"...กลุ่มที่ปรึกษาด้านเทคนิคของออสเตรเลียเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนหรือ Atagi ซึ่งเป็นกลุ่มผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์โดยอิสระที่ทำหน้าที่เพื่อให้คำปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขของออสเตรเลียระบุว่าการเกิดปฏิกริยาลิ่มเลือดนั้นเกิดขึ้นในอัตราประมาณ 4-6 คน ต่อจำนวนผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีน 1 ล้านคน อย่างไรก็ตาม ในประเทศในกลุ่มสแกนดิเนเวียและในประเทศเยอรมนี พบว่ามีกลุ่มผู้ป่วยลิ่มเลือดในอัตราที่สูงกว่านี้ ..."
................
จากสถานการณ์ การเกิดลิ่มเลือดหลังจากการฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ทำให้หลายประเทศเริ่มที่จะพิจารณาถึงหลักเกณฑ์การฉีดวัคซีนดังกล่าว ล่าสุด สำนักข่าวการ์เดี้ยนของประเทศอังกฤษ ได้จัดทำรายงานถามตอบข้อสงสัย เกี่ยวกับประเด็นการเกิดลิ่มเลือด ที่เกี่ยวกับการฉีดวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้า
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) แปลและเรียบเรียงมานำเสนอ มีรายละเอียดดังต่อไปนี้
นับตั้งแต่การเกิดลิ่มเลือดที่ไม่บ่อยนักในกลุ่มผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า เพื่อป้องกันไวรัสโควิด-19 นักวิจัยจากทั่วโลกได้พยายามทำความเข้าใจกับกรณีการเกิดลิ่มเลือดอุดตัน หรือที่เรียกกันว่าเป็นการแข็งตัวของเกล็ดเลือดดังกล่าว
โดยกรณีการเกิดลิ่มเลือดอุดตันส่วนมากนั้นมักจะเกิดที่บริเวณเส้นเลือดในสมองหรือที่เรียกกันว่าภาวะโพรงหลอดเลือดดำในสมองอุดตัน (Cerebral venous sinus thrombosis หรือ CVST) และในบางกรณีก็เป็นเคสลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดอวัยวะอื่น อาทิ ที่ช่องท้องเป็นต้น
ซึ่งการเกิดลิ่มเลือดดังกล่าวนั้นถือว่าเป็นอาการป่วยที่มีอัตราการเสียชีวิตค่อนข้างสูง แม้ว่าจะเกิดไม่บ่อยนักในกลุ่มผู้ฉีดวัคซีนก็ตาม
แต่ ณ เวลานี้เริ่มมีหลักฐานเพิ่มมากขึ้นว่า วัคซีนอาจเป็นตัวการทำให้เกิดกรณีลิ่มเลือดอันหาได้ยากนี้
ดังนั้น จึงต้องมีการขมวดปมกันว่ามันเกิดขึ้นได้อย่างไร เรื่องนี้มีความสำคัญมากแค่ไหน และทำไมถึงสำคัญ
@เรารู้อะไรเกี่ยวกับอาการที่ว่านี้บ้าง?
เกล็ดเลือด ถือว่าเป็นเซลล์ที่มักจะช่วยในการหยุดอาการเลือดไหล เลือดออก โดยจะจับตัวเป็นก้อนด้วยกันเพื่อสร้างลิ่มเลือด
ในกรณีของผู้ที่รับวัคซีนจากแอสตร้าเซนเนก้าแล้วไปส่งผลกระทบต่ออาการป่วยลิ่มเลือดอันหายากนี้นั้น พบข้อมูลว่ามีจำนวนของเกล็ดเลือดที่ลดลงเป็นอย่างยิ่งหลังจากได้รับการฉีดวัคซีน
เมื่อจำนวนเกล็ดเลือดลดลงนั้น ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายที่มีความเป็นเอกลักษณ์ของแต่ละบุคคลก็จะมีปฏิกริยาอันเกี่ยวข้องไปถึงเกล็ดเลือดที่เหลือ และเกี่ยวข้องไปถึงเซลล์เม็ดเลือดขาว
ซึ่งปฏิกิริยาที่ว่ามานี้นั้น จะทำให้เลือดเริ่มจับตัวกันเป็นก้อน อันจะนำไปสู่กรณีการเกิดลิ่มเลือดอุดตันในที่สุด
รายงานข่าวการเกิดลิ่มเลือดจากวัคซีนของบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า (อ้างอิงวิดีโอจากสำนักข่าว DW)
แม้ว่า อาการลิ่มเลือดที่ว่ามานี้ถือว่ามีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อยมาก แต่ก็ถือว่ามีอันตรายมากเช่นกัน
โดยพบว่ามียาอีกชนิดหนึ่งที่สามารถนำไปสู่อาการการเกิดลิ่มเลือดได้เช่นกัน แม้ว่าจะมีเปอร์เซ็นต์ที่เกิดขึ้นได้น้อยมากก็ตาม ซึ่งยาที่ว่านั้นคือยาเจือจางเลือดที่ชื่อว่าเฮปาริน โดยทั้งผู้ที่ใช้ยาเฮปารินและผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนจากแอสตร้าเซนเนก้า ทั้ง 2 กรณีจะมีความเหมือนกันก็คือจะมีการเกิดอาการป่วยด้วยลิ่มเลือดอันหายากนี้ขึ้น ภายในระยะเวลาประมาณ 2 สัปดาห์ไปจนถึง 20 วัน
ในรายของกลุ่มที่ได้รับยาเฮปารินนั้น ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายจะมีการสร้างสารภูมิคุ้มกันเพื่อตอนสนองต่อเฮปาริน และตอบสนองต่อโปรตีน ที่เรียกกันกว่า platelet factor 4 ที่แปลเป็นไทยว่าสารซึ่งหลั่งออกมาจากเกล็ดเลือดหรือสารในการแข็งตัวของเลือดนั่นเอง โดยสารที่ว่านี้ก็เป็นสาเหตุหนึ่งทำให้เกิดอาการลิ่มเลือดที่เป็นอันตรายขึ้นมา
เช่นเดียวกัน ในกรณีของผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนจากแอสตร้าเซนเนก้า พบว่ามีบางรายซึ่งน้อยมาก มีอาการเหมือนกับผู้ที่ได้รับยาเฮปาริน ก็คือ มีการเกิดสารภูมิคุ้มกันที่ชื่อว่า platelet factor 4 ในพลาสมาของผู้ถูกฉีดวัคซีน
@อะไรทำให้เกิดลิ่มเลือดเช่นนี้?
นพ.โฮเซ่ เพอร์โดโม นักวิจัยอาวุโส ที่วิจัยเกี่ยวกับโลหิตวิทยาที่มหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์เซนต์จอร์จและวิทยาลัยการแพทย์ซูเธอร์แลนด์ ประเทศออสเตรเลีย กล่าวว่า "เรารู้ว่านี่เป็นสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น แต่เราไม่รู้ว่าทำไม ณ เวลานี้"
นพ.เพอร์โดโม กว่าวอีกว่า มีเรื่องอีกมากมายที่ยังไม่รู้ โดยเฉพาะคำถามที่ว่าทำไมเฮปารินถึงทำให้เกิดกรณีลิ่มเลือดอุดตันได้ โดยกรณีการป่วยเช่นนี้นั้นมีการรายงานครั้งแรกในกลุ่มผู้ที่รับยาที่มีอายุมากกว่า 60 ปี
ดังนั้น ในกรณีที่วัคซีนทำให้เกิดลิ่มเลือดอุดตันได้อย่างไรนั้น คำตอบของคำถามนี้อาจจะไม่มีวันได้รับการไขปริศนาเลยก็เป็นได้
อย่างไรก็ตาม ก็มีการอ้างทฤษฎีต่างๆอยู่เหมือนกัน
“หนึ่งในทฤษฎีก็คือว่า บางคนที่มีแนวโน้มจะเข้าเงื่อนไขนี้ เนื่องจากการติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรียมาก่อนหน้านี้” นพ.เพอร์โดโมกล่าว
นั่นก็เป็นเพราะว่าการติดเชื้อในร่างกายนั้นนำไปสู่การที่ร่ายกายจะผลิตสิ่งที่เรียกว่า cell-free DNA หรือที่เรียกกันว่าสายดีเอ็นเอซึ่งไม่ได้อยู่ภายในเซลล์ ซึ่งเป็นดีเอ็นเอนอกเซลล์จากเซลล์ที่กำลังจะตายในเลือด (cell-free DNA สามารถกำเนิดได้จากเซลล์ปกติเช่นกัน)
“ดีเอ็นเอที่ว่านี้มีการทำงานเหมือนกับยาเฮปาริน โดยโมเลกุล หรือในกรณีนี้ก็คือดีเอ็นเอนั้นสามารถสร้างโครงสร้างอันสลับซับซ้อนได้ด้วยโปรตีนที่เรียกว่า platelet factor 4
โดยโครงสร้างที่ว่ามานี้นั้นทำให้จำนวนสารภูมิคุ้มกันเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งรูปแบบโครงสร้างนั้นคล้ายกับโครงสร้างตอนที่ร่างกายโดนจู่โจมด้วยแบคทีเรีย ถ้าหากร่างกายเรามีโครงสร้างที่ว่ามีนี้เราก็จะมีอาการต่างๆตามมา รวมไปถึงอาการลิ่มเลือดด้วยเช่นกัน” นพ.เพอร์โดโมกล่าว
นพ.เพอร์โดโมกล่าวต่อด้วยว่า ทฤษฎีก็คือว่า วัคซีนนั้นกระตุ้นให้เกิดการตอบสนองของสารภูมิคุ้มกันต่อ platelet factor 4 นั่นก็เพราะว่าในวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้ามีดีเอ็นเออยู่ในนั้นนั่นเอง
“ดังนั้น ดีเอ็นเอในร่างกายบางคนอาจจะเข้าไปสู่กระบวนการไหลเวียนและกระตุ้นให้เกิดโครงสร้างที่คล้ายกันนี้ขึ้นมาก็ได้ แต่นี่เป็นแค่การคาดการณ์เท่านั้น” นพ.เพอร์โดโมกล่าว
ส่วนทฤษฎีอื่นๆ ก็คือ บางคนอาจมีแนวโน้มที่จะมีการอักเสบจากการฉีดวัคซีน ซึ่งการอักเสบนั้นจะนำไปสู่การผลิตดีเอ็นเออันปราศจากเซลล์และจากนั้นจะนำไปสู่การก่อตัวของโครงสร้างภูมิคุ้มกันอันนำไปสู่การแข็งตัวของเลือดนั่นเอง
@มีทฤษฎีอื่นๆที่กำลังถูกตรวจสอบอีกหรือไม่?
มีรายงานออกมาจากหน่วยงานยาของยุโรปหรือ EMA ว่า จะมีการพิจารณาถึงความเป็นไปได้อื่นๆอีก อาทิ ข้อบกพร่องด้านคุณภาพ สิ่งสกปรกในชุดวัคซีน รวมไปถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงการบริหารจัดการวัคซีน
@อายุที่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อกรณีนี้อยู่ที่เท่าไร ?
นพ.เพอร์โดโมกล่าวว่า มีความแตกต่างกันระหว่างการเกิดการแข็งตัวของเลือดที่มาจากยาเฮปาริน และมาจากวัคซีน ซึ่งอายุก็คือหนึ่งในความแตกต่างนั้น โดยในกรณีผู้ที่ใช้ยาเฮปารินนั้นพบว่าถ้าหากผู้ใช้ยายิ่งมีอายุสูงมากเท่าไร ก็จะมีความเสี่ยงทำให้ยาเฮปารินก่อให้เกิดอาการเกล็ดเลือดต่ำได้มากขึ้นเท่านั้น
ตัวอย่างการเกิดลิ่มเลือด (อ้างอิงรูปภาพจากกลุ่มพันธมิตรวัคซีนกาวี)
แต่ดูเหมือนว่าในกรณีวัคซีนนั้น ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 50 ปี ดูจะเป็นกลุ่มที่จะได้รับผลกระทบเสียมากกว่า เนื่องจากมีความเป็นไปได้ว่าผู้ที่มีอายุน้อยกว่านั้นจะมีกรณีระบบภูมิคุ้มกันที่ทำงานเกินกว่าที่ควรจะเป็น (overactive immune system)
ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยปกตินัก
เพราะว่าในกรณีอื่นอันเกี่ยวข้องกับลิ่มเลือดอุดตันนั้นดูเหมือนว่ากลุ่มประชากรผู้สูงอายุจะเป็นกลุ่มที่เสี่ยงที่สุด แต่ทว่าไม่ใช่กับกรณีการฉีดวัคซีนนี้
อย่างไรก็ตาม ก็ยังไม่สามารถแน่ใจได้ว่าอายุนั้นจะเป็นปัจจัยเสี่ยงเสมอไป เพราะมีรายงานว่ามีกลุ่มผุ้สูงอายุเริ่มที่จะมีอาการที่ว่ามานี้แล้ว
เช่นเดียวกับผู้หญิงที่เริ่มจะมีอาการป่วยด้วยลิ่มเลือด ซึ่งนี่อาจจะมีสาเหตุว่าเริ่มมีการแจกวัคซีนให้กับกลุ่มผู้หญิงที่ทำหน้าที่เป็นพยาบาล ซึ่งถือว่าเป็นบุคลากรทางการแพทย์ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงนั่นเอง
“อย่างไรก็ตาม ณ เวลานี้เริ่มมีการฉีดวัคซีนให้กับผู้สูงอายุมากขึ้นในหลายประเทศ แต่อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการติดตามข้อมูลเหล่านี้อย่างจริงจัง ทำให้เรามีรายงานแค่จากบางประเทศเท่านั้น ทำให้ยังไม่สามารถมั่นใจได้ว่า มีการเพิ่มขึ้นของผู้ป่วยลิ่มเลือดจากการฉีดวัคซีนในกลุ่มผู้สูงอายุด้วยหรือไม่ หรือว่าการเพิ่มขึ้นที่ว่านี้อยู่ในกลุ่มประชากรรวมทั้งหมด”นพ.เพอร์โดโม กล่าว
และอีกข้อแตกต่างของการเกิดลิ่มเลือดระหว่างการใช้เฮปารินกับการฉีดวัคซีนก็คือ การใช้ยาเฮปารินอย่างต่อเนื่องนั้นดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่จะไปกระตุ้นปฏิกริยาแต่ว่าการฉีดวัคซีนนั้นแค่เพียงโดสเดียวก็สามารถกระตุ้นปฏิกริยาการทำให้เกิดลิ่มเลือดได้แล้ว
ซึ่งรายงานจาก EMA ได้ระบุว่า กลไกที่ทำให้เกิดปฏิกิริยานั้นจะต้องมีความแตกต่างกันอย่างแน่นอน หรือไม่ก็ผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบนั้นได้เคยพบเจอกับปัจจัยที่กระตุ้นสารภูมิคุ้มกันของร่างกายมาอยู่ก่อนแล้ว
@ อาการลิ่มเลือดนี้เกิดถี่แค่ไหน?
จากรายงานของ กลุ่มที่ปรึกษาด้านเทคนิคของออสเตรเลียเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนหรือ Atagi ซึ่งเป็นกลุ่มผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์โดยอิสระที่ทำหน้าที่เพื่อให้คำปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขของออสเตรเลียระบุว่าการเกิดปฎิกริยาลิ่มเลือดนั้นเกิดขึ้นในอัตราประมาณ 4-6 คน ต่อจำนวนผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีน 1 ล้านคน
อย่างไรก็ตาม ในประเทศในกลุ่มสแกนดิเนเวียและในประเทศเยอรมนี พบว่า มีกลุ่มผู้ป่วยลิ่มเลือดในอัตราที่สูงกว่านี้
โดยแถลงการณ์ของ Atagi ระบุว่า ยังคงมีความไม่แน่นอนและความแตกต่างกันในอัตราความเสี่ยงสำหรับผลข้างเคียงนี้
เราจำเป็นต้องได้รับการตรวจเพื่อที่จะสามารถค้นหาอาการผลข้างเคียงนี้ได้หรือไม่?
ใช่แล้ว ที่ผ่านมามีการตรวจสอบผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนหลายคนเพื่อที่จะตรวจสอบว่าพวกเขานั้นมีสารภูมิคุ้มกันต่อ platelet factor 4 ที่เกิดขึ้นในพลาสมาหรือไม่
นี่หมายความว่าแพทย์ผู้ทำการวินิจฉัยสามารถบอกได้ว่าคนไข้นั้นมีอาการอันหายากเกี่ยวกับการเกิดลิ่มเลือด เพื่อที่จะดูว่าอาการนี้นั้นเป็นสิ่งที่อยู่ตรงข้ามหรือแตกต่างกับกลุ่มประชากรทั่วไปที่มีอาการลิ่มเลือดอันไม่อันตรายแม้จะไม่ได้รับการฉีดวัคซีนใช่หรือไม่
“การทดสอบหาผู้ป่วยหลังการฉีดวัคซีนนี้นั้นจะช่วยในแง่ของการรักษาผู้ป่วยได้ เพราะเราจะรู้ว่าอะไรซึ่งไม่ควรกระทำ เพราะในตอนแรกที่มีผู้ป่วยลิ่มเลือดจากการฉีดวัคซีนปรากฏขึ้นมานั้น แพทย์ผู้ทำการรักษา ใช้วิธีการรักษาแบบเดียวกับผู้ป่วยที่มีอาการลิ่มเลือดทั่วไป ซึ่งนี้ไม่ใช่วิธีการรักษาผู้ป่วยที่มีปฏิกริยารุนแรง” นพ.เพอร์โดโมกล่าว
โดยสมาคมว่าด้วยลิ่มเลือดวิทยาและกลไกการห้ามเลือดของประเทศออสเตรเลียและนิวซีแลนด์นั้นก็ได้ออกมาเผยแพร่คู่มือและแนวทางการตรวจจับและจัดการกับกรณีลิ่มเลือดหลังจากการฉีดวัคซีนแล้วเช่นกัน ซึ่งแนวทางดังกล่าวนั้นถือว่าเพิ่มความปลอดภัยในการรักษาลิ่มเลือดเป็นอย่างยิ่ง
@มีหลักฐานว่าวัคซีนทำให้เกิดลิ่มเลือดหรือไม่ ?
“เรายังพูดไม่ได้อย่างแน่นอน แต่ว่าหลักฐานทุกหลักฐานดูเหมือนจะชี้ไปในทิศทางนั้น ณ เวลานี้เรากำลังทดสอบในกรณีเคสของประเทศออสเตรเลีย แต่ว่าทุกเคสที่เกิดลิ่มเลือดนั้นดูเหมือนว่าจะมีสารภูมคุ้มกัน platelet factor 4 โดยไม่ได้รับยาเฮปาแต่อย่างใด ดังนั้นวัคซีนดูจะเป็นจุดเชื่อมโยงเดียวที่โยงไปถึงเคสลิ่มเลือด” นพ.เพอร์โดโมกล่าว
มีกรณีการเกิดลิ่มเลือดในวัคซีนโควิด-19 ชนิดอื่นๆ อีกหรือไม่?
นพ.จิม บัตเตอร์รี่ หัวหน้าแผนกการจับสัญญาณการระบาดวิทยา ที่หน่วยงานด้านการเสริมสร้างความปลอดภัยการสร้างภูมิคุ้มกัน วิคตอเรียน กล่าวว่า ณ เวลานี้มีการฉีดวัคซีนไฟเซอร์จำนวนกว่า 70 ล้านโดสไปทั่วโลก แต่พบว่ามีผู้ป่วยลิ่มเลือดอุดตันในสมองจำนวนแค่ 2 รายเท่านั้นในสหรัฐอเมริกา
แต่ทั้ง 2 รายที่ว่ามานี้ก็ยังไม่มีกรณีภาวะเกล็ดเลือดต่ำแบบที่เห็นในเคสของวัคซีนจากแอสตร้าเซนเนก้าแต่อย่างใด
ขณะที่ EMA ณ เวลานี้ก็กำลังมีการสอบสวนเกี่ยวกับกรณีการเกิดลิ่มเลือดกับผู้ที่ได้วัคซีนแบบโดสเดียวที่ผลิตโดยบริษัทจอห์นสันแอนด์จอห์นสันจำนวน 4 ราย
และล่าสุดเมื่อช่วงค่ำของวันที่ 14 เม.ย. ตามเวลาในประเทศไทย ก็มีรายงานว่า ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (CDC) และสำนักงานอาหารและยา (FDA) ของสหรัฐฯ ได้ออกแถลงการณ์ร่วมกันโดยเสนอข้อแนะนำให้สหรัฐฯระงับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ของบริษัทจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน (J&J) เป็นการชั่วคราว เพื่อที่ทั้งสองหน่วยงานจะได้ตรวจสอบกรณีการเกิดลิ่มเลือดอุดตันที่อาจเป็นอันตรายในผู้หญิง 6 คนที่ได้รับวัคซีนจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน ซึ่งจนถึงขณะนี้ มีการฉีดวัคซีนจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน มากกว่า 6.8 ล้านโดสแล้วในสหรัฐ
โดยคณะกรรมการที่ปรึกษาด้านการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคของ CDC จะประชุมกันในวันพุธนี้ เพื่อหารือเกี่ยวกับกรณีการพบผู้ที่เกิดลิ่มเลือดอุดตันหลังได้รับวัคซีนดังกล่าว
ซึ่งวัคซีนจอห์นสันแอนด์จอห์นสันนั้นเป็นวัคซีนที่เหมือนกับของแอสตร้าเซนเนก้า ก็คือวัคซีนแบบไวรัลเวกเตอร์ที่จะใช้ไวรัสที่ไม่เป็นภัย ที่รู้จักกันในชื่ออะดีโนไวรัสเข้าไปกระตุ้นเซลล์ให้ทำโปรตีนหนามสำหรับไวรัสโควิด-19
“แอสตราเซนเนก้าเป็นวัคซีนที่เราคิดว่าทำให้เกิดผลข้างเคียงอันหายากที่ว่ามานี้ แค่ผลข้างเคียงดังกล่าวนั้นก็ถือว่าเป็นของจริง” นพ.บัตเตอร์รี่กล่าว
ขณะที่ นพ.นิโคไล เปตรอฟสกี จากวิทยาลัยการแพทย์และสาธารณสุข มหาวิทยาลัยฟลินเดอร์กล่าวว่า ณ เวลานี้ยังไม่มีข้อสรุปชัดเจนว่าอาการลิ่มเลือดนั้นเกิดจากอะดิโนไวรัสที่ก่อโรคในลิงชิมแปนซี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวัคซีน หรือว่าเกิดจากส่วนผสมอื่นของวัคซีนกันแน่ แต่เขาก็หวังว่าการคำถามนี้จะนำไปสู่การสืบสวนทางวิทยาศาสตร์อย่างจริงจัง
เรียบเรียงจาก:https://www.theguardian.com/world/2021/apr/13/astrazeneca-blood-clotting-what-is-this-rare-syndrome-and-how-is-it-caused
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/