"...แม้ว่าประเทศอินเดียจะมีศักยภาพเป็นฐานการผลิตวัคซีน แต่ก็มีรายงานว่าสามารถฉีดวัคซีนไปได้แค่ 10 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนประชากรในประเทศทั้งหมด 1.4 พันล้านคน และในทุกๆ 2 โดสวัคซีนที่อินเดียสามารถผลิตได้ในประเทศ วัคซีนจำนวนหนึ่งโดสจะต้องถูกส่งออกไปต่างประเทศ ส่งผลทำให้มีการกล่าวหากันในประเทศอินเดียว่าจำนวนวัคซีนที่จะต้องถูกส่งออกไป แทนที่จะเอามาใช้ในประเทศอินเดียเพื่อรับมือกับสถานการณ์การระบาดระลอก 2 อันรุนแรง ซึ่งถือเป็นความล้มเหลวทางการเมืองภายในของประเทศอินเดียเอง..."
......................
สืบเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศอินเดีย ที่ ณ เวลานี้มีผู้ติดเชื้อรายวันอยู่ที่ 360,000 คน
ล่าสุดสำนักข่าวSky News ของประเทศอังกฤษ ได้เผยแพร่บทความวิเคราะห์วิกฤติการระบาดของไวรัสโควิด-19 ในอินเดีย ที่กำลังส่งผลกระทบไปสู่การแจกจ่ายวัคซีนทั่วโลกด้วย
มีรายละเอียดดังต่อไปนี้
ก่อนหน้านี้มีการวิเคราะห์กันว่า ในบรรดากลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนานั้น ประเทศอินเดีย น่าจะเป็นประเทศที่สามารถป้องกันการระบาดระลอกที่ 2 ของไวรัสโควิด-19 ได้
อย่างไรก็ตาม ปัญหาหลายด้านในอินเดีย ทั้งปัญหาความยากจน ประชากรมีจำนวนมาก ปัญหาทางด้านสาธารณสุขที่ไม่มีความเป็นเอกภาพ ทุกอย่างล้วนเข้าทางที่ทำให้เกิดการระบาดของไวรัสโควิด-19 อย่างรุนแรง แต่แม้จะมีปัญหาหลายด้านเกิดขึ้น แต่อินเดียก็นับเป็นโรงงานผลิตวัคซีนแห่งใหญ่ที่สุดให้กับโลกด้วยเช่นกัน
วิกฤติโควิด-19 ในประเทศอินเดีย (อ้างอิงวิดีโอจากบีบีซี)
โดย ณ เวลานี้ สถาบันเซรุ่มของประเทศอินเดียถือว่าเป็นศูนย์กลางของแผนงานสำหรับโครงการโคแวกซ์ ซึ่งเป็นโครงการขององค์การอนามัยโลกหรือ WHO ที่ต้องการจะให้ประชาชนนับพันล้านคนที่ไม่ได้เป็นประชากรของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจตะวันตกขนาดใหญ่นั้นสามารถเข้าถึงวัคซีนโควิด-19 ได้อย่างเท่าเทียม
สถาบันเซรุ่มเองก็ยังมีพันธะในการจัดส่งวัคซีนนับพันล้านโดสของทั้งบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า บริษัทโนวาแวกซ์ ขณะที่วัคซีนจากบริษัทจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน วัคซีนโควาซิน จาก Bharat Biomedica และวัคซีนสปุตนิกวีจากรัสเซีย ทั้งหมดนี้ก็มีรายงานว่าจะมีการผลิตในประเทศอินเดียเช่นกัน
ซึ่งจำนวนวัคซีนที่ทางประเทศอินเดียจะต้องจัดส่งให้กับโคแวกซ์นั้น อยู่ที่ 200 ล้านโดส และจะต้องส่งให้ทันภายในเดือน มิ.ย. แต่ก็เริ่มมีข้อกังขาแล้วว่าประเทศอินเดียจะสามารถทำตามข้อตกลงที่ว่านี้ได้หรือไม่
เพราะจนถึงขณะนี้อินเดียสามารถจัดส่งวัคซีนให้กับโคแวกซ์ได้แค่ประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น
แม้ว่าประเทศอินเดียจะมีศักยภาพเป็นฐานการผลิตวัคซีน แต่ก็มีรายงานว่าสามารถฉีดวัคซีนไปได้แค่ 10 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนประชากรในประเทศทั้งหมด 1.4 พันล้านคน และในทุกๆ 2 โดสวัคซีนที่อินเดียสามารถผลิตได้ในประเทศ วัคซีนจำนวนหนึ่งโดสจะต้องถูกส่งออกไปต่างประเทศ
ส่งผลทำให้มีการกล่าวหากันในประเทศอินเดียว่าจำนวนวัคซีนที่จะต้องถูกส่งออกไป แทนที่จะเอามาใช้ในประเทศอินเดียเพื่อรับมือกับสถานการณ์การระบาดระลอก 2 อันรุนแรง ซึ่งถือเป็นความล้มเหลวทางการเมืองภายในของประเทศอินเดียเอง
ปัจจุบันอินเดียจะต้องส่งวัคซีน 5 ชนิด จำนวนกว่า 66 ล้านโดสไปให้กับ 93 ประเทศทั่วโลก รวมไปถึงส่งให้กับหน่วยงานในองค์การสหประชาชาติ โดยประเทศที่รับวัคซีนจากอินเดียมากที่สุดคือ บังกลาเทศจำนวนกว่า 10.7 ล้านโดส และโมรอกโกจำนวนกว่า 7 ล้านโดส
ขณะที่ประเทศอังกฤษก็ได้รับวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้าไปแล้วจำนวน 5 ล้านโดส จากจำนวนที่สั่งจากประเทศอินเดียทั้งหมด 10 ล้านโดส ซึ่งประเทศอังกฤษนั้นแทบจะเป็นประเทศเดียวในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วที่สั่งวัคซีนจากประเทศอินเดีย ส่วนอีกประเทศหนึ่งที่สั่งวัคซีนจากประเทศอินเดียนั้นก็คือ แคนาดา
และตามที่อธิบายไปแล้วว่า แม้ว่าประเทศอินเดียจะมีกำลังการผลิตวัคซีนของบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า โดยวัคซีนจากสถาบันเซรุ่มที่มีการแจกจ่ายนับตั้งแต่เดือน มี.ค.ที่ผ่านมานั้นถือว่าเป็นวัคซีนหลักที่มีการกระจายในประเทศอินเดีย
แต่เมื่อเกิดการระบาดระลอกที่ 2 ที่จำนวนผู้ติดเชื้อรายวันพุ่งสูงสุดในช่วงกลางเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา ส่งผลทำให้อินเดียต้องแบนการส่งออกวัคซีนจำนวน 5 ล้านโดส ลอตที่ 2 ที่จะส่งไปยังประเทศอังกฤษ และแน่นอนว่ามันส่งผลทำให้ประเทศอังกฤษอาจจะต้องหยุดการฉีดวัคซีนโดสแรกสำหรับกลุ่มประชากรที่มีอายุต่ำกว่า 50 ปีเป็นการชั่วคราวตามไปด้วย
ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่า ณ เวลานี้ประเทศอินเดียนั้นต้องรับศึกหนักมากทั้งจากสถานการณ์โควิดในประเทศอินเดีย และยังต้องรับแรงกดดันอันมหาศาลในฐานะผู้ผลิตวัคซีนโลกอีกทางหนึ่ง ล่าสุดมีรายงานว่าประเทศอินเดียมีความต้องการวัตถุดิบและอุปกรณ์สำหรับการบรรจุขวดเป็นจำนวนมาก ซึ่งนับเป็นปัจจัยที่จะกระทบกับการผลิตวัคซีนอีกทางหนึ่ง และยังมีปัญหาการกระจายวัคซีนในประเทศ ที่ส่งผลลามไปถึงราคาของวัคซีนในประเทศอินเดียด้วย
เบื้องต้น สหรัฐอเมริกาได้มีการให้ความช่วยเหลือกับประเทศอินเดียแล้ว ทั้งการส่งออกวัคซีนจากบริษัทแอสตร้าเซนเนก้าเพิ่มเติม และวัตถุดิบอื่นๆที่จำเป็นต่อการผลิตวัคซีน
รายงานข่าวราคาวัคซีนในประเทศอินเดีย (อ้างอิงวิดีโอจาก India Today)
สำหรับทางออกที่ทำได้ของอินเดียในเวลานี้ ก็คือ ระบบสาธารณสุขภาคเอกชน ที่พอจะเป็นที่พึ่งพาของประชาชนอินเดียได้ อย่างไรก็ตาม ณ เวลานี้ มีประชาชนอินเดียจำนวนมากยังไม่มีกำลังทรัพย์ที่จะเข้าถึงระบบสาธารณสุขภาคเอกชนที่ว่านี้ได้ อีกทั้งภาคเอกชนก็เริ่มจะรับภาระหนักแล้วเช่นกันสำหรับการระบาดของไวรัสโควิด-19 ในระลอกที่ 2
ถ้าหากอินเดียต้องการที่จะบรรลุเป้าหมายการฉีดวัคซีนให้กับประชากรกลุ่มเสี่ยงจำนวนกว่า 400 ล้านคน อินเดียก็มีความจำเป็นเช่นกันที่จะต้องอาศัยความร่วมมือจากภาคเอกชนดังกล่าวนี้
ดังนั้น จึงสรุปได้ว่าภัยพิบัติด้านไวรัสที่อินเดียต้องเผชิญอยู่ ณ เวลานี้นั้น ท้ายที่สุดแล้วจะนำมาซึ่งวิกฤติวัคซีนทั่วโลกได้ด้วยเช่นกัน
ทั้งนี้ มีรายงานว่าปัจจุบันมีอย่างน้อยเกือบ 93 ประเทศทั่วโลกที่กำลังรอรับวัคซีนจากประเทศอินเดีย โดยประเทศเหล่านี้นั้นส่วนมากเป็นประเทศยากจน ประเทศขนาดเล็กที่ไม่มีศักยภาพในการผลิตวัคซีนของตัวเอง ซึ่งอยู่ทั้งในทวีปแอฟริกาและทวีปเอเชีย
ประชาชนของประเทศเหล่านี้ กำลังประสบหายนะและมีความต้องการวัคซีนอย่างเร่งด่วน
แน่นอนว่าหายนะที่อินเดีย ก็กำลังส่งผลลูกโซ่ทำให้การส่งออกวัคซีนไปยังกลุ่มประชากรเหล่านี้นั้นมีความล่าช้ามากขึ้นไปอีก
เรียบเรียงจาก:https://news.sky.com/story/the-worlds-vaccine-factory-that-cannot-protect-its-own-people-12288835
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage