"…เรือนจำทั่วประเทศมีทั้งหมด 143 แห่ง เป็นสถานที่ปิด ไม่มีคนเข้าออก น่าจะควบคุมโรคได้ง่าย แต่แท้จริงแล้ว เรือนจำมีหน้าที่พาผู้ต้องขังไปรักษา หรือขึ้นศาลบ้าง ขณะที่สภาพภายในเรือนจำค่อนข้างคับแคบ และมีผู้ต้องขังจำนวนมาก จนเกือบเข้าสู่สภาวะนักโทษล้นคุก ดังนั้นในเรื่องสุขภาพอนามัยและการป้องกันโรคติดต่อต่างๆ จึงทำได้อย่างจำกัด…”
…………………………..……………..……………………..
'เรือนจำ' กลายเป็นคลัสเตอร์การระบาดของเชื้อโควิดแห่งใหม่ ที่กำลังถูกจับตามองในประเทศไทย โดยเฉพาะรายงานสถานการณ์ประจำวันจากศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด (ศบค.) ประจำวันที่ 17 พ.ค.2564 ระบุว่า พบตัวเลขผู้ติดเชื้อในเรือนจำมากถึง 6,853 ราย และเป็นเหตุให้รายงานผู้ติดเชื้อรายใหม่ประจำวันเดียวกันนี้มีมากเกือบเฉียดหมื่นราย
โดย นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด (ศบค.) กล่าวถึงภาพรวมสถานการณ์ผู้ติดเชื้อในเรือนจำ ว่า เรือนจำที่มีการค้นหาเชิงรุก ทั้งหมด 8 แห่ง ทำการตรวจหาเชื้อไปแล้ว 24,357 ราย และพบผู้ติดเชื้อโควิด 10,748 ราย และอยู่ระหว่างรอรายงานผลอีก 2,235 ราย ซึ่งหมายความว่า พบเชื้อโควิด 49% จากจำนวนผู้ที่เข้ารับการตรวจทั้งหมด โดยมีรายละเอียด ดังนี้
(ข่าวประกอบ : ป่วยใหม่ 9,635 โควิดในเรือนจำ 6,853 จับตา 11 ซับคอนแทรคโยงคลัสเตอร์แคมป์คนงาน)
เรือนจำ 5 แห่งใน กทม. ประกอบด้วย เรือนจำกลางพิเศษกรุงเทพฯ , ทัณฑสถานหญิงกลาง , เรือนจำกลางคลองเปรม , เรือนจำพิเศษธนบุรี และทัณฑสถานบำบัดพิเศษกลาง ตรวจหาเชื้อ 14,429 ราย พบติดเชื้อ 6,749 ราย หรือคิดเป็น 47%
เรือนจำจังหวัดนนทบุรี ตรวจหาเชื้อ 2,661 ราย อยู่ระหว่างรอผล 2,214 ราย และพบติดเชื้อแล้ว 48 ราย หรือคิดเป็น 11%
เรือนจำจังหวัดฉะเชิงเทรา ตรวจหาเชื้อ 798 ราย อยู่ระหว่างรอผล 21 ราย พบติดเชื้อ 22 ราย หรือคิดเป็น 3%
เรือนจำจังหวัดเชียงใหม่ ตรวจหาเชื้อ 6,469 ราย พบติดเชื้อ 3,929 ราย หรือคิดเป็น 61%
ด้าน นายอายุตม์ สินธพันธุ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เปิดเผยข้อมูลว่า ปัจจุบันมีผู้ต้องขังอยู่ 311,540 ราย และมีเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานกว่า 13,000 ราย ซึ่งตั้งแต่มีการระบาดได้ใช้นโยบายสกัดกั้นการแพร่ระบาดของโควิด ‘คนในห้ามออก คนนอกห้ามเข้า’ กล่าวคือ ห้ามเข้าออก ส่วนผู้ต้องขังรายใหม่ที่กลับมาจากการไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลหรือกลับมาจากศาล จะต้องกักตัว 14 วัน และจะมีการตรวจหาเชื้อโควิดทางโพรงจมูก หรือ Swab 2 ครั้ง หากพบเชื้อจะถูกส่งต่อนำไปรักษา ก่อนจะปล่อยกลับเข้าแดนปกติ
เรือนจำทั่วประเทศมีทั้งหมด 143 แห่ง เป็นสถานที่ปิด ไม่มีคนเข้าออก ทำให้คาดการณ์ว่าน่าจะควบคุมโรคได้ง่าย แต่ในความเป็นจริงแล้ว เรือนจำมีหน้าที่พาผู้ต้องขังไปรักษาอาการป่วย หรือนำตัวไปขึ้นศาล รวมถึงมีการทำกิจวัตรประจำวันร่วมกันหลายร้อยคน ขณะที่สภาพภายในเรือนจำค่อนข้างคับแคบ และมีผู้ต้องขังจำนวนมาก จนเกือบเข้าสู่ ‘สภาวะนักโทษล้นคุก’ ดังนั้นในเรื่องสุขภาพอนามัย และการป้องกันโรคติดต่อต่างๆ จึงทำได้อย่างจำกัด
สำหรับสาเหตุที่มีรายงานผู้ติดเชื้อแบบก้าวกระโดดนั้น นายอายุตม์ กล่าวชี้แจงว่า เมื่อพบผู้ติดเชื้อ จึงได้ตรวจหาเชิงรุก ตามแนวทางการสอบสวนโรค และจากรายงานพบว่า มีเรือนจำประมาณ 15 แห่งทั่วประเทศ ที่พบผู้ต้องขังป่วยโควิด ซึ่งกำลังดำเนินการแก้ไข ส่วนที่เหลือก็ได้ดำเนินการเฝ้าระวังอย่างเต็มที่ ส่วนผู้ต้องขังที่ติดเชื้อ ก็จะได้ทำการรักษาต่อไป
“ในการระบาดระลอกแรก แม้จะติดไม่มาก แต่กลับเพิ่มขึ้นตามลำดับ สอดคล้องกับอัตราการติดเชื้อของประชาชนในประเทศ ทำให้การระบาดระลอกที่ 3 มีอัตราผู้ต้องขังติดเชื้อในเรือนจำที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งสถานการณ์ของเรือนจำในต่างประเทศ ต่างก็มีแนวโน้มการติดเชื้อของผู้ต้องขังสัมพันธ์กับอัตราการติดเชื้อของประชาชนภายในประเทศ เช่นเดียวกับประเทศไทย” นายอายุตม์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม นายอายุตม์ กล่าวด้วยว่า ขอประชาชนอย่ากังวลใจ ขณะนี้ได้ปูพรมในการตรวจหาเชื้อโควิด ซึ่งคาดว่าอาจจะมีนวนผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้นอีก แต่อยากให้มั่นใจว่าทางกรมราชทัณฑ์จะดูแลผู้ต้องขังอย่างดีที่สุด โดยได้มีการจัดตั้งศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กรมราชทัณฑ์ (ศกค.รท) ขึ้นมาในการติดตามตัวเลขผู้ต้องขังที่ติดเชื้อและรักษาหายแล้ว
พร้อมสั่งการให้เติม ‘คลอรีน’ ลงในอ่างอาบน้ำเรือนจำทั่วประเทศ เพิ่มการใช้ ‘สบู่เหลว’ ให้กับผู้ต้องขัง เพื่อช่วยฆ่าเชื้อโรค และกำชับให้ผู้บัญชาการเรือนจำ บริหารจัดการควบคุมสถานการณ์โควิดให้รวดเร็วที่สุด โดยเน้นการตัดสินใจรวดเร็ว คัดกรองเร็ว แยกกลุ่มผู้ต้องขังที่มีความเสี่ยงสูงก่อน อาทิ ผู้มีโรคประจำตัว และผู้มีอายุตั้งแต่ 60 ปี ขึ้นไป จัดให้มีการตรวจหาเชื้อทางโพรงจมูก หรือ Swab 100% ทุกๆ 7 วัน รวมถึงเอ็กซเรย์ปอดของทุกคน และเมื่อเจอเชื้อ ให้รีบให้ยาตามมาตรฐานการดูแลรักษา
กรณีเมื่อไม่พบผู้ติดเชื้อแล้ว แต่ยังพบผู้ต้องขังที่มีอาการไอ มีน้ำมูก ให้ตรวจเช็คก่อน นอกจากนั้นยังกำชับให้ผู้บัญชาการเรือนจำประสานผู้ว่าราชการทุกจังหวัดให้ตรวจโควิดให้ได้ 100% และประสานกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขให้ฉีดวัคซีนให้ครบ 100% ซึ่งขณะนี้มีผู้ได้รับวัคซีนแล้ว 12,000 คน ส่วนที่เหลือนั้นอยู่ระหว่างการขอการสนับสนุนเพิ่มเติม
(ซ้าย : นพ.วีระกิตติ์ หาญปริพรรณ์ และ กลาง : นายอายุตม์ สินธพันธุ์)
@ รับผู้ต้องขังเข้าใหม่ อีกปัจจัยเสี่ยงของโควิด
ด้าน นพ.วีระกิตติ์ หาญปริพรรณ์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ฝ่ายปฏิบัติการ กล่าวด้วยว่า การปูพรมตรวจคัดกรองเชิงรุก ทำให้ยอดผู้ต้องขังติดเชื้อเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดดถึงหลักพัน อย่างไรก็ตามขอเรียนว่าเป็นภารกิจที่เกิดขึ้นได้ภายในไม่ถึงสัปดาห์ เรียกได้ว่าเราสามารถตรวจคัดกรองเชิงรุกได้อย่างมีศักยภาพ ทั้งนี้ตั้งแต่พบการติดเชื้อในหลัก 10 ราย ทางกรมราชทัณฑ์ได้พยากรณ์แล้วว่า จะพบผู้ติดเชื้อจนถึงหลักพันและหลักร้อย ซึ่งยอดผู้ต้องขังติดเชื้อที่พบดังกล่าว ได้เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ เนื่องจากสภาวะของเรือนจำที่จำกัด ทุกคนไม่มีที่พักอาศัยอื่นใด และต้องอยู่ร่วมกันอย่างมีกรอบแนว
“เรือนจำและทัณฑสถานเป็นสถานที่ที่ต้องรับตัวผู้ต้องขังเข้าใหม่ ภายใต้กฎหมายที่เราต้องรับตามหน้าที่และไม่อาจปฏิเสธได้ กลายเป็นสภาวะจำนนที่แม้เราจะไม่อยากรับผู้ต้องขังรายใหม่เข้ามา แต่ต้องทำเพราะหน้าที่ ขณะเดียวกันต้องนำผู้ต้องขังออกศาลอยู่เสมอ ด้วยเหตุดังกล่าวจึงอาจมีการหลุดรอดของเชื้อเข้าสู่เรือนจำได้” นพ.วีระกิตติ์ กล่าว
@ เฝ้าระวัง 2 เรือนจำใน กทม.
ส่วนสถานการณ์การระบาดภายในเรือนจำในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ที่พบผู้ติดเชื้อสูงและยังต้องเฝ้าระวัง 2 แห่ง ประกอบด้วย
1. เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร มีผลการตรวจคัดกรองเชิงรุก 100% พบติดเชื้อแล้ว 1,960 ราย ซึ่งยังมีผู้ต้องขังส่วนหนึ่งที่ต้องรอยืนยันผลอีก 7 วัน และยังไม่พบผู้เสียชีวิต โดยมีปัจจัยเสี่ยงของการแพร่ระบาด คือ การต้องรับผู้ต้องขังรายใหม่ในเขตอำนาจศาลปกครองของกรุงเทพมหานครอยู่ตลอด รวมถึงเป็นเรือนจำที่มีผู้ต้องขังสูง เมื่อเทียบกับเรือนจำส่วนภูมิภาค เนื่องจากปัญหาอาชญากรรมหรือยาเสพติดในพระนครมีมากกว่า
2. เรือนจำพิเศษธนบุรี มีผลการตรวจคัดกรองเชิงรุก 100% พบติดเชื้อแล้ว 1,725 ราย โดยมีปัจจัยเสี่ยงของการแพร่ระบาด คือ อยู่ใกล้พื้นที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาด ประกอบกับสภาวะของเรือนจำที่ไม่มีบ้านพัก ทาวน์เฮ้าส์ หรือฮอสพิเทลให้กับผู้ต้องขังได้ แม้จะมีมาตรการให้สวมใส่หน้ากากอนามัยอยู่ตลอด แต่เมื่อต้องไปอาบน้ำหรือกินข้าวย่อมไม่สามารถกระทำได้ รวมถึงการต้องออกไปโรงพยาบาล หรือศาล และการรับผู้ต้องขังรายใหม่ เกิดเป็นความเสี่ยงต่อการระบาดที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้
“ด้วยเหตุดังกล่าวจึงอยากขอความดุลยภาพ เนื่องจากรมราชทัณฑ์ไม่อาจหลีกเลี่ยงการรับผู้ต้องขังรายใหม่ได้ ทำให้เราถูกคุกคามจากบุคคลภายนอก โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ขอให้ทุกคนร่วมพลังใจ ก้าวไปด้วยกัน ไม่โทษใคร ต่างคนต่างช่วยกัน เราจะดูแลผู้ต้องขังให้ดีที่สุด จะหมั่นสังเกตตรวจเช็คอาการ และให้ยาให้ไว เพื่อไม่ให้มีผู้ป่วยหนัก” นพ.วีระกิตติ์ กล่าว
(นพ.จตุชัย มณีรัตน์ คนที่ 2 จากซ้าย และ นายเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ คนที่ 3 จากซ้าย)
@ 'เรือนจำเชียงใหม่'ทำ Bubble and Seal คุมโควิด-คืนพื้นที่ปลอดภัย 28 พ.ค.64
สำหรับ สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดในกลุ่มผู้ต้องขังส่วนภูมิภาค ในจังหวัดเชียงใหม่ ที่กำลังเป็นที่น่าจับตามอง หลังพบการติดเชื้อ 3,929 ราย นายเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า ปัจจัยเสี่ยงของการระบาดภายในเรือนจำ คือ การมีผู้ต้องขังจำนวนมากและอยู่ในพื้นที่ปิด ซึ่งได้มีการนำระบบ Bubble and Seal เข้ามาใช้ ตั้งแต่วันที่ 26 เม.ย.2564 และมีกำหนดระยะเวลาการดำเนินการ 28 วัน ขณะนี้การดำเนินงานเป็นไปตามแผนและมีแนวโน้มที่ดีขึ้นตามลำดับ
นพ.จตุชัย มณีรัตน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า เรือนจำหรือทัณฑสถาน เป็นพื้นที่ปิดที่มีกิจกรรมทางสังคมที่ไม่ซับซ้อน จะต้องใช้มาตรการควบคุมโรคที่แตกต่างจากปกติ เนื่องจากมีผู้อาศัยอยู่อย่างหนาแน่น ทำให้เมื่อเจอการระบาด ต้องตั้งสมมติฐานก่อนว่าทุกคนติดเชื้อแล้ว จึงต้องใช้มาตรการที่เรียกว่า Bubble and Seal ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1.จำกัดขอบเขตการระบาดไม่ให้มีการกระจายเชื้อข้ามแดนห้องขัง หรือการกระจายเชื้อไปสู่ภายนอก 2. เร่งตรวจคัดกรองเชิงรุก เพื่อแยกผู้ป่วยติดเชื้อออกจากกัน เพื่อให้สามารถควบคุมสถานการณ์ได้อย่างรวดเร็ว และ 3. จัดตั้งโรงพยาบาลสนามภายในเรือนจำหรือทัณฑสถานให้สามารถดูแลผู้ป่วยสีเขียว เหลือง ส้มได้ ส่วนที่แดงอาจจะต้องส่งต่อนำไปรักษาที่โรงพยาบาล ซึ่งมีศักยภาพหรือมีเครื่องมือทางการแพทย์พร้อมกว่า
นพ.จตุชัย กล่าวอีกว่า ขณะนี้ทางจังหวัดเชียงใหม่ได้ดำเนินมาตรการมาแล้ว 3 สัปดาห์ เหลือเวลาอีกเพียง 1 สัปดาห์ และหลังจากนั้นจะใช้เวลาอีก 5 วัน ในการตรวจภูมิคุ้มกันอีกรอบหนึ่ง ซึ่งคากว่าจะพบผู้ที่ไม่มีภูมิคุ้มกันเพียง 10% เท่านั้น จากนั้นจะนำผู้ไม่มีภูมิคุ้มกันมาตรวจหาเชื้ออีกรอบ เพื่อคัดแยกจากกลุ่มผู้ต้องขังทั้งหมด ทั้งนี้คาดว่ากระบวนการจะเสร็จสิ้นภายในวันที่ 28 พ.ค. 2564 จะยึดคืนพื้นที่ปลอดภัยภายในเรือนจำได้
(นายสมศักดิ์ เทพสุทิน)
@ 10 มาตรการ แก้ปัญหา 'คลัสเตอร์เรือนจำ'
ขณะเดียวกัน เมื่อวันที่ 17 พ.ค.2564 เวลา 14.00 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พร้อมด้วยคณะผู้บริหารกรมราชทัณฑ์ ร่วมกันแถลงชี้แจงข้อเท็จจริงอีกครั้ง กล่าวว่า วันนี้โควิดเข้าไปอยู่ในเรือนจำมากมาย ทั้งกทม.และต่างจังหวัด รวมตัวเลขแล้วมีผู้ต้องขังติดเชื้อกว่าหลักหมื่นราย เจ้าหน้าที่ แพทย์ พยาบาล ทำงานอย่างหนักและต้องทำต่อไป เจ้าหน้าที่ทุกคนต้องร่วมแรงร่วมใจอย่างเต็มที่ อะไรที่หย่อนยานต้องเร่งปรับปรุง
นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ขณะนี้มีมาตรการ 10 ข้อ ในการรับมือโควิด ประกอบด้วย
1.ให้แถลงจำนวนผู้ต้องขัง ที่ได้ตรวจเชิงรุกไปแล้วมีจำนวนเท่าไร
2.ตรวจเชิงรุกให้ครบทุกเรือนจำ ทั้งผู้ต้องขัง เจ้าหน้าที่เรือนจำ และเจ้าหน้าที่ส่วนกลางทุกคน รวมทั้งผู้บริหารระดับสูง ของกรมราชทัณฑ์ทุกคน 55,000 คน
3.ในส่วนของที่มาของเชื้อ ให้เร่งสืบข้อเท็จจริงและสาเหตุการติดเชื้อครั้งนี้ และถ้าได้ความแน่ชัดจะแจ้งให้ทราบโดยไม่ปิดบังใดๆ ทั้งสิ้น
4.การรักษาและการเฝ้าดูอาการคนไข้จะทำตลอดเวลาไม่มีวันหยุด ทุกคนจะต้องทำงานแข่งกับเวลา
5.ประสานงานกับกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เพื่อหาวิธีการรักษาที่เร็วและได้ผลดีที่สุด โดยใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ รวมทั้งการใช้สมุนไพรไทย เช่น ฟ้าทะลายโจร เข้าช่วยรักษาในขณะที่รอดูอาการโดยเฉพาะอย่างยิ่ง คนในระดับสีเขียวที่ติดเชื้อแต่ยังไม่มีอาการ และคนระดับสีเหลืองที่กำลังเริ่มมีอาการ
6.ผู้ต้องขังเป็นประชาชนคนไทย ที่ต้องอยู่ในเรือนจำไปไหนไม่ได้ 100% การอยู่ในที่ถูกล้อมเอาไว้ ขยับขยายไปไหนไม่ได้เป็นอุปสรรคอย่างมหาศาลในการแก้ไข้ปัญหา ประกอบกับห้องนอนนั้นมีผู้ต้องขังอยู่กันอย่างแออัด
7.ฉีดวัคซีนอย่างเร่งด่วน มีความจำเป็นที่ต้องเอาผู้ต้องขังและผู้คุม ที่ไม่ติดเชื้อในทุกเรือนจำ จะต้องได้รับการฉีดวัคซีนอย่างเร่งด่วน
8.จะมีการติดประกาศหน้าเรือนจำทุกแห่งในประเทศไทย เพื่อแจ้งให้ทราบว่ามีผู้ต้องขังติดเชื้อกี่คนและไม่ติดเชื้อกี่คน หายแล้วกี่คน จะมีการแจ้งเช่นนี้เป็นระยะๆ อย่างน้อยที่สุดอาทิตย์ละ 1 ครั้ง และจะปรับตัวเลขทุกวัน เพื่อให้ประชาชนในแต่ละชุมชนได้รับทราบ
9.ผู้บัญชาการเรือนจำทุกคน จะทำรายชื่อผู้ติดเชื้อ และปรับปรุงเป็นรายวัน เพื่อให้ญาติผู้ต้องขังทุกคนสามารถเข้ามาตรวจสอบได้ทุกวัน ไม่เว้นวันหยุดราชการ ตั้งแต่ 08.00 - 18.00 น.
10.กระทรวงยุติธรรมและกรมราชทัณฑ์ จะรีบเร่งวางแผน เตรียมตัวรับการระบาดครั้งนี้ และครั้งหน้าที่จะมีมาได้ทุกเมื่อ โดยจะรีบเร่งประชุมพิจารณาในเรื่องของบุคลากรที่ต้องเพิ่ม เช่น พยาบาลที่ปัจจุบันขาดแคลนเป็นจำนวนมาก รวมทั้งแพทย์ อุปกรณ์ทางการแพทย์ตลอดจนพื้นที่ในการรองรับ ซึ่งเป็นความท้าทายของกระทรวง เพราะคุณลักษณะของผู้ต้องขังที่ต้องติดเชื้อถูกจำกัด ในเรื่องของกฎหมายที่ให้ต้องจองจำ ประกอบจำนวนผู้ต้องขังที่มีอยู่มากเกินกว่าที่สถานที่ปัจจุบัน ตลอดจนเจ้าหน้าที่เข้ามาดูแลจะสามารถรองรับได้
@ ผุด ‘นโยบายพักโทษ’ ลดการระบาด
นายสมศักดิ์ กล่าวด้วยว่า กระทรวงยุติธรรมและกรมราชทัณฑ์ จะพิจารณา 'นโยบายการพักโทษ' ในรูปแบบพิเศษ เช่น การติดกำไล EM ให้ละเอียดรอบคอบ โดยพิจารณาสิ่งแวดล้อม และข้อเท็จจริง ตลอดจนสภาวะของผู้ต้องขัง เพื่อกำหนดนโยบายการพักโทษขึ้นมา รวมทั้งกฎหมายต่างๆ เพื่อให้กรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม และสังคมได้ประโยชน์ด้วยกัน ตลอดจนสิทธิขั้นพื้นฐานผู้ต้องขัง
“หากเราไม่สามารถหยุดโควิดได้ เราจะต้องใช้งบประมาณมหาศาลในการรักษาผู้ป่วยต่อไป เพราะหากใช้ยารักษาฟาวิพิราเวียร์ ต้องใช้ 5,000 บาทต่อคน ขณะนี้ติดเชื้อ 13,084 คน ต้องใช้เงินถึง 50 ล้านบาท แต่หากใช้วัคซีนเพื่อป้องกันการติดเชื้อ กรณีแอสตร้าเซนเนก้าโดสละ 150 บาท ใช้คนละ 2 โดส เท่ากับใช้เงินคนละ 300 บาท ดังนั้นผู้ป่วย 13,084 ราย ก็ใช้เงินประมาณ 3 ล้านบาท ส่วนกรณีวัคซีนชนิดอื่น อาจมีราคาโดสละ 500 บาท เท่ากับจะใช้เงินคนละ 1,000 บาท และถ้าใช้วัคซีนกับนักโทษทั้งหมด 300,000 คนจะเท่ากับใช้เงิน 300 ล้านบาทในการหยุดเชื้อในเรือนจำได้ทั้งหมด โดยจะเสนอไปยัง นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป” นายสมศักดิ์ กล่าว
@ สั่งทุกฝ่ายคุมเข้ม - ใครย่อหย่อนเสี่ยงโดนเด้ง
นายสมศักดิ์ กล่าวย้ำว่า ทั้งหมดเป็นมาตรการเชิงรุกที่จะต้องทำทันที โดยวันนี้ก่อนเริ่มประชุมได้แจ้งให้อธิบดีและรองอธิบดีกรมราชทัณฑ์รับทราบแล้วว่า สำหรับมาตรการทั้งหมด หากใครย่อหย่อน ไม่เข้มแข็ง เวลามีความจำเป็นที่จะต้องปรับโยกย้ายตำแหน่งก็จะไม่ว่ากัน ดังนั้นขอให้ทั้งหมดเร่งดำเนินการตามมาตรการดังกล่าวต่อไป
นายสมศักดิ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า เรื่องของตัวเลขต้องแจกแจงให้ชัดเจน มิเช่นนั้นแล้วจะเป็นเรื่องที่สื่อมวลชนหรือทุกคนสงสัยว่ามันอะไรกันแน่ ตรงนี้เราไม่ได้ปิดบัง ไม่ได้ปกปิด แต่เปิดเผยข้อเท็จจริง หากไม่สามารถทำให้ถูกต้องได้ จะต้องมีคนรับผิดชอบ แต่หากเขาตอบคำถามได้ว่าชี้แจงผู้บังคับบัญชาชัดเจนอย่างไรก็ไม่มีปัญหา
ทั้งหมดนี้เป็นสถานการณ์การระบาดของผู้ต้องขังที่ติดเชื้อภายในเรือนจำ แม้ว่าจะมีข้อจำกัดในด้านสภาพพื้นที่ค่อนข้างแคบ ขณะที่ผู้ต้องขังมีจำนวนหนาแน่น หรือสภาวะจำนนที่ไม่สามารถเลือกไม่รับผู้ต้องขังรายใหม่ได้ อย่างไรก็ตามกรมราชทัณฑ์ทุกภาคส่วนต่างมีมาตรการคุมเข้มรองรับ และเน้นย้ำถึงการดูแลผู้ต้องขังให้ได้มาตรฐาน ซึ่งจะต้องติดตามสถานการณ์กันต่อไป
อ่านข่าวประกอบ:
ผู้ต้องขังเรือนจำพิเศษธนบุรี ติดโควิดเพิ่มอีก 1,104 ราย
กรมราชทัณฑ์ย้ำคุมโควิดได้ หลังพบติดเพิ่ม 1,219 ราย ในเรือนจำ 3 แห่ง
กรมราชทัณฑ์เผยยอดผู้ต้องขังเรือนจำกลางคลองเปรมติดโควิด 506 เจ้าหน้าที่อีก 2 ราย
กรมราชทัณฑ์แถลงใช้ 'ลาดยาวโมเดล' คุมโควิด - แจง รุ้ง ปนัสยา ไม่ติดเชื้อจากเรือนจำ
กรมราชทัณฑ์พบติดโควิดกว่า 2,800 ราย เหตุจากผู้ต้องขังใหม่-เข้าออกศาลเยอะ
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่https://www.facebook.com/isranewsfanpage