"....ตามวันเวลาเกิดเหตุตามฟ้องช่วงเดือนมีนาคม 2549 -ตุลาคม 2549 จำเลยตรวจสอบและประเมินราคาทรัพย์ที่ผู้จำนำ นำมาจำนำต่อสถานธนานุเคราะห์ 27 รวม 131 ครั้ง แต่ละครั้ง จำเลยประเมินราคาทรัพย์ที่รับจำนำไว้เกินกว่าร้อยละ 60 ของราคากลางที่สำนักงานธนานุเคราะห์กำหนด อาทิ แหวนทองคำเจือเพชรลูก หนัก 6.6 กรัม 1 วง ในราคา 13,000 บาท ต่างหูก้านทองคำเจือเพชรลูก หนัก 1.7 กรัม 1 ชิ้น ในราคา 35,000 บาท ล็อกเกตทองคำเจือเพชรลูก หนัก 2.6 กรัม จำนวน 1 ชิ้น ในราคา 42,000 บาท เป็นต้น ทำให้ ผู้จำนำ ขาดส่งดอกเบี้ย และปล่อยให้ทรัพย์หลุดจำนำ..."
..............................
นายชัยรัตน์ นฤชัย จำเลย มีความผิด จำคุกกระทงละ 5 ปี รับสารภาพลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่ง คงจำคุกกระทงละ 2 ปี 6 เดือน รวม 131 กระทง เป็นจำคุก 262 ปี 787 เดือน เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้วให้ จำคุก 50 ปี ตาม ป.อ มาตรา 91(3)
คือ คำพิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาคกลาง เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2563 ในคดีกล่าวหา นายชัยรัตน์ นฤชัย อดีตเจ้าหน้าที่สถานธนานุเคราะห์ 27 ของ กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทำความผิดทางอาญาในการตรวจสอบคุณภาพและประเมินราคาทรัพย์จำนำเกินหลักเกณฑ์ตามระเบียบสำนักงานธนานุเคราะห์ ซึ่งถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช. ลงมติชี้มูลความผิดทางอาญาตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 8 และมาตรา 11 ประกอบ ป.อ.มาตรา 86 และ 91
ที่สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) นำมาเสนอให้สาธารณได้รับทราบไปแล้ว
(อ่านประกอบ : คุก 262 ปี 787 ด. ติดจริง 50 ! จำเลยคนที่ 2 คดี อดีต ผจก.โรงรับจำนำรัฐ 27)
ข้อมูลที่ยังไม่เปิดเผยต่อสาธารณชนเกี่ยวกับคดีนี้ คือ พฤติการณ์การกระทำความผิดของ นายชัยรัตน์ ที่ทำให้ถูกตัดสินลงโทษสูงถึง 262 ปี 787 เดือน เป็นอย่างไร?
สำนักข่าวอิศรา นำรายละเอียดมาเสนอ ณ ที่นี้
ขณะเกิดเหตุ นายชัยรัตน์ นฤชัย จำเลย เป็นพนักงานสำนักงานธนานุเคราะห์สังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ตำแหน่ง ผู้ช่วยผู้จัดการสำนักงานธนานุเคราะห์ 27 มีหน้าที่ช่วยตรวจสอบคุณภาพและประเมินราคาสิ่งของที่รับจำนำให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่สำนักงานธนานุเคราะห์กำหนด
คือ ต้องประเมินราคาทรัพย์ที่รับจำนำไม่เกินอัตราร้อยละ 60 ของราคากลางที่สำนักงานธนานุเคราะห์กำหนด
ซึ่งจำเลยทราบหลักเกณฑ์ดังกล่าวดี
จำเลยจึงเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 4 และเป็นพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502
ตามวันเวลาเกิดเหตุตามฟ้องช่วงเดือนมีนาคม 2549 -ตุลาคม 2549 จำเลยตรวจสอบและประเมินราคาทรัพย์ที่ผู้จำนำ นำมาจำนำต่อสถานธนานุเคราะห์ 27 รวม 131 ครั้ง
แต่ละครั้ง จำเลยประเมินราคาทรัพย์ที่รับจำนำไว้เกินกว่าร้อยละ 60 ของราคากลางที่สำนักงานธนานุเคราะห์กำหนด
อาทิ แหวนทองคำเจือเพชรลูก หนัก 6.6 กรัม 1 วง ในราคา 13,000 บาท ต่างหูก้านทองคำเจือเพชรลูก หนัก 1.7 กรัม 1 ชิ้น ในราคา 35,000 บาท ล็อกเกตทองคำเจือเพชรลูก หนัก 2.6 กรัม จำนวน 1 ชิ้น ในราคา 42,000 บาท เป็นต้น
ทำให้ ผู้จำนำ ขาดส่งดอกเบี้ย และปล่อยให้ทรัพย์หลุดจำนำ
เมื่อทรัพย์จำนำหลุดจำนำ ต่อมาสำนักงานธนานุเคราะห์นำทรัพย์หลุดจำนำออกประมูลขายทอดตลาด ไม่มีผู้ให้ราคา
เนื่องจากราคาทรัพย์มีราคาขายสูงตามที่รับจำนำไว้ เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายต่อสำนักงานธนานุเคราะห์
ดังนี้ การกระทำของจำเลยซึ่งเป็นพนักงาน มีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใดๆ ใช้อำนาจในหน้าที่โดยทุจริตอันเป็นการเสียหายแก่สถานธนานุเคราะห์ อันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 8
เมื่อการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามมาตรา 8 ซึ่งเป็นบทเฉพาะของบททั่วไปตามมาตรา 11 ย่อมไม่จำต้องปรับบท ความผิดตามมาตรา 11 ซึ่งเป็นบททั่วไปอีก
พิพากษาว่า จำเลย มีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 8 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91
จำคุกกระทงละ 5 ปี
จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาคดี มีเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่ง คงจำคุกกระทงละ 2 ปี 6 เดือน รวม 131 กระทง
เป็นจำคุก 262 ปี 786 เดือน
เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้วให้จำคุก 50 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (3)
อย่างไรก็ดี คดียังไม่สิ้นสุด จำเลย มีสิทธิต่อสู้คดีเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ในชั้นศาลที่สูงกว่านี้อีกได้
ผลคดีเป็นอย่างไรต้องติดตามดูกันต่อไป
แต่พฤติการณ์ของ นายชัยรัตน์ นฤชัย อดีตผู้ช่วยผู้จัดการสำนักงานธนานุเคราะห์ 27 รายนี้ นับว่าเป็นกรณีศึกษาสำคัญในคดีทุจริตเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐที่มีหน้าที่ตรวจสอบคุณภาพและประเมินราคาทรัพย์จำนำของสำนักงานธนานุเคราะห์ทั่วประเทศ ไม่ให้ใครเดินซ้ำรอยเอาเป็นเยี่ยงอย่าง ได้ชัดเจนอีกกรณีหนึ่ง
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage