่อน ย่อมที่จะต้องมีทักษะ ความรู้ ความสามารถ และความเชี่ยวชาญในการทำงานเป็นอย่างดี
แต่ปรากฎว่า ในการประเมินราคาทรัพย์ กลับละเลยเพิกเฉย ไม่ได้ยึดถือปฏิบัติตามระเบียบและหนังสือเวียนซักซ้อมความเข้าใจโดยเคร่งครัด
นอกจากนี้ ในการตรวจสอบของคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์จำนำคงเหลือ ยังพบว่า จำเลยได้ให้ราคาแก่ผู้จำนำซึ่งเป็นกลุ่มบุคคลบางกลุ่มในราคาสูงมากทุกรายการ เมื่อเทียบกับทรัพย์จำนำที่ไม่ได้คุณภาพ และยังมีราคาสูงกว่าราคาของผู้เชี่ยวชาญด้านการประเมิน ทั้งทรัพย์จำนำดังกล่าว ยังเป็นทรัพย์ ประเภทเพชรรูปพรรณและลักษณะเดียวกันทุกรายการ โดยผู้จำนำเป็นกลุ่มบุคคลที่รายชื่อซ้ำกัน เป็นผลให้ผู้จำนำเฉพาะกลุ่มเท่านั้นได้รับประโยชน์เป็นราคารับจำนำที่ไม่ควรได้
ย่อมสนับสนุนให้เห็นว่าจำเลย จงใจไม่ปฏิบัติตามระเบียบที่กำหนด โดยมีเจตนาที่จะประเมินราคาทรัพย์จำนำสูงกว่าคุณภาพทรัพย์จำนำ อันเป็นการผิดวิสัยของผู้จัดการโดยทั่วไปที่มีประสบการณ์ มีความรู้ ความเชี่ยวชาญในการประกอบวิชาชีพรับจำนำ ถือเป็นการใช้อำนาจหน้าที่เพื่อเอื้อประโยชน์แก่ผู้นำทรัพย์มาจำนำ อันเป็นการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ
พยานหลักฐานโจทก์ จึงมีน้ำหนักฟังได้ว่า จำเลยกระทำความผิดฐานเป็นพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่สำนักงานสถานธนานุเคราะห์ หรือปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต และเป็นพนักงานมีหน้าที่จัดการหรือรักษาทรัพย์ใดๆ ใช้อำนาจในหน้าที่โดยทุจริตอันเป็นการเสียหายแก้องค์การตามที่ฟ้องจริง
ทั้งนี้ ในการพิจารณาคดีนี้ มีการฟ้องคดีบุคคลภายนอก จำนวน 2 ราย คือ นางสาวจรัสพักตร์ หรือกชวรรณ หรือสุปราณี หรือ กัญญรัตน์ บัวจันทร์ และนายสานิต เรวรรณ์ ที่มีการนำทรัพย์ไปจำนำกับจำเลย ในฐานะเป็นผู้สนับสนุนกระทำความผิดด้วย
แต่เนื่องจากมีพยานหลักฐานไม่เพียงพอที่จะพิสูจน์ให้ศาลเห็นพฤติการณ์ว่ามีส่วนสนับสนุนการกระทำความของจำเลยหรือไม่ ศาลฯ จึงให้ยกฟ้อง
อย่างไรก็ดี ในขั้นตอบสอบปากคำพยานผู้เกี่ยวข้องทำให้เห็นภาพรวมการทำธุรกิจโรงจำนำของรัฐได้ชัดเจนมากขึ้น กล่าวคือ ประชาชนที่นำทรัพย์มาจำนำที่สถานธนานุเคราะห์ ส่วนมากจะนำทรัพย์มาจำนำ 2 รายการต่อครั้ง หรือต่อวัน บางรายเมื่อถึงกำหนดก็จะมาไถ่ทรัพย์คืน บางรายอาจจะมีการต่อดอกเบี้ย 2 ถึง 3 ครั้ง แล้วจึงมาขอไถ่คืน เพราะดอกเบี้ยต่ำ
แต่บางรายอาจปล่อยให้ทรัพย์นั้นหลุดนำจำไป เพราะไม่มีเงินมาไถ่หรือต่อดอกเบี้ยภายในกำหนด
ส่วนกลุ่มพ่อค้า ที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับธุรกิจโรงรับจำนำ จะมีทั้งผู้ที่รับซื้อตั๋วจำนำจากประชาชนทั่วไปหรือจากพ่อค้าด้วยกันในราคาถูก แล้วนำตั๋วนั้น ไปไถ่ทรัพย์เพื่อเอาไปขายต่อ และกลุ่มพ่อค้าที่มาประมูลทรัพย์จากสถานธนานุเคราะห์ที่นำทรัพย์จำนำหลุดออกขายทอดตลาด แล้วเอาไปขายต่อ หากทรัพย์ที่ซื้อไปนั้นไม่สามารถขายได้ ก็อาจนำไปจำนำที่เดิม
กลุ่มพ่อค้าที่เป็นผู้รับซื้อตั๋วจำนำ แล้วนำไปไถ่ทรัพย์เพื่อเอาไปขายต่อนั้น ในวงการมีจำนวนมาก และเมื่อขายทรัพย์ที่ไถ่ไปไม่ได้ หากเอาไปนำจำ ณ สถานที่รับจำนำเดิม โดยเอาตั๋วจำนำเดิมไปให้ดูด้วย ทางผู้รับจำนำจะให้ราคาตามตั๋วจำนำเดิมหรือไม่ขึ้นอยู่กับราคาตลาดของทรัพย์จำนำ ณ วันนั้น
ขณะที่ การซื้อขายตั๋วจำนำถือเป็นเรื่องปกติของวงการรับจำนำทั่วไป และสามารถกระทำได้โดยไม่มีกฎหมายห้าม
อย่างไรก็ดี คดียังไม่สิ้นสุด จำเลย มีสิทธิต่อสู้คดีเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ในชั้นศาลที่สูงกว่านี้อีกได้
ผลคดีเป็นอย่างไรต้องติดตามดูกันต่อไป
แต่ไม่ว่าผลคดีจะออกมาเป็นอย่างไร ดังที่เน้นย้ำไปว่า พฤติการณ์ของ นายพธรพล หรือชลอ พูลทรัพย์ อดีตผู้จัดการ และ นายชัยรัตน์ นฤชัย อดีตผู้ช่วยผู้จัดการ สำนักงานธนานุเคราะห์ 27 นับว่าเป็นกรณีศึกษาสำคัญในคดีทุจริตเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐที่มีหน้าที่ตรวจสอบคุณภาพและประเมินราคาทรัพย์จำนำของสำนักงานธนานุเคราะห์ทั่วประเทศ
ไม่ให้ใครเดินซ้ำรอยเอาเป็นเยี่ยงอย่างได้อีกในอนาคต ดังที่กล่าวย้ำไว้ก่อนหน้านี้
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage