“...การดูแลการใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบของประชาชน กสม. เห็นว่า ในภาพรวมรัฐไม่ได้แทรกแซงการใช้เสรีภาพดังกล่าวตามกฎหมาย แม้ในบางกรณีผู้จัดการชุมนุมไม่ได้แจ้งการชุมนุมตามมาตรา 10 แห่ง พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 แต่มีรายงานว่าการชุมนุมยังดำเนินต่อไปได้ แต่เจ้าหน้าที่รัฐอาจดำเนินการทางกฎหมายกับแกนนำที่ไม่แจ้งการชุมนุม…”
.............................................
ปฏิเสธไม่ได้ว่านับตั้งแต่ช่วงต้นปี 2563 เป็นต้นมา สถานการณ์การเมืองของไทยกลับมาร้อนแรงขึ้นอีกครั้ง จากการชุมนุมของนิสิตนักศึกษา เยาวชนคนรุ่นใหม่ รวมถึงประชาชนจำนวนไม่น้อย ที่เข้าร่วมเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย และขับไล่ระบอบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลากยาวมาจนถึงปี 2564
หน่วยงานหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญในการกำกับดูแลสิทธิและเสรีภาพของประชาชน หนีไม่พ้นคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.)
หากนับเฉพาะในห้วงปี 2563 ที่ผ่านมา กสม. ออกแถลงการณ์แสดงความห่วงใยถึงสถานการณ์การชุมนุมทางการเมืองของม็อบดังกล่าวมาแล้วไม่ต่ำกว่า 9 ครั้ง และทำหนังสือข้อห่วงใยไปยังนายกรัฐมนตรี (พล.อ.ประยุทธ์) ไปแล้วอย่างน้อย 1 ครั้ง โดยเน้นย้ำถึงการเคารพสิทธิและเสรีภาพของประชาชน รวมถึงมาตรการจำกัดเสรีภาพต้องดำเนินการเท่าที่จำเป็นและได้สัดส่วนกับสถานการณ์
ประเด็นสำคัญในการชุมนุมของม็อบตั้งแต่ปี 2563 กระทั่งมีการจัดตั้งชื่อ ‘ม็อบราษฎร’ อย่างเป็นทางการในช่วงปลายปี 2563 และมีความเคลื่อนไหวมาจนถึงปัจจุบัน ที่แกนนำหลัก-แกนนำรองเกือบทั้งหมดถูกฝากขังในเรือนจำ และไม่ได้รับสิทธิการประกันตัวอยู่ในตอนนี้
กสม. มองสถานการณ์ดังกล่าวอย่างไร?
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) มีคำตอบ อ่านได้จากบรรทัดถัดไป
รายงานผลการประเมินสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศไทย ปี 2563 (ค.ศ. 2020) เผยแพร่เมื่อวันที่ 12 เม.ย. 2564 ไล่เรียงถึงสถานการณ์การชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ต้นปี 2563 ได้แก่ การจัดกิจกรรม ‘วิ่งไล่ลุง’ จนมาถึงกรณีศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคอนาคตใหม่ กรณีนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรค ให้เงินกู้โดยมิชอบ ส่งผลให้เกิดความไม่พอใจของประชาชน หลังจากนั้นมีการจัดการชุมนุมเรื่อยมา เรียกร้องการยุบสภาผู้แทนราษฎร การแก้ไขรัฐธรรมนูญ และขับไล่นายกรัฐมนตรี
อย่างไรก็ดีในช่วงเดือน ส.ค. 2563 มีการยกระดับการชุมนุมขึ้น โดยเมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2563 ที่ ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต กลุ่มธรรมศาสตร์และการชุมนุม ประกาศข้อเรียกร้อง 10 ข้อ เกี่ยวกับการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ กสม. เห็นว่า นับเป็นจุดเริ่มต้นการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์ในที่สาธารณะอย่างเปิดเผย รวมทั้งการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งในเชิงวิจารณ์ กล่าวหา เสียดสีสถาบันฯ และพระบรมวงศานุวงศ์อย่างเปิดเผย หลังจากนั้นมีการจัดตั้ง ‘กลุ่มราษฎร’ อย่างเป็นทางการเพื่อชุมนุมเรียกร้องเกี่ยวกับการปฏิรูปสถาบันฯ
กสม.ประเมินสถานการณ์เหล่านี้ สรุปได้ว่า ในช่วงปี 2563 ประชาชนใช้สิทธิเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ ดังเห็นได้จากการชุมนุมทางการเมืองต่อเนื่องเกือบตลอดทั้งปี ยกเว้นเดือน เม.ย.-พ.ค. 2563 ที่รัฐบาลประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯทั่วประเทศ เพื่อบริหารจัดการเชื้อโควิด-19 ที่กำลังแพร่ระบาดอย่างหนัก
กสม. เห็นว่า การประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในช่วงเวลาดังกล่าว เพราะองค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศให้โรคนี้เป็นการระบาดใหญ่ทั่วโลก กอปรกับไทยมีผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้น การที่รัฐบาลนำกฎหมายพิเศษมาบังคับใช้ที่มีผลเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบนั้น เป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ทางด้านสุขอนามัยของประชาชน และมาตรการดังกล่าวส่งผลให้สามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้เป็นอย่างดี และเมื่อสถานการณ์แพร่ระบาดดีขึ้น รัฐบาลประกาศมาตรการผ่อนคลาย ทำให้ประชาชนกลับมาใช้เสรีภาพในการชุมนุมได้อีกครั้ง
ส่วนการดูแลการใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบของประชาชน กสม. เห็นว่า ในภาพรวมรัฐไม่ได้แทรกแซงการใช้เสรีภาพดังกล่าวตามกฎหมาย แม้ในบางกรณีผู้จัดการชุมนุมไม่ได้แจ้งการชุมนุมตามมาตรา 10 แห่ง พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 แต่มีรายงานว่าการชุมนุมยังดำเนินต่อไปได้ แต่เจ้าหน้าที่รัฐอาจดำเนินการทางกฎหมายกับแกนนำที่ไม่แจ้งการชุมนุม อย่างไรก็ดีการฝ่าฝืนบทบัญญัติดังกล่าว มีโทษเพียงปรับเท่านั้น การปฏิบัติของเจ้าหน้าที่รัฐจึงเป็นไปในแนวทางเดียวกับความเห็นทั่วไปของคณะกรรมการประจำกติกา ICCPR เรื่องสิทธิในการชุมนุมโดยสงบ
สำหรับการชุมนุมที่เกิดขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2563 ส่วนใหญ่ไม่มีเหตุการณ์รุนแรง แม้จะมีการกระทบกระทั่งกันอยู่บ้างระหว่างผู้ชุมนุม กับเจ้าหน้าที่รัฐที่ปฏิบัติหน้าที่ในการดูแลความสงบเรียบร้อยในบางกรณี ทั้งฝ่ายผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่รัฐต่างพยายามใช้ความอดทนอดกลั้นเพื่อไม่ให้มีความรุนแรงเกิดขึ้น
แต่มีการชุมนุม 2 กรณีที่รัฐใช้มาตรการยุติการชุมนุม โดยการฉีดน้ำแรงดันสูง มีการผสมสารเคมีและแก๊สน้ำตาในน้ำ ฉีดใส่ผู้ชุมนุม คือ การชุมนุมบริเวณแยกปทุมวัน เมื่อวันที่ 16 ต.ค. 2563 และการชุมนุมหน้ารัฐสภาเมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2563 ตามลำดับ
โดยกรณีแรก กสม.เห็นว่า ยังไม่ปรากฏลักษณะที่แสดงให้เห็นว่าการชุมนุมมีลักษณะใช้ความรุนแรงหรือเหตุผลอันสมควรที่จำเป็นต้องเข้าสลายการชุมนุม จึงหยิบยกกรณีดังกล่าวขึ้นตรวจสอบ โดยอยู่ระหว่างดำเนินการ
ด้านปัญหาหรืออุปสรรค ในการใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ กสม. มีข้อห่วงกังวลบางประการ ดังนี้
1.การจำกัดการแสดงความคิดเห็น และการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารผ่านสื่อสังคมออนไลน์ โดยตั้งแต่เดือน ก.ค. 2563 ที่ปรากฏสถานการณ์การชุมนุมสาธารณะ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) มีการเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์มากกว่าสภาวะปกติ ตลอดจนดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ภายใต้ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยระหว่างเดือน ก.ค.-ธ.ค. 2563 ดีอีเอสยื่นคำขอให้ศาลระงับการทำให้แพร่หลายหรือลบข้อมูลคอมพิวเตอร์เป็นจำนวน 50 คำสั่งศาล 1,145 URLs การกระทำดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น หรือการเข้าถึงข้อมูลของประชาชนที่ได้รับการรองรับตามรัฐธรรมนูญ
2.สิทธิในการเป็นอยู่ส่วนตัว จากสถานการณ์ชุมนุมที่เกิดขึ้น ข้อมูลจากการรายงานเหตุการณ์ตามที่ปรากฏเผยแพร่ต่อสาธารณะ และมีการลงพื้นที่สังเกตการณ์ของพนักงานเจ้าหน้าที่ของสำนักงาน กสม. พบว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐทั้งในและนอกเครื่องแบบ มีการใช้อุปกรณ์บันทึกภาพถ่ายและภาพเคลื่อนไหวในที่พื้นที่ชุมนุม ต่อมาภายหลังปรากฎว่า มีการนำภาพของแกนนำ ผู้ชุมนุม ภาพเหตุการณ์ระหว่างการชุมนุม ไปใช้ดำเนินคดี รวมถึงการดำเนินการใด ๆ เกี่ยวกับการชุมนุม เป็นต้น
3.การใช้คำพูดสร้างความเกลียดชัง (Hate Speech) ท่ามกลางสถานการณ์ที่มีความแตกต่างทางความคิดเห็น การใช้วาจาสร้างความเกลียดชังต่อฝ่ายที่มีความเห็นตรงข้าม ปรากฏให้เห็นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงภาพวาดการ์ตูน ล้อเลียน ภาพถ่าย คลิปวีดีโอ ทั้งนี้การสื่อสารแสดงความเกลียดชังต่อบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองที่แตกต่าง ยั่วยุให้เกิดความเกลียดชัง อาจนำไปสู่การใช้ความรุนแรง และอาจลุกลามบานปลายได้ โดยเฉพาะในสื่อออนไลน์ มีผู้นำเนื้อหาที่มีระดับความรุนแรง และลักษณะการสื่อสารความเกลียดชังไปเผยแพร่ในวงกว้าง และหากปล่อยให้มีการสร้างและเผยแพร่ความเกลียดชังอย่างไร้การกำกับดูแล อาจทำลายวัฒนธรรมแห่งการเคารพซึ่งกันและกัน คุกคามศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ นำไปสู่การทำลายบรรยากาศแห่งการใช้เสรีภาพในการแสดงออกของบุคคล
4.การชุมนุมเพื่อแสดงความคิดเห็นทางการเมืองที่ผ่านมาหลายครั้ง ผู้ชุมนุมนัดรวมตัวที่สถานีรถไฟฟ้า ส่งผลให้มีการปิดสถานีรถไฟฟ้าชั่วคราว เพื่อความปลอดภัยของประชาชนทุกคน และพบว่ามีการทำลายทรัพย์สินเสียหาย
นอกจากนี้ กสม. ยังมีข้อเสนอแนะที่น่าสนใจ เช่น รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรอำนวยความสะดวกให้ประชาชนได้ใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบตามสมควร รวมทั้งให้การคุ้มครองแก่ผู้ชุมนุม เจ้าหน้าที่ด้านการสาธารณสุข การทำหน้าที่สื่อ และประชาชนทั่วไป เพื่อประกันการใช้เสรีภาพขั้นพื้นฐานตามที่รัฐบาลธรรมนูญและกติกา ICCPR ให้การรับรอง ทั้งนี้การจำกัดสิทธิดังกล่าวควรเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดอย่างเคร่งครัด
ขณะเดียวกันรัฐบาล และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ต้องกำชับเจ้าหน้าที่ของรัฐพึงระมัดระวังอย่างยิ่งในการรักษาความสงบเรียบร้อยตามกฎหมายให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล และควรหลีกเลี่ยงการใช้กำลังต่อการชุมนุมที่สงบและปราศจาการอาวุธ แม้ว่าจะมีบุคคลบางส่วนที่อาจก่อความวุ่นวายในระหว่างการชุมนุม หากมีความจำเป็นที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ที่ต้องใช้มาตรการต่าง ๆ เพื่อยุติเหตุการณ์ที่มีความรุนแรงหรือการละเมิดกฎหมาย โดยมาตรการดังกล่าวจะต้องสอดคล้องกับความจำเป็น และได้สัดส่วนตามมาตรฐานสิทธิมนุษยชนสากลอย่างเคร่งครัด และควรมีคู่มือการบันทึกข้อมูลและการสั่งการในการเตรียมการรับมือกับการชุมนุม ลำดับขั้นตอนที่ระบุไว้ชัดเจนในการใช้มาตรการเพื่อลดการตึงเครียด และความจำเป็นที่ต้องใช้กำลังหากมิอาจหลีกเลี่ยงได้ เป็นต้น
ทั้งหมดคือความเห็น-การประเมินสถานการณ์-ปัญหาและอุปสรรค รวมถึงข้อเสนอแนะของ กสม. ต่อสถานการณ์ ‘ม็อบ’ ในช่วงปี 2563 เป็นต้นมา
ขณะที่สถานการณ์ในปี 2564 บรรดาแกนนำม็อบทั้งแถวหน้า-แถวรอง ถูกดำเนินคดีเอาผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, 116 และข้อหาเกี่ยวกับการชุมนุมต่าง ๆ และถูกฝากขังโดยไม่ได้รับการประกันตัวอยู่ตอนนี้
กสม. จะมีบทบาทอย่างไรบ้างในห้วงเวลาแบบนี้ ต้องติดตามกันต่อไป?
หมายเหตุ : ภาพประกอบการชุมนุมที่ ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต จาก https://www.thaipost.net/
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage