"....ในเว็บไซต์ดังกล่าวยังได้โพสต์ภาพเม็ดฟูคลอรีนฆ่าเชื้อโรค โดยมีรูปภาพของ นพ.ยงเช่นกัน พร้อมระบุข้อความว่า "แนะนำให้ใช้ผลิตภัณฑ์นี้สำหรับมาตรการป้องกันส่วนบุคคล บริษัท ซีพี เตรียมลงทุนอีก 200 ล้านหยวนช่วยสู้กับโควิด...นอกจากนี้ ยังนำรูปนายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ 'ซีพี' มาใช้ประกอบด้วย ..."
...............
กรณีมีผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อว่า Yvonne ได้โพสต์เว็บไซต์https://shop.qeog.store/japansที่แปะลิงก์ไว้เพื่อขายเครื่องพ่นยาฆ่าเชื้อ โดยในรูปภาพของผลิตภัณฑ์เครื่องพ่นยาฆ่าเชื้อรุ่นดังกล่าวนั้นมีรูปภาพของ นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมกับถ้อยคำในรูปภาพว่าได้รับการยืนยันผลฆ่าเชื้อสูงถึง 99.99 เปอร์เซ็นต์ ซึ่ง นพ.ยง ภู่วรวรรณ ปฏิเสธว่า ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องพร้อมโพสต์ข้อความในเชิงตำหนิว่า “ในยามวิกฤติของประเทศขณะนี้ ยังมีการกระทำที่ขาดจริยธรรมอย่างมาก ทางโรงพยาบาลและผม กำลังดำเนินการเอาผิดกับการเอารูปผมไปแอบอ้างโฆษณาขายสินค้า ถือว่าผิดจริยธรรมอย่างยิ่งที่ไม่ควรให้อภัย ช่วยกันแชร์ให้ทุกคนเข้าใจด้วยครับ ขอบคุณมากครับ และไม่ควรซื้อสินค้าที่โฆษณาผิดจริยธรรมแบบนี้” นพ.ยง ระบุ (อ้างอิงข้อมูลจากเฟซบุ๊ก Yong Poovorawan : https://www.facebook.com/yong.poovorawan/posts/5656655011043736)
ที่ผ่านมา สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้ติดตามตรวจสอบข้อมูลเชิงลึก จนพบว่า
1. เฟซบุ๊กแฟนเพจ Yvonne แจ้งที่อยู่ Shanxi Ju Jiji Clothing Trading Co., Ltd. Unit 1405, Building 2, Kangxinyuan Community, Electronic Street, Xiaodian District, Taiyuan City, Shanxi Province (เมือง Taiyuan City ตั้งอยู่มณฑล Shanxi บริเวณภาคเหนือของประเทศจีน) อย่างไรก็ดีเมื่อเวลา 12.17 น. วันที่ 11 พ.ค. 2564 เฟซบุ๊กแฟนเพจ Yvonne ได้ลบภาพการขายโฆษณาสินค้าเครื่องพ่นยาฆ่าเชื้อโควิด-19 ที่อ้างรูป นพ.ยง ออกไปแล้ว
(อ่านประกอบ:ที่ตั้งอยู่จีน! ตามหาเจ้าของเครื่องพ่นฆ่าเชื้อโควิดฯอ้าง‘หมอยง’พีอาร์-สธ.รับรอง?)
2. เครื่องพ่นยายี่ห้อ Savlife เป็นแบรนด์สินค้าในประเทศอินเดีย โดยเครื่องพ่นยายี่ห้อนี้มีรหัสผลิตภัณฑ์ชื่อว่า SL-MSFG-300 และมีราคาขายอยู่บนหน้าเว็บไซต์ว่า 2,500 รูปีอินเดีย หรือประมาณ 1,062 บาท (อ่านประกอบ:แกะรอยเครื่องพ่นฆ่าโควิดฯ แอบอ้าง ‘หมอยง’ พีอาร์? เป็นสินค้าอินเดีย - ขายตัวละ 1,062 บ.)
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบฐานข้อมูลออนไลน์เกี่ยวกับเครื่องพ่นยายี่ห้อ Savlife พบว่ามีเฟซบุ๊กที่ชื่อว่า Rachel โพสต์ข้อมูลในเว็บไซต์ https://shop.ditt.store/clens ขายเครื่องพ่นยาฆ่าเชื้อรุ่น SavLife ดังกล่าว พร้อมกับนำรูปภาพของ นพ.ยง กล่าวอ้างสรรพคุณเช่นเดียวกัน (ดูภาพประกอบ)
นอกจากนี้ในเว็บไซต์ดังกล่าวยังได้โพสต์ภาพเม็ดฟูคลอรีนฆ่าเชื้อโรค โดยมีรูปภาพของ นพ.ยงเช่นกัน พร้อมระบุข้อความว่า "แนะนำให้ใช้ผลิตภัณฑ์นี้สำหรับมาตรการป้องกันส่วนบุคคล บริษัท ซีพี เตรียมลงทุนอีก 200 ล้านหยวนช่วยสู้กับโควิด" และยังนำรูปนายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ 'ซีพี' มาใช้ประกอบด้วย (ดูภาพประกอบ)
ทั้งนี้ สำนักข่าวอิศรา ได้หาความเชื่อมโยงกันของร้านค้าออนไลน์ที่มีการขายผลิตภัณฑ์เครื่องพ่นยาดังกล่าวเพิ่มเติม พบว่า ในส่วนของรายละเอียดการเปลี่ยนสินค้านั้น สินค้าที่รับเปลี่ยนหรือคืน หลังได้รับสินค้า (นับจากวันที่เซ็นรับสินค้า)ภายใน 7 วัน ติดต่อทาง LINE ID: luckystar9980 ว่าจะเปลี่ยนหรือคืนสิน ถ้าเกิน 7 วันจะไม่สามารถทำการเปลี่ยนคืนได้ (ดูภาพประกอบ)
เมื่อสำนักข่าวอิศรา ทดลองแอดไลน์ดังกล่าว พบมีชื่อขึ้นว่า Customer Service ระบุว่าเพื่อนเต็มแล้ว ไม่สามารถแอดเพิ่มได้ (ดูภาพประกอบ)
ขณะที่จากการสืบค้นข้อมูลออนไลน์เกี่ยวกับไลน์ไอดี luckystar9980 ดังกล่าว พบว่า มีหลายเพจเฟซบุ๊กโพสต์เตือนให้ระวัง เนื่องจากผู้ที่ใช้ไลน์นี้มีพฤติกรรมการขายสินค้าหลอกลวง ไม่ตรงกับที่โฆษณาไว้ รวมไปถึงมีพฤติกรรมการแอบอ้างร้านค้าเพื่อสร้างความน่าเชื้อถือในการขายสินค้า อาทิ เพจเฟซบุ๊กของร้านค้าคลังแสง LED จ.ศรีษะเกษ ระบุว่าเคยมีผู้ใช้เฟซบุ๊กที่ชื่อว่า Feredx โพสต์ขายไฟสปอร์ตไลท์โซล่าเซลล์ โดยอ้างโลเคชั่นว่ามาจากร้านคลังแสง LED เป็นต้น
ขณะที่พนักงานร้านคลังแสง LED ยืนยันกับสำนักข่าวอิศราว่า ไม่เคยรู้จักกับผู้ขายสินค้าดังกล่าวแต่อย่างใด อีกทั้งสินค้าที่ผู้ใช้ไลน์ไอดีดังกล่าวได้ส่งไปนั้นก็เป็นสินค้าที่ไม่มีคุณภาพและไม่ได้มาจากทางร้านอีกเช่นกัน
ขณะที่เพจเฟซบุ๊กขายของที่ชื่อว่า Sbay Zone เคยโพสต์ว่าขอลบสินค้าทั้งหมดที่มาจาก luckystar9980 เช่นกัน เนื่องจากได้รับการร้องเรียนจากลูกค้ามาเยอะ
โดยเจ้าของเพจเฟซบุ๊ก ชี้แจงกับสำนักข่าวอิศราว่า เคยสั่งของออนไลน์มาจากผู้ที่ใช้ชื่อไลน์ไอดี luckystar9980 ดังกล่าว ซึ่งลักษณะการจ่ายเงินนั้นจะให้มีการเก็บเงินปลายทาง ไม่สามารถตามตัวสินค้าได้ โดยตัวตนของผู้ที่ส่งของออนไลน์นั้น ก็ไม่ใช่พนักงานของบริษัทส่งของที่มีเครื่องแบบของหน่วยงานชัดเจน อีกทั้งช่วงรับของก็ยังไม่มีการให้กรอกแบบฟอร์มแต่อย่างใด
ทั้งหมดนี้ คือ ข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์เครื่องพ่นสเปรย์ ที่มีการนำรูปภาพของ นพ.ยง ภู่วรวรรณ มาใช้ประโยชน์ทางการค้ากล่าวอ้างสรรพคุณการฆ่าเชื้อโควิด ที่สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบพบล่าสุด ซึ่งพบว่ามีความเชื่อมโยงกับผู้เกี่ยวข้องหลายกลุ่ม และคงเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่จะเข้ามาทำการสืบสวนเพื่อทำความจริงให้ปรากฎต่อสาธารณชนต่อไป
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/