"...จากไทม์ไลน์ในช่วงเดือน มิ.ย.ที่เราจะมีวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้าที่ผลิตจากโรงงานของบริษัทสยามไบโอไซน์จำนวน 6 ล้านโดสกันนั้น ก็หมายความว่าคนไทยจำนวน 6 ล้านคนจะมีภูมิคุ้มกันอย่างแน่นอน โดยหลังฉีดเข็มแรก เขามีการวัดข้อมูลภูมิคุ้มกัน ก็พบว่าภูมิคุ้มกันนั้นจะเริ่มเกิดขึ้นประมาณ 3 อาทิตย์หลังฉีด และหลังจากนั้น ภูมิคุ้มกัน ก็จะเริ่มไต่ขึ้นไปเรื่อยๆ ส่วนการฉีดวัคซีนโดสสองนั้นก็ต้องมี แต่ว่าเป็นการทำให้มันอยู่ได้นานขึ้น แต่ว่าจะอยู่ได้นานขึ้นแค่ไหนนั้น เรื่องนี้เป็นสิ่งที่กำลังติดตามกันอยู่ แต่ระยะเวลาอย่างน้อยประมาณ 6 เดือน ก็เชื่อว่าภูมิคุ้มกันน่าจะยังอยู่ได้เลย..."
..................
สืบเนื่องจากประเด็นการฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 หรือโคโรน่าไวรัส กำลังเป็นกระแสทางสังคมเป็นอย่างมากในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยหนึ่งในประเด็นที่ถูกพูดถึงในโลกออนไลน์ ก็คือ หลายคนมีความต้องการที่จะฉีดวัคซีนของบริษัทไฟเซอร์มากกว่า เพราะวัคซีนของไฟเซอร์นั้นมีประสิทธิภาพสูงกว่าวัคซีนที่รัฐบาลไทยจัดหามาได้ โดยเฉพาะวัคซีนจากบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า อีกทั้งยังไม่ทำให้เกิดผลข้างเคียงอันไม่พึงประสงค์ อาทิ การเกิดลิ่มเลือด เป็นต้น
ซึ่งก่อนหน้านี้ สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) เคยนำเสนอเรื่องประเด็นการเกิดลิ่มเลือดไปแล้ว โดยกลุ่มที่ปรึกษาด้านเทคนิคของออสเตรเลียเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนหรือ Atagi ซึ่งเป็นกลุ่มผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์โดยอิสระที่ทำหน้าที่เพื่อให้คำปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขของออสเตรเลีย ออกมาระบุว่า การเกิดปฎิกริยาลิ่มเลือดนั้นเกิดขึ้นในอัตราประมาณ 4-6 คน ต่อ จำนวนผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีน 1 ล้านคน (อ่านประกอบ:เจาะปมร้อน! วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า กระตุ้นการเกิดภาวะลิ่มเลือดจริงหรือ?)
อย่างไรก็ดี ยังมีประเด็นเรื่องประสิทธิภาพที่ถูกครหาว่าไม่สามารถเทียบได้กับวัคซีนจากบริษัทไฟเซอร์
จากกรณีดังกล่าว สำนักข่าวอิศรา ได้ติดต่อไปยัง นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ที่ปรึกษากรมการแพทย์และกรมควบคุมโรค เพื่อสอบถามทั้งในประเด็นการวิธีการฉีดวัคซีนและประสิทธิภาพของวัคซีนเพื่อให้ได้ความชัดเจนในเรื่องเหล่านี้ รวมไปถึงประเด็นสำคัญที่ว่า แท้จริงแล้ว วัคซีนโควิด 'แอสตร้าเซนเนก้า' ด้อยกว่า 'ไฟเซอร์' จริงหรือ?
นพ.ทวี อธิบายว่า สำหรับรูปแบบการฉีดวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้าในประเทศไทยนั้นจะเป็นรูปแบบการทิ้งระยะจากเข็มหนึ่งไปสู่เข็มที่สอง เป็นระยะเวลา 3 เดือน หรือ 12 สัปดาห์ ซึ่งที่ผ่านมาทำแบบนี้กันมาตลอด นับตั้งแต่ตอนที่วัคซีนจากบริษัทแอสตร้าเซนเนก้าเข้ามาในประเทศไทยเป็นจำนวนแสนโดส และในกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้ฉีดวัคซีนจากทางแอสตร้าเซนเนก้าในช่วง ก.พ. ซึ่งจะมีกำหนดในการรับวัคซีนเข็มที่สองช่วงเดือน มิ.ย.เช่นกัน
นพ.ทวี กล่าวด้วยว่า ประเด็นเรื่องระยะการฉีดวัคซีนในต่างประเทศถกเถียงกันมาก่อนหน้านี้ และได้ข้อสรุปแล้ว คือ มีการบอกว่าให้ทิ้งระยะห่างระหว่างโดสวัคซีน 8-12 สัปดาห์นั้น ใช้จริงๆ ก็คือ 12 สัปดาห์
“เราแนะนำก็คือว่าทิ้งช่วงวัคซีนไว้ประมาณ 12 สัปดาห์ขึ้นไป ซึ่งการทิ้งช่วงเวลา 12 สัปดาห์นั้นทำให้ได้ผลดี เรารู้เรื่องข้อมูลของเขานี้มาตั้งนานแล้ว ทางผมก็เคยอ่านข้อมูลที่ส่งมาของแอสตร้าเซนเนก้าที่มีจำนวน 8,000-9,000 หน้า และเราก็แนะนำมาตั้งนานแล้ว ก็คือแนะนำตั้งแต่เดือน มี.ค.ด้วยซ้ำไป” นพ.ทวีกล่าว
เมื่อถามต่อถึงประเด็นเรื่องประสิทธิภาพของวัคซีนจากแอสตร้าเซนเนก้ากับการทิ้งระยะห่างระหว่างโดสวัคซีนระหว่างโดสที่หนึ่งกับโดสที่สอง เนื่องจากมีการรายงานข้อมูลบางแห่งระบุว่าวัคซีนของบริษัทแอสตร้าเซนเนก้ามีประสิทธิภาพน้อยประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์
นพ.ทวีกล่าวถึงที่มาที่ไปของข้อมูลประสิทธิภาพวัคซีนที่หลากหลายว่า “เบื้องหลังที่เขาเขียนไว้ตอนช่วงที่มีการวิจัยนั้นคือ 4-6 สัปดาห์ แต่ด้วยการที่เกิดปัญหาขึ้นในยุโรป คือ ช่วงนั้นที่มีการวิจัยเกิดการระบาดหนัก เครื่องบินตอนนั้นก็ไม่มี แต่ว่าเขาก็ไปศึกษาวัคซีนในหลายประเทศ พอหลายประเทศปุ๊บ วัคซีนมันกว่าจะไปถึงที่เขาจะทำวิจัยกัน มันก็มีความล่าช้าเกิดขึ้น ดังนั้นมีบางโรงงานก็มีการผลิตวัคซีนแล้วส่งไปไม่ได้ อันนี้ผมต้องย้ำนะว่านี่ยังเป็นขั้นตอนวิจัย พอมันไปช้า ยังไงเขาก็ต้องวิจัยวัคซีน เขาก็ต้องฉีดวัคซีนต่อกันเลย ซึ่งนี่ส่งผลทำให้ข้อมูลวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้านั้นมีความหลากหลายในด้านประสิทธิภาพมาก โดยมีตั้งแต่การเว้นระยะห่าง 4 สัปดาห์ก็มี ไปจนถึงเกิน 12 สัปดาห์ก็มี แล้วเขาก็เอาข้อมูลมาวิเคราะห์กัน ก็ปรากฏว่าการฉีดวัคซีน ที่ระยะเวลาห่างกันถึง 12 ดีกว่าฉีดที่ต่ำกว่า 12 สัปดาห์ เพราะฉะนั้นเวลาที่เขารายงานผล เขาต้องรายงานผลจากการวิจัย ก็คือรวมตั้งแต่ 4 สัปดาห์ ถึง 12 สัปดาห์ไปหมดเลย แล้วเขาก็เห็นแนวโน้มว่าผลของประสิทธิภาพวัคซีนมันเพิ่มขึ้นเรื่อยๆจนถึง 12 สัปดาห์”นพ.ทวีกล่าว
รายงานข่าววัคประสิทธิภาพของวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าว่าอยู่ที่ 79 เปอร์เซ็นต์ในการทดลองที่สหรัฐอเมริกา (อ้างอิงวิดีโอจากสำนักข่าวซีเอ็นบีซี)
นายแมทท์ แฮนค็อก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขของอังกฤษแถลงข่าวว่าวัคซีนจากแอสตร้าเซนเนก้าแค่โดสเดียวสามารถลดการเข้าโรงพยาบาลในกลุ่มผู้สูงอายุมากกว่า 80 ปีได้ถึง 80 เปอร์เซ็นต์ โดยนายแฮนค็อกยืนยันว่าทุกคนในประเทศอังกฤษจะได้วัคซีนก่อนสิ้นเดือน ก.ค. (อ้างอิงวิดีโอจากสำนักข่าวอีฟนิ่งสแตนดาร์ด)
นพ.ทวีกล่าวต่อไปว่า "ในประเด็นเรื่องของประสิทธิภาพวัคซีนที่การฉีดแค่เข็มเดียว บางประเทศนั้นมีประสิทธิภาพมากถึง 70 เปอร์เซ็นต์ และบางประเทศนั้น ประสิทธิภาพของวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าอยู่ที่ 80 เปอร์เซ็นต์ ถ้าทิ้งระยะไว้ถึง 12 สัปดาห์ ก่อนที่จะฉีดเข็มที่ 2 ด้วยซ้ำ แต่พอผ่านพ้นระยะเวลา 12 สัปดาห์ไป ก็มีการตรวจสอบพบว่าประสิทธิภาพมันจะเริ่มตกแล้ว เขาถึงแนะนำว่าวัคซีน 2 เข็มนั้นห่างกัน 12 สัปดาห์ หรือเกินกว่านั้นได้เล็กน้อย ซึ่งนี่ก็คือที่มาของการฉีดวัคซีนที่ห่างกัน 12 สัปดาห์"
"แต่ในงานวิจัย เขาตั้งงานวิจัยไว้ 4-6 สัปดาห์ เพราะฉะนั้นมันก็เลยมีข้อมูลประสิทธิภาพวัคซีนบางส่วนที่อยู่ที่ 4-6 สัปดาห์ บางส่วนก็อยู่ที่ 6-8 สัปดาห์ บางส่วนก็อยู่ที่ 8-12 สัปดาห์ เพราะปัญหาเรื่องว่าวัคซีนนั้นส่งไปยังประเทศที่วิจัยไม่ทัน และพอเขามีการเก็บข้อมูลย้อนหลัง ก็กลับกลายเป็นว่าได้ข้อมูลว่าประสิทธิภาพมันจะดีกว่าถ้าหากมันจะยืดยาวออกไปอีก"
เมื่อถามข้อมูลการเทียบประสิทธิภาพกับวัคซีนไฟเซอร์ นพ.ทวีกล่าวยืนยันว่า วัคซีนโดสเดียวของแอสตร้าเซนเนก้านั้นมีประสิทธิภาพเหนือวัคซีนไฟเซอร์แน่นอน โดยอ้างอิงข้อมูลส่วนนี้จากการศึกษาที่สกอตแลนด์ ซึ่งถ้าเทียบประสิทธิภาพวัคซีนแค่เข็มเดียวกันแล้ว ที่มีการตีพิมพ์ออกมา
“เข็มเดียวเนี่ย เทียบกับไฟเซอร์ด้วยนะ ได้ถึงแปดสิบ เกือบเก้าสิบเปอร์เซ็นต์ ซึ่งผมบอกเลยว่าเข็มเดียวเนี่ยจริงๆไม่น่าเอาอยู่ แม้กระทั่งวัคซีนจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน ที่เขียนว่าฉีดเข็มเดียว แนะนำเข็มเดียว ผมก็ถามว่าฉีดเข็มเดียว คุณวัดที่เมื่อไร ถ้าหากวัดกันที่ 2 เดือนหลังฉีด แบบนี้ของแอสตร้าเซนเนก้ามันก็ทำได้ ของแอสตร้าเซนเนก้าทำได้ตั้งแต่ 3 เดือนหลังฉีดมีประสิทธิภาพที่ 80 เปอร์เซ็นต์ แต่ผมว่าในอนาคตนั้นวัคซีนของจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน ก็มีความเป็นไปได้ที่อาจจะต้องฉีดเข็มสอง” นพ.ทวีกล่าว
"จากไทม์ไลน์ในช่วงเดือน มิ.ย.ที่เราจะมีวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้าที่ผลิตจากโรงงานของบริษัทสยามไบโอไซน์จำนวน 6 ล้านโดสกันนั้น ก็หมายความว่าคนไทยจำนวน 6 ล้านคนจะมีภูมิคุ้มกันอย่างแน่นอน โดยหลังฉีดเข็มแรก เขามีการวัดข้อมูลภูมิคุ้มกัน ก็พบว่าภูมิคุ้มกันนั้นจะเริ่มเกิดขึ้นประมาณ 3 อาทิตย์หลังฉีด และหลังจากนั้น ภูมิคุ้มกัน ก็จะเริ่มไต่ขึ้นไปเรื่อยๆ ส่วนการฉีดวัคซีนโดสสองนั้นก็ต้องมี แต่ว่าเป็นการทำให้มันอยู่ได้นานขึ้น แต่ว่าจะอยู่ได้นานขึ้นแค่ไหนนั้น เรื่องนี้เป็นสิ่งที่กำลังติดตามกันอยู่ แต่ระยะเวลาอย่างน้อยประมาณ 6 เดือน ก็เชื่อว่าภูมิคุ้มกันน่าจะยังอยู่ได้เลย"
“วัคซีนที่จะจดทะเบียนได้ อย่างน้อยที่สุดมันต้องใกล้เคียงกันแล้ว สิ่งที่ใกล้เคียงกันตอนนี้สำหรับวัคซีนที่จดทะเบียนไม่ว่าจะจดทะเบียนที่บ้านเรา บางตัวก็ยังไม่มาจดทะเบียนที่บ้านเราก็คือว่าส่วนใหญ่ป้องกันการเสียชีวิต ป้องกันโรครุนแรง ป้องกันการเข้าห้องไอซียูทุกตัวนั้นได้เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ แม้แต่กับสายพันธุ์จากแอฟริกาใต้ แต่ว่าในประเด็นเรื่องการป้องกันโรคอ่อนๆน้อยๆ ก็จะแตกต่างกันออกไปตามข้อมูลวิจัยออกมา สมมติว่าถ้าคุณฉีดวัคซีนแล้ว คุณมีอาการป่วย ก็มีอาการน้ำมูกไหลนิดหน่อย ซึ่งคุณอาจจะไม่ตรวจอาการป่วย แต่ว่ามันเป็นโควิดก็ได้ ซึ่งที่อาการมันไม่หนักก็เพราะว่าคุณมีภูมิคุ้มกันอยู่แล้ว มันก็เลยทำให้โรคมันอ่อนลง โดยเรารู้เลยว่าผลกระทบของการที่จะมีคนนอนไอซียูหรือไม่นั้น อันนี้ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ทางการแพทย์เป็นอย่างยิ่ง เพราะจะเป็นการวัดด้วยว่าระบบสาธารณสุขนั้นไหวหรือไม่ไหว ดังนั้นวัคซีนต่อให้ประสิทธิภาพมันจะไม่ถึง 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ว่า 80-90 เปอร์เซ็นต์มันก็โอเคแล้วในการที่เราจะลดผู้ที่จะต้องไปนอนโรงพยาบาล”นพ.ทวีกล่าว
เมื่อถามย้ำว่า ณ เวลานี้ประเทศไทยมีการพิจารณาเรื่องการค็อกเทลวัคซีน หรือการผสมสูตรวัคซีนคนละชนิดกันระหว่างโดสหนึ่งและโดสสองบ้างหรือไม่
นพ.ทวีกล่าวว่า "เรื่องนี้ยังอยู่ในระหว่างการวิจัยกันในหลายประเทศ โดยเฉพาะการใช้วัคซีนซิโนแวคผสมกับไฟเซอร์นั้นตอนนี้ยังอยู่ในหนูทดลอง ยังไม่ได้ทดลองในคน ดังนั้นเรื่องนี้ก็คงต้องมีการศึกษาติดตามต่อไป แต่ว่าประเทศไทยนั้นคงจะยังไม่ทำเรื่องค็อกเทลวัคซีนกันในตอนนี้แน่นอน"
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา รายงานว่า ได้สืบค้นข้อมูลในต่างประเทศเพื่อยืนยันคำให้สัมภาษณ์เพิ่มเติม พบว่าในช่วงปี 2563 เว็บไซต์ businesstoday.in ของอินเดีย เคยรายงานข่าวไว้ว่าวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้านั้นถ้าทิ้งระยะเวลาการฉีดเอาไว้ที่ 3 เดือน จะให้ประสิทธิภาพได้ประมาณ 95 เปอร์เซ็นต์ (ดูภาพประกอบ)
ส่วนกรณีวัคซีนของบริษัทไฟเซอร์และไบโอเอ็นเทคนั้น มีการระบุบนเว็บไซต์ https://www.sciencenews.org/ ว่า วัคซีนจะมีประสิทธิภาพอยู่ที่ 94 เปอร์เซ็นต์ ถ้าหากทิ้งระยะระหว่างโดสหนึ่งและโดสสองอยู่ที่ 21 วัน (ดูภาพประกอบ)
ขณะที่ในกรณีการฉีดวัคซีนแค่โดสเดียวนั้น มีข้อมูลอ้างอิงในเว็บไซต์ https://www.businessinsider.com/ ว่าทั้งวัคซีนจากแอสตร้าเซนเนก้าและวัคซีนจากไฟเซอร์มีประสิทธิภาพลดการติดไวรัสโควิด-19 อยู่ที่ 65 เปอร์เซ็นต์เท่าๆกัน (ดูภาพประกอบ)
หรือสรุปก็คือ วัคซีนของไฟเซอร์นั้นใช้เวลารอระหว่างโดสระหว่างโดสที่หนึ่งและโดสที่สองที่สั้นกว่าแอสตร้าเซนเนก้านั่นเอง
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage