“....เมื่อบุคคลาการทางการแพทย์ในระดับแนวหน้า จะต้องมีการสัมผัสกับผู้ป่วยโควิด-19 อยู่ตลอดเวลา จำนวนไวรัสที่จะเข้าสู่ร่างกายก็จะสูงกว่าที่คนธรรมดาจะได้รับเช่นกัน ถ้าหากเป็นบุคคลทั่วไปแล้ว อัตราประสิทธิภาพของวัคซีนชนิดนี้ถือว่าดีเพียงพอแล้วที่จะปกป้องไม่ให้พวกเขามีอาการป่วยที่รุนแรง...”
...........................
"ถือเป็นวันแห่งประวัติศาสตร์ที่เราได้ร่วมกันรับวัคซีนล็อตแรกที่มาจากประเทศจีนซึ่งรัฐบาลได้บริหารจัดการการนำเข้าวัคซีนมาอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่วัคซีนโควิดเป็นความต้องการของคนทั่วโลก รัฐบาลได้พยายามอย่างยิ่งยวดที่จะนำเข้าวัคซีนมาสู่ประชาชน สำหรับวัคซีนล็อตต่อไปจะนำเข้ามาตามกำหนดระยะเวลาที่อุปทูตจีนและกระทรวงสาธารณสุขได้รับการยืนยัน"
คือ คำยืนยันของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐฒนตรี หลังนำคณะนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณะ และนายหยาง ซิน อุปทูตรักษาราชการ สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย เป็นประธานรับมอบวัคซีนซิโนแวคจากจีน ซึ่งเป็นล็อตแรก จำนวน 200,000 โดส โดยเดินทางมาถึงสนามบินสุวรรณภูมิเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา ด้วยเที่ยวบินขนส่งสินค้า (Cargo) เที่ยวบิน TG 675 เส้นทางปักกิ่ง-กทม. ของสายการบินการบินไทย เมื่อวันที่ 24 ก.พ.2564
(อ่านประกอบ : วันแห่งประวัติศาสตร์! นายกฯนำทีมรับมอบวัคซีนซิโนแวคล็อตแรก)
อย่างไรก็ดี นอกจากประเทศไทยแล้ว ในส่วนของฟิลิปปินส์ ที่ได้เริ่มใช้วัคซีนจากซิโนแวคจากจีนไปแล้ว ดูเหมือนว่าจะมีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องความเหมาะสมและประสิทธิภาพในการฉีดวัคซีนโควิด ให้กับกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์เกิดขึ้น?
โดย สำนักข่าวฟิลิปปินส์ เดลี่ อินไควเรอร์ ของประเทศฟิลิปปินส์ ได้เปิดเผยข้อมูลคำแนะคำจากองค์การอาหารและยาของฟิลิปินส์ หรือว่า FDA เกี่ยวกับการใช้งานวัคซีนซิโนแวคในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์
มีรายละเอียดสำคัญดังนี้
ทาง FDA ได้เปิดเผยคำแนะนำว่า บุคลากรทางการแพทย์ ที่ไม่ได้รักษาผู้ป่วยไวรัสโควิด-19 สามารถจะรับการฉีดวัคซีนซิโนแวคที่มาจากประเทศจีนได้
โดย นพ.อีริก โดมิงโก ผู้อำนวยการ FDA ได้ออกมากล่าวถึงการใช้งานวัคซีนซิโนแวคว่า วัคซีนซิโนแวคนั้นมีอัตราประสิทธิภาพอยู่ที่ 65.3 เปอร์เซ็นต์ สำหรับกลุ่มที่มีสุขภาพดีในช่วงอายุตั้งแต่ 18-59 ปี
ถ้าหากยึดตามข้อมูลการรักษาในประเทศอินโดนีเซีย และมีอัตราประสิทธิภาพอยู่ที่ 91.2 เปอร์เซ็นต์ ถ้ายึดตามผลการทดลองการรักษาที่ประเทศตุรกี
อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้ นพ.โดมิงโก ได้เคยอธิบายข้อมูลมาแล้วว่า วัคซีนซิโนแวคนั้นมีอัตราประสิทธิภาพอยู่ที่ 50.4 เปอร์เซ็นต์ จึงหมายความว่าวัคซีนชนิดนี้นั้นไม่ใช่วัคซีนที่ดีที่สุดที่จะให้กับบุคคลากรทางการแพทย์ในแนวหน้าที่จะต้องสัมผัสกับผู้ป่วยโควิด-19
อ้างอิงวิดีโอจาก CNN
ทั้งนี้ มีรายงานว่า ณ เวลานี้มีการประมาณการณ์กันว่าประเทศฟิลิปปินส์นั้นจะบุคลากรทางการแพทย์จำนวนกว่า 20,000 คน ที่ต้องดำเนินการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ทั่วประเทศฟิลิปปินส์
ซึ่งก่อนหน้าที่จะมีการชี้แจงจากทาง FDA นั้น มีรายงานว่า สมาชิกวุฒิสภาของฟิลิปปินส์หลายคนได้พยายามสอบถามกับคำแนะนำของ FDA ที่เคยคัดค้านถึงการใช้วัคซีนซิโนแวคกับผู้ที่เป็นบุคลากรทางการแพทย์
โดย นายฟรานซิส แพนจิลิแนน สมาชิกวุฒิสภา ได้กล่าวย้ำว่า เรื่องนี้อาจจะเป็นปัญหาได้ และการให้คำอนุมัติฉุกเฉินต่อวัคซีนจากบริษัทซิโนแวคนั้นก็เปรียบเสมือนกับการวัดใจไปแล้วครึ่งหนึ่ง
“ประชาชนของเรา บุคคลที่ไม่ใช่บุคลากรทางการแพทย์แนวหน้า พวกเขาจะรู้สึกอย่างไรถ้าหาก พวกเขาได้รับวัคซีนจากซิโนแวค มากกว่าวัคซีนชนิดอื่นที่ไม่มีคำแนะนำเชิงลบในด้านการใช้งาน”นายแพนจิลิแนนถามกลับ
นายแพนจิลิแนน ยังได้แสดงความกังวลถึงความเป็นไปได้ว่าบุคลากรทางการแพทย์นั้นจะไม่ได้ถูกให้ความสำคัญอย่างแท้จริงในการเป็นผู้รับวัคซีน
อ้างอิงรูปภาพจากสำนักข่าวอนาโดลู
@ปริมาณไวรัสที่เข้าสู่ร่างกาย
ในกระบวนการหารือกับทาง FDA นั้น ยังมีคำอธิบายแนะนำเรื่องการไม่ให้ใช้วัคซีนกับบุคคลบางกลุ่ม โดยยกข้อเปรียบเทียบว่า "วัคซีนนั้นก็เปรียบเสมือนกับอาหาร อาหารบางอย่างนั้นอาจจะเหมาะสมกับคนหนึ่ง แต่สำหรับอีกคนอาหารอาจจะเผ็ดเกินไปก็เป็นได้ หรือบางจานก็อาจจะมีวัตถุบางอย่างที่ทำให้ผู้รับประทางอาหารเกิดอาการแพ้เป็นต้น"
ส่วนนายฮวน มิกูเอล ซูบิริ สมาชิกวุฒิสภา ผู้ที่เข้าร่วมอภิปราย ได้กล่าวยอมรับว่าเหตุผลที่ทาง FDA ไม่แนะนำให้ใช้วัคซีนกับบุคลากรทางการแพทย์นั้นเพราะว่าอัตราประสิทธิภาพของวัคซีนถือว่าต่ำกว่าเล็กน้อยเมื่อเทียบกับวัคซีนชนิดอื่นๆ
นายซูบิริ ยังกล่าวด้วยว่า เมื่อบุคลากรทางการแพทย์ต้องสัมผัสกับผู้ป่วยโควิด-19 พวกเขาต้องการวัคซีนที่มีอัตราประสิทธิภาพที่สูงขึ้น เพื่อให้พวกเขารู้สึกว่าได้รับความคุ้มครอง
“เมื่อบุคคลาการทางการแพทย์ในระดับแนวหน้า จะต้องมีการสัมผัสกับผู้ป่วยโควิด-19 อยู่ตลอดเวลา จำนวนไวรัสที่จะเข้าสู่ร่างกายก็จะสูงกว่าที่คนธรรมดาจะได้รับเช่นกัน ถ้าหากเป็นบุคคลทั่วไปแล้ว อัตราประสิทธิภาพของวัคซีนชนิดนี้ถือว่าดีเพียงพอแล้วที่จะปกป้องไม่ให้พวกเขามีอาการป่วยที่รุนแรง”นายซูบิริกล่าว
นายซูบิริกล่าวต่อไปว่า "แต่ถ้าหากเป็นหมอ พวกเขามีความจำเป็นที่จะต้องได้รับความคุ้มครองเพิ่มเติม เพราะจำนวนการอัดเข้ามาของไวรัสที่ว่านี้ หมายความว่าพวกเขาจะต้องปนเปื้อนไวรัสโควิด-19 ตลอดเวลา ดังนั้นพวกเขาก็จะต้องการวัคซีนที่มีอัตราประสิทธิภาพสูงเพื่อที่จะคุ้มครองพวกเขาจากอัตราปนเปื้อนที่สูงตามมาด้วย"
ทั้งนี้ หลังจากการประชุมหารือของวุฒิสภาฟิลิปปินส์ในวันที่ 22 ก.พ. ที่ผ่านมา ล่าสุดในวันที่ 23 ก.พ. นายแฮร์รี่ โรคก์ โฆษกประจำตัวนายโรดริโก้ ดูเตอร์เต้ ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ ได้แถลงข่าวว่าสืบเนื่องจากความต้องการที่จะให้ความสำคัญกับบุคลากรทางการแพทย์ในแนวหน้า รวมไปถึงผู้สูงอายุ ดังนั้น พวกเขาจึงไม่สามารถที่จะใช้วัคซีนชนิดดังกล่าวได้
เช่นเดียวกับนายโรดริโก้ ดูเตอร์เต้ ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ที่จะไม่ได้รับวัคซีนชนิดนี้ เนื่องจากมีอายุถึง 75 ปีแล้ว
"แต่ผู้ที่จะได้รับวัคซีนซิโนแวคนั้นจะเป็นบุคลาการที่ทำหน้าที่ในแนวหน้าในด้านการเปิดภาคเศรษฐกิจ ควบคู่ไปกับเจ้าหน้าที่ทหารแทน ซึ่งบุคคลเหล่านี้นั้นถือเป็นกลไกสำคัญที่ทำให้ภาคส่วนอุตสาหกรรมดำเนินต่อไปได้ในช่วงที่มีการใช้มาตรการปิดเมือง"
เรียบเรียงจาก:https://newsinfo.inquirer.net/1398820/sinovac-vaccine-ok-for-health-workers-not-treating-covid-19-patients,https://newsinfo.inquirer.net/1398885/health-workers-seniors-cant-get-sinovac-shots
ทั้งหมดนี่ คือ ประสบการณ์เกี่ยวกับแนวทางการจัดการวัคซีนซิโนแวคของฟิลิปปินส์ ที่ได้มีการเลี่ยงการใช้งานวัคซีนในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ไปแล้ว
ขณะที่ ประเทศไทย มีรายงานข่าวจากกระทรวงสาธารณสุขว่าจะทดลองฉีดวัคซีนซิโนแวคล็อตแรกซึ่งมาถึงไทยแล้วเมื่อช่วงเช้าวันนี้ (24 ก.พ.) ให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า เช่น แพทย์ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน เจ้าหน้าที่ภาคสนามในพื้นที่ความเสี่ยงสูง
โดยได้รวบรวมบุคลากรที่สมัครใจทดลองฉีดวัคซีนล็อตแรกราว 3.2 หมื่นคน ซึ่งจะจัดฉีดวัคซีนในวันที่ 28 ก.พ. นี้
ผลเป็นอย่างไร ติดตามดูกันอย่างใกล้ชิดต่อไป
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage