"...ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา บางประเทศก็เริ่มมีความมั่นใจในวัคซีนโคโรนาแวคเกิดขึ้นบ้างแล้ว เช่น ในประเทศอินโดนีเซีย เพราะจากข้อมูลการศึกษาของกระทรวงสาธารณสุขของประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งมีผู้สนับสนุนการศึกษาโดย Real-World-Study พบว่าวัคซีนมีอัตราประสิทธิภาพอยู่ที่ 96 เปอร์เซ็นต์ สำหรับการป้องกันไม่ให้เกิดการเจ็บป่วยจนต้องเข้าไปรับการรักษาในโรงพยาบาล และมีอัตราประสิทธิภาพอยู่ที่ 98 เปอร์เซ็นต์ สำหรับการป้องกันการเสียชีวิตที่เกิดจากไวรัสโควิด-19 ..."
......................
เป็นหนึ่งในชนิควัคซีนไวรัสโควิด-19 หรือโคโรน่าไวรัส ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจากองค์การอาหารและยา(อย.) ไปเมื่อเร็วๆ นี้ สำหรับ วัคซีนโคโรนาแวค ของบริษัท ซิโนแวค ที่นำเข้า โดยองค์การเภสัชกรรม
แต่ก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์มาตลอดวัคซีนชนิดนี้ มีประสิทธิภาพเพียงพอหรือไม่ เพราะก่อนหน้านี้วัคซีนของบริษัทซิโนแวค ถูกจับตามองในเรื่องนี้มาโดยตลอด ขณะที่วัคซีน 6 รายการ ที่ องค์การอนามัยโลก(WHO) อนุมัติให้ใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉิน ก็ไม่มีวัคซีนซิโนแวคที่มีการนำมาฉีดให้คนไทยด้วย
(อ่านประกอบ:ผลทดลองวัคซีนซิโนแวค มีประสิทธิภาพแค่ 50.4% - ไทยจะนำเข้า 2 ล้านโดส ต้องทำยังไง?,ประสบการณ์ตรง! 'ฟิลิปปินส์' ทำไมระงับฉีดวัคซีนซิโนแวคบุคลากรแพทย์แนวหน้า)
ล่าสุดเมื่อวันที่ 17 พ.ค.2564 ที่ผ่านมา เว็บไซต์ Trialsitenews ที่นำเสนอข่าวเกี่ยวกับการทดลองทางการแพทย์ของสหรัฐอเมริกาได้จัดทำรายงานเจาะลึกเกี่ยวกับวัคซีนโคโรนาแวค มีรายละเอียดต่อไปดังนี้
ต้องยอมรับว่าความมั่นใจของประเทศตะวันตกเกี่ยวกับวัคซีนโคโรนาแวค ที่ผลิตจากบริษัทของประเทศจีน ซึ่งมีชื่อว่าซิโนแวคนั้นอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ เหตุผลมาจากปัจจัยสำคัญหลายประการ อาทิ การขาดความโปร่งใสในกระบวนการทำผลการศึกษาในวงกว้าง การที่มีผลการศึกษาเชิงประสิทธิภาพในวงที่กว้างมาก (นับตั้งแต่ 50 เปอร์เซ็นต์ไปจนถึง 91 เปอร์เซ็นต์) รวมไปถึงความรู้สึกอคติต่อภาควิทยาศาสตร์ชีวภาพของประเทศจีน ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา บางประเทศก็เริ่มมีความมั่นใจในวัคซีนโคโรนาแวคเกิดขึ้นบ้างแล้ว เช่น ในประเทศอินโดนีเซีย เพราะจากข้อมูลการศึกษาของกระทรวงสาธารณสุขของประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งมีผู้สนับสนุนการศึกษาโดย Real-World-Study พบว่าวัคซีนมีอัตราประสิทธิภาพอยู่ที่ 96 เปอร์เซ็นต์ สำหรับการป้องกันไม่ให้เกิดการเจ็บป่วยจนต้องเข้าไปรับการรักษาในโรงพยาบาล และมีอัตราประสิทธิภาพอยู่ที่ 98 เปอร์เซ็นต์ สำหรับการป้องกันการเสียชีวิตที่เกิดจากไวรัสโควิด-19
ขณะเดียวกันสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศอินเดียนั้น ก็ส่งผลกระทบเป็นอย่างยิ่งต่อสถาบันเซรุ่มแห่งชาติของประเทศอินเดีย ซึ่งถือว่าเป็นผู้ผลิตวัคซีนรายใหญ่ที่สุดของโลก ในการจะบรรลุเป้าหมายผลิตวัคซีนโควิด ทำให้องค์การอนามัยโลก (WHO) มีความจำเป็นต้องขยับท่าทีเพื่อที่จะนำไปสู่การอนุมัติวัคซีนโคโรนาแวคให้เร็วมากยิ่งขึ้นไปอีก
@ ผลการศึกษาที่ประเทศอินโดนีเซียเป็นอย่างไร?
กระทรวงสาธารณสุขของประเทศอินโดนีเซียนั้นได้มีการสนับสนุนการศึกษาผลการทดลองนับตั้งแต่วันที่ 13 ม.ค.- 18 มี.ค. เพื่อจะสืบหาถึงประสิทธิภาพของวัคซีน อันหมายถึงขีดความสามารถของวัคซีนในการป้องกันไวรัสโควิด-19 ที่ระบาดทั่วโลก ซึ่งขณะนี้กำลังมีการสรุปผลการทดลองทางคลินิก และคาดว่าจะมีการรายงานผลการทดลองดังกล่าวได้ในช่วงเดือน มิ.ย. ที่จะถึงนี้
ด้านนายซิติ นาเดีย ทาร์มิซี (Siti Nadia Tarmizi) โฆษกกระทรวงสาธารณสุขของประเทศอินโดนีเซีย ที่รับผิดชอบในการสื่อสารด้านกระบวนการฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 ได้กล่าวว่าผลการฉีดวัคซีนที่รายงานโดย Real-World-Study นั้นสะท้อนให้เห็นว่ากลุ่มคนที่มีความเสี่ยงที่สุดที่ได้รับวัคซีนของบริษัทซิโนแวคควบคู่ไปกับการที่ประเทศได้เปิดรับวัคซีนชนิดนี้นั้นแสดงให้เห็นถึงความพยายามของประเทศที่จะก้าวไปสู่การมีภูมิคุ้มกันหมู่
รายงานข่าวการใช้วัคซีนซิโนแว็กในประเทศอินโดนีเซีย (อ้างอิงวิดีโอจาก New China TV)
@ข้อจำกัดด้านข้อมูล
ขณะที่ นพ.พันจิ เทวันทารา (Panji Dhewantara) ศาสตราจารย์ผู้สืบสวนผลการศึกษาวัคซีน ได้กล่าวว่าแม้ว่าข้อมูลจะยังคงมีข้อจำกัดอยู่บ้าง แต่ผลการศึกษาที่ได้มา ณ เวลานี้ ก็เพียงพอสำหรับสาธารณชนและรัฐบาลแล้วในการตัดสินใจเชิงกลยุทธ์ต่อไป ว่าจะดำเนินการอย่างไรเกี่ยวกับแผนการฉีดวัคซีน ซึ่งข้อบ่งชี้นั้นระบุชัดเจนว่ากระบวนการฉีดวัคซีนให้ครบต่อไปนั้น ถือว่าเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง
@กระแสที่เป็นบวกต่อวัคซีนของจีนที่เพิ่มมากขึ้น
วัคซีนโคโรนาแวคที่ผลิตจากบริษัทจีนซิโนแวคนั้นกำลังจะกลายเป็นกุญแจสำคัญสำหรับการฉีดวัคซีนในประเทศที่มีรายได้ต่ำและรายได้ปานกลาง
แม้ว่าในหลายประเทศอาทิ บราซิล ไปจนถึงตุรกีจะมีผลการทดลองที่หลากหลายตั้งแต่ 50 เปอร์เซ็นต์ไปจนถึง 91 เปอร์เซ็นต์ก็ตาม
โดยในช่วงปลายเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา คณะกรรมการของ WHO ได้เริ่มที่จะแสดงความมั่นใจเกี่ยวกับประสิทธิภาพของวัคซีนโคโรนาแวคมากขึ้นเรื่อยๆ แต่คณะกรรมการฯ ก็ยังมีความกังวลบางส่วนเกี่ยวกับผลข้างเคียงที่รุนแรงกับผู้ที่สูงอายุ โดยเฉพาะกลุ่มประชากรที่มือโรคติดต่อ ซึ่งในเวลานี้ทาง WHO ก็กำลังอยู่ในขั้นตอนสุดท้ายที่จะมีการพิจารณาอนุมัติการใช้งานวัคซีนโคโรนาแวคเป็นการฉุกเฉินแล้ว
@ผลกระทบที่สำคัญต่อประเทศในอเมริกาใต้
ณ เวลานี้ หน่วยงานด้านสาธารณสุขในประเทศชิลีที่มีการฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 หลายยี่ห้อคิดเป็นจำนวน 41.5 เปอร์เซ็นต์ของประชากร โดยเริ่มที่การมุ่งเน้นการฉีดวัคซีนในกลุ่มประชากรผู้สูงอายุที่มีความเสี่ยงสูง ก็เริ่มที่จะมีการให้เครดิตกับวัคซีนโคโรนาแวคแล้วเช่นกันว่า เพราะสามารถที่จะลดอัตราการเสียชีวิตและการเข้าโรงพยาบาลอันเนื่องมาจากไวรัสโควิด-19 ในประเทศชิลีได้
แต่อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่ประเทศชิลีต้องเผชิญ ณ เวลานี้ก็คือการระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ ที่มาจากกลุ่มประชากรที่มีอายุน้อยกว่า ที่ยังไม่เคยได้รับการฉีดวัคซีนโคโรนาแวคก่อน
รายงานข่าวประสิทธิภาพวัคซีนของประเทศชิลี (อ้างอิงวิดีโอจากสำนักข่าวสเตรทไทม์)
@การใช้วัคซีนทั่วโลก ณ เวลานี้
วัคซีนโคโรนาแวค ณ เวลานี้ มีการอนุมัติใช้งานฉุกเฉินแล้วในประเทศจีน และอยู่ภายใต้การศึกษาผลวัคซีนในหลายพื้นที่ทั่วโลก โดยเฉพาะที่ประเทศอินโดนีเซีย มีการทดลองทางคลินิกกับกลุ่มอาสาสมัครจำนวน 1,620 ราย ซึ่งผู้ที่ดำเนินการทดลอง ก็คือ บริษัทไบโอฟาร์มา และคาดว่าจะได้ผลสรุปในเดือน มิ.ย. นี้
ขณะที่ซาอุดิอาระเบีย ก็ได้มีการลงนามที่จะแจกจ่ายวัคซีนโคโรนาแวคให้กับบุคลากรทางการแพทย์จำนวน 7,000 รายแล้วเช่นกัน หลังจากที่มีการทดลองทางคลินิกในระยะที่ 3 ร่วมกับกองกำลังรักษาดินแดนซาอุดิอาระเบียไปแล้ว
ส่วนทางด้านเว็บไซต์ https://www.pharmaceuticalcommerce.com/ ก็มีรายงานเช่นกันว่าวัคซีนโคโรนาแวคนั้นได้รับการอนุมัติให้ใช้งานฉุกเฉินแล้วในพื้นที่ 30 กว่าประเทศทั่วโลก
ซึ่งทางบริษัทได้มีการรายงานขีดความสามารถว่าสามารถผลิตวัคซีนได้เป็นจำนวนกว่า 2 พันล้านโดส และมีการแจกส่งวัคซีนไปแล้วจำนวนกว่า 200 ล้านโดส ไปยังพื้นที่ 20 ประเทศทั่วโลก ซึ่งในจำนวนวัคซีน 200 ล้านโดสนี้ ได้มีการนำไปฉีดเพื่อรับมือกับสถาณการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 แล้วจำนวนกว่า 100 ล้านโดสด้วย
ส่วนในแง่ของการรับรองคุณภาพนั้น มีรายงานว่าได้มีการตรวจสอบคุณภาพแล้วโดยหน่วยงานต่างๆจากทั้งจีน, บราซิล, อินโดนีเซีย, สิงคโปร์, ชิลี และซาอุดิอาระเบีย รวมไปถึงทาง WHO เอง
ทั้งหมด ก็คือ รายงานที่เกี่ยวข้องกับการใช้วัคซีนของบริษัทซิโนแวคที่เกิดขึ้นทั่วโลก ณ เวลานี้
เรียบเรียงจาก:https://trialsitenews.com/indonesian-real-world-evidence-large-study-demonstrates-high-effectivity-of-sinovacs-coronavac/
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/