"....ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา ได้สืบค้นข้อมูลเกี่ยวกับเครื่องพ่นยาฆ่าเชื้อโควิด-19 ดังกล่าวเพิ่มเติม พบว่า เป็นเครื่องพ่นยายี่ห้อ Savlife ซึ่งเป็นแบรนด์สินค้าในประเทศอินเดีย โดยเครื่องพ่นยายี่ห้อนี้มีรหัสผลิตภัณฑ์ชื่อว่า SL-MSFG-300 และมีราคาขายอยู่บนหน้าเว็บไซต์ว่า 2,500 รูปีอินเดีย หรือประมาณ 1,062 บาท ..."
.........................
สืบเนื่องจากสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้เปิดเผยข้อมูลรายละเอียดกรณีมีผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อว่า Yvonne ได้โพสต์เว็บไซต์ https://shop.qeog.store/japans ที่แปะลิงก์ไว้เพื่อขายเครื่องพ่นยาฆ่าเชื้อ โดยในรูปภาพของผลิตภัณฑ์เครื่องพ่นยาฆ่าเชื้อรุ่นดังกล่าวนั้นมีรูปภาพของ นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมกับถ้อยคำในรูปภาพว่าได้รับการยืนยันผลฆ่าเชื้อสูงถึง 99.99 เปอร์เซ็นต์ ซึ่ง นพ.ยง ภู่วรวรรณ ปฏิเสธว่า ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องพร้อมโพสต์ข้อความในเชิงตำหนิว่า “ในยามวิกฤติของประเทศขณะนี้ ยังมีการกระทำที่ขาดจริยธรรมอย่างมาก ทางโรงพยาบาลและผม กำลังดำเนินการเอาผิดกับการเอารูปผมไปแอบอ้างโฆษณาขายสินค้า ถือว่าผิดจริยธรรมอย่างยิ่งที่ไม่ควรให้อภัย ช่วยกันแชร์ให้ทุกคนเข้าใจด้วยครับ ขอบคุณมากครับ และไม่ควรซื้อสินค้าที่โฆษณาผิดจริยธรรมแบบนี้” นพ.ยง ระบุ (อ้างอิงข้อมูลจากเฟซบุ๊ก Yong Poovorawan : https://www.facebook.com/yong.poovorawan/posts/5656655011043736)
โดยพบว่า เฟซบุ๊กแฟนเพจ Yvonne แจ้งที่อยู่ Shanxi Ju Jiji Clothing Trading Co., Ltd. Unit 1405, Building 2, Kangxinyuan Community, Electronic Street, Xiaodian District, Taiyuan City, Shanxi Province (เมือง Taiyuan City ตั้งอยู่มณฑล Shanxi บริเวณภาคเหนือของประเทศจีน) อย่างไรก็ดีเมื่อเวลา 12.17 น. วันที่ 11 พ.ค. 2564 เฟซบุ๊กแฟนเพจ Yvonne ได้ลบภาพการขายโฆษณาสินค้าเครื่องพ่นยาฆ่าเชื้อโควิด-19 ที่อ้างรูป นพ.ยง ออกไปแล้ว
(อ่านประกอบ:ที่ตั้งอยู่จีน! ตามหาเจ้าของเครื่องพ่นฆ่าเชื้อโควิดฯอ้าง‘หมอยง’พีอาร์-สธ.รับรอง?)
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา ได้สืบค้นข้อมูลเกี่ยวกับเครื่องพ่นยาฆ่าเชื้อโควิด-19 ดังกล่าวเพิ่มเติม พบว่า เป็นเครื่องพ่นยายี่ห้อ Savlife ซึ่งเป็นแบรนด์สินค้าในประเทศอินเดีย
โดยเครื่องพ่นยายี่ห้อนี้มีรหัสผลิตภัณฑ์ชื่อว่า SL-MSFG-300 และมีราคาขายอยู่บนหน้าเว็บไซต์ว่า 2,500 รูปีอินเดีย หรือประมาณ 1,062 บาท
ในส่วนข้อมูลแนะนำผลิตภัณฑ์นั้น มีการระบุว่า เครื่องพ่นยาฆ่าเชื้อรุ่นนี้ถือว่าเป็นเครื่องพ่นยาแบบมือถือเพื่อพ่นละอองฆ่าเชื้อออกมา อ้างว่าเป็นเครื่องพ่นยาฆ่าเชื้อแบบมือถือที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในโลก ถูกผลิตขึ้นมาให้มีพลังในการพ่น มีความคงทนต่อการใช้งาน และมีประสิทธิภาพที่ก้าวหน้า ซึ่งเครื่องพ่นยาตัวนี้จะมีความครอบคลุมมากกว่า ใช้ทรัพยากรน้อยกว่า และให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่า
ส่วนการทำงานนั้นเป็นไปโดยง่าย แค่ใส่น้ำยาฆ่าเชื้อที่ได้รับการรับรองลงไปในที่เก็บของเหลว เหนี่ยวไก เครื่องพ่นสเปรย์ฆ่าเชื้อก็จะทำงาน แต่อย่างไรก็ดีไม่มีการระบุข้อมูลการใช้งานเครื่องพ่นสเปรย์ดังกล่าว กับกรณีสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แต่อย่างใด (ดูภาพประกอบ)
ส่วนข้อมูลเกี่ยวกับที่อยู่ Shanxi Ju Jiji Clothing Trading Co., Ltd. Unit 1405, Building 2, Kangxinyuan Community, Electronic Street, Xiaodian District, Taiyuan City, Shanxi Province นั้น
จากการตรวจสอบพบว่า ที่อยู่ดังกล่าวเป็นที่อยู่ของบริษัท Shanxi Ju Jiji Clothing Trading Co., Ltd. ซึ่งบริษัทดังกล่าวนั้นเป็นผู้ดูแลเว็บไซต์ https://www.gnuk.store/ ซึ่งเว็บไซต์ดังกล่าวเป็นเว็บไซต์ขายส่งผลิตภัณฑ์สินค้าในประเทศจีน
แต่การแสดงข้อมูลผลิตภัณฑ์ในเว็บไซต์นี้ มีจำนวนแค่ 9 ประเภท และไม่มีเครื่องพ่นสเปรย์รุ่นดังกล่าวแต่อย่างใด (ดูภาพประกอบ)
ทั้งหมดนี้ คือ ข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์เครื่องพ่นสเปรย์ ที่มีการนำรูปภาพของ นพ.ยง ภู่วรวรรณ มาใช้ประโยชน์ทางการค้ากล่าวอ้างสรรพคุณการฆ่าเชื้อโควิด ที่สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบพบล่าสุดในขณะนี้
ส่วนกลุ่มบุคคลที่อยู่เบื้องหลัง ในการนำรูปภาพของ นพ.ยง ภู่วรวรรณ มาใช้ประโยชน์ทางการค้ากล่าวอ้างสรรพคุณการฆ่าเชื้อโควิด ของ เครื่องพ่นสเปรย์ ยี่ห้อนี้
คงเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่จะเข้ามาทำการสืบสวนเพื่อทำความจริงให้ปรากฎต่อสาธารณชนต่อไป
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage