"...แม้ว่าภูเก็ตจะเปิดขึ้นอีกครั้ง แต่ตราบใดที่ยังคงมีการท่องเที่ยวระหว่างประเทศไทยที่เหลือกับ จ.ภูเก็ต ดังนั้นมันก็จะมีความเสี่ยง และในกรณีเลวร้ายที่สุด ก็คือภูเก็ตนั้นอาจกลายเป็นพื้นที่ซุปเปอร์สเปรดเดอร์ขนาดใหญ่ เพราะว่านักท่องเที่ยวก็จะมาจากทุกมุมโลก และนี่ก็จะกลายเป็นจุดที่แพร่ระบาดสายพันธุ์ไวรัสโควิด-19 ต่างๆ ออกไปทั่วโลก..."
.......................
สืบเนื่องจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ประเทศไทยต้องเผชิญอยู่ ณ เวลานี้ โดยในวันที่ 16 เม.ย. พบว่ามีผู้ติดเชื้อรายวันทะลุ 1,582 ราย ซึ่งจากการระบาดดังกล่าวนั้นก็ส่งผลทำให้เริ่มมีความกังวลกันแล้วว่าการรัฐบาลไทยได้เคยประกาศแผนการว่าจะเปิด จ.ภูเก็ต เพื่อนำร่องสำหรับการเปิดประเทศไทยนั้นจะยังดำเนินการต่อไปได้หรือไม่
โดยสำนักข่าวเดอะซิดนีย์มอร์นิงเฮรัลด์ของประเทศออสเตรเลีย ได้มีการเขียนบทความวิเคราะห์ถึงความเป็นไปได้ในการเปิด จ.ภูเก็ต อันเนื่องมาจากสถานการณ์การระบาดที่ประเทศไทยต้องเผชิญอยู่ ณ เวลานี้ สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้นำเอารายงานดังกล่าวมานำเสนอ มีรายละเอียดดังนี้
จุดศูนย์กลางการท่องเที่ยวของโลกอย่างจังหวัดภูเก็ตมีแนวโน้มที่จะกลายเป็นพื้นที่ซุปเปอร์สเปรดเดอร์ระดับโลก เว้นเสียแต่ว่าทางการไทยนั้นจะมีขีดความสามารถในการควบคุมการระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอก 3 ให้ได้เป็นผลสำเร็จก่อนช่วงกลางปี 2564
ที่ผ่านมานั้น รัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ได้พยายามอย่างยิ่งยวดที่จะฟื้นคืนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยงใน จ.ภูเก็ต ด้วยความพยายามจะฉีดวัคซีนครั้งใหญ่ในช่วงเดือน เม.ย. และวางแผนว่าจะให้จังหวัดภูเก็ตเป็นจังหวัดนำร่องก่อนจังหวัดอื่นๆ จึงได้มีความพยายามที่จะฉีดวัคซีนอย่างรวดเร็ว โดยจะฉีดให้ได้เป็นจำนวนประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ของประชากร 5 แสนคนใน จ.ภูเก็ต เพื่อที่จะนำไปสู่การสร้างภูมิคุ้มกันหมู่
แต่ถึงกระนั้น สถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 เกิดขึ้นในประเทศไทย รวมไปถึงกรณีการแพร่เชื้อจากสถานบันเทิงย่านทองหล่อ ที่ส่งผลทำให้มีผู้ติดเชื้อเป็นจำนวนมากกว่าพันรายต่อวัน ทำให้ต้องมีการสร้างโรงพยาบาลสนามหลายแห่งนั้น
เรื่องนี้นำไปสู่ความกังวลว่าการเปิดจังหวัดภูเก็ตในช่วงเดือน ก.ค.นั้นอาจจะเป็นไม่สามารถกระทำได้เสียแล้ว
รายงานข่าวการระบาดของไวรัสโควิด-19 ของประเทศไทยในระลอก 3 (อ้างอิงวิดีโอจาก WION)
“แน่นอนว่ามีความกังวล ถ้าหากนับในช่วงสัปดาห์แรกของเดือน เม.ย.มีการฉีดวัคซีนอยู่ที่จำนวน 5,000-7,000 คน ต่อวัน ดังนั้นรัฐบาลก็สามารถที่จะทำให้ตัวเลขของบุคลากรโรงแรมซึ่งได้รับการฉีดวัคซีนนั้นอยู่ที่ 80,000-100,000 คน ซึ่งนั่นถือว่าเป็นเรื่องที่ดี ในตอนนั้นเราถือว่ากำลังไปสู่เป้าหมายในการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ เพื่อที่จะทำให้สามารถเปิดพื้นที่ทางเศรษฐกิจได้ในช่วงเดือน ก.ค.แต่อย่างไรก็ตาม ปัญหาจากโควิด-19 ที่ผ่านมา เราทุกคนก็ต้องคอยจับตาดูแล้วว่าหลังจากช่วงสงกรานต์ผ่านพ้นไปนั้น รัฐบาลจะทำอย่างไรเพื่อที่จะควบคุมการระบาดและการแพร่กระจายที่เกิดขึ้น ณ เวลานี้ และการที่ พล.อ.ประยุทธ์ได้มีการพูดเป็นนัยว่าอาจจะมีความล่าช้านั้น นี่ก็เป็นเรื่องที่ค่อนข้างกังวล” นายบิล บาร์เน็ต ผู้อำนวยการผู้จัดการบริษัทให้คำปรึกษา C9 Hotelworks กล่าว
โดยในปี 2563 ที่ผ่านมานั้นเศรษฐกิจของประเทศไทยที่มีการท่องเที่ยวเป็นแกนขับเคลื่อนหลักต้องหดตัวไปถึง 6 เปอร์เซ็นต์ โดยมีนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศเดินทางเข้ามายังประเทศไทยลดเหลือแค่ 6.7 ล้านคน จากก่อนหน้านี้ในปี 2562 ที่มีนักท่องเที่ยวต่างประเทศไทยอยู่ที่ 39.9 ล้านคน ซึ่งข้อมูลจากกระทรวงการต่างประเทศและการค้าของออสเตรเลีย ได้มีการเปิดเผยตัวเลขว่าก่อนการระบาดของไวรัสโควิด-19 นั้น นักท่องเที่ยวออสเตรเลียที่เดินทางมายังประเทศไทยต่อปีอยู่ที่ประมาณปีละ 800,000 คน
ส่วนทางด้านของนายแอนโธนี่ ลาร์ค ประธานสมาคมโรงแรมภูเก็ต ซึ่งเป็นองค์กรตัวแทนโรงแรมกว่า 80 แห่งที่มีพนักงานกว่า 20,000 คน ได้บรรยายถึงการระบาดใหม่ในครั้งนี้ว่าเปรียบเสมือนกับลูกระนาดสำหรับแผนการเปิดจังหวัดในครั้งนี้ แต่ก็ได้บอกต่อไปอีกว่ายังคงมีการพูดคุยอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับการทำให้การสร้างภูเก็ตให้กลายเป็นฟองสบู่การท่องเที่ยวขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย
นายลาร์ค กล่าวต่อว่า เขาเคยมีนัดรับประทานอาหารกับนายอัลลัน แมคคินนอน เอกเอครราชทูตออสเตรเลียและนายแมทธิว บาร์เคลย์ กงสุลใหญ่ออสเตรเลียที่ จ. ภูเก็ต เมื่อไม่กี่วันก่อน โดยในหัวข้อการสนทนามีการพูดถึงประเด็นเกี่ยวกับการหาสถานที่จะเชื่อมโยงกับ จ.ภูเก็ต กับการเปิดฟองสบู่การท่องเที่ยว ซึ่งเรื่องนี้นั้นก็กำลังมีการหารือกันระหว่างรัฐบาลออสเตรเลียและรัฐบาลสิงคโปร์ด้วยเช่นกัน
“พวกเขากำลังทำงานร่วมกับกระทรวงต่างประเทศออสเตรเลีย เพื่อเริ่มต้นการเจรจาให้เกิดการท่องเที่ยวฟองสบู่เกิดขึ้น” นายลาร์คกล่าว
ขณะที่ นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาก็ได้เคยกล่าวในช่วงสัปดาห์ก่อนเช่นกันว่าตัวเขาได้มีการหารือเรื่องการเปิดการท่องเที่ยวฟองสบู่กับประเทศสิงคโปร์ด้วย ซึ่งคาดว่าการหารือนั้นจะทำให้มีนักท่องเที่ยวจากออสเตรเลียเดินทางเข้ามายัง จ.ภูเก็ต เพิ่มขึ้น
แต่จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีปฏิกิริยาออกมาจากทั้งทางรัฐบาลออสเตรเลียและรัฐบาลสิงคโปร์ เกี่ยวกับเจตนาของพวกเขาในการจะเชื่อมโยงกับ จ.ภูเก็ต อย่างไรก็ตาม การที่ประเทศไทยต้องเผชิญภัยกับการระบาดครั้งใหม่นั้น ก็ถือเป็นการถดถอยครั้งสำคัญสำหรับความพยายามที่จะผลักดันฟองสบู่นี้
รายงานข่าวการระบาดของไวรัสโควิด-19 ใน จ.ภูเก็ต (อ้างอิงวิดีโอจาก The Phuket News)
โดย นพ.เจเรมี ลิม รองศาสตราจารย์ด้านสาธารณสุขของมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์เชื่อว่ามันจะเป็นความท้าทายเป็นอย่างยิ่งในการโน้มน้าวให้ประเทศสิงคโปร์เข้าร่วมการลงทุนในการเปิดฟองสบู่ในอนาคตอันใกล้นี้
“แม้ว่าภูเก็ตจะเปิดขึ้นอีกครั้ง แต่ตราบใดที่ยังคงมีการท่องเที่ยวระหว่างประเทศไทยที่เหลือกับ จ.ภูเก็ต ดังนั้นมันก็จะมีความเสี่ยง และในกรณีเลวร้ายที่สุด ก็คือภูเก็ตนั้นอาจกลายเป็นพื้นที่ซุปเปอร์สเปรดเดอร์ขนาดใหญ่ เพราะว่านักท่องเที่ยวก็จะมาจากทุกมุมโลก และนี่ก็จะกลายเป็นจุดที่แพร่ระบาดสายพันธุ์ไวรัสโควิด-19 ต่างๆออกไปทั่วโลก” นพ.ลิมกล่าว
นพ.ลิม กล่าวต่อไปว่าตัวเขาเชื่อว่าแนวคิดการเปิด จ.ภูเก็ตนั้นจะถือเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยที่มีความผูกพันกับการท่องเที่ยวเป็นอย่างยิ่ง ถ้าหากประเทศมีมาตรการอันมีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะแยกเกาะภูเก็ตให้พ้นจากภัยคุกคามจากการระบาดดังกล่าว
“ผมคิดว่ามันสมเหตุสมผลมาก ที่จะไม่เปิดทั้งประเทศของคุณทั้งหมดในคราวเดียวกัน และมันก็ดูจะเป็นเรื่องที่สมเหตุสมผลเป็นอย่างยิ่งในการดำเนินมาตรการที่ละขั้นตอนสำหรับการเปิดประเทศโดยเอา จ.ภูเก็ตเป็นจุดเริ่มต้น” นพ.ลิมกล่าวและกล่าวทิ้งท้ายว่า “สำหรับผมคงจะบอกว่า ณ จุดนี้ คนที่บอกว่า จ.ภูเก็ตจะสามาระเปิดได้ในวันที่ 1 ก.ค. คนๆนั้นคงจะต้องเป็นนักเล่นพนันตัวจริง แต่สำหรับตัวผมแล้ว ก็คงจะพูดไม่ได้เช่นกันว่าแผนการเปิดจังหวัดที่ว่ามานั้นไม่สามารถจะดำเนินการได้แล้ว”
เรียบเรียงจาก: https://www.smh.com.au/world/asia/thailand-s-covid-third-wave-threatens-plan-to-open-phuket-to-world-20210415-p57jc4.html
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/